“ปัญหาทางกฎหมาย ที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายทางอาญา ที่มุ่งคุ้มครองสังคม และผดุงความยุติธรรมอย่างเสมอภาค”


“ปัญหาทางกฎหมาย ที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายทางอาญา ที่มุ่งคุ้มครองสังคม และผดุงความยุติธรรมอย่างเสมอภาค”

จากปัญหาดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าปัญหาที่สำคัญน่าจะอยู่ที่ความรู้และความเข้าใจในบทบัญญัติของกฏหมายว่าเป็นอย่างไร ของผู้ปฏิบัติหรือผู้ใช้กฎหมายทั้งหลาย ที่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ตำรวจ (พนักงานสอบสวน) ทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ และเจ้าพนักงานคุมประพฤติ เป็นต้น ฉะนั้นเรื่องที่ข้าพเจ้าเห็นสมควรนำมากล่าวถึงเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญของปัญหาทางกฎหมายนี้ได้แก่เรื่องการตีความ กฎหมายอาญา ซึ่งแยกพิจารณาออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ คือ (1) ข้อจำกัดในการตีความกฎหมายอาญา และ (2) การตีความภาษาในกฎหมายไทย

(1) ข้อจำกัดในการตีกฎหมายอาญา

กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายแขนงหนึ่ง ดังนั้นการตีความโดยทั่วไปแล้วก็ใช้หลักการเดียวกับการตีความกฎหมายอื่น ๆ คือตีความตามบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั่นเอง อย่างไรก็ตามเนื่องจากกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่กำหนดโทษแก่ผู้กระทำผิด จึงมีกรอบหรือข้อจำกัดในการตีความที่แตกต่างจากการตีความกฎหมายที่ไม่มีโทษอาญา ประการที่สำคัญมีอยู่เพียงประการเดียวคือต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งก็มีความหมายที่สำคัญอยู่ 2 ประการ คือ 1.1) ห้ามนำจารีตประเพณีมาลงโทษ และ 1.2) ห้ามเทียบเคียงกฎหมายมาลงโทษ
  1. ห้ามนำจารีตประเพณีมาลงโทษ

ย่อมเป็นที่ชัดแจ้งในตัวเองอยู่แล้วเพราะจารีตประเพณีไม่มีการบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรและแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ จึงขาดความแน่นอนในการที่จะนำมาลงโทษบุคคล แต่หากนำมาใช้เพื่อให้เป็นคุณแก่ผู้กระทำแล้ว ย่อมใช้ได้เพราะบุคคลที่กระทำผิดไปโดยความเชื่อในจารีตประเพณี ย่อมขาดเจตนาชั่วร้ายที่จะลงโทษเขา เช่นจับคนมาตีเพื่อไล่ปอบตามความเชื่อในท้องถิ่นสามารถนำมาเป็นเหตุไม่ให้ลงโทษหนักนั้นได้ หรือการที่ บิดา มารดา ครู อาจารย์ ทำโทษเด็กหรือดุด่าว่ากล่าวตามสมควรเพื่อสั่งสอนย่อมเป็นไปตามจารีตประเพณีในการอบรมสั่งสอนไม่ให้เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย หรือดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท

1.2) ห้ามใช้กฎหมายเทียบเคียงมาลงโทษ (analogy)

กล่าวคือจะลงโทษบุคคลเพราะการกระทำที่คล้ายคลึงกันไม่ได้ เพราะกฎหมายอาญาต้องบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรชัดแจ้งต้องบังคับตามนั้น การกระทำที่คล้ายกันไม่ใช่การกระทำอันเดียวกันจึงห้ามใช้กฎหมายเทียบเคียง อย่างไรก็ตามกฎหมายอาญาไม่ห้ามการตีความโดยขยายความด้วย

ก. การเทียบเคียงกฎหมาย ถ้ากฎหมายบัญญัติว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาตน” ก็ต้องหมายถึงหญิงที่แท้จริงเท่านั้น ตามสภาพที่ถือกำเนิด หากข่มขืนชายที่แปลงเพศเป็นหญิง ไม่ใช่หญิง จึงไม่มีการกระทำต่อหญิง

กรณีกฎหมายบัญญัติว่า “ ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ก็ต้องหมายถึงการฆ่าผู้อื่นจริง ๆ แม้กฎหมายข้อนี้จะมีขึ้นเพื่อคุ้มครองชีวิตมนุษย์ก็ตาม การฆ่าตนเองหรือการพยายามฆ่าตนเองซึ่งเป็นการทำให้ชีวิตมนุษย์จากล่วงไป ก็มิใช่การฆ่าผู้อื่นตามาตรานี้จะเทียบเคียงว่าการฆ่าตัวตายก็เป็นการทำลายชีวิตมนุษย์ทำนองเดียวกันกับการฆ่าผู้อื่นเพื่อจะลงโทษผู้ที่จะพยายามฆ่าตัวตายมิได้ หรือ ก. หลอก ข. ให้ขุดบ่อน้ำให้แก่ตนเองโดยไม่คิดจะให้เงินค่าจ้าง อันเป็นการหลอกลวง ข. ในเรื่องการฉ้อโกง แต่การได้บ่อน้ำที่เกิดจากแรงงานของ ข. ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานฉ้อโกง ก. จึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง จะเทียบเคียงว่าแรงงานมนุษย์ก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งเพื่อใช้การลงโทษ ก. ฐานฉ้อโกง ข. ไม่ได้

หรือกฎหมายบัญญัติความผิดฐาน “ วางเพลิงเผาทรัพย์สินผู้อื่น “ ย่อมหมายความว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่นทั้งหมดผู้กระทำความผิดมิได้มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ด้วยเลย หากผู้กระทำเผาทรัพย์สินที่ตนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ย่อมไม่มีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น จะเทียบเคียงว่าการเผาทรัพย์ที่ตนเองเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยก็เป็นการเผาทรัพย์ในส่วนที่เป็นของผู้อื่นเพื่อลงโทษจำเลยไม่ได้

ข. การขยายความ การตีความโดยขยายความ (extensive interpretation) นั้นหมายความถึงกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยเรื่องที่ต้องพิจารณาอยู้แล้วเพียงแต่ว่า บทบัญญัติดังกล่าวที่มีอยู่นั้นจะมีความหมายรวมถึง กรณีที่เป็นปัญหา หรือไม่จึงต้องตีความแบบขยายความ เช่นคำว่าอาวุธ จะขยายไปถึง เข็มหรือไม้จิ้มฟันที่ใช้ทำกับคนถึงอันตรายนั้นด้วยหรือไม่ การตีความโดยขยายความจึงมิใช่การเทียบเคียง (analogy) เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้แต่นำมาเทียบเคียงแล้วมาตีความว่าเป็นอย่างเดียวกัน เช่น เทียบเอาชายที่แปลงเพศเป็นหญิงมาตีความว่าเป็นหญิง หรือเทียบเอาการฆ่าตัวตายเป็นการฆ่าคนอย่างหนึ่ง หรือเทียบว่าแรงงานเมื่อเอามาเปลี่ยนเป็นเงินได้ก็เทียบว่าเป็นทรัพย์สินได้ ซึ่งเป็นเพียงลักษณะที่คล้ายคลึงกันแต่เป็นคนละอย่างกันนั้นเอง แต่การตีความโดยการขยายความเป็นการตีความอยู่ในกรอบของความหมายตัวอักษรแต่ขยายออกไปจนสุดความหมายแม้ขยายความออกไปเป็นโทษแก่ผู้กระทำก็ตามเพราะถือว่าเป็นการตีความตาม “ ความหมายที่แท้จริงของบทบัญญัติ” ไม่ได้เทียบเคียงมาจากเรื่องที่ใกล้เคียงกัน

  1. การตีความภาษาในกฎหมายไทย

    กฎหมายต้องตีความตามบทบัญญัติ ที่เป็นลายอักอักษรดังนั้นการหาความหมายของ

ตัวอักษรเพื่อการตีความที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ผู้ตีความจึงต้องรู้จัก “ ภาษา” ที่ใช้ในกฎหมายเป็นอย่างดี กฎหมายเป็นสื่อความหมายที่มาจากจินตนาการ อาจมีความหมายกว้างแคบตามที่ผู้ที่รู้จักจะจินตนาการ ภาษามีวิวัฒนาการในตัวของมันเอง คำศัพท์คำหนึ่งที่มีมาแต่โบราณอาจมีความหมายที่กว้างไกล เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆหากภาษาหยุดพัฒนาการภาษาก็ย่อมจะตายและต้องเลิกใช้ไปในที่สุด กฎหมายก็เช่นกันหากขาดวิวัฒนาการในการตีความกฎหมายก็ต้องถูกยกเลิก หรือสิ้นผลไปไม่โดยทางตรงก็โดยทางอ้อม

ในปัจจุบันภาษาในกฎหมายไทยไม่จำกัดเฉพาะที่เป็นภาษาไทยเท่านั้น ในบางครั้งภาษาไทยก็วิวัฒนาการไม่ทันจนต้องยืมถ้อยคำในภาษาต่างประเทศมาใช้ แม้ในสาขานิติศาสตร์จะมีการใช้ศัพท์ในภาษาต่างประเทศน้อยที่สุด แต่บางครั้งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ เช่น คำว่า “เช็ค” ในพระราชบัญญัติความผิดว่าด้วยการใช้เช็ค หรือ คำว่า “คอมมิวนิสต์” ในพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ คำว่า “เครดิต” ในพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ คำว่า “ปิโตรเลียม” ในพระราชบัญญัติปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นต้น คำว่า “คอมพิวเตอร์” ก็ยังหาคำในภาษาไทยแทนยังไม่ได้คงจำต้องเรียกทับศัพท์กันไปนั่นเอง

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นคำไทยหรือคำต่างประเทศย่อมมีที่มา และวิวัฒนาการของคำตามกาลเทศะและเหตุการณ์จนมีความหมายกว้างขวางเกินกว่าถ้อยคำดั้งเดิมไปมากก็ได้ เช่นคำว่า “จักรวาล”แต่เดิมหมายความเพียง “สุริยะจักรวาล” ของเรานั้น แต่บัดนี้เมื่อพูดถึงจักรวาลความหมายได้เปลี่ยนไปจนสุดจินตนาการทีเดียว

ในคำภาษาไทยกว่าจะได้ความหมายของคำบางคำก็มีวิวัฒนาการมากมาย เช่น คำว่า public order เดิมหมายความว่า “รัฐประศาสโนบาย หรือ ความปลอดภัยแห่งบุคคลฤาทรัพย์สิน” ต่อมาแปลว่า ความสงบราบคราบของประชาชน ปัจจุบันแปลว่า ความสงบเรียบร้อยของประชาชน

คำว่า “เจ้าพนักงานรักษาทรัพย์” แต่เดิมก็เปลี่ยนเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สินด้วยเหตุผลที่ว่า ทรัพย์นั้นไม่มีเจ็บป่วยจึงไม่ควรใช้คำว่า “รักษา”

คำว่า the rule of law ก็มีวิวัฒนาการมาถึง 8 คำด้วยกัน คือ (1) หลักธรรม ,(2) หลักความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย , (3) นิติธรรมวินัย , (4) หลักกฎหมาย , (5) หลักธรรมแห่งกฎหมาย , (6) นิติปรัชญา , (7) นิติสดมภ์ และ มายุติลงที่ (8) หลักนิติธรรม

วิวัฒนาการของถ้อยคำในกฎหมายนี้มีส่วนสำคัญในการกำหนดความหมายอันเป็น

เจตนารมณ์หรือวิญญาณ (spirit) ของภาษาซึ่งจะทำให้ภาษาเหล่านี้ไม่ตาย ดังนั้นการค้นหาความหมาย เจตนารมณ์ หรือ spirit ของถ้อยคำจะทำให้การตีความเป็นไปอย่างมีชีวิตชีวา ถูกต้องและเหมาะสมแม้คำบางคำอาจจะมีความหมายขยายออกไปมากก็ไม่ใช่เรื่องผิดวิสัยหรือผิดปกติแต่อย่างใด จึงเป็นที่ยอมรับว่าการตีความโดยขยายความจนสุดความหมายของคำเป็นเรื่องที่ทำได้ แม้ว่าจะเป็นโทษก็ตาม เพราะคือการตีความแบบเข้าถึง spirit ของกฎหมายเลยทีเดียว

ดังนี้ เจตนารมณ์ของบทบัญญัติ (spirit of law ) จึงมิใช่เจตนารมณ์จองผู้ร่างหรือผู้ปกครองว่าการแผ่นดิน หรือใครคนใดคนหนึ่งซึ่งหาขอบเขตความมุ่งหมายมิได้ หากแต่หมายถึงความหมายที่แท้จริงในถ้อยคำสำนวนที่ใช้ในบทบัญญัตินั้น ๆ เอง การเข้าใจแห่งเจตนารมณ์แห่งตัวอักษร หรือความหมายที่แท้จริงย่อมจะช่วยให้การตีความกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงน่าที่จะทำให้เห็นได้ว่าหากผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งหมดดังกล่าวนั้น มีความรู้และความเข้าใจในบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกต้องโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการตีความกฎหมายอาญาแล้ว ข้าพเจ้าก็เชื่อว่า “ปัญหาทางกฎหมาย ที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายทางอาญา ที่มุ่งคุ้มครองสังคม และผดุงความยุติธรรมอย่างเสมอภาค” นี้ คงจะลดลงไปได้ในที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #อิศรา#รัตตศิริ
หมายเลขบันทึก: 43787เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2006 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท