WHO Global Forum 2011 - Moscow (Day 2) cont.


เครมลินและจัตุรัสแดง

เครมลินและจัตุรัสแดง (ต่อ)

ตลอดการชมพิพิธภัณฑ์ไม่มีสิทธิ์ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกได้ เพราะภายในพิพิธภัณฑ์ห้ามถ่ายภาพเด็ดขาด ออกจากอาคารพิพิธภัณฑ์สรรพาวุธด้วยความชื่นชมในการจัดแสดงที่น่าสนใจยิ่ง ทำได้เพียงหันหลังกลับไปถ่ายภาพอาคารพิพิธภัณฑ์ไว้เป็นที่ระลึกเท่านั้น จากนั้นก็ข้ามถนนไปเดินด้านที่ติดกับแม่น้ำมอสโก ถ่ายภาพป้อมปราการและหอคอยต่างๆไปเรื่อย กล่าวกันว่าหอคอยโดยรอบเครมลินมีทั้งสิ้น 22 หอคอยด้วยกัน โดยมีขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง สูงบ้างต่ำบ้างตามความจำเป็นทางภูมิศาสตร์การป้องกันเมืองจากการบุกรุกของข้าศึก กระทั่งถึงสวนที่ปัจจุบันมีแต่ต้นไม้ที่ยืนต้นไร้ใบเหลือเพียงกิ่ง ด้านล่างก็มีเพียงร่องรอยของต้นไม้ที่กำลังได้รับการจัดเตรียมปลูกให้ออกดอกในช่วงฤดูร้อนนี้ ทางเดินไปสุดแค่สวนต้องกลับมาทางเดิมที่กำหนดให้ มุมนี้มองเห็นอาคารหอระฆังจักรพรรดิและโบสถ์ที่จัตุรัสได้ชัดเจนมาก จากนั้นก็เดินกลับออกมาในทางเดิมผ่านหอระฆัง ปืนใหญ่ พระราชวังเครมลิน ผ่านประตู Trinity Tower และ Kutafiya Tower ออกมาเส้นทางเดิมเพื่อเดินลัดเลาะไปตามสวนภายนอกเครมลิน เรียกชื่อว่า Alexandrov Garden ผ่านแท่นเพลิงที่รำลึกถึงทหารนิรนาม ออกประตูไปสู่ลานเชื่อมต่อไปยังจัตุรัสแดง

ณ บริเวณนี้ เป็นที่ตั้งอาคารพิพิธภัณฑ์สีแดงขนาดใหญ่สองหลัง หากเดินย้อนกลับไปทางซ้ายมือก็จะเป็นศูนย์การค้าใต้ดินซึ่งสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี่เอง เมื่อเดินต่อไปทางขวาตามแนวปราการกำแพงเครมลิน ก็เป็นทางเชื่อมสู่จัตุรัสแดงที่เห็นลานโล่งกว้างอยู่ด้านหน้า มีหอคอยขนาดใหญ่อยู่ด้านขวามือที่กล่าวกันว่าสร้างอุทิศนักบุญนิโคลัส และยังมีเรื่องเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของรูปนักบุญนิโคลัสที่สามารถผ่านยุคการปฏิวัติมาได้ราวปาฏิหาริย์ ได้มีคำสั่งให้ทำลายรูปนักบุญนิโคลัสที่หอคอยแห่งนี้ด้วยกระสุนปืน แต่ปรากฏผู้ปฏิบัติได้รับกระสุนสะท้อนกลับเสียชีวิตไปหลายคน กระทั่งผ่านพ้นยุคปฏิวัติก็พบว่ารูปดังกล่าวถูกคุมด้วยปูนพาสเตอร์ จึงได้รับการจัดการให้สามารถมองเห็นได้อย่างเช่นในปัจจุบันนี้

ณ ลานจัตุรัสแดงนี้ ด้านหนึ่งติดกับเครมลิน อีกด้านตรงกันข้ามเป็นห้างสรรพสินค้าแหล่งช๊อปปิ้งของนักช๊อบทั้งหลาย ขณะที่ด้านที่ทิศใต้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่เพิ่งผ่านมา ส่วนด้านตรงกันข้ามก็เป็นจุดสำคัญแห่งหนึ่งของจัตุรัสแดง คือโบสถ์นักบุญบาซิล เมื่อมาถึงกลางลานจัตุรัส ด้านเครมลินจะเป็นอนุสรณ์สถานท่านเลนิน มีลักษณะเช่นเดียวกับอนุสรณ์สถานของท่านลุงโฮ (โฮจิมินห์) ที่ประเทศเวียตนาม ถัดไปอีกหน่อยก็จะเป็นหอคอยที่เป็นหอนาฬิกา เล่ากันว่าทำหน้าที่เทียบเวลาคล้ายหอนาฬิกาบิ๊กเบลที่ประเทศอังกฤษ ประตูนี้เป็นประตูทางเข้าหลักที่เป็นทางการสู่เครมลินนั่นเอง และที่ซึ่งทุกคนที่มาเยือนจัตุรัสแดงต้องจะต้องบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึก นั่นคือ โบสถ์นักบุญบาซิล (St. Basil Cathedral) ที่นับได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของกรุงมอสโกเลยทีเดียว สร้างโดยกษัตริย์อีวาน เพื่อฉลองชัยเหนือพวกมองโกล ในปี1555 ซึ่งเป็นที่มาของการรวมรัสเชียให้เป็นปึกแผ่น โบสถ์นักบุญบาซิลมีโดม 9 โดม โดยมีโดมขนาดแตกต่างกันโดยรอบ ทำให้มีอาคารรูปทรงแปดเหลี่ยมไปด้วย และมีโดมขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง โบสถ์แห่งนี้สร้างโดยสถาปนิกชื่อโปสนิก ยาคอฟเลฟ มีเรื่องเล่าว่ากษัตริย์ดีวานทรงชื่นชอบโบสถ์แห่งนี้มากด้วยเหตุที่มีความงดงามหาที่ติมิได้ และไม่ทรงประสงค์จะให้สถาปนิกออกแบบโบสถ์ให้สวยเท่านี้อีก จึงรับสั่งให้ควักดวงตาของสถาปนิกออกทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่คล้ายกับสถาปัตยกรรมที่งดงามของโลกอีกหลายๆแห่ง อาจกล่าวได้ว่า “เบื้องหลังความงามก็มักจะมีความโหดร้าย” เป็นเรื่องราวที่ไม่อาจบอกเล่าอย่างเปิดเผยได้

เดินทั้งวันจนรู้สึกเมื่อยเมื่อเริ่มลงนั่งมองดูโบสถ์นักบุญบาซิล และดูผู้คนผ่านไปมาด้วยท่าทางชื่นชมในความงามของโบสถ์นักบุญบาซิล สังเกตจากการเก็บภาพเป็นที่ระลึกอย่างตั้งใจที่จะได้มุมที่สวยที่สุด จากนั้นก็ค่อยๆเดินย้อนกลับมาเส้นทางเดิม ผ่านกลางลานโล่งของจัตุรัสแดงท่ามกลางสายตาที่ต่างจ้องดูด้วยความฉงนว่ามีลามะมาเดินกลางจัตุรัสด้วย ในขณะเดียวกันก็จะมีคนมาขอถ่ายภาพร่วมเป็นที่ระลึกด้วย เดินลงไปสำรวจศูนย์การค้าใต้ดินก่อนไปขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินกลับที่พัก ส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้าแฟชั่นต่างๆ เป็นหลัก เดินจากจุดนี้ไปยังสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 9 สีเทา ดูเหมือนจะไม่ไกล เข้าใจว่าเพราะผ่านร้านค้าที่มีสินค้าให้ชมได้ไม่คาดสายตา ณ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน รู้สึกว่าผู้คนจะคับคั่งเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นเวลาเร่งด่วน ดีที่ช่วงเวลาเช่นนี้รถไฟจะเพิ่มเที่ยวเดินทางมากขึ้น จากที่สังเกตน่าจะประมาณ 2 นาทีต่อหนึ่งขบวน ทำให้ในรถไฟเองพอมีที่ให้ยืนได้อย่างสบาย เรียกว่าขบวนก่อนออกไปเพียงอึดใจหนึ่งขบวนหลังก็จะตามมาทันที

กลับถึงที่พักด้วยอาการเมื่อยขาเป็นที่สุด ต้องอาศัยน้ำร้อนในอ่างแช่เพื่อผ่อนคลายอยู่สักพักใหญ่ก็ทำให้รู้สึกดีขึ้น ก่อนจะพักผ่อนอย่างสบายในคืนนี้

คำสำคัญ (Tags): #WHO Global Forum#มหาจุฬาฯ
หมายเลขบันทึก: 437525เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2011 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท