สอนน้อยลง เรียนมากขึ้น – บทเรียนจากสองสัปดาห์แรกของการสอนระดับปริญญาตรีในรอบสี่ปีที่ละม้ายคล้ายคลึงกับการเล่นสนุกเกอร์


หลังจากปรับตัวแบบย้อนกลับมาในจังหวะชีวิตที่ค่อนข้างจะรวดเร็วของเมืองหลวงบ้านเรา ก็ถึงเวลาที่จะต้องปรับตัวกับการกลับมาสอนนักศึกษาในระดับปริญญาตรีเสียที

หลังจากลองผิดลองถูกอยู่ร่วมสัปดาห์ ผมก็เริ่มจะคลำทางเจอว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้นักศึกษามีส่วนร่วมในชั้นเรียน และเป็นการเรียนแบบที่สื่อสารสองทางไปกลับระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน บันทึกนี้ก็อยากเอาประสบการณ์มาบอกต่อและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากทุกๆ คน

มาเริ่มที่ลักษณะของวิชาก่อนดีกว่าครับ วิชาที่ผมทดลองวิธีการสอนนี้คือวิชาโปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน เช่น Words Excel และ PowerPoint ซึ่งหลายคนอาจมีประสบการณ์ในการใช้งานแล้วจากชั้นมัธยม พอเริ่มสอนวันแรกผมก็ลองถามนักศึกษาในชั้นให้ลองให้เกรดระดับความสามารถตัวเองสำหรับโปรแกรมพวกนี้ว่าอยู่ระดับไหนจาก 1-10 บางคนก็มั่นใจว่าตัวเองได้ 6 ได้ 7 บางคนก็ไม่แน่ใจ ทำแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะวัดความสามารถของผู้เรียนได้จากการถามเอาตรงๆ แต่เป็นการวัดระดับความมั่นใจของเด็กมากกว่านะครับ สำหรับบางคนที่คิดว่าตัวเองใช้งาน Excel ได้ดี พอผมถามต่อว่าเคยใช้ Function อะไรบ้าง แล้วก็ยกตัวอย่าง Function ในระดับกลางถึงระดับสูง ส่วนใหญ่ก็ยังไม่เคยใช้กัน (ตรงนี้ผมคิดว่าต่อไปน่าจะทำ real-time online survey ให้เห็นกันจะๆ ไปเลยว่าเด็กนักเรียนมีระดับความมั่นอยู่แค่ไหน)

ต่อมาก็เป็นเรื่องของชั้นเรียนครับ วิชานี้เราจำกัดจำนวนเด็กไว้ที่ 55 คน ซึ่งห้องปฏิบัติการนั้นรองรับได้ 60 คน นั้นก็หมายความว่าเด็กจะนั่งกันเต็มพื้นที่ โต๊ะคอมพิวเตอร์ก็เป็นแบบติดตั้งถาวร ไม่มีพื้นที่ให้เดินมากนัก ปัญหาสำคัญอีกประการที่มักจะพบกันก็คือเด็กที่นั่งตั้งแต่กลางห้องไปถึงท้ายห้องนั้นมองไม่เห็นเครื่องฉายภาพ (projector) ที่ผู้สอนใช้อยู่ด้านหน้า และไอ้เรื่องนี้แหละครับที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องจัดการ นั่งคิดนอนคิดจนนอนไม่หลับอยู่หลายคืน ทดลองใช้เทคโนโลยีใกล้ตัวหลายๆ อย่างก็ไม่ค่อยจะเวิร์ก

เรื่องที่ไม่เวิร์กเนี่ย ก็อย่างเช่นผมลองเอา iPhone มาทำเป็น presentation remote เพื่อจะได้เดินไปได้ไกลๆ ถึงกลางห้องหลังห้อง ก็พบว่ามันไม่ค่อยสะดวก เพราะการสอนห้องปฏิบัติการต่างกับการสอนบรรยาย เราต้องคอยควบคุม pointer และกดโน่นนี้บนจอมาก ใช้ iPhone เป็น trackpad มันยังทำอะไรได้ไม่มากขนาดนั้น แถมต้องมีการพิมพ์โน่นนี่อยู่ตลอด จะใช้ onscreen keyboard ก็ยิ่งยุ่งยากชักช้า สรุปว่าต้องล้มโครงการไป

ผมคุยกับเพื่อนบางคนก็บอกการสอนโปรแกรมนั้นต้องสอนทีละเรื่อง ทีละขั้นตอน ช้าๆ ให้ทุกคนตามทัน แต่ถ้าคนหลังห้องเขามองไม่เห็น เขาจะตามได้ไหม? ถ้าเขาหลุดไปสักขั้นตอนหนึ่งก็เป็นอันจบเห่ ผมก็มาคิดต่อว่าจะมีวิธีไหนบ้างที่เราจะเพิ่มอำนาจการควบคุมให้ผู้เรียน ลดการควบคุมจากครูผู้สอน ก็เลยมาลองนั่งทำวิดีโอการสอนสั้นๆ ประมาณสองถึงห้านาที ให้เขาโหลดเข้าไปดูในหน้าจอเขาเอง จะได้ดูเป็นขั้นตอนไปเอง ไม่ต้องมาคอยชะเง้อมองหน้าห้อง ทีนี้ผมก็ทำตามที่เพื่อนบอก คือทำช้าๆ ทีละขั้นตอน และมีคำบรรยายใส่เป็น subtitle (ไม่มีเสียง เพราะถ้าให้ทุกคนเปิดเสียงคงวุ่นวาย จะให้เขาเอาหูฟังมาก็คงลำบาก)

ผมเตรียมวิดีโอสั้นๆ ไปสองเรื่อง เป็นการเกริ่นวิธีใช้ PowerPoint แล้วเอาใส่ไว้ในระบบ LMS ของมหาวิทยาลัย จากนั้นผมก็สร้างแบบฝึกหัดให้เขาทำกันอีกเรื่องหนึ่ง ดูโครงสร้างการเรียนการสอนในสัปดาห์ที่สองก็จะเป็นแบบนี้

•    วิดีโอเรื่องการสร้าง Presentation ใหม่ใน PowerPoint
•    วิดีโอเรื่อง view ต่างๆ ใน PowerPoint
•    แบบฝึกหัดเรื่อง Check spelling

ดูเหมือนจะไม่มีอะไรโดยเฉพาะตัวแบบฝึกหัดแต่จริงๆ ผมวางแผนซ้อนแผนไว้ในตัวแบบฝึกหัดนี่ละครับ เพราะผมให้นักศึกษาเขาใช้ Help (F1) ของ PowerPoint ในการหาคำตอบ ซึ่งจุดมุ่งหมายจริงๆ ของผมนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวคำตอบ แต่เป็นการปูพื้นให้รู้จักวิธีใช้ Help ซึ่งสำหรับแบบฝึกหัดในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ถือเป็นการชิมลาง หากันง่ายๆ แต่มันเป็นการยกระดับความมั่นใจให้ผู้เรียนว่า เออเนอะ ทำไมต้องเอาแต่จ้องกระดาน คำตอบมันก็มีอยู่ใน Help อยู่แล้ว เราไม่ต้องรอฟังอาจารย์เขาก็ได้

พอผมอธิบายขั้นตอนต่างๆ เสร็จแล้ว ก็ให้เขาลงมือทำกันตามความสามารถตัวเอง ใครจะทำช้าทำเร็วอย่างไรก็ไม่ว่า เราก็เดินดูไปเรื่อยๆ และผมยังอนุญาตให้คนที่ยังติดขัดมีปัญหาต่างๆ ตามเพื่อนได้ บ้างก็จับคู่กัน แต่อยู่ๆ ก็มีปรากฎการเหนือธรรมชาติ ผมยืนอยู่มุมหนึ่ง นักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งกลับกรูกันไปอออยู่หน้าเครื่องของเพื่อนอีกคนที่ดูจะทำแบบฝึกหัดเสร็จเร็วระดับขั้นเทพฯ เขาก็ทำให้เพื่อนๆ ดูแบบเขิลๆ เพื่อนคนอื่นพอดูเสร็จก็รีบกลับไปลองทำบ้าง ผมได้ดีก็เลยบอกให้นักศึกษาคนอื่นที่ยังทำไม่ได้ไปถ้าคนที่เพิ่งจะเรียนรู้มาหมาดๆ มันก็เกิดเป็นปรากฎการณ์ลูกโซ่ แบบว่าสอนต่อๆ กันไป คนที่พอจะคล่องกับโปรแกรมเหล่านี้ก็ลากเอาคนที่ไม่ค่อยจะคล่อยไปด้วย ไม่มีใครถูกทิ้งไว้แบบไม่รู้เรื่องว่าชาวบ้านเขาเรียนอะไรกัน

บทเรียนที่ผมได้จากการลองผิดลองถูกครั้งนี้มีสองสามข้อ เรื่องความคาดหวังผู้เรียนและสถานที่เรียนนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการออกแบบการเรียนการสอน วิชานี้เป็นวิชาที่ไม่มีหน่วยกิตครับ ดังนั้นนักศึกษาจะให้ความสำคัญน้อยกว่าวิชาที่มีหน่วยกิต ความคาดหวังของวิชานี้ก็จะไม่สูงมาก คือไม่อยากให้มีงานต่อเนื่องไปนอกเวลาเรียน ดังนั้น ถ้าทำการสอนให้เสร็จในชั้นเรียนก็จะดีกว่า ข้อที่สองนั้นคือเรื่องสถานที่ ทั้งโต๊ะคอมพิวเตอร์ที่ยึดตายกับพื้น และจอตั้งอยู่สูงจนผู้เรียนไม่สามารถจะมองเห็นหน้าชั้นได้ชัดเจน ทำให้การสอนหน้าชั้นเป็นทางเลือกท้ายๆ ของผม

การเรียนการสอนของวิชานี้จึงเน้นไปที่การเรียน และลดการสอน (เพราะมันสอนลำบาก) อีกทั้งมันเป็นวิชาปฏิบัติการ เราก็ควรจะให้เด็กได้ปฏิบัติเอง ลงมือลองทำเอง ผมสังเกตได้ว่าสามารถเปลี่ยนบรรยากาศในห้องเรียนได้อย่างมากคือการเดินออกมาจากหน้าชั้น และเดินเข้าไปในชั้นเรียนระหว่างนักเรียน เดินไปคุย เดินไปดู ซึ่งตรงนี้ผมสามารถทำได้เพราะนักศึกษาแต่ละคนก็ทำงานของตัวเองไปเรื่อยๆ ใครทำงานได้เร็วช้าอย่างไรก็เห็นกันจะๆ ซึ่งทำให้ผมสามารถเข้าไปช่วยนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่าได้

snooker

ชีวิตผมเลยวัยเที่ยวเล่นตามโต๊ะสนุกมานานแสนนานแล้วครับ (อย่าให้บอกเลยว่านานแค่ไหน) แต่การสอนแบบที่ต้องคอยหาเหลี่ยมหามุม เดินวนเวียนกลับไปกลับมาอยู่เป็นชั่วโมงแบบนี้ ทำให้ผมคิดถึงการเล่นสนุกเกอร์ขึ้นมาตะหงิดๆ เพียงแต่การเดินไปรอบห้อง กระเด็นกระดอนไปความต้องการของนักศึกษานั้น สนุกกว่าการเล่นสนุกเป็นไหนๆ เลย

ภาพประกอบ: http://www.flickr.com/photos/jmpznz/5350935330/

หมายเลขบันทึก: 437237เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2011 06:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท