ลูกจ้าง..น้ำมัน...และรายได้ (รายได้กับปัจจัยการดำรงชีพสัมพันธ์กันเพียงใด)


ค่าน้ำมันขึ้น ค่าแรงงาน กับปัจจัยความต้องการ ดูมันไม่สอดคล้องกัน คำถามที่ตามมาอีกคือ แ้ล้วค่าแรงเท่าไรจึงจะเพียงพอ

   ย้อนไปในอดีต ปัจจัยสี่คือ อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค มันเพียงพอต่อการที่จะมีชีวิตอยู่รอด ในสี่ประการนั้น จำนวนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งอื่นไปแลกเพื่อให้ได้มา เพราะเราสามารถหาได้จากธรรมชาติรอบตัว อาจคิดง่ายๆ (การได้มาไม่ใช่เรื่องง่าย) เช่น อาหาร เราเอาเมล็ดข้าวไปหว่าน ได้กล้า นำกล้าไปปัก ไม่นาน ต้นกล้าจะเติบโต เราเกี่ยวข้าวไปวางไว้บนลาน ตั้งเป็นกองเหมือนภูเขา ใช้ควายหรือแรงคนเหยียบและนำไปสี ในบางส่วน ที่เหลือเก็บไว้ในยุ้งในฉาง ระหว่างทำนา เราสามารถที่จะหาปลาในนา นำมาตาก ย่าง เผา แกง กินกับข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ ข้าวนี้คือผลผลิตจากปีก่อนที่เก็บไว้ ยารักษาโรค คือสมุนไพรรอบบ้าน หรือหากบ้านเราไม่มี เราสามารถที่จะไปขอบ้านอื่นได้ หมอรักษามิใช่ใครอื่น หากคือตา ยาย ลุงนั้น ป้านี้ โดยไม่ต้องว่าจ้างแต่อย่างใด

   ปัจจุบัน ปัจจัยสี่มันไม่เพียงพอต่อความต้องการของชีวิตอีกแล้ว และบางบ้าน ถึงกับใช้ปัจจัยสี่เกินกว่าความจำเป็นที่ควรจะเป็น หากเราย่องไปดูบ้านในเมืองหลวง ตู้เสื้อผ้าเพียงตู้เดียว มันไม่เพียงพอที่จะเก็บเสื้อผ้าที่มีอยู่ของคนๆหนึ่งแล้ว รถยนต์คันเดียว ก็ไม่เพียงพอต่อคนในบ้านที่มีอยู่ ๒ คนเท่า่นั้น คนๆหนึ่ง อาจเป็นเจ้าของรถถึง ๕ คัน ซึ่งเราว่าอะไรไม่ได้ เพราะมันคือความสามารถของแต่ละคน

  คอมพิวเตอร์อาจเป็นปัจจัยที่ห้า (รวมถึงโทรศัพท์) รถอาจเป็นปัจจัยที่หก และอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยแห่งความต้องการของคนเป็นลำดับถัดมา ต้องยอมรับว่า ปัจจัยเหล่านั้น รวมถึงปัจจัยสี่ เราต้องใช้สิ่งอื่นแลกเปลี่ยน สิ่งนั้นคือ เงิน การทำงานของคนจึงมุ่งแสวงหาเงิน เมื่อได้เงินมาแล้วจึงแลกสิ่งที่ต้องการ กรณีที่เงินปัจจุบันและอดีตไม่เพียงพอ เราจึงล้วงไปเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อน ชีวิตจึงไม่ได้อิสระจากเงื่อนไขที่คนสร้างขึ้นเอง แม้จะแลกปัจจัยต้องการนั้นมาด้วยเงินก้อน ก็ใช่ว่าจะอิสระ เพราะยังต้องเอาสิ่งที่มีอยู่นั้นไปตรวจคุณภาพ การใช้บริการ และอื่นๆ ที่จำเป็นต่อสิ่งที่ได้มา เพื่อให้สิ่งที่ได้มานั้นยั่งยืน

  กล่าวถึงรถยนต์ เมื่อเปิด internet ตอนนี้เราจะรู้ว่า น้ำมันราคาเท่าไร เราต้องเจีัยดเงินส่วนหนึ่งไปแลกน้ำมันเพื่อให้รถแล่นได้ เตรียมเงินไว้จำนวนหนึ่งเพื่อเป็นค่าประกัน จำนวนหนึ่งเพื่อซ่อม เมื่อเรากลายเป็นผู้บริโภค เราจึงต้องหาสิ่งแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เราจะบริโภค

  อาหารที่ขายในสถานศึกษาื จากเดิมจานละ ๒๐ บาท เพิ่มเป็น ๒๕-๓๐ ในห้างสรรพสินค้า จาก ๓๐ เพิ่มเป็น ๔๕ ๕๐ ๖๕ เป็นต้น เพราะกว่า กว่าสิ่งที่แปรรูปเป็นอาหารให้ได้กินกันในสถานศึกษาและห้างสรรพสินค้า ต้องผ่านกรรมวิธีมาหลากหลาย ผ่านอัตราเงินที่ผันตามปัจจัยต้องการของคนมาจำนวนหนึ่ง คนเลี้ยงไก่ อาจไม่ได้กินไก่ตัวที่เลี้ยง คนปลูกผัก อาจไม่ได้กินผักที่ปลูก

  การทำงานเป็นลูกจ้างในองค์กร และมีสิ่งแลกเปลี่ยนคือ เงินตราจำนวนหนึ่งในแต่ละเดือน สมมติ ถ้าเราสอบบรรจุราชการ (ลูกจ้างเหมือนกัน หากไม่ได้รับเงินค่าจ้าง คงไม่มีใครสอบบรรจุ) ได้รับเงินประจำเดือนคือ ๑๐,๐๐๐ ในเดือนหนึ่ง เราอาจทำงานไม่เต็ม ๓๐ วัน ขณะที่บางคนอาจเต็ม เพราะนำงานไปทำในวันหยุดราชการด้วย ในกรณี ทำงานเพียงวันละ ๘ ช.ม. และคิดเพียง ๒๒ วัน ตกวันละ ๔๕๔ บาท ดูแล้วไม่น้อย หากคิดเฉพาะเราต้องใช้ปัจจัยการดำรงชีวิตคือ อาหารอย่างเดียว แต่ชีวิตคน คงไม่กินแค่อาหารเพียงอย่างเดียว สุขภาพก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่อยุ่อาศัยก็สำคัญ ไม่แตกต่างจากเสื้อผ้า ยิ่งหากที่พักอยู่ไกลจากที่ทำงานด้วยแล้ว พาหนะ เป็นสิ่งจำเป็น บางคน จึงตัดสินใจซื้อพาหนะ แต่พาหนะก็ผนวกเข้ามากับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าน้ำมันในขณะนี้เหยียบ ๔๐ บาท/ลิตร ในประเทศไทยมีรถจักรยานยนต์จำนวนเท่าไร คนกลุ่มไหนใช้รถประเภทนี้ วันหนึ่งๆ ต้องใช้น้ำมันเท่าไร ซึ่งไม่ต้องกล่าวถึงผู้มีรถยนต์ การซื้อรถยนต์คงไม่ใช่เพียงพาหนะเดินทาง แต่มันหมายถึง ความปลอดภัย การป้องกันภัยธรรมชาติด้วย เมื่อไม่มีเงินก้อน จึงต้องยอมเอาเงินอนาคตมาแลก การได้มาด้วยเงินอนาคตจึงมากกว่าการซื้อด้วยเงินปัจจุบัน เพราะมันผนวกด้วยดอกเบี้ยอีกจำนวนหนึ่ง เงินรายได้วันละ ๔๕๔ บาท หากตัวคนเดียว ตัดค่าอาหารไปมากสุดเฉลี่ยที่ ๑๐๐ บาท ที่เหลือคือ ค่าน้ำมัน (กรณีมีรถ) แล้วถ้าไม่ใช่ตัวคนเดียว หากแต่ต้องรับผิดชอบน้อง แม่ พ่อ ลูก อีกจำนวนหนึ่ง รายได้เพียงเท่านั้น น่าจะไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม การทำงานในองค์กร อาจเป็นงานหลัก แต่คงให้เต็มความสามารถไม่ได้ เพราะเราต้องหารายได้เพิ่มเพื่อนำรายได้นั้นมาแลกเป็นค่า ปัจจัยสี่ ที่เราไม่สามารถผลิตได้ด้วยตน ตลอดถึงปัจจัยที่ห้า ที่หก ฯลฯ

   อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาให้ลูกจ้างมีรายได้เพิ่ม น่าจะเป็นการดีไม่น้อย เมื่อพิจารณาแล้วว่า ไข่ฟองละสี่บาท ที่อยู่อาศัยยังต้องเช่า ฯลฯ ผู้เขียน คิดว่า น่าละอายใจเป็นอย่างยิ่ง หากเราเป็นฝ่ายบริหาร แต่คนในองค์กร ยังปากกัดเท้าถีบ ยังคงต้องอาศัยบ้านเช่า ยังคงต้องหารายได้พิเศษเพิ่ม ลองมองภาพสวยๆอย่างนี้ ในองค์กรหนึ่ง คนในองค์กร มีบ้านเป็นของตนเอง มีรถ มีอาหาร มีเสื้อผ้า ที่พอจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ฝืดเคือง หากถามว่า ใครต้องการอยู่ในองค์กรแบบนี้บ้าง เชื่อว่า น้อยคนที่จะปฏิเสธ แต่นั้นหมายถึง อยู่แล้วต้องสร้างงานให้องค์กร ให้องค์กรให้พึ่งพา ไม่ใช่พึ่งพาองค์กรเพียงฝ่ายเดียว จาำกคำถามที่ว่า สอบบรรจุข้าราชการมาเพื่ออะไร เพื่อทำงานบริการประชาชนแทนรัฐหรือ เชื่อว่า จำนวนหนึ่งซึ่งมากพอดู ไม่ได้เข้ามาบรรจุราชการเพื่อเป็นมือเป็นเท้าให้กับรัฐ หากแต่ต้องการอาศัยรัฐเพื่อทางรอดของชีวิตมากกว่า

   ค่าน้ำมันขึ้น ค่าแรงงาน กับปัจจัยความต้องการ ดูมันไม่สอดคล้องกัน คำถามที่ตามมาอีกคือ แ้ล้วค่าแรงเท่าไรจึงจะเพียงพอ

หมายเลขบันทึก: 437715เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2011 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท