WHO Global Forum 2011 - Moscow (Day 3)


ถนนอารบัตเก่า มหาวิหารพระคริสต์ผู้ช่วยชีวิตและพิพิธภัณฑ์เทรตยาคอฟ

ถนนอารบัตเก่า มหาวิหารพระคริสต์ผู้ช่วยชีวิตและพิพิธภัณฑ์เทรตยาคอฟ

วันที่สามในมอสโก ตื่นเช้ามาได้เป็นพระอาทิตย์ยอแสงผ่านอาคารวิหารที่ประทับของพระสังฆราชดูงดงามยิ่ง เช้าวันนี้เปลี่ยนเมนูเป็นไข่ต้มและข้าวต้มนมก็อร่อยไม่น้อย จากนั้นก็กลับมาเขียนบันทึกและเข้าอินเตอร์เน็ตเพื่อเช็คเมลและส่งข่าว แต่ดูเหมือนว่าอินเตอร์เน็ตไม่ค่อยจะเป็นใจ เพราะช้าเสียจนรอไม่ไหว จึงกลับขึ้นมาเตรียมเดินทางไปชมถนนอารบัตเก่า มหาวิหารและพิพิธภัณฑ์เทรตยาคอฟ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งเส้นทางเดินชมกรุงมอสโก เพราะถูกจัดให้เป็นถนนคนเดินเท่านั้น ไม่มีรถยนต์วิ่งให้พลุกพล่านเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

หลังจากที่ชมเครมลินและจัตุรัสแดงมาอย่างเต็มอิ่มเมื่อวานนี้ วันนี้จึงเริ่มต้นการเดินทางสายนิดหนึ่ง การเดินทางก็ยังเป็นบริการรถไฟฟ้าใต้ดินเช่นเคย จากสถานีตุลสกายาถึงสถานีโบโรวิทสกายาแล้วก็ต่อสายสีม่วงไปอีกหนึ่งสถานีคือสถานีสโมเลนสกายา ขึ้นจากสถานีรถไฟฟ้าแห่งนี้ก็เริ่มต้นถนนอารบัตเก่า ซึ่งเป็นถนนที่มีชื่อปรากฏมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เลยทีเดียว ตามประวัติถนนสายนี้เป็นที่อยู่อาศัยของตำรวจลับในสมัยกษัตริย์อีวาน(จอมโหด) ต่อมาในศตวรรษที่ 17 ถนนสายนี้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นขุนนาง และศิลปินที่มีผู้อุปถัมภ์ ในยุคต่อมามีการสร้างตึกที่ใช้เป็นอาพาร์ตเม้นต์ที่อยู่อาศัยร่วมกันของครอบครัวชนชั้นกรรมการ ครั้นถึงยุคปฏิวัติสมัยสหภาพโซเวียต ถนนอารบัตได้กลายเป็นย่านที่พักอาศัยของสมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่อาจเรียกว่าเป็นชนชั้นใหม่ในยุคนี้ และประมาณปี 1985 ถนนอารบัตได้กลายเป็นถนนคนเดินที่คึกคักที่สุด เป็นแหล่งรวมของเหล่าศิลปิน จิตรกร โรงละคร และเหล่าผู้สร้างสรรค์ทางวัตนธรรมหลากหลายสาขา รวมทั้งร้านค้าของที่ระลึก

การเดินชมถนนอารบัตวันนี้ เชื่อว่ายังคงกลิ่นไอแห่งอดีตอยู่ไม่น้อยเพียงแต่เป็นช่วงกลางวันที่ร้านรวงอาจจะยังไม่เร้อมเปิดให้บริการทั้งหมด และผู้คนอาจบางตาบ้าง ซึ่งเชื่อว่าเมื่อยามอาทิตย์อัสดงคงมีร้านรวงเปิดเพิ่มขึ้น และมีสีสันมากกว่านี้แน่ ระหว่างทางก็จะพบศิลปินที่บรรเลงดนตรีทั้งเดี่ยวและกลุ่มให้ผู้ผ่านไปมาได้ชื่นชม มีจิตรกรคอยให้บริการวาดภาพเหมือนและภาพตามสั่งตั้งอุปกรณ์พร้อมอยู่เป็นระยะ ระหว่างทางก็จะมีงานศิลปะตั้งให้ชมเป็นระยะเช่นกัน

สุดทางถนนอารบัต เป็นทางเดินในสวนเชื่อมสู่มหาวิหารพระคริสต์ผู้ช่วยชีวิต ภายในสวนก็จะมีรูปปั้นงานศิลปะที่เหมาะสมกับสถานที่ ขณะเดียวกันก็มีสินค้าประเภทงานศิลปะให้บริการซื้อขายตลอดทาง เดินกระทั่งสุดทางเดินในสวนก็จะถึงมหาวิหารพระคริสต์ผู้ช่วยชีวิตตั้งตระหว่านอยู่อีกฟากหนึ่งของถนน มหาวิหารแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อประกาศพระเกียรติคุณของกษัตริย์อเลกซานเดอร์ที่ 1 ในการรบชนะนโปเลียนและกองทัพฝรั่งเศสในสงครามปี 1812 ออกแบบโดยโดยสถาปนิกชื่อ Konstantin Thon กล่าวกันว่ามหาวิหารแห่งนี้สร้างด้วยอิฐถึง 40 ล้านก้อน ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 45 ปี หลังคาเป็นทรงโดม 5 โดม โดยมีโดมขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยโดมขนาดเล็กอยู่สี่มุม โดมขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 25.5 เมตร โดยมีความสูงของยอดที่สูงที่สุด 103 เมตรมีระฆัง 14 ลูก ใช้เงินในการก่อสร้างจากทั้งงบประมาณของประเทศและเงินบริจาค ขณะดำเนินการก่อสร้างรากฐานมหาวิหารนี้ได้พบหลุมศพโบราณและซากแมมมอธด้วย ครั้งหนึ่งมหาวิหารนี้ยังได้ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีราชาภิเษกจักรพรรดินิโคไลที่ 1 ของรัสเซีย

เมื่อครั้งประธานาธิบดีสตาลินปกครองรัสเซีย มีความต้องการที่จะล้มล้างศาสนา โดยมีโครงการสร้างพระราชวังโซเวียต (The Palace of Soviet) เป็นอาคารสูงถึง 415 เมตร พร้อมสร้างอนุสาวรีย์ของตนเองสูง 106 เมตรตั้งตระหง่านอยู่บนส่วนยอดของอาคาร แต่ทำเลดังกล่าวไม่สามารถรองรับโครงการได้เพราะตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ประธานาธิบดีสตาลินจึงสั่งให้ขุดฐานรากมหาวิหารและดัดแปลงให้เป็นสระน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวได้ว่ามหาวิหารนี้แม้จะใช้เวลาสร้างถึง 45 ปี แต่ใช้เวลาทำลายเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น มหาวิหารพระคริสต์ผู้ช่วยชีวิตที่เห็นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้เริ่มสร้างขึ้นใหม่ในปี คศ.1995 หลังจากระดมทุนบริจาคจากชาวรัสเซียทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี คศ.1990 สร้างเสร็จในปี คศ.2000 โดยคงรูปแบบของมหาวิหารเดิมไว้แต่ใช้เทคนิคการก่อสร้างและวัสดุสมัยใหม่

มหาวิหารแห่งนี้เปิดให้คริสตชนเข้าไปนมัสการได้ รวมทั้งนักท่องเที่ยวก็สามารถเข้าชมได้ด้วย แม้ดูเหมือนว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยจะสงสัยว่าควรอนุญาตให้พระสงฆ์ที่ห่มสีเหลืองหน้าตาแตกต่างจากพวกเขารูปนี้เข้าชมภายในมหาวิหารนี้ได้หรือไม่ก็ตาม สังเกตจากการใช้วิทยุติดต่อสอบถามหัวหน้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้านในต้องเดินออกมาดู ซึ่งได้ส่งภาษารัสเซียเป็นทำนองว่าอนุญาตให้เข้าชมได้ ภายในมหาวิหารประดับประดาตกแต่งได้งดงาม มีพื้นที่ให้เข้านมัสการได้หลายที่โดยมีคริสตชนจุดเทียนสีแดงเพื่อบูชาอยู่ตามส่วนต่างๆที่จัดให้ ส่วนโดมและผนังบางส่วนมีภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพระเยซูคริสตเจ้าที่จิตรกรได้บรรจงวาดอย่างประณีต ชั้นล่างของมหาวิหารเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายภาพจิตรกรรมเก่าแก่และการสร้างมหาวิหารและวิหารในที่ต่างๆที่น่าในใจมาก

เดินออกมาภายนอกมหาวิหารเพื่อหามุมเหมาะๆ ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก อ้อมไปด้านตรงข้ามกับประตูทางเข้าเป็นสะพานข้ามถนนและแม่น้ำมอสโกไปอีกฝั่งหนึ่ง มุมนี้สามารถมองเห็นโบสถ์ หอระฆังและอาคารพระราชวังเครมลินได้อย่างชัดเจน รวมทั้งชมทิวทัศน์แม่น้ำมอสโก รูปปั้นของปีเตอร์มหาราชที่ตั้งอยู่บริเวณส่วนแยกของแม่น้ำมอสโก ตึกอาคารหลากสีที่ตั้งริมสองฝั่งน้ำมอสโกเช่นโรงงานชอคโคแล็ต สะพานนี้นอกจากจะข้ามแม่น้ำมอสโกส่วนที่กว้างแล้วยังทอดยาวไปจนข้ามส่วนแยกของแม่น้ำที่ไกลออกไปด้วย เดินจากส่วนสุดของสะพานได้ไม่ไกลนักก็จะเชื่อมไปยังถนนคนเดินย่านพิพิธภัณฑ์เทรตยาคอฟ ส่วนต้นของถนนอยู่ติดกับส่วนแยกของแม่น้ำมอสโก มีสะพานเชื่อมไปสวนที่มองเป็นเครมลินได้ชัดเช่นกัน บนสะพานมีต้นเหล็กที่มีห่วงไว้คล้องลูกกุญแจสำหนับหนุ่มสาวที่อาจมาสาบานรักกันที่นี่ด้วย เริ่มต้นเดินชมย่านนี้แต่รู้สึกว่าไม่ค่อยจะคึกคักเหมือนย่านถนนอารบัตเก่า ถึงพิพิธภัณฑ์เทรตยาคอฟแวะเข้าชมเฉพาะส่วนที่เป็นร้านค้าของที่ระลึก เพราะเวลามีน้อย จึงออกมาชมอาคาร โบสถ์ เรื่อยมากระทั่งถึงทางเชื่อมไปยังจัตุรัสแดง

วันนี้ที่จัตุรัสแดงมีการกั้นพื้นที่ห้าเข้าในเขตจัตุรัส เนื่องจากมีการเตรียมงาน ถนนทุกสายที่มุ่งสู่จัตุรัสถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำแผงเหล็กกั้นไว้ พร้อมทั้งรถและเจ้าหน้าที่ประจำการจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ก็มีชุดทหารแบ่งเป็นหลายชุดเพื่อเข้าร่วมประกอบพิธี จึงทำได้เพียงถ่ายภาพจากมุมไกลเท่านั้น ประการสำคัญคือต้องใช้เวลามากขึ้นในการที่ต้องเดินอ้อมไปในตรอกซอกซอยเพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินกลับที่พัก ซึ่งทำให้ได้ความรู้เพิ่มว่าแท้ที่จริงก็มีรถไฟฟ้าใต้ดินหลายสายที่วิ่งอยู่ใต้เครมลินและจัตุรัสแดงนี่เอง

เย็นวันนี้ได้รับการติดต่อจากคุณมากาเร็ตต้า นิลุโบว่า ผู้แทนสภาคริสตจักรโลกที่อาศัยอยู่ในกรุงมอสโก เพื่อนัดหมายเดินทางเข้าร่วมประชุมวันพรุ่งนี้ด้วย

คำสำคัญ (Tags): #WHO Global Forum#มหาจุฬาฯ
หมายเลขบันทึก: 437527เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2011 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท