มุมที่มองเห็น กรณีข่าวการซื้อใบประกาศนียบัตรวิชาชีพครู


    ผู้เขียนมีโอกาสได้ติดตามข่าว กรณีการซื้อขายใบประกาศนียบัตรวิชาชีพครูของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งดูจะเป็นเรื่องราวใหญ่โตในวงการศึกษาบ้านเราไม่น้อย เพราะกระทบไปถึง สกอ. ที่เห็นว่าควรจะให้ยกเลิกการจัดสอนนอกที่ตั้ง ของบรรดาสถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายที่ทำกันอย่างกว้างขวางในขณะนี้ อีกทั้งยังมีการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้ามาดูแลคดีนี้ด้วย แต่ที่ผู้เขียนสะกิดใจก็คือ คุรุสภาซึ่งถือว่าเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ พยายามที่จะบอกแก่สังคมว่า บรรดานักศึกษาที่แห่กันไปซื้อใบประกาศนียบัตรวิชาชีพครูนั้น ถือว่าเป็นเหยื่อ หาใช่ผู้กระทำผิดไม่ อย่างมากก็แค่ยกเลิกใบประกอบวิชาชีพที่ได้ไป ซึ่งแปลว่าให้กลับไปทำให้ถูกต้อง แล้วค่อยมาขอใบใหม่ก็ได้

    ในเรื่องนี้ผู้เขียนขอมองอีกมุมหนึ่ง ซึ่งอาจขัดใจใครๆอีกหลายคน นั่นก็คือกลุ่มนักศึกษาที่ไปซื้อใบประกาศนียบัตรวิชาชีพครูนั้น ไม่รู้เลยหรือว่าการกระทำอย่างนั้น เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แต่ละคนอย่างน้อยก็จบปริญญาตรีมาแล้วทั้งนั้น แต่ทำไมถึงคิดจะเดินทางลัดเพื่อไปเป็น "ครู" กัน เพียงแค่มีผู้มากระซิบว่า จ่ายตังค์ไปแล้วไม่ต้องมานั่งเรียนก็ได้ ก็เลยทำตามเขาไปซื่อๆอย่างนั้นหรือ แล้วอย่างนี้ประเทศเราจะได้ครูแบบไหนมาสอนเด็กของเราเล่า ครูที่ชอบเดินทางลัด ครูที่คิดว่ามีเงินก็ซื้อได้ทุกอย่าง ครูที่ไม่เห็นค่าของการมีสติปัญญาและไม่ใส่ใจในการหาวิชาความรู้ติดตัว ทัศนคติเยี่ยงนี้เกิดขึ้นในวงการศึกษาตั้งแต่เมื่อไร นี่กระมังเราจึงเห็นโฆษณารับจ้างทำรายงาน โครงงาน และวิทยานิพนธ์ ในเว็บไซต์ต่างๆมากมายในปัจจุบัน แล้วเราจะมาเรียกร้องสังคมอุดมปัญญากันทำไม จึงไม่แปลกใจสักนิดที่ใครๆก็พูดกันว่า การศึกษาของชาติกำลังดิ่งลงเหวจนแทบจะยื้อไว้ไม่ได้แล้ว

    ดังนั้นในคดีนี้ ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อก็สมควรต้องร่วมกันรับผิดชอบในระดับหนึ่ง เพื่อให้ทุกฝ่ายในสังคมตระหนักว่า การศึกษานั้นไม่ใช่เรื่องจะมาล้อกันเล่น เหมือนเด็กเล่นขายของ แต่เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องต้องใส่ใจในคุณภาพและมาตรฐานอย่างยิ่งยวด สังคมโลกในวันนี้และอนาคตจะต่อสู้กันด้วยสติปัญญาเป็นหลัก และหากประเทศไทยมีสภาพอย่างที่เป็นข่าว เราจะไปต่อกรกับใครได้อีก...

หมายเลขบันทึก: 438492เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2011 01:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ความต้องการระดับการศึกษา

แต่ไม่ต้องการ การศึกษาเรียนรู้

ความต้องการระดับการศึกษา

แต่ไม่ต้องการ การศึกษาเรียนรู้

สวัสดีครับคุณครูดร.สมบูรณ์

เห็นด้วยครับกับข้อความที่เขียนมา

ผมคนเรียนน้อยมีความเห็นว่าค่านิยมการเป็นข้าราชการ

และนับถือคนแต่งชุดราชการของสังคมไทยมีสูงมาก

ทำให้เกิดธุรกิจการศึกษากันไปทั่ว ไม่เว้นแต่โรงเรียนมัธยมแถวชนบท

ที่มีทีมดร.จากไหนก็ไม่รู้มาสอนพิเศษภาษาอังกฤษให้กับเด็ก

โดยเก็บเงินค่าสอนล่วงหน้าผู้ปกครองแบบเหมาจ่าย

น่าเห็นใจผู้ปกครองนะครับ

ครู ดร. สมบูรณ์เห็นต่างได้อย่างมีชั้นเชิงเลยครับ คนไทยเรามอง "ภาพ" มากกว่า "ผล" ตั้งแต่เมื่อไหร่ผมก็ไม่ทราบครับ เราต้องการใบประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรมากกว่ามองว่าคนๆ นั้นมีความสามารถอะไรบ้าง ใครหาทางลัดได้ถือว่าเก่ง ถือว่าฉลาด คำนิยามเหล่านี้มันผิดเพี้ยนไปหมดเลย ตอนผมได้ข่าวเรื่องนี้ ไม่ได้นึกไปถึงว่าผู้ที่ "ซื้อ" จะรู้สึกสำนึกอะไร ยังไงบ้างหรือเปล่า แต่ก็เป็นไปได้อย่างที่คุณครูว่าพวกเขาหลายคนอาจจะไม่รู้สึกว่าตัวเองผิดด้วยซ้ำ ในเมืองนั้นสถานการณ์ก็คล้ายๆ กับที่คุณ phnan พูดนะครับ คือพอคนเรามีโอกาสมากกว่า เข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า เห็นคนอื่นทำเราก็อยากจะทำบ้าง การเรียน "พิเศษ" นั้นกลายเป็นเรื่องปกติที่เด็กๆ ที่ไหนก็เรียน ไม่ว่าจะหลังเลิกเรียน "ไม่พิเศษ" ก็เรียนพิเศษต่อตอนเย็น และสุดสัปดาห์ก็ไปเรียนพิเศษต่ออีก ใครๆ อาจจะบอกว่าครูพิเศษเป็น กา(ฝาก) ของระบบการศึกษา คนที่พูดเองต้องหันมาส่องกระจกดูตัวเองด้วย เพราะ (๑) ถ้าเราเป็นคนในระบบการศึกษา เรามีส่วนทำให้ระบบการศึกษา "ไม่พิเศษ" ของเราตกต่ำหรือเปล่า และ (๒) ผมว่าเราควรจะเอา เยี่ยงกา(ฝาก) แต่อย่างเอาอย่างกา(ฝาก) วัตถุประสงค์ของการเรียนพิเศษนั้นก็เพื่อการสอบ เขาตอบโจทย์นักเรียนได้ อันนี้ผมว่าต้องยอมให้เครดิตเขานะครับ แต่การเรียนเพื่อสอบนั้นเราก็รู้ว่ามันไม่ยั่งยืน อีกเรื่องหนึ่งที่ผมออกจะชื่นชมครูพิเศษคือการทำให้การสอนน่าสนใจครับ ผมยอมรับว่าไปเรียนเตรียมตัวสอน GRE และ TOEFL เมื่อกาลครั้งหนึ่ง แม้จะเรียนกับวีดิโอก็ตาม ครูเขามีการยกตัวอย่างโยงคำศํพท์ยากๆ เล่าเป็นเรื่องราวให้เราจำได้ง่าย (บางคำผมยังจำได้ถึงบัดนี้!) เพื่อนพี่ชายผมคนหนึ่งเปิดโรงเรียนกวดวิชาจนร่ำรวย วิธีหนึ่งที่เขาใช้ในการช่วยเด็กๆ คือจ้างคนแต่งเพลงภาษาอังกฤษเพื่อสอนคำศัพท์ครับ อันนี้ต้องยอมรับว่าไม่ธรรมดา ขอกลับมาเข้าเรื่องก่อนจะหลงหัวข้อไปไกลกว่านี้นะครับ ผมว่าการเลือกเดินทางลัดนั้น มันเป็นกันทั้งระบบ เป็นมานานแล้ว ตั้งแต่เรามีการสอบแบบครั้งเดียว ชี้เป็นชี้ตายแบบเอนทรานซ์ การสอบวัดมาตรฐานในปัจจุบันในแต่ละระดับชั้นก็ออกมาอีหรอบเดียวกัน ยิ่งได้ข่าวเรื่องครูไทยต้องปวดหัวกับ e-Training ในบันทึกของคุณครูเล็ก สายพิน (link) แล้วก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายของเราตาสั้นเหลือเกิน ครูไทยเองก็อยุ่ในสถานการณ์ไม่ต่างกับนักเรียน! ขอบ่นเท่านี้ละครับ แล้วกลับไปทำงานต่อโดยพลัน :-)

ผมเขียนเรื่องนี้ก็เพราะความห่วงใยในคุณภาพการศึกษา ที่นับวันก็ดูจะยิ่งตกต่ำลงไปทุกที ซึ่งประเด็นหนึ่งที่ผมอยากสะกิดให้

ทุกท่านสนใจ ก็คือคุณภาพของครู เพราะครูคือ "สื่อหลัก" ที่ทำหน้าที่ส่งผ่านความรู้ ประสบการณ์ รวมทั้งจริยธรรมสู่ผู้เรียน

หากครูของเราด้อยประสิทธิภาพ จะเกิดอะไรขึ้นกับอนาคตของประเทศ ในขณะที่เราพยายามกระจายอำนาจการศึกษาไปสู่

ท้องถิ่น ความห่วงใยของผมก็คือ ท้องถิ่นมัทัศนคติและความเชื่ออย่างไรในการรับคนเข้ามาเป็นครู เพราะเท่าที่เห็นและฟังมา

ดูเหมือนว่า "การใช้เส้นสาย" มีมากมายในระบบการบริหารท้องถิ่น ไม่เพียงเท่านั้น แม้ในโรงเรียนของกระทรวงศึกษาฯส่วนใหญ่

ซึ่งกำลังมีปัญหาเรื่อง "ไม่มีอัตราบรรจุข้าราชการครู" ทำให้ต้องจัดหา "ครูอัตราจ้าง" เข้ามาสอนแทนไปเรื่อยๆ จนหลายโรงเรียน

มีจำนวนครูอัตราจ้างพอๆกับครูประจำกันแล้ว ซึ่งวิธีสรรหาครูอัตราจ้างนั้น ในหลายสถานศึกษาก็ใช้การประกาศรับสมัครตรง

มีทั้งการสอบคัดเลือก หรือบางทีก็แค่สัมภาษณ์นิดหน่อย แล้วก็จ้างให้สอนได้เลย ซึ่งผมเคยมีประสบการณ์ในการเป็นกรรมการ

สอบคัดเลือกครูอัตราจ้างอยู่ครั้งหนึ่ง โดยเราให้ผู้สมัครสอบทดลองสอนให้กรรมการดู ปรากฏว่า ผู้สมัครคนหนึ่งซึ่งจบปริญญาตรี

มา เขียนคำว่า "ปฏิบัติ" บนกระดานดำเป็น "ปติบัด" แล้วแบบนี้จะไม่ให้ผมห่วงได้อย่างไรครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท