๙.ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพระไตรปิฎกและการบูรณาการ (บทที่ ๑)


เรียนท่านผู้เข้าชมทุกท่าน-งานเขียนทั้งหมด ผู้เขียนยินดีให้ท่านคัดลอกและนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ควรอ้างอิงแหล่งที่มาด้วย ข้อเขียนทั้งหมดมาจากหนังสือ "รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก" ของผู้เขียน

 

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพระไตรปิฎกและการบูรณาการ

 

                พระไตรปิฎก  เป็นคัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนาที่ได้รวบรวมเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเอาไว้ที่สมบูรณ์แบบที่สุด  การที่จะศึกษาวิเคราะห์ศาสตร์ทางด้านศาสนาก็ย่อมจะต้องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าใจพื้นฐานของคัมภีร์ของศาสตร์ที่เป็นความรู้นั้น ๆ เสียก่อน  ซึ่งในบทนี้ก็จะได้นำเสนอ  ความเบื้องต้นของพระไตรปิฎก  เป็นลำดับไป

 

.๑. ความเบื้องต้น

            พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเอกของโลกที่มีหลักคำสั่งสอนอันเปรียบเสมือนห้วงมหานทีแห่งสรรพศาสตร์ จึงมิใช่เพียงแค่เป็นปรัชญาหรือทฤษฎีเท่านั้น  หากแต่ยังมีเนื้อหาครอบคลุมถึงวิถีชีวิต  ความเป็นอยู่  ความนึกคิดแทบทุกด้านและที่สำคัญพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการกระทำ  (กรรมวาท  และกิริยาวาท)  เป็นศาสนาแห่งความเพียรพยายาม (วิริยวาท)  ไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนปรารถนา  หรือศาสนาแห่งความห่วงหวังกังวล  การสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้าทรงมุ่งผลในทางปฏิบัติให้ทุกคนจัดการกับชีวิตที่เป็นอยู่จริง ๆ ในโลกนี้และเริ่มต้นแต่บัดนี้ [1]

                คำว่า “พระพุทธศาสตร์”  แยกได้เป็น  ๓  คำ  คือ คำว่า  พระ  แปลว่าประเสริฐ,ดีเลิศ  คำว่า  พุทธะ  แปลว่า ผู้รู้-ผู้ตื่น-ผู้เบิกบานในที่นี้หมายถึงท่านผู้ตรัสรู้อริยสัจ  ๔  อย่างถ่องแท้  คำว่า ศาสตร์ แปลว่าความรู้ หรือองค์ความรู้ที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าวิจัย ซึ่งเป็นกิจกรรมของมนุษย์อย่างหนึ่งที่มุ่งอธิบายอย่างเป็นระบบในความที่น่าจะเป็นไปได้ [2]  เมื่อรวมกันแล้วได้ความหมายว่าองค์แห่งความรู้ของผู้รู้-ผู้ตื่น-ผู้เบิกบานอย่างประเสริฐ 

                ในบรรดาองค์แห่งความรู้ทั้งหมดนั้นเป็นความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยด้วยพระองค์เองจนสามารถกำหนดเป็นทฤษฎีแห่งความรู้ต่าง ๆ  มากมาย ในที่นี้จะแบ่งลักษณะความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเพียงแค่หยิบมือเดียว    ออกเป็น  ๓  ลักษณะ  ดังนี้

                ๑.คำสอนที่ทรงค้นพบใหม่  เช่น  อริยสัจ, ปฏิจจสมุปบาท  เป็นต้น

                ๒. คำสอนที่ทรงปฏิรูปจากลัทธิ, ศาสนาเดิม  เช่น  การทำบุญให้ได้ผลสมบูรณ์จะต้องทำกับผู้เป็นพราหมณ์โดยกำเนิด หรือบริสุทธิ์โดยตระกูล  พระองค์ทรงปฏิรูปโดยให้ทำกับปฏิคาหก (ผู้รับ) ที่มีศีลบริสุทธิ์มีคุณธรรม  และทายก (ผู้ถวายหรือผู้ให้) จะต้องมีความบริสุทธิ์ใน  ๓  กาล คือก่อนให้-ขณะกำลังให้-หลังจากให้แล้ว

                ๓. คำสอนที่ทรงปฏิวัติ  เช่น การฆ่าสัตว์บูชายัญจัดเป็นมหามงคลอย่างยิ่ง  สามารถบันดาลให้ตนสำเร็จตามปรารถนา  พระองค์ทรงเห็นตรงกันข้ามว่าการฆ่าเป็นบาปทั้งสิ้น [3]

                ความรู้ในพระพุทธศาสนาแม้จะมากมาย  ถึงกระนั้นก็ตามพระพุทธศาสนามีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่พระนิพพาน คือการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด  ดังนั้นการบรรลุนิพพานก็คือการเข้าถึงความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง  และบรรลุความสุขอย่างสูงสุด  จิตของผู้บรรลุนิพพานย่อมมีความสะอาดสว่างและสงบตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่และเมื่อดับขันธ์แล้วก็เป็นการสิ้นทุกข์  ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกต่อไป [4]  เมื่อมนุษย์ไม่สามารถเข้าสู่เป้าหมายอันสูงสุดได้อย่างรวดเร็วทางพระพุทธศาสนาจึงได้กำหนดอัตถะ  หรือประโยชน์ที่เป็นเป้าหมายหลักและเป้าหมายรองเอาไว้ เพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิตและเป็นที่มุ่งหวังสำหรับมนุษย์เอาไว้  ๓  ระดับ ดังนี้

                ๑. ทิฏฐิธัมมิกัตถะ  จุดหมายขั้นตาเห็น  หรือประโยชน์ปัจจุบัน  เช่นมีสุขภาพที่ดี, มีเงินใช้และมีงานทำ, มีสถานภาพที่ดี, มีครอบครัวที่ผาสุก  เป็นต้น

                ๒. สัมปรายิกัตถะ  จุดหมายขั้นเลยตาเห็น หรือประโยชน์เบื้องหน้า  เช่น  ความอบอุ่นซาบซึ้งสุขใจ, ความภาคภูมใจ, ความอิ่มใจ, ความแกล้วกล้ามั่นใจ, ความโล่งจิตมั่นใจ  เป็นต้น

                ๓. ปรมัตถะ  จุดหมายสูงสุด หรือประโยชน์อย่างยิ่ง  เช่น  ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม, ไม่ผิดหวังและเศร้า, มีความปลอดโปร่งสงบ และเป็นอยู่ด้วยปัญญา  เป็นต้น [5]

                สรุป ก็คือว่าพระพุทธศาสนามีหลักคำสอนที่มีเหตุและผลเป็นศาสนธรรมว่าโดยแม่บทอันเป็นหลักการใหญ่ที่เรียกว่า  ปาพจน์  มี  ๒  อย่างคือ พระธรรมกับพระวินัย  ว่าโดยปิฎกซึ่งเป็นคำภีร์หลักของศาสนามี  ๓  คือ พระวินัยปิฎก  พระสุตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก  ว่าโดยหัวข้อที่เรียกว่าธรรมขันธ์มี  ๘๔,๐๐๐  พระธรรมขันธ์ [6]

 

.๒.ความหมายของพระไตรปิฎก

            พระไตรปิฎก  เป็นคัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนาที่ประมวลเรื่องราวของพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เรื่องของพระสูตรอันเป็นหลักคำสั่งสอน  และเรื่องของพระอภิธรรมคือเรื่องที่กล่าวถึงจิต เจตสิก  รูป  นิพพาน  เป็นต้น ดังจะกล่าวต่อไป 

พระไตรปิฎก  เมื่อแยกศัพท์ได้ดังนี้  คำว่า พระ  แปลว่าประเสริฐ  หรือดีเลิศ  คำว่า ไตร แปลว่าสาม  คำว่า ปิฎก  มีสองความหมายคือ  ๑) หมายถึงปริยัติ  เช่น ในข้อความว่า  “ มา  ปิฏกสมฺปทาเนน  อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างปริยัติ ”  ๒) หมายถึงภาชนะ เช่น ในข้อความว่า  “ อถ  ปุริโส  อาคจฺเฉยฺย  กุทฺทาลปิฏกมาทาย  บุรุษถือจอบและกระบุงเดินมา ” [7]  หรือแปลว่ากระจาดหรือตะกร้า อันเป็นภาชนะสำหรับใส่รวมของต่าง ๆ เข้าไว้นำมาใช้ในความหมายว่า เป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นหมวดหมู่แล้ว โดยนัยนี้ ไตรปิฎก จึงแปลว่าคัมภีร์ที่บรรจุพุทธพจน์ (และเรื่องราวชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา) ๓ ชุดหรือประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย ๓ หมวด กล่าวคือ วินัยปิฎก  สุตันตปิฎก  และอภิธรรมปิฎก [8]  เมื่อรวมกันแล้วจะได้คำว่าพระไตรปิฎกหมายความว่า  ตะกร้า  ๓  ใบอันประเสริฐ  หรือแปลโดย ความหมายก็คือการรวบรวมพระพุทธพจน์เอาไว้ให้เป็น  ๓  หมวดหมู่  พระไตรปิฎกนี้ถือว่าเป็นที่บรรจุหลักพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเอาไว้มากถึง  ๘๔,๐๐๐  พระธรรมขันธ์ 

.๓. ความเป็นมาของพระไตรปิฎก

                ความพยายามในการทำสังคายนาในสมัยของพระเถระชื่อว่าสารีบุตรได้ปรารภความแตกสามัคคีของพวกนิครนถ์ ภายหลังจากนิครนถ์ นาฏบุตรได้ถึงแก่กรรมแล้วไม่นาน  ณ  กรุงปาวา  [9] โดยกล่าวว่า

“ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย  นี้แล คือธรรมที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้  ทรงเห็น  เป็นพระอรหันตสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น  ตรัสไว้โดยชอบแล้ว พวกเราทั้งหมดนี้แหละพึงสังคายนา  ไม่พึงวิวาทกันในธรรมนั้น เพื่อให้พรหมจรรย์นี้ตั้งอยู่ได้นาน  ดำรงอยู่ได้นาน  ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก  เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก  เพื่อประโยชน์  เพื่อเกื้อกูล  เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ” [10]

 ส่วนความเป็นมาของพระไตรปิฎกที่ปรากฏเป็นรูปเล่มอยู่นี้ปรากฏขึ้นภายหลังพุทธปรินิพพานไปแล้ว  คณะสงฆ์ได้ดำริที่จะทำสังคายนาขึ้นเพื่อให้คณะสงฆ์ได้ใช้เป็นแนวเดียวกันในการประพฤติปฏิบัติ  ซึ่งการนับจำนวนการทำสังคายนานั้นมีความแตกต่างกันทั้งฝ่ายของมหายานและเถรวาท เพราะการสืบสายศาสนาแยกกันคนละทางตลอดจนภาษาที่รองรับคัมภีร์ทางศาสนาก็ใช้ต่างกัน คือของฝ่ายเถรวาท เช่น ไทย พม่า ศรีลังกา กัมพูชา  ลาวใช้ภาษาบาลี  ส่วนฝ่ายมหายาน เช่น ญี่ปุ่น จีน ธิเบต เวียดนาม ใช้ภาษาสันสกฤต ในสมัยที่ตำราสันสกฤตสาบสูญก็มีเฉพาะคัมภีร์ที่แปลเป็นภาษาจีนและภาษาธิเบตเป็นหลัก แล้วมีผู้แปลสู่ภาษาอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่นอีกต่อหนึ่ง [11]  หรือแม้แต่ฝ่ายเถรวาทเองก็ยังนับจำนวนครั้งไม่ตรงกัน เช่น กรณีของไทย, ศรีลังกา และพม่า  เป็นต้น

                เสฐียรพงษ์  วรรณปก  ได้ระบุการทำสังคายนาในส่วนของฝ่ายเถรวาทเอาไว้ดังนี้  ๕  ครั้ง และครั้งที่  ๕  นี้เองที่มีหลักฐานที่มีการจารึกไว้เป็นลายลักอักษร เพราะก่อนหน้านั้นใช้วิธีการท่องจำจากปากต่อปาก  ประกอบไปด้วย [12]

                ครั้งที่  ๑  หลังจากพระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานไปแล้ว  ๓  เดือน สาเหตุเนื่องมาจากพระภิกษุผู้บวชตอนแก่ชื่อว่าสุภัททะได้กล่าวดูหมิ่นพระธรรมวินัย        พระมหากัสสปะเกรงว่าพระธรรมวินัยจะเสื่อมสูญ จึงเรียกประชุมพระสงฆ์อรหันต์  ๕๐๐  รูป  ทำสังคายนา  ณ  ถ้ำสัตตบรรณคูหา  ข้างเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ ในคราวนี้พระมหากัสสปะเป็นประธานในการซักถามพระธรรมวินัย  พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม  พระอุบาลี เป็นผู้วิสัชนาพระวินัยในการนี้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ ใช้ระยะเวลานานถึง  ๗  เดือนจึงสำเร็จ

                ครั้งที่  ๒  หลังจากพระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานไปแล้ว  ๑๐๐  ปี สาเหตุมาจากพระภิกษุวัชชีบุตรกลุ่มหนึ่งได้ปฏิบัติย่อหย่อนพระวินัย  ๑๐  ประการ เช่น เก็บเกลือไว้ในเขาสัตว์เพื่อนำมาผสมอาหารไว้  สำหรับฉันได้ตลอดไป  เมื่อตะวันสายเกินเที่ยงวันไปแล้วประมาณสององคุลีฉันอาหารได้ รับเงินและทองได้ ฉันสุราอ่อน ๆ ได้  เป็นต้น พระเถระผู้ใหญ่ร่วมมือกันกระทำการครั้งนี้  ๘  รูปคือ พระสัพพกามี, พระสาฬหะ, พระขุชชโสภิตะ, พระวาสภคามิกะ, พระเรวตะ, พระสัมภูตะสาณวาสี, พระยสกากัณฑบุตร และพระสุมนะ  ในการนี้พระเรวตะเป็นผู้ซักถาม  พระสัพพกามีเป็นผู้ตอบวินิจฉัย  ในท่ามกลางพระสงฆ์  ๗๐๐  รูป ณ วาลิการาม  เมืองไพศาลี  มีพระเจ้ากาฬาโสกเป็นผู้อุปถัมภ์ ใช้ระยะเวลาถึง  ๘  เดือนจึงสำเร็จ

                ครั้งที่  ๓  หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานไปแล้ว  ๒๓๕  ปี  สาเหตุเนื่องมาจากเดียรถีย์ปลอมบวชในพระพุทธศาสนามากขึ้น  แสดงธรรมวินัยผิดแผกไปจากหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา    พระโมคคลีบุตรติสสเถระ   เป็นประธานในพระสงฆ์    จำนวน  ๑,๐๐๐  รูป

ณ อโศการาม  เมืองปาตลีบุตร  สะสางชำระพระธรรมวินัย กำจัดเดียรถีย์ออกไป โดยได้รับความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช  ใช้ระยะเวลาในการทำถึง  ๙  เดือนจึงสำเร็จ

                ครั้งที่  ๔  หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานไปแล้ว  ๒๓๘  ปี พระมหินทเถระ ได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา  โดยมีพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เป็นผู้อุปถัมภ์

                ครั้งที่  ๕  หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานไปแล้ว  ๔๕๐ ปี   ในการทำสังคายนาครั้งนี้เองที่มีการจารึกพระพุทธวจน์เป็นลายลักษณ์อักษร ด้วยเกรงว่าการถ่ายทอดโดยระบบท่องจำอาจมีความวิปริตคลาดเคลื่อนไปได้ โดยมีการกระทำ  ณ  อาโลกเลณสถาน  มตเลชนบท หรือมลัยชนบท ประเทศศรีลังกา  โดยมีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน ( การคำนวณในที่นี้มีนัยที่ต่างกัน คือ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ๒๕๓๙  ระบุ  ๔๓๓  ปีหลังพุทธปรินิพพาน)

               

.๔.องค์ประกอบของพระไตรปิฏก

                ๑.พระวินัยปิฎก                   คำว่า วินัย มาจากคำว่า วิ  กับคำว่า นัย ซึ่งมีความหมายถึง  ๓ประการ คือ ๑) หมายถึง นัยต่าง ๆ (วิวิธ-นัย) เพราะมีปาติโมกข์  ๒ คือภิกขุปาติโมกข์และภิกขุนีปาติโมกข์ มี ๒ วิภังค์ คือ ภิกขุวิภังค์และภิกขุนีวิภังค์ มีอาบัติ  ๗  กองเป็นต้น  ๒) หมายถึง นัยพิเศษ (วิเสส-นัย) เพราะมีอนุบัญญัติเพิ่มเติมเพื่อทำให้สิกขาบทรัดกุมยิ่งขึ้นหรือผ่อนผันให้เพลาความเข้มงวดลง  ๓) หมายถึงกฎสำหรับฝึกอบรมกายวาจา (วินยนฺโต  เจว  กายวาจานํ)  เพราะเป็นเครื่องป้องกันความประพฤติที่ไม่เหมาะสมทางกายและทางวาจา [13]  คือประมวลพุทธบัญญัติเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติ ขนบธรรมเนียมประเพณี  วิถีชีวิตและวิธีดำเนินกิจการต่าง ๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ [14] เป็นที่รวมเอาข้อวัตรปฏิบัติเบื้องต้นคือศีล  หรือรากฐานอันเป็นกฎระเบียบของสังคมโดยส่วนรวมที่พระพุทธองค์ทรงเน้นเป็นพิเศษเพื่อฝึกให้คนในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมสงฆ์ที่เป็นแม่แบบให้กับสังคมชุมชนอินเดียโบราณเอาไว้เป็นแบบอย่าง สามารถแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ

๑) อาทิพรหมจริยกาสิกขา หมายถึงหลักการศึกษาในฝ่ายบทบัญญัติหรือข้อปฏิบัติอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นพุทธอาณาเพื่อป้องกันความประพฤติเสียหายและวางโทษแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิดโดยปรับอาบัติหนักบ้าง เบาบ้าง เรียกว่าพระปาติโมกข์ 

๒) อภิสมาจาริกาสิกขา หมายถึงหลักการศึกษาอบรมในฝ่ายขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับมรรยาทและความเป็นอยู่ที่ดีงามสำหรับชักนำความประพฤติ ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ให้ดีงามมีคุณค่าน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งขึ้นไป[15]   และพระวินัยปิฎกสามารถแบ่งออกเป็น  ๕  คัมภีร์ คือ

๑.มหาวิภังค์  หรือ  ภิกขุวิภังค์  ว่าด้วยสิกขาบทหรือศีลของภิกษุ  ๒๒๗  ข้อที่มาใน

    พระปาติโมกข์

๒.ภิกขุนีวิภังค์  ว่าด้วยสิกขาบทหรือศีลของภิกษุณี  ๓๑๑  ข้อที่มาในพระปาติโมกข์

๓. มหาวรรค  ว่าด้วยสิกขาบทนอกพระปาติโมกข์ตอนต้น  ๑๐  ขันธกะหรือหมวด

๔. จุลวรรค  ว่าด้วยสิกขาบทนอกพระปาติโมกข์ตอนปลาย  ๑๐  ขันธกะ

๕. ปริวาร  คือคัมภีร์ประกอบหรือคู่มือที่บรรจุคำถามคำตอบสำหรับซ้อมความรู้เรื่อง

      พระวินัยซึ่งเป็นการทบทวนเนื้อหาของ  ๔  คัมภีร์แรก [16]     เมื่อรวมทั้งหมดแล้วมี

      ด้วยกันถึง  ๒๑,๐๐๐  พระธรรมขันธ์

                ๒. พระสุตันตปิฎก             เป็นประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตรนั้น ประกอบด้วย        พระธรรมเทศนาและธรรมบรรยายต่าง ๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคล  เหตุการณ์ และโอกาส  ตลอดจนบทประพันธ์  เรื่องเล่า  และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่าพระธรรมเทศนาและธรรมบรรยายทั้งหลายในพระสุตตันตปิฎกว่า  “สูตร”  พระอรรถกถาจารย์     ผู้รจนาคัมภีร์สมันตปาสาทิกา  อธิบายว่าเพราะมีความหมายถึง  ๖  ประการคือ  ) เพราะบ่งถึงประโยชน์  (อตฺถานํ  สูจนโต)  คือชี้ให้เห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น  ) เพราะมีอรรถที่ตรัสไว้ดีแล้ว  (สุวุตฺตโต)  คือตรัสตามอุปนิสัย  หรืออัธยาศัยของเวไนยสัตว์ (ผู้ควรแนะนำ)          ๓) เพราะผลิตประโยชน์  (สวนโต)  คือก่อให้เกิดผลดุจข้าวกล้าที่เจริญเติบโตแล้ว  ผลิตรวงข้าวต่อไปได้  ) เพราะหลั่งประโยชน์  (สูทนโต) คือทำให้ประโยชน์หลั่งไหลออกมาดุจแม่โคนมหลั่งน้ำนมออกมา     ๕) เพราะป้องกันด้วยดี (สุตฺตาณา)  คือรักษาประโยชน์ทั้งหลายไว้ได้ด้วยดี 

) เพราะมีส่วนเสมอด้วยเส้นด้าย  (สุตฺตสภาคโต)  คือใช้เป็นบรรทัดฐานในการประพฤติปฏิบัติของวิญญูชนดุจเส้นบรรทัดของช่างไม้ [17]  พระสุตันตปิฎกนี้เป็นเรื่องราวเหตุการณ์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอดแทรกหัวข้อธรรม  เพื่อให้เป็นหลักของการยึดครองจิตใจคนเอาไว้ในรูป  ๙  อย่าง หรือที่เรียกว่า  นวังคสัตถุศาสน์   หมายความว่าคำสั่งสอนของพระศาสดามีองค์  ๙ คือ

                ๑.สุตตะ  คือระเบียบคำที่เป็นความเรียงแสดงหรือบรรยายข้อธรรมให้ผู้ฟังเห็นประจักษ์  บางกรณีอาจบรรยายเป็นอุปมาโวหารก็มีหรือตั้งประเด็นปัญหาขึ้นถามแล้วตอบเองก็มี  เช่น ระเบียบคำในพระสูตรทั่วไป  รวมทั้งในพระวินัยปิฎก  และคัมภีร์นิทเทส   (จูฬนิทเทส  และมหานิทเทส  ผลงานของพระสารีบุตรเถระ)

                ๒. เคยยะ  คือระเบียบคำที่เป็นประเภทร้อยกรองผสมกับคำประเภทร้อยแก้ว เช่น  ระเบียบคำในพระสูตรทั้งหลายที่มีคาถาประพันธ์

                ๓. เวยยากรณะ  คือระเบียบคำที่เป็นประเภทร้อยแก้วล้วน เช่น  ระเบียบคำในพระอภิธรรมทั้งหมดและพระสูตรทั้งหลายที่ไม่มีคาถาประพันธ์

                ๔. คาถา  คือระเบียบคำที่เป็นประเภทร้อยกรองล้วน  เช่น  ระเบียบคำในธรรมบท (ขุ.ธ.)  เถรคาถา (ขุ.เถร.)  เถรีคาถา (ขุ.เถรี.)

                ๕.อุทาน  คือระเบียบคำที่พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งด้วยพระทัยอันสหรคตด้วยโสมนัส  สัมปยุตด้วยญาณ  อาจเป็นคำประเภทเวยยากรณะก็มี  เป็นคำประเภทคาถาก็มี  เช่น  ระเบียบคำในคัมภีร์อุทาน  (มี  ๘๒  สูตร)

                ๖. อิติวุตตกะ  คือระเบียบคำที่มีการกล่าวอ้างข้อความอื่นมาประกอบโดยมีคำว่า  “ วุตตํ  เหตํ  ภควตา ” (สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้)  เป็นคำเชื่อมความเพื่อนำเข้าสู่คาถาหรือพุทธพจน์ เช่น  ระเบียบคำในคัมภีร์อิติวุตตกะ  (มี  ๑๑๐  สูตร)

                ๗.ชาตกะ  คือระเบียบคำที่มุ่งเล่าเรื่องในอดีต  เป็นบุพจริยา เช่น ระเบียบคำในคัมภีร์ชาตกะ  หรือชาดก ซึ่งเป็นคำประเภทร้อยกรองหรือคาถาล้วน

                ๘. อัพภูตธรรม  คือระเบียบคำที่แสดงถึงเรื่องที่น่าอัศจรรย์ไม่เคยมี  เช่น ระเบียบคำในพระสูตรทั้งหลายที่กล่าวถึงอัพภูตธรรม

                ๙. เวทัลละ  คือระเบียบคำแบบถาม-ตอบ  เช่น ระเบียบคำในพระสูตรที่เป็นปุจฉาวสิกะ คือที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตามคำทูลถาม แต่มีลักษณะสำคัญสองอย่าง คือ (๑) ทูลถามเพื่อขอความรู้ (เวทญฺจ)  (๒) ผู้ทูลถามฟังแล้วพอใจ ติดใจ (ตุฏฺฐิญจ) ทูลถามต่อไปอีก เช่น ระเบียบคำในจูฬเวทัลลสูตร (ม.มู.)  มหาเวทัลลสูตร  (ม.มู)  สักกปัญหสูตร  (ที.ม.)  สัมมาทิฏฐิสูตร  (ม.มู.)  มหาปุณณมสูตร (ม.อุ.) [18]  โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น ๕  นิกาย ประกอบไปด้วย  คือ ทีฆนิกาย  มัชฌิมนิกาย  สังยุตตนิกาย  อังคุตตรนิกาย  และขุททกนิกาย [19] และพระสุตันตปิฎกนี้เองที่ทำให้เป็นที่น่าสนใจเข้าไปศึกษาค้นคว้าเรื่องราวต่าง ๆ ได้รวมทั้งทฤษฎีทางการเมืองการปกครองที่จะกล่าวถึงต่อไป มี  ๒๑,๐๐๐  พระธรรมขันธ์

                ๓.พระอภิธรรมปิฎก           เป็นปิฎกที่ว่าด้วยเรื่อง   จิต   เจตสิก  รูป  นิพพาน  และบัญญัติ ถ้าว่าโดยปรมัตถ์ก็ได้แก่  จิต  เจตสิก  รูป  และนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมอันยิ่ง  ธรรมอันพิเศษ ธรรมอันละเอียดลุ่มลึกและประเสริฐยิ่งกว่าธรรมทั้งปวงที่จะยังสัตว์ให้ไปสู่สวรรค์และนิพพาน เหมือนฉัตรอันยิ่งใหญ่ที่ประเสริฐกว่าฉัตรทั้งหลาย  เพราะมิได้กล่าวถึงสัตว์  บุคคล  สถานที่  และเหตุการณ์ต่าง ๆ เข้ามาประกอบแต่อย่างใดทั้งสิ้น นับเป็นเรื่องของวิชาการทางพระพุทธศาสนาล้วน ๆ โดยแบ่งออกเป็น  ๗  คัมภีร์ คือ   ธัมมสังคณี   วิภังค์   ธาตุกถา   ปุคคลบัญญัติ   กถาวัตถุ   ยมก   และปัฏฐาน [20] เป็นหัวข้อธรรมซึ่งเป็นนามธรรมล้วน ๆ ที่นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาในยุคหลัง ๆ ได้พยายามนำมาสร้างให้มีรูปแบบเป็นตรรกศาสตร์มีจำนวนทั้งสิ้น  ๔๒,๐๐๐  พระธรรมขันธ์


[1]  ธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต), พระ.   พุทธธรรม.  พิมพ์ครั้งที่  ๙.    (กรุงเทพฯ  : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,  ๒๕๔๓).  หน้า  ๖.
[2] จำนง  อดิวัฒนสิทธิ์. สังคมวิทยาตามแนวพุทธศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่  ๒.  (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๔๘).หน้า  ๖-๗.
[3] บุญมี    แท่นแก้ว. พระพุทธศาสนากับปรัชญา.  (กรุงเทพฯ  :  หจก.เม็ดทรายพริ้นติ้ง,  ๒๕๔๐).หน้า  ๖-๗.
[4] เดือน  คำดี. ศาสนศาสตร์.(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๔๑). หน้า  ๑๕๒.
[5] ธรรมปิฎก, พระ.  ธรรมนูญชีวิต.  (กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม, ๒๕๔๑). หน้า  ๘.
[6] คูณ  โทขันธ์.   พุทธ ศาสนากับสังคมและวัฒนธรรมไทย.   (กรุงเทพฯ  :  โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์ , ๒๕๔๕). หน้า ๑.
[7]  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  “บทนำ.”   พระวินัยปิฎก  เล่ม  ๑ (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙),   หน้า  [ ๑๐ ].
[8] ธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต), พระ.  พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์.   (กรุงเทพฯ  :  โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  ๒๕๔๓),  หน้า  ๗๖.
[9] ที.ปา. ๑๑ / ๓๐๒ / ๒๕๐.
[10] ที. ปา. ๑๑ / ๓๐๓ / ๒๕๑.
[11]  มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์.   พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน.  พิมพ์ครั้งที่   ๑๖. ( กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,  ๒๕๓๙).   หน้า  ๗.
[12] เสฐียรพงษ์  วรรณปก.  คำบรรยายพระไตรปิฎก. ( กรุงเทพฯ  :  ธรรมสภา,  ๒๕๔๓).  หน้า  ๗-๘.
[13]  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  “บทนำ.”   พระวินัยปิฎก  เล่ม  ๑ (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙),   หน้า  [ ๑๐ ].
[14] เรื่องเดียวกัน  หน้า  [ ๗ ].
[15] เรื่องเดียวกัน  หน้า  [ ๗  ].
[16] เรื่องเดียวกัน  หน้า  [ ๑๑ ].
[17]  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  “บทนำ.”   พระสุตันตปิฎก    (กรุงเทพฯ  : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙),   หน้า  [ ๗ ].
[18] เรื่องเดียวกัน  หน้า  [ ๙ ] – [ ๑๐ ].
[19] เรื่องเดียวกัน  หน้า  [ ๑๐ ].
[20]  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  “บทนำ.”   พระอภิธรรมปิฎก  เล่ม  ๓๔ . (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙),   หน้า  [ ๗ ].
หมายเลขบันทึก: 437710เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2011 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท