หลักปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ ๒


บทที่ ๒

หลักธรรมเพื่อการบรรลุธรรม

 

พระพุทธศาสนาถือกำเนิดในประเทศอินเดียเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ในขณะที่มีลัทธิคำสอนต่าง ๆ อยู่แล้วมากมาย คำศัพท์ที่ใช้ในทางธรรมะ และเป็นที่เข้าใจความหมายกันในหมู่ชนในสมัยนั้นมีอยู่แล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จตรัสรู้ และนำธรรมะออกไปสั่งสอนประชาชน พระองค์ก็ทรงใช้คำศัพท์ที่ใช้กันอยู่ในขณะนั้น แต่ทรงเปลี่ยนความหมายของคำศัพท์เหล่านั้นเสียใหม่ให้ตรงกับความหมายในทางพระพุทธศาสนา จึงมีคำศัพท์หลายคำที่เหมือนกันกับคำศัพท์ของลิทธิคำสอนอื่น ๆ แต่พระองค์ทรงให้ความหมายเสียใหม่ เช่น ภิกษุ สมณะ พราหมณ์ พระอรหันต์ เป็นต้น แต่ยังมีความสับสนในหมู่นักศึกษาอยู่มาก บางครั้งการตีความหมายหัวข้อธรรมหรือข้อความหรือคำบางคำแตกต่างกันออกไปบ้าง จนเกิดข้อถกเถียงกันอยู่เสมอ แต่เมื่อพิจารณาการตีความหัวข้อธรรมต่าง ๆ แล้วถ้ามุ่งเน้นไปเพื่อการบรรลุธรรมก็สามารถอนุโลมได้ เนื่องจากธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำมาแสดงนั้น ล้วนเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนสุดท้ายคือการบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นที่สุด

 

ในบรรดาคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีมากมาย ทั้งส่วนที่เป็นคำสอนสำหรับประชาชนทั่วไป และคำสอนสำหรับพระภิกษุสงฆ์ สำหรับคำสอนที่ทรงแสดงแก่พระภิกษุสงฆ์ส่วนมากนั้น พระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้ภิกษุทุกรูปนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อความหลุดพ้นจากอาสวกิเลส เพื่อความพ้นทุกข์ เพื่อปัญญาและวิมุตติ เพื่อพระนิพพานเป็นสำคัญ ในพระไตรปิฏกพระผู้่มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำแก่ภิกษุทั้งหลาย เมื่อถูกพวกปริพาชกถามว่าพวกเธอออกบวชเพื่ออะไร ก็ขอให้ตอบดังนี้

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) พึงถามเธออย่างนี้ว่า ดูก่อนผู้มีอายุ ท่านทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดม เพื่อประโยชน์อะไร เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้พึงชี้แจงอย่างนี้ว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อคลายราคะ เพื่อคลายกำหนัด เพื่อละสังโยชน์ เพื่อถอนอนุสัย เพื่อกำหนดรู้สังสารวัฏอันยืดยาว เพื่อความสิ้นอาสวะ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งวิชชาและวิมุตติผล เพื่อญาณทัสสนะและเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน...

 

จะเห็นว่าพระองค์ถือว่าการออกบวชเป็นการสละบ้านเรือน เพื่อการแสวงหาอันยิ่งใหญ่ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายปฏิบัติ ซึ่งคำสอนแต่ละเรื่องที่ทรงนำมาแสดงแก่ภิกษุแต่ละรูปนั้นก็ต้องเหมาะแก่อุปนิสัยของแต่ละท่าน เมื่อภิกษุนั้น ๆ ได้ฟังแล้วน้อมนำเอาไปปฏิบัติไม่นานก็ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นหนึ่งชั้นใด และเมื่อมีความเพียรต่อไป ก็สามารถบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์โดย รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว เป็นผู้พ้นบ่วงแห่งมาร พันทุกข์อย่างสิ้นเชิง มีปรินิพพานเป็นที่สุด ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายในวัฏฏทุกข์นี้อีกต่อไป...

คำสำคัญ (Tags): #บรรลุธรรม
หมายเลขบันทึก: 437280เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2011 12:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท