โบราณสถานศรีมโหสถ


สระแก้ว สระมรกต พระพุทธบาทคู่เก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย

เสาร์ที่ 30 เม.ย.54 ได้มีโอกาสเยือนปราจีนบุรี ชมโบราณสถาน อ.ศรีมโหสถ ประกอบด้วย สระแก้ว, สระมรกต และรอยพระพุทธบาทคู่

"สระแก้ว" อยู่ในเขตอำเภอโคกปีบ ลักษณะเป็นสระน้ำสี่เหลื่ยมจตุรัสขนาด 18 x 18 เมตร ขุดลงไปในชั้นศิลาแลงธรรมชาติ ขอบสระมีการสลักรูปช้าง เสือ มกร และงู ในกรอบภาพสี่เหลื่ยม รวมทั้งสิ้นถึง 45 ตัว สันนิษฐานว่า "สระแก้ว" ถูกขุดขึ้นเพื่อใช้ประกอบในพิธีกรรมทางศาสนา หรือพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ด้านเกษตรกรรม เพราะรูปสัตว์ทั้งหมดเป็นสัญลักษณ์สัตว์มงคลของความอุดมสมบูรณ์


จากสภาพที่เห็น "สระแก้ว" อยู่ท่ามกลางบริเวณที่ระบุเป็นโบราณสถานศรีมโหสถ ซึ่งกินพื้นที่กว้างขวาง ประมาณ 2,800 ไร่ มีจุดที่ระบุเป็นโบราณสถานอีกหลายสิบจุด แทรกอยู่ตามบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้าน ทำให้คะเนได้ว่าบริเวณนี้ต้องเป็นศูนย์กลางความเจริญในสมัยนั้น ในบริเวณรอบๆ มีโบราณสถานอีกหลายจุดที่ถูกระบุและขึ้นทะเบียนแล้ว กระจายอยู่ทั่วไป หากต้องการเยี่ยมชมให้ได้ทั่ว จำเป็นต้องใช้เวลาเป็นวันแน่

นอกจากนั้นในบริเวณไม่ไกลจากแหล่งขุด "สระแก้ว" ยังมีการขุดค้นพบ "สระมรกต" และ "รอยสลักพระพุทธบาทคู่" ซึ่งระบุว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย สลักบนศิลาแลง เป็นรอยคู่ ซึ่งไม่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มักพบเป็นรอยเดี่ยวมากกว่า

"สระมรกต" ได้รับการค้นพบตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 แต่เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ได้มีการขุดเอาศิลาแลงไปทำเป็นอุโบสถวัดต่างๆ ที่อยู่รอบบริเวณดังกล่าว จนเมื่อทางการได้เข้ามาสำรวจ จึงพบว่าเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญด้านการเป็นศูนย์รวมการพบปะของชาวเมือง หรือเป็นสาธารณะสถานที่ผู้ครองเมืองจัดสรรให้กับชาวเมือง กล่าวคือถ้าคะเนจากรูปรอยสลัก คาดว่าน่าจะเป็นอโรคยาหรือสุขศาลาของเมืองก็เป็นได้

ในบริเวณใกล้กันมีบ่อน้ำที่ขุดพบพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ซึ่งแสดงให้เห็นการแพร่กระจายวัฒนธรรมของเขมรในพื้นที่ ในสมัยนั้น ไม่เว้นแม้แต่เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่ขุดพบในพื้นที่ละแวกใกล้เคียง ยังบ่งบอกความมีอิทธิพลทางด้านศิลปวัฒนธรรมของเขมรที่แผ่มาถึง

แต่ทั้งนี้ ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด ถึงที่มาของชาวศรีมโหสถ ว่าเป็นชนชาติใด หรือมาจากไหน หากแต่สิ่งก่อสร้างที่พบเห็นในบริเวณนี้ สะท้อนให้เห็นว่าในเวลานั้น บริเวณนี้ได้ปลอดจากภัยสงคราม ชาวบ้านอยู่อาศัยกันอย่างสงบสุข จึงมีเวลาในการจัดสรรสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตได้ขนาดนี้เช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 437886เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2011 20:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2016 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท