การทำบุญแบบปัจเจกกับวิธีคิดแบบแยกส่วน การทำบุญให้ได้มากกว่าบุญ


บุญของชนชั้นกลางนอกจากจะเจือด้วยแนวคิดแบบปัจเจกชนนิยมแล้ว แต่ยังถูกผลิตซ้ำผ่านกลไกพาณิชย์ ธุรกิจ การประกอบกิจการต่างๆ ซึ่งสอดรับกับแนวทางของทุนนิยม ที่ต้องทำให้กิจกรรมต่างๆของมนุษย์มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ไหลเวียนได้

สัปดาห์นี้ ถือว่ามีวันศีล (วันพระ) ที่สำคัญวันหนึ่ง ในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชาวไทใหญ่มีพิธี “โมยโจย” ส่วนลาหู่ก็จัดงาน “สมาตาเว” ผมได้ขอให้ชาวบ้านเป็น “ครู” ในสองงานนี้ เห็นว่ามีคุณูปการบางอย่างในแง่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผมก็เลยถือโอกาสนำความเห็นจากมุมมองนักวิชาการชายขอบมาเล่าสู่กันในเครือข่ายนะครับ

 ผมเป็นคนขี้เกียจใส่บาตรครับ เพราะปกติจะนอนตื่นสาย แต่ชอบทำบุญด้วยวิธีอื่นมากกว่า ผิดกับแฟนผม ที่ชอบไปใส่บาตรตอนเช้า.

 “คุณทำบุญด้วยวิธีใด?” แน่นอนว่าการทำบุญทำได้หลายวิธีมาก ไม่ว่าจะเป็นอามิสบูชา หรือปฏิบัติบูชา

 แต่ผมคิดว่า รูปแบบและวิธีคิดเรื่องการทำบุญของชาวไร่ชาวนาในชนบทกับชนชั้นกลางในเมืองอาจไม่เหมือนกันซะทีเดียวครับ

 บุญของ “คนเมือง” มักจะกระทำกันในกลุ่มเล็กๆ เช่น การตักบาตร การถวายสังฆทาน ก็นิยมทำกันคนเดียว หรือกับคนใกล้ชิดในครอบครัว ถึงจะมีงานใหญ่โต ที่ทางการจัดขึ้น คนไปร่วมเยอะแยะ แต่ลึกๆนั้นขาด “ความเป็นชุมชน” หรือขาดการมีส่วนร่วมกับคนอื่น แม้จะไปงานสมโภชใหญ่โต แต่จริงๆก็ไปทำบุญแบบปัจเจกซะส่วนใหญ่

 ความคิดเรื่อง “บุญ” ของชนชั้นกลาง ถูกสร้างให้เป็นปัจเจกได้อย่างไร ผมก็ไม่ทราบนะครับ แต่ผมสังเกตปรากฏการณ์นี้ระบาดอยู่ในเมืองใหญ่มานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น กรณีวัดธรรมกาย การคลั่งไคล้พระเครื่อง ลัทธิบูชาเกจิอาจารย์ด้วยวัตถุ เหล่านี้ไม่น่าจะเป็น “รากเหง้า” ดั้งเดิมของศาสนาพุทธในบ้านเรา หากแต่ฟูฟ่องขึ้นมาในยุคที่ทุนนิยมที่วางอยู่บนฐานปัจเจกชนนิยม (individualism) รุ่งเรือง .

 สังเกตว่า ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญเกิดขึ้นมากมายในเมือง ตั้งแต่ธุรกิจทำทองคำเปลว ขายดอกไม้ธูปเทียน เก็บค่าจอดรถ ไปจนถึงการก่อสร้างศาสนสถาน ประมูลกันเป็นสิบล้าน .

เหล่านี้สะท้อนว่า บุญของชนชั้นกลางนอกจากจะเจือด้วยแนวคิดแบบปัจเจกชนนิยมแล้ว แต่ยังถูกผลิตซ้ำผ่านกลไกพาณิชย์ ธุรกิจ การประกอบกิจการต่างๆ ซึ่งสอดรับกับแนวทางของทุนนิยม ที่ต้องทำให้กิจกรรมต่างๆของมนุษย์มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ไหลเวียนได้ .

 อันนี้เป็นความสำเร็จของทุนนิยมที่เข้าแทรกแซงการทำบุญของคนสมัยใหม่ได้อย่างแนบเนียน จนเรายากจะตั้งคำถามครับ เพราะมัวแต่ถูกหลอกให้ไปคิด “แบบปัจเจก” ว่าทำบุญไปแล้ว จะได้บุญจริงหรือเปล่า จะได้บุญมากหรือน้อย

 เผลอๆได้ “บาปบริสุทธิ์” ในขณะทำบุญก็มี .

 ไปดูการทำบุญของชาวบ้านในชนบทที่นี่กันครับ ผมคิดว่าในชนบทที่อื่นๆก็ยังคงเหลือวิธีทำบุญอย่างนี้อยู่ แต่นับวันจะปรับเปลี่ยนไป นั่นคือ พิธีทำบุญของชาวบ้านจะเจือด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมในหลายระดับมาก ทั้งความสัมพันธ์ในแนวระนาบ เช่น เพื่อนฝูง และความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง เช่น ผู้ใหญ่ ผู้น้อย เด็กเล็ก หนุ่มสาว คนชรา และมีหน่วยทางสังคมที่สำคัญ คือ เครือญาติ และชุมชนหมู่บ้าน 

 ไม่ปฏิเสธครับว่า ชาวบ้านก็มีการใส่บาตร มีการบนบานสานกล่าวแบบปัจเจกอยู่ แต่พวกเขาก็มีบุญแบบมีส่วนร่วมข้างต้นเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันไว้ อย่างไม่แยกส่วน เหล่านี้ กำลังถูกทำลายจาก “นักพัฒนา” ที่ขาดความลึกซึ้งกับมิติสังคมวัฒนธรรม กำลังถูกทำลายจากระบบการศึกษาสมัยใหม่ และระบบโลกาภิวัฒน์ ซึ่งถ้าจะให้อธิบายก็คงต้องว่ากันอีกยาว จึงจะขอละเอาไว้ก่อน

 จริงๆแล้ว มีแง่มุมเรื่องบุญให้คิดได้ไกลกว่านั้นอีกมหาศาลครับ อย่างเรื่องบุญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนี่ ก็ไม่ได้แยกส่วนกันเลย แต่เวลาเรา (ชนชั้นกลาง) ทำบุญ เราก็อาจมองข้ามกัน

ยกตัวอย่างใกล้ตัว เช่น วัสดุ สิ่งของที่เราใช้ทำบุญ ส่วนใหญ่จะกลายเป็นกากที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม นี่ต่างจากชาวลาหู่ที่ผมไปเจอมา เขาจะใช้แต่วัสดุธรรมชาติที่ถือว่า “บริสุทธิ์” เช่น ทรายจากกลางแม่น้ำที่ไม่แปดเปื้อนรอยเท้ามนุษย์ และสิ่งของบูชาที่ทำเองกับมือ พวกเขาอธิบายว่า ถ้าทำสิ่งของบูชาเองกับมือจะสร้างความพอใจให้พระเจ้าของเขามากกว่าการไปซื้อมาจากร้าน

 นี่สำคัญนะครับ ถึงเราจะพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นความละเอียดอ่อนทางจิตวิญญาณแบบหนึ่งหรือไม่ แต่มันก็สะท้อนถึงการทำบุญที่มีมิติรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึงการไม่ทำลายระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

 นอกจากนี้ บุญยังเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ ศักดิ์ศรีหน้าตา การสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง และสะท้อนอุดมการณ์ต่างๆอีกที่รอให้มีการศึกษาค้นคว้าเพื่อเปิดกะลาคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย ที่ชอบบ่นว่า บุญเป็นแต่เรื่องของคนแก่ และงมงาย จับต้องไม่ได้ ฯลฯ

 และท้ายสุด เมื่อผมมองย้อนกลับว่ายังตัวเอง ก็พบว่า ยังติดกับดักของการมองบุญแบบแยกส่วนอยู่ไม่น้อย ก็คงต้องขอบคุณชาวบ้านที่สอนสั่งมา ไม่งั้นผมคงบื้อไปอีกนาน

 พวกเราอยากเห็นลูกหลานทำบุญกันแบบไหน? แล้วเราสอนอะไรแก่พวกเขาบ้าง?

 สัปดาห์นี้ หาโอกาสไปทำบุญ (แบบไม่แยกส่วน) กันนะครับ

หมายเลขบันทึก: 43738เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2006 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นับวันความละเอียดอ่อนเหล่านี้จะค่อยๆเลือนหายไป มันก็เป็นอนิจังค่ะ ขอบคุณค่ะที่บอกเล่าให้รู้เท่าทัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท