นิเวศดี สุขภาพดี


สุขภาพดีได้ด้วยสิ่งแวดล้อมดี เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่กลับถูกละเลยง่ายๆ เมื่อเราปล่อยให้รัฐที่คับแคบทางความคิดเข้ามากำหนดชะตากรรมของคนหมุู่ใหญ่ ปล่อยให้คนหมู่น้อยผูกขาดอำนาจ ยึดกุมทรัพยากรส่วนใหญ่ ทอดทิ้งผู้ด้อยโอกาส

Version:1.0 StartHTML:0000000167 EndHTML:0000016309 StartFragment:0000000457 EndFragment:0000016293

 

วันนี้ ก็เข้าปีที่ ๗ แล้ว ที่ผมลืมตาทุกเช้า ในหมู่บ้านที่ผมและครอบครัวอาศัย เสียงที่ส่งผมเข้านอนและทักทายผมยามเช้า คือ เสียงนก เสียงแมลง

 

เสียงเหล่านั้นแปลกใหม่มากขึ้นทุกที แปลว่า มีนกแมลงต่างพันธุ์เพิ่มขึ้น ทีละน้อย ทีละนิด จากวันเป็นเดือนจากเดือนเป็นปี

 

ขณะกำลังนั่งเขียนบันทึกนี้ริมหน้าต่าง บ่อยครั้งผมจะพักผ่อนสายตาจากหน้าจอคอมฯ แล้วชำเลืองออกไป สบตากับนกบ้าง กระแตบ้าง แมวบ้าง หรือแมลงที่ป้วนเปี้ยนบนต้นไม้ บนสนามหญ้า

ที่ต่างวนเวียนมาในละแวกบ้านเป็นครั้งคราว ช่วยคลายเหงา แต่งแต้มสีสันให้ชีวิตผมและครอบครัว

 

ย้อนหลังไป ๗ปีที่แล้ว วันที่ผมตัดสินใจย้ายมาหมู่บ้านนี้ ผมคงไม่สามารถตั้งเป้าหมายหรือดัชนีชี้วัดเป็นตัวเลขชัดเจนว่า ผมจะมีนกให้เห็นกี่ชนิด แมลงกี่ชนิด จำนวนเท่าใดแต่ละชนิด จะได้เพิื่อนเพิ่มขึ้นกี่คน

 

แต่กึ๋น(gut feeling) บอกผมว่า สิ่งแปลกใหม่อ้นน่ารื่นรมย์จะตามมา เมื่อผมเลือกอาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ผมเชื่อว่าเป็นใจให้กับสิ่งเหล่านั้น

 

ผมไม่จำเป็นต้องมีความรู้/ทักษะ ทางชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ใดๆที่จำเพาะต่อการก่อเกิดชีวิตแปลกใหม่เหล่านั้น ประสบการณ์กับชีวิืตแปลกใหม่แสนรื่นรมย์เหล่านี้ จึงเป็นไปเองตามกฎเกณฑ์แห่งระบบนิเวศน์ อันซับซ้อนเกินกว่าความเข้าใจของผม

 

สวนโมกขพลาราม" พลันแว๊ปเข้ามาในห้วงคำนึง จำคำแปลได้ว่า "สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งการหลุดพ้น" อือม...ช่างเป็นคำที่แฝงความหมายลึกซึ้งสำหรับผมเหลือเกิน

 

ผมเข้าใจว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสก่อตั้งสวนโมกข์ ก็คงมุ่งหมายให้เป็นนิเวศน์ เป็นสังคมซึ่งเป็นใจแก่การแสวงหาทางจิตวิญญาณที่ดีกว่า การดิ้นรนในสังคมภายนอกอันเต็มไปด้วยอุปสรรคนานาต่อการแสวงหานี้

 

สังคมใหญ่ที่คนหกสิบกว่าล้านคนอาศัยด้วยกันบนแผ่นดินด้านขวานนี้จะเป็นอย่างไรหนอ ถ้าสภาวะแวดล้อมเป็นคล้ายดังหมู่บ้านที่ผมอาศัย เป็นคล้ายดังสวนโมกข์ (ผมใช้คำว่า"คล้าย" นะครับ ไม่ใช่"เท่ากับ”)

 

ส่วนคล้ายที่ผมอยากเห็น ได้แก่ ความเป็นอิสระพอแก่การเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ

 

ผมและเพื่อนบ้านคิดต่างกัน ทำอาชีพต่างกัน นิยมชมชอบหลายสิ่งต่างกัน แต่ก็เหมือนกันในบางเรื่องที่สำคัญต่อการธำรงรักษาภาวะอิสระนั้น เช่น ชอบอยู่เงียบๆ ยินดีจ่ายค่าส่วนกลางตามที่ตกลงกันด้วยการปรึกษาหารือจนเกินความเห็นร่วม ปฎิบัติตามกฎไม่ก่ีข้อ (เช่น เก็บขยะไว้ในคอกมิดชิดหน้าบ้าน โดยบรรจุขยะในถุงปิดปากสนิท กองเศษไม้ชิ้นโตใกล้วันที่รถมาขนตามนัด ฯลฯ)

 

ถนนระยะทางไกลหลายกิโลเมตรของหมู่บ้านดึงดูดให้ คนต่างเพศต่างวัยออกมาวิ่งบ้าง ขี่จักรยานบ้าง เป็นกลุ่มๆ หรือโดยลำพังตามความชอบ ตลอดความยาวถนน เนินสะดุด(speed humps)ช่วยคลายความกังวลว่าจะ ถูกรถเฉี่ยวชนได้มาก เพราะรถส่วนใหญ่เกรงใจเนินสะดุดนั้นเอง

 

สนามหญ้าเขียวขจี แซมด้วยไม้ใหญ่นานาพันธุ์รอบทะเลสาบของหมู่บ้านชี้ชวนให้เด็ก ผู้ใหญ่ออกมาพักผ่อนหย่อนใจ ให้อาหารสัตว์น้ำ ชมนก ชมปลา ชมเต่า ชมห่าน โดยไม่ต้องมีการรณรงค์

 

สุขภาพดีได้ด้วยสิ่งแวดล้อมดี เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก

 

แต่กลับถูกละเลยง่ายๆ เมื่อเราปล่อยให้รัฐที่คับแคบทางความคิดเข้ามากำหนดชะตากรรมของคนหมุู่ใหญ่ ปล่อยให้คนหมู่น้อยผูกขาดอำนาจ ยึดกุมทรัพยากรส่วนใหญ่ ทอดทิ้งผู้ด้อยโอกาส

โง่ จน เจ็บ" (victim blaming concept)เป็นวัฎจักรชั่วร้าย ที่วนเวียนอยู่กับชีวิตผู้ด้อยโอกาส วนเวียนอยู่ในห้วงคิดคำนึงของผู้กุมกลไกรัฐในลักษณะดังกล่าว นโยบายของรัฐจึงมองผู้ด้อยโอกาสเป็นเหยื่อ แทนที่จะเป็นผู้สมควรได้อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตโดยอิสระพอแก่การเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ

 

รัฐในลักษณะนี้ จึงเพิกเฉยต่อการจัดสรรทรัพยากรเพื่อเกลี่ยโอกาสที่จะเลือกใช้ชีวิตอิสระเช่นนั้นอย่างเท่าเทียม

 

ผู้ตกเป็นเหยื่อของความเชื่อแบบ"โง่ จน เจ็บ" ก็จะมองไม่เห็นความสำคัญของพลังรวมหมู่บนความรู้เท่าทัน แต่ฝากความหวังล้มๆแล้งๆ กับเมตตาจากสวรรค์ จากการเสี่่ยงทาย อย่างช่่วยไม่ได้

 

กระนั้นก็ตาม วิกฤตการณ์ในตะวันออกกลาง อาจให้บทเรียนว่า ผู้ตกเป็นเหยื่ออาจพลิกฟื้น รวมตัวเพื่อชี้ชะตาบ้านเมืองได้.....

 

เมื่อพวกเขาหลุดพ้นจากการครอบงำของความเชื่อแบบ"โง่ จน เจ็บ"

 

เมื่อสื่อสังคมสมัยใหม่ ทำให้พวกเขาสามารถเล็ดลอดการผูกขาดอำนาจสื่อสารของผู้กุมอำนาจรัฐใจแคบได้

 

เมื่อสังคมได้คลี่คลายมาถึงจุดวิกฤต ที่การสื่อสารสมัยใหม่ทำให้คนหมู่มากมองเห็นวิกฤตและทางออกร่วมกัน

 

ในสายน้ำ เราคงเคยเห็น ชายขอบของวังน้ำวน ตรงรอยต่อระหว่างกระแสน้ำสายใหญ่กับวงน้ำวน โดยอุปมาอุปมัย ในสังคมที่ตรงนี้คือ สถานการณ์ที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงเผยตัวออกมา ความคิดใหม่ นวตกรรมเผยตัวออกมา อย่างคาดไม่ถึง

 

เฉกเช่นสายน้ำใหญ่ ที่ชีวิตเป็นไปได้โดยไม่ต้องอาศัยวังน้ำวนก็ได้ วิวัฒนาการทางสังคมก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยวิกฤตเสมอไป การพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ย่อมเกิดขึ้นได้หากดุลอำนาจในสังคมดำรงอยู่บนหลักแห่งความเสมอภาค และอิสรภาพ

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 437707เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2011 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท