หลักปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์


จะขอนำวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้าเกี่ยวกับหลักปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมมานำเสนอ เพื่อเผยแพร่หลักธรรมแก่ผู้สนใจนำไปปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองพระองค์นั้น ด้วยเศียรเกล้า

 

บทคัดย่อ

จุดประสงค์ของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ คือ การศึกษาหลักธรรมและแนวทางของการปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรม โดยค้นคว้าจากพระไตรปิฏกและอรรถกถาเป็นสำคัญ

ผู้วิจัยพบว่าการบรรลุธรรมนั้น สิ่งสำคัญประการแรก คือ การศึกษาหลักธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ โดยเฉพาะโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เป็นหลักธรรมที่นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรม โดยเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในวาระต่าง ๆ กัน เพื่อให้เหมะกับจริตนิสัยของแต่ละบุคคล โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ประกอบด้วย สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘ แต่ละหมวดธรรมมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง ผู้ปฏิบัติจะถือเอาหลักธรรมหมวดใดในการปฏิบัติก็สามารถบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกัน เปรียบเหมือนแม่น้ำทุกสายย่อมไหลลงสู่มหาสมุทรฉันใด การปฏิบัติตามหมวดธรรมใดย่อมนำไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพานได้ฉันนั้น

โดยสรุปการปฏิบัติธรรมนั้นมี ๒ วิธี คือ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งจะต้องปฏิบัติควบคู่กันไป โดยเฉพาะวิปัสสนากรรมฐาน ถือว่าเป็นหัวใจของการปฏิบัติ ถ้าผู้ปฏิบัติยังไม่สามารถยกจิตเข้าสู่วิปัสสนาญาณได้ การบรรลุมรรคผลจะไม่เกิดขึ้นเลย เมื่อสามารถทำวิปัสสนาญาณให้แจ้งแล้ว การบรรลุมรรคผลจึงจะเกิดขึ้น

การปฏิบัติเมื่อได้ศึกษาหลักธรรมจนมีความเข้าใจและจดจำได้เป็นอย่างดีแล้วจึงค่อยลงมือปฏิบัติ ซึ่งต้องเตรียมตัวให้พร้อม ตัดสิ่งวิตกกังวลต่าง ๆ ออกให้หมดเสียก่อน เมื่อพร้อมแล้วจึงไปสู่สำนักของอาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถในการสอน ไม่ท้อแท้ เพียรพยายามปฏิบัติไปตามขั้นตอน และต้องคอยตรวจสอบผลการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา พยายามปรับปรุงแก้ไขวิธีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการที่ได้ศึกษามา จนสามารถขจัดกิเลสออกจากจิตตสันดาน และบรรลุมรรคผลตามที่ปรารถนาในที่สุด

ผลของการบรรลุธรรมนั้นมี ๔ ระดับ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตตผล ซึ่งผลของการบรรลุธรรมแต่ละระดับ สามารถขจัดกิเลสได้ตามลำดับ ตั้งแต่กิเลสอย่างหยาบไปจนถึงกิเลสอย่างละเอียด พร้อมทั้งเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลนั้นไปด้วย

สภาวะของการบรรลุธรรมและช่วงจังหวะของแต่ละบุคคลนั้นแตกต่างกัน แล้วแต่ประสบการณ์และภูมิหลัง แต่ที่เหมือนกันคือ เมื่อถึงจุดสุดท้ายของการบรรลุธรรม ทุกคนล้วนมองเห็นความจริงของสรรพสิ่งว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา ทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยไม่มีใครบังคับบัญชาได้

ผลจากการศึกษาพบว่า หลักธรรมและแนวทางในการปฏิบัติมีความสมบูรณ์อยู่แล้ว แต่ยังขาดขั้นตอนการปฏิบัติและแบบแผนในการปฏิบัติที่เป็นระบบเป็นขั้นตอน และการประเมินผลการปฏิบัติที่สามารถนำมาประเมินผลการปฏิบัติของตนและผู้อื่นได้ ทั้งส่วนที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้นำเสนอแบบแผนในการปฏฺบัติไว้อย่างเป็นขั้นตอนโดยแบ่งเป็น ๓ ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว พร้อมทั้งการประเมินผลการปฏิบัติของตนเองและผู้อื่นไว้ด้วย เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติทั้งของตนเองและผู้นำเอาไปเป็นแนวทางในการสอน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ปรารถนาการบรรลุมรรคผลนิพพานจักได้ประโยชน์จากวิทยานิพนธ์ฉบับนี้

หมายเลขบันทึก: 437278เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2011 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 00:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท