๘.ความขัดแย้ง ไทย-กัมพูชา : ปัญหาอยู่ที่กระบวนทัศน์?


ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า ถ้าเรายกเส้นพรมแดนออกไปเสีย ไม่มีประเทศ ประชาชนที่อยู่แถวนั้นเขาก็ไม่ได้คิดอะไร? ทุกคนเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน ไม่มีไทย ไม่มีกัมพูชา จึงมีคำถามว่าประชาชนเหล่านั้นชาติอะไร? ถ้าไม่ใช่มนุษยชาติ

  

   ความขัดแย้งระหว่างประเทศไทย-กัมพูชาปัญหาอยู่ที่ใคร? ประเด็นที่ตั้งมาผู้บริหารประเทศให้คำตอบ ซึ่งผู้เขียนสามารถสรุปได้ประเด็น ดังนี้ ๑)ปัญหาเรื่องเขตแดนไม่ชัดเจน  ๒)ปัญหาเรื่องการเมืองภายใน ๓)ปัญหาเรื่องการเมืองภายนอก ฯลฯ

 

     การบ้านการเมืองการสงคราม...รัฐบาลและกองทัพก็ว่ากันไปตามระเบียบ  แต่มุมมองพระไทยรูปหนึ่ง...จะลองใช้มิติทางศาสนามองดูบ้าง...เผื่อจะได้แง่คิดอีกมุมหนึ่ง

 

     เมื่ออ่านบทความของคุณพวงรัตน์  ปฐมสิริรักษ์ ในเวทีเสวนา "การยอมรับ คำพิพากษาของศาลต่างประเทศ" โดยสรุปไว้ว่า การยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศ แบ่งเป็นการรับรองคำพิพากษา และการบังคับตามคำพิพากษา ซึ่งการยอมรับคำพิพากษานั้นเกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และรวมถึงหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

     ในประเด็นนี้ผู้เขียนสรุปได้ ๓ ประเด็น คือ ๑)กรอบอำนาจอธิปไตยของรัฐ  ๒)กรอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  ๓)กรอบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

 

     และไปอ่านบทความของพระมหาหรรษา เรื่อง "ความตาย : พระพุทธเจ้าสอน สตีฟ จอบส์ ปฏิบัติ" โดยสตีฟ จอบส์ ปาฐกถาในงานสำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ต ว่า ...เกียรติยศชื่อเสียงทั้งปวง ความกลัวที่จะเสียหน้าหรือความกลัวที่จะล้มเหลว มันก็จะหายไป เมื่อเราตาย เหลือไว้เพียงเรื่องที่จำเป็นจริง ๆ มรณานุสตินี่เองที่จะช่วยให้หลบหลีกกับดักทางความคิดที่ว่าคุณไม่อยากจะ สูญเสียอะไร จริงแล้วคุณไม่มีอะไรติดตัวเลย

     ในประเด็นนี้ ผู้เขียนสรุปได้  ๓ ประเด็น ๑) มนุษย์กลัวเสียหน้าและความล้มเหลว  ๒)แต่เมื่อเราใกล้ตาย สิ่งทั้งหลายก็ถูกตัดไปและคงเหลือไว้แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ๓)ควรทำในสิ่งที่ดีงามเอาไว้โดยตั้งประเด็นถามตัวเองว่าถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของเรา

 

     ความขัดแย้งในอดีต เมื่อเรามองจากอัคคัญญสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จะพบว่า ปัญหาเกิดจากความโลภในผลประโยชน์ ก็คือข้าวสาลี นั้นหมายถึงปัจจัย ๔ อันเป็นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ อันเป็นเรื่องปากเรื่องท้อง กับคนไม่ทำงานแล้วแอบขโมยของ

 

     เมื่อไปอ่านงานของอาจารย์โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ เรื่องภูมิศาสตร์ จะเห็นว่าในยุคของกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ เมื่อพม่าเข้ามาตีกรุงได้แล้วก็ให้กวาดต้อนผู้คนไปพม่าเกือบหมด นั้นก็หมายความว่าดินแดนแทบไม่มีความสำคัญอะไรเลย แต่คนสำคัญกว่าเพราะสามารถใช้แรงงานได้ สร้างผลผลิตให้แก่ผู้ปกครองได้

 

     ปัจจุบันเกิดปัญหาเรื่องดินแดนไทยกับกัมพูชา ซึ่งก่อนหน้านั้นเกิดสงครามแย่งดินแดนไทย-ลาว และไทยก็เคยมีปัญหากระทบกับพม่าและมาเลเชีย เช่นกัน

 

     คำว่า "ดินแดน+ศักดิ์ศรี=ชาติ" และคำว่าชาตินี้แหละที่ทำให้เกิดตัวตน เมื่อมีตัวตนก็เกิดความยึดมั่น ในที่สุดก็กลายเป็นทิฐิระหว่างชาติไป

 

     ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า ถ้าเรายกเส้นพรมแดนออกไปเสีย ไม่มีประเทศ ประชาชนที่อยู่แถวนั้นเขาก็ไม่ได้คิดอะไร? ทุกคนเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน ไม่มีไทย ไม่มีกัมพูชา จึงมีคำถามว่าประชาชนเหล่านั้นชาติอะไร? ถ้าไม่ใช่มนุษยชาติ ที่อยู่บนพื้นแผ่นดินเดียวกันแล้ว เพื่อความเข้าใจมากขึ้นขอยกตัวอย่าง

     -คนล้านนา-ประเทศไทย,

     -คนไทยใหญ่ เชียงตุง-ประเทศพม่า,

     -คนเชียงทอง หลวงพระบาง-ประเทศลาว และ

     -คนไตลื้อ สิบสองปันนา-ประเทศจีน

 

     ประชาชนเหล่านี้ ถ้าเราดึงเอาเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศออกให้หมด คนเหล่านั้นคือใคร? ถ้าไม่ใช่คนไทยล้านนา มีทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตที่เหมือนกัน ฯลฯ และเป็นเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติเดียวกัน ประชาชนเดินไปมาหาสู่เป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติกันทั้งหมด

 

     หวนนึกถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จออกไปห้ามพระญาติของพระองค์ที่กำลังเปิดศึกแย่งชิงน้ำอยู่เนื่องจากแย่งน้ำทำนากัน พระองค์ตรัสว่า น้ำมีราคาเท่าไหร่? คนมีราคาเท่าไหร่? อะไรมีค่ามากกว่ากัน ระหว่างชีวิตกับน้ำ? สุดท้ายก็คือต้องลดทิฐิมานะ  ที่กำลังฮึม ๆ ใส่กัน ก็ลดความเข้มของอารมณ์ลงไป เพราะต่างฝ่ายก็มีกำลังหนุน ต่างฝ่ายก็คิดว่าตัวเองเก่งกว่า ดีกว่า เจริญกว่า และมีกำลังมากกว่า....ความคิดเช่นนี้ผิด เพราะอะไรดีกว่าอะไร? ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และเวลา บางยุคสมัยไทยดีกว่า เจริญกว่า บางยุคสมัยกัมพูชาดีกว่า เจริญกว่า ไม่เชื่อลองอ่านประวัติศาสตร์ย้อนหลังดู

 

     ในประเด็นที่กล่าวมานี้ แม้ฝ่ายบู้จะให้กองทัพออกมาใช้กำลังตอบโต้รุนแรง  และฝ่ายบุ๋นจะสนับสนุนให้ใช้สันติวิธีในการเจรจา 

 

     อย่างไรเสียไทย-กัมพูชาต้องอยู่ด้วยกัน ไม่สามารถยกประเทศหนีห่างออกจากกันได้ ดูแฝดสยามอิน-จัน เมื่อแยกออกจากกันไม่ได้ ต้องปรับกระบวนคิด จูนคลื่นทัศนคติเข้าหากัน ปัญหาทุกอย่างยอมมีทางออกเสมอไม่ช้าก็เร็ว

 

     ส่วนอาตมา ไม่สามารถออกความคิดเห็นไปมากกว่านี้ได้.....แต่ขอบิณฑบาตความคิดเห็นจากผู้อ่านแทน....

 

หมายเลขบันทึก: 437276เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2011 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มันเป็นเรื่องการเมืองโดยแท้ ถ้าเรามีการประชาสัมพันธ์ นำมาทำผลประโยชน์ร่วมกัน ดีกว่าปล่อยเป็นวัตถุโบราณ

วิสัยทัศน์ผู้บริหารประเทศ คับแคบ ผลจึงออกมาเท่าที่เห็น ดูอย่างยุโรป เขายังสามารถใช้เงินยูโร ร่วมกันได้

ขอบคุณครูนรเทพที่แวะเวียนเข้ามาทักทาย เป็นสหายทางแนวคิด เพื่อเตือนจิตให้ระมัดระวัง อย่างกัลยาณมิตร

ไม่กล้าแสดงความคิด

เจริญพรขอบคุณ-คุณโยมปภินวิช แม้ไม่กล้า แต่ก็เข้ามาแวะเวียนแลกเปลี่ยนความคิด อาตมาทีแรกก็ไม่กล้าจับประเด็นนี้มาเขียน แต่คิดอีกครั้งหนึ่งก็มองว่า อย่างน้อย อาจเป็นช่องว่างเล็ก ๆ ให้สังคมหายใจได้บ้าง

กราบนมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

  • ปัญหาเกี่ยวกับชายแดนระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน เป็นเรื่องที่ยากต่อการหลีกเลี่ยง
  • มีการกระทบกระทั่งกันอยู่เนือง ๆ ครูอิงมองว่าศึกนอก ยังไม่ร้ายเท่ากับศึกใน
  • การเมืองภายใน ของไทยยังขัดแย้งกัน ทำให้ยากต่อการแก้ปัญหา
  • อ่านบันทึกนี้ของพระคุณเจ้า เหมือนได้อ่านหลาย ๆ บันทึก เพราะพระคุณเจ้านำการอ่านบันทึกของท่านอื่น ๆ มาวิเคราะห์ให้อ่านด้วย ได้ความรู้และข้อคิดมากมายค่ะ
  • นำลิงค์นี้มาฝากค่ะhttp://gotoknow.org/blog/tamyimwan/427284
  • เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อพระคุณเจ้าบ้างไม่มากก็น้อยค่ะ

หากมีคนคิดที่เหมือนท่าน โลกนี้คงสงบ-สันติ...สาธุ

ขอบคุณ-คุณโยมอิงจันทร์ ที่นำสิ่งดี ๆ มาให้ ทุก ๆ ความคิดเห็นมีค่า ย่อมเกิดดวงปัญญาให้กับสังคม ขอนิยมและชื่นชมในผลงาน

ท่านอาจารย์ ผศ.จักรแก้ว เจริญพรขอบคุณที่แวะเข้ามา

หากมีโอกาสและเวลา กรุณามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท