We love the king 36 # "พระเจ้าอยู่หัวไม่เคยหยุดทรงงาน การทำงานคือชีวิตของพระองค์"



"พระองค์ท่าน ตรัสว่า เศรษฐกิจพอเพียงประกอบด้วย ความมีเหตุมีผล ต้องยึดความพอประมาณ รู้ศักยภาพของเรา และก็มีภูมิคุ้มกัน แต่ทรงเน้นว่าทั้งหลายทั้งปวงนี้ต้องตั้งอยู่บนฐานจริยธรรมคุณธรรม คือคนเราต้องมีคุณธรรมต้องมีจริยธรรม ถ้าปราศจากข้อนี้แล้วไม่มีประโยชน์"

    ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นชาวเพชรบุรีโดยกำเนิด ในวัยเด็กเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จากนั้นได้รับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้ไปเรียนต่อทางด้านรัฐศาสตร์ที่ มหาวิทยาลัยมองต์เปลิเอร์ (Mont Pellier) ประเทศฝรั่งเศส จนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจึงได้กลับมารับราชการในสำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์

ปี ๒๕๒๔ รัฐบาลได้ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมา จากพระราชดำริ (กปร.) ขึ้นเป็นหน่วยงานในสังกัดสภาพัฒน์ โดย ดร. สุเมธได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการคนแรก ถึงปี ๒๕๓๗ ท่านได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ อันเป็นฉบับแรกที่เริ่มพลิกโฉมยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศจาก "วัตถุ" มาเป็น "คน"

นอกจากงานในตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์และ เลขาธิการ กปร. ซึ่งทำควบคู่กันไปแล้ว หลังจากเกษียณอายุราชการในปี ๒๕๔๒ ดร. สุเมธยังได้รับเชิญให้เป็นประธานกรรมการและกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง รวมถึงเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวได้ว่าที่ผ่านมา ดร. สุเมธได้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ มากมาย ทว่างานที่ท่านถือเป็นเกียรติประวัติสำคัญที่สุดในชีวิต คือการได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ดำรง ตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๓๑ จนถึงปัจจุบัน

ตลอดเวลากว่า ๒๕ ปีที่ ดร. สุเมธได้ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ท่านได้รับข้อคิดและบทเรียนอันมีค่ามากมายไม่ว่าในแง่การงานหรือการ ใช้ชีวิต ทั้งจากพระบรมราโชวาทในวาระต่าง ๆ และจากการที่ได้ทรงกระทำพระองค์เป็นเยี่ยงอย่าง อาทิ

    * การทำงานทั้งหลายต้องทำด้วยใจ ทำด้วยความสนุก
    * ทำงานด้วยความรู้ ความรู้จะหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องขวนขวายเก็บบันทึกไว้ ความรู้จะต้องพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ
    * ให้สนุกกับการแก้ปัญหา เห็นปัญหากระโดดเข้าใส่
    * ตั้งตนอยู่บนพื้นฐานของความเมตตาและสร้างความสุขให้ผู้อื่น
    * หัวสมองต้องทำงานอยู่ตลอด ต้องช่างสังเกต ดูสถานการณ์รอบข้าง อย่าปล่อยให้จิตใจเลื่อนลอย ต้องมีสติติดตัวตลอด เมื่อมีสติก็มีปัญญา ปัญญาทำให้หูตาสว่าง ไม่หลง
    * อย่าฉวยโอกาส ต้องซื่อสัตย์สุจริตระหว่างปฏิบัติงานเป็นที่ตั้ง ฯลฯ

หาก เหนืออื่นใด การถวายงานรับใช้ใกล้ชิด ยังทำให้ท่านได้เห็นอย่างชัดเจนถึงพระวิริยะอุตสาหะของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความสุข" ในการ "ทรงงาน" เพื่อพสกนิกรของพระองค์

ในบทความ "ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท" ที่ตีพิมพ์ในวารสาร มูลนิธิชัยพัฒนา เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๘ ดร. สุเมธ ได้เล่าถึงความประทับใจจากการตามเสด็จฯ ไปในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจครั้งหนึ่ง ความว่า

"ภาพที่ประทับใจ และจดจำไม่เคยลืมอีกภาพคือ หลังจากที่ทรงพระประชวรในช่วงเวลาหนึ่งนั้น ก็เสด็จฯ ออกครั้งแรก จำได้แม่นยำว่าเป็นที่ชะอำ ที่เป็นสถานที่ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายในวันนี้ ได้เสด็จฯ ออกทรงงานเป็นครั้งแรกหลังจากทรงว่างเว้นมานาน หลังจากมีพระราชกระแสพระราชทานแนวทางหลัก ๆ แล้ว ได้หยุดขบวนประทับ เบื้องหน้าเป็นหุบเขาเรียกว่า หุบสบู่ เวลานั้นตะวันหลบแล้ว แต่ยังมีแสงเรืองรองอยู่ นกบินกลับรังเป็นฝูง ๆ ทรงฉายภาพวิวรอบ ๆ อากาศร่ม ลมพัดเย็นสบาย มีพระพิรุณโปรยมาบาง ๆ ชุ่มชื่นแต่ไม่เปียก วันนั้นทรงมีความสุขมาก รับสั่งขึ้นมาลอย ๆ ว่า ไม่ได้เสด็จฯ ออกมานานแล้ว และเห็นชัดเจนว่าทรงพระเกษมสำราญเหลือเกินที่มีโอกาสได้ทำงานให้พสกนิกรของ พระองค์อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นจังหวะงานที่ทรงอยู่ก็เริ่มต้นอย่างทรงพลังอีกครั้งหนึ่ง โครงการพระราชดำริโครงการแล้วโครงการเล่า ก็ได้จัดทำขึ้นมาทุกหัวระแหงของแผ่นดิน"

ในวาระที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี อันอาจกล่าวได้อีกทางหนึ่งว่าเป็นวาระครบ ๖๐ ปีที่ได้ "ทรงงาน" เพื่อพสกนิกรชาวไทยทั้งปวง ทีมงาน สารคดี ได้รับความเมตตาจาก ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

คำกล่าวแรกของท่านเมื่อเริ่มต้นบทสนทนาครั้งนี้ก็คือ

"พระเจ้าอยู่หัวไม่เคยหยุดทรงงาน การทำงานคือชีวิตของพระองค์"

"พระองค์ท่าน รับสั่งว่า จะทำการใด ๆ ก็ตาม ให้ยึดหลักภูมิสังคมเป็นที่ตั้ง หมายความว่าต้องให้ความเคารพต่อภูมิประเทศในเบื้องต้น...และทรงสอนให้เคารพ เรื่องคนด้วย เพราะนอกจากภูมิประเทศจะหลากหลายไม่เหมือนกันสักภาคแล้ว คนก็ยังไม่เหมือนกันด้วย แม้กระทั่งคนในภูมิภาคเดียวกันก็ยังหลากหลาย"

      เริ่มทำงานถวายในหลวงเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไรครับ
ผม ถวายงานมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ ตอนนั้นอยู่ที่สภาพัฒน์ รัฐบาลช่วงนั้น ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาถวายงานพระเจ้าอยู่หัว เรียกว่า กปร. หรือสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตอนนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของสภาพัฒน์ ผมก็เป็นเลขาธิการคนแรก สำนักงานนี้ก็ขยายตัวมาเรื่อย จากหน่วยงานเล็ก ๆ อยู่ในกองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจ จนถึงจุดหนึ่งปริมาณงานก็มากขึ้น เห็นว่าควรแยกตัวออกไปจากสภาพัฒน์ได้แล้ว ก็เลยมีพระราชบัญญัติแยกส่วนราชการ ตั้งสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแยกออกมาต่างหาก เป็นระดับซี ๑๑ ขึ้นอยู่กับสำนักนายกฯ ผมเองก็ดำรงตำแหน่งมาโดยตลอด จนกระทั่งปี ๔๒ ก็ลาออก

ก่อนจะเกษียณอายุราชการ ท่านดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์
ระหว่าง ที่เป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ ผมก็เป็นเลขาธิการ กปร. ด้วย ผมถูกเรียกกลับไปที่สภาพัฒน์แต่ผมไม่ยอมทิ้งงาน กปร. ก็เลยพูดล้อเล่นกันว่าเป็น ซี ๒๒ ครอบครองตำแหน่งซี ๑๑ สองตำแหน่ง เป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ด้วย เป็นเลขาธิการ กปร. ด้วย พอเสร็จสิ้นภารกิจสภาพัฒน์ ผมก็กลับมารับงาน กปร. จนกระทั่งปี ๔๒ ก็ลาออกก่อนเกษียณปีหนึ่ง และก็มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นมูลนิธิในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ และสมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ เพราะฉะนั้นละจากอาชีพรับราชการคือเป็นข้าราชการที่ กปร. ก็ยังทำงานมูลนิธิชัยพัฒนามาเรื่อยจนกระทั่งบัดนี้ นับเรื่อยจากวันลาออกมาจนถึงปีนี้อายุ ๖๗ ปีแล้ว เกษียณมา ๗ ปีแล้ว ก็ไม่ได้หยุดงานเลย ก็มีงานเดียวกัน ตำแหน่งอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง ก็สนุกดี ได้ความรู้มากมาย



มูลนิธิชัยพัฒนาทำงานหลักๆ อะไรบ้างครับ
งาน ของมูลนิธิชัยพัฒนาหลัก ๆ เห็นจะแบ่งออกเป็น ๓-๔ กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกเป็นโครงการที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนโดยตรงเลย อาทิชาวบ้านร้องขอเข้ามาเรื่องขาดน้ำ มีปัญหาเรื่องดิน เรื่องอะไรปัจจุบันทันด่วน เราก็ลงไป ซึ่งมูลนิธิได้เปรียบมากกว่าหน่วยราชการ คือพอได้รับทราบปัญหา ก็ออกเดี๋ยวนั้นได้เลย มีความคล่องตัว ไม่ต้องมารอพิธีรีตองอะไร พอมีพระราชกระแสรับสั่ง เราก็ดำเนินการได้ทันที ก็แก้ไขปัญหาได้ฉับพลันทันที นี่เป็นจุดเด่นของมูลนิธิ อันนี้กลุ่มแรกคือปัญหาความเป็นอยู่เฉพาะหน้าของประชาชน กลุ่มที่ ๒ นั้นเป็นเรื่องของการเรียนรู้ต่าง ๆ เพราะประชาชนถวายที่มาให้มูลนิธิฯ เยอะ ก็มีพระราชกระแสให้ไปจัดการดำเนินการเกี่ยวกับที่ต่าง ๆ ที่มูลนิธิฯ ได้รับเข้ามา บางแห่งก็เป็นแหล่งที่เรียนรู้ เป็นศูนย์สาธิตเรื่องการเกษตร ศูนย์สาธิตป่าชุมชน เรื่องกิจกรรมหลากหลายมาก แม้กระทั่งศิลปวัฒนธรรมก็มี อย่างที่อัมพวา ได้รับห้องแถวมาพร้อมกับที่ดิน เราก็พัฒนาฟื้นฟูเป็นศูนย์วัฒนธรรม สร้างอะไรให้เป็นประโยชน์กลับคืนสู่ประชาชน ศูนย์สาธิตก็มีประชาชนเข้ามาอบรมเข้ามาเรียนรู้เข้ามาทำอะไรต่ออะไรต่าง ๆ จนกระทั่งทำให้อาณาบริเวณรอบ ๆ ได้ประโยชน์ขึ้นมา ส่วนงานกลุ่มที่ ๓ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เรื่องการฟื้นฟูป่า ตอนนี้เน้นมากคือเรื่องขยะ น้ำเน่าน้ำเสีย เป็นปัญหามากเลย เพราะว่าตราบใดที่มนุษย์บริโภคเสร็จก็กลายเป็นขยะออกมา เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ และเราก็ไม่ค่อยจริงจังกับการที่จะไปจัดการกับมันอย่างมีประสิทธิภาพได้ มูลนิธิฯ จึงมีโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสียและกำจัดขยะมูลฝอยที่แหลม ผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ได้มีการทดลองทดสอบจนกระทั่งเป็นผลสำเร็จแล้ว มีแนวทางอย่างแน่ชัดเลยว่าเรื่องขยะจะทำอย่างไร เรื่องน้ำเสียอย่างไร แต่หลักใหญ่ก็คือใช้ธรรมชาติเข้าไปแก้ไขธรรมชาติ จะไม่มีการคุยเรื่องใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์หรืออะไรต่ออะไรทั้งสิ้น ใช้พลังธรรมชาติ สายลมแสงแดด ต้นไม้ พืช ต่าง ๆ เข้าไปทำงาน ก็เป็นการบำบัดน้ำเสียโดยใช้ธรรมชาติขึ้นมา เวลานี้เราก็กระจายขยายตัวไปเรื่อย มีการอบรม อบต. อบรมชุมชน อบรมพระ สถานที่ประกอบการต่าง ๆ เพื่อให้เขานำเอาเรื่องราวต่าง ๆ นี้ไปใช้ในกิจการของตัวเอง หรืออย่างเรื่องการฟื้นฟูป่า ต้นไม้ ปัญหาดินพังทลาย ก็ส่งเสริมผลักดันให้ใช้หญ้าแฝก

กล่าวกันว่าแนวทางการทำงานของพระองค์เน้นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเป็นหลัก
กระบวน การของพระองค์นี่ง่าย ๆ ไม่ทรงใช้อุปกรณ์ไฮเทค ราคาแพง ทุกอย่างเรียบง่ายใช้ธรรมชาติ ยิ่งหาอะไรในบริเวณพื้นที่นั้นได้ก็ยิ่งดีใหญ่ ฟื้นฟูป่านี่ก็ทำฝายชะลอน้ำ ก็เอาก้อนหินที่อยู่ในนั้น ดินอยู่ในนั้น กิ่งไม้ท่อนไม้มาเกาะกันก็เป็นที่กั้นน้ำ ชะลอน้ำ เก็บกักน้ำได้อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าแนวพระราชดำริของพระองค์นั้น ใคร ๆ ก็ทำได้ โดยเฉพาะประชาชนก็ทำได้โดยไม่ต้องไปขวนขวายลงทุนอะไรมากมาย ส่วนกลุ่มเรื่องที่ ๔ นั้นก็เข้าไปแก้ปัญหาในระดับชาติเลย เป็นต้นว่าตอนนี้มีปัญหาเรื่องพลังงาน พลังงานทดแทน ก็มีการค้นคว้า มีการตั้งโรงงานไบโอดีเซล มีการปลูกปาล์มเอาน้ำมันปาล์มมาแปรสภาพเป็นน้ำมันดีเซล สบู่ดำ หรืออื่นใดที่จะเป็นประโยชน์มาได้ พลังงานทดแทนก็มีการดำเนินการทางด้านนี้อย่างต่อเนื่องมาเรื่อย และงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมนั้น เราก็สนับสนุน นักวิจัยมาทำงานอยู่ที่มูลนิธิชัยพัฒนานี้ก็ทำงานด้วยความอิสระ เพราะพระองค์ท่านรับสั่งว่าในระบบราชการมีข้อจำกัด ก็คือต้องวิจัยให้มันสำเร็จ แล้วมีพวกสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ถือว่าอยู่ในสายนี้ด้วย เป็นสิ่งประดิษฐ์ง่าย ๆ ให้ชาวบ้านเอาไปใช้ได้ เพื่อขจัดปัญหาที่อยู่รอบ ๆ ตัว อาทิ กังหันน้ำชัยพัฒนา

กังหันน้ำชัยพัฒนามีประวัติความเป็นมาอย่างไร
ปัญหา เรื่องน้ำเสียเป็นต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ทีนี้พอพูดถึงปัญหาน้ำเสียแล้ว เรามักจะนึกถึงโรงบำบัดน้ำเสีย ลงทุนกันเป็นร้อยล้านพันล้าน ทีนี้พระองค์ก็เลยมาทรงคิดว่าจะมีหนทางทำอย่างไรทำให้มีเครื่องจักรเครื่อง กลที่สามารถใช้งานได้ในชุมชนเล็ก ๆ หรือเจ้าของกิจการเล็ก ๆ ก็สามารถบำบัดน้ำเสียในอาณาบริเวณของเขาให้เสร็จสิ้นเบ็ดเสร็จไปในตัว เพราะถ้าทุกคนช่วยเหลือตัวเอง ส่วนรวมก็ไม่ต้องแบกภาระ พระองค์ท่านก็เลยทรงคิดค้นออกแบบเครื่องกลเติมอากาศเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ ไม่ใช่มีรูปแบบเดียวนะครับ มีหลายรูปแบบ ๙ หรือ ๑๐ รูปแบบด้วยซ้ำไป เราทดลองทำในรูปแบบต่าง ๆ หลักการสำคัญก็คือว่าทำอย่างไรที่จะนำเอาออกซิเจนเข้าไปเจือปนในน้ำให้ได้ เพราะออกซิเจนเป็นตัวการที่ทำให้น้ำหายเน่าได้ แล้วก็มีกระบวนการที่จะดูดซึมซับเอาโลหะหนักที่อยู่ในน้ำขึ้นมา เพราะเป็นตัวการของน้ำเน่าเหมือนกัน ในส่วนของออกซิเจนก็ทรงออกแบบโดยเอาแนวความคิดมาจากหลุก อันเป็นเครื่องมือพื้นบ้านที่คนทางภาคเหนือเขาขวางตามลำธารภาคเหนือ เป็นกังหัน เอามาออกแบบเสียใหม่ ใส่มอเตอร์เล็ก ๆ ไม่ต้องกินไฟมาก แล้วก็ตักช้อนน้ำไป เวลาเทน้ำลงมาก็โปรยน้ำผ่านอากาศเป็นการบรรจุออกซิเจนไป แล้วพอตกถึงน้ำก็ทำให้ออกซิเจนลงไปผสมในน้ำ ทำให้น้ำดีขึ้น และระหว่างที่กังหันหมุนไปนั้นก็ทำให้น้ำเคลื่อนไหวได้ด้วย เพราะตามปรกติสาเหตุที่น้ำเน่าก็เพราะน้ำอยู่กับที่ ทำให้การหมุนเวียนดีขึ้น กังหันที่ตักน้ำขึ้นมาทำง่าย ๆ และกินไฟน้อย ส่งไปแสดงที่กรุงบรัสเซลส์ ได้รางวัลมา ๔-๕ รางวัลระดับนานาชาติ จนกระทั่งสมาคมนักประดิษฐ์เขาขอพระราชทานไปตั้งที่กรุงบรัสเซลส์ ก็นับว่าเป็นการถวายพระเกียรติยศอย่างสูงเลยจากต่างชาติ มีป้ายติดประกาศพระเกียรติคุณของพระองค์ท่าน ทุกวันนี้กังหันน้ำชัยพัฒนามีการขยายผลและมีคนติดต่อขอใช้กันมาทั่วประเทศ เราก็ไปร่วมมือกับทางโรงเรียนอาชีวะ ให้นักเรียนผลิตเครื่องจักรเครื่องกลง่าย ๆ นี้ เพื่อไปช่วยเหลือตามท้องถิ่นต่าง ๆ ขจัดน้ำเน่าน้ำเสียได้ด้วยตัวเอง และจะได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย

โครงการแหลมผักเบี้ยก็มีแนวคิดใช้กระบวนการทางธรรมชาติในการบำบัดน้ำเสียเช่นกัน
เมื่อ หลายปีมาแล้วพระองค์ได้ทรงฝังพระทัยว่า เรื่องการบำบัดน้ำเสียนั้นสามารถใช้กระบวนการธรรมชาติที่ได้ทดลองทดสอบมา ก่อนหน้านั้น คือที่บึงมักกะสัน บึงมักกะสันใช้ผักตบชวาเข้าไปทำการกรองน้ำเสีย ก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้ไปหาพื้นที่ประมาณสักพันไร่ สามารถสร้างบ่อตกตะกอนบำบัดน้ำเสียได้อย่างกว้างขวาง ก็หาอยู่นานทีเดียว ผลสุดท้ายก็เจอในบ้านผมเองที่จังหวัดเพชรบุรี เผอิญมีที่ว่างอยู่ก็เลยไปจับจอง แล้วก็เริ่มดำเนินการโครงการชื่อว่า ศูนย์ศึกษาการบำบัดน้ำเสียแหลมผักเบี้ยในพระราชดำริ โครงการแบ่งเป็น ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนที่ ๑ เอาน้ำเน่ามาบำบัดโดยใช้กระบวนการตามธรรมชาติ ๔ วิธี คือ การใช้ระบบบ่อผึ่งบำบัดน้ำเสีย การใช้ระบบกรองน้ำเสียด้วยหญ้า การใช้ระบบบำบัดน้ำเสียโดยใช้พื้นที่ชุ่มน้ำเทียม และการใช้ระบบบำบัดน้ำเสียโดยใช้แปลงป่าชายเลน ดังนั้นน้ำเน่าก็จะไหลผ่านบ่อตกตะกอนหลายบ่อ ระหว่างนั้นก็โดนแสงแดดสายลมทำให้ของเสียมันบำบัดมากขึ้น ๆ แล้วตอนหลังก็ผ่านแปลงพืชเพื่อช่วยดูดซับโลหะหนัก เราค้นพบพืชมาได้ ๒๒ ชนิดที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ อาทิ ต้นกก พุทธรักษา ฯลฯ ก็เอาน้ำผ่านแปลงพวกนี้ ก็จะดูดซึมซับเอาโลหะหนักเข้ามาที่เป็นต้นตอของน้ำเน่า แล้วก็ดูดเอาคาร์บอนไดออกไซด์ อัดฉีดออกซิเจนไปด้วย ก็ทำให้สภาพของน้ำดีขึ้น แล้วพอน้ำมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับได้แล้วก็จะปล่อยผ่านแปลงป่าชายเลน ผลประโยชน์ที่เกิดได้อีกก็คือว่าในน้ำนั้นก็มีจุลินทรีย์ ก็เป็นอาหารของปูปลา เพราะป่าชายเลนก็เป็นต้นกำเนิดของทะเล มีสัตว์เล็กสัตว์น้อยมาก่อกำเนิดอยู่ในป่าชายเลน ก็ได้กินจุลินทรีย์ที่อยู่ในน้ำ นั่นก็เป็นกิจกรรมหลัก ๆ ทุกวันนี้โครงการแหลมผักเบี้ยสามารถบำบัดน้ำเสียในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ได้ระดับหนึ่ง และโครงการอีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องขยะ ก็เอาขยะมาทดลองวิธีการย่อยสลายอย่างรวดเร็ว โดยทำกระบะซีเมนต์เป็นล็อก ๆ ไป แล้วก็มีการกระตุ้นให้จุลินทรีย์ทำงานได้รวดเร็ว แล้วมีการแบ่งจำแนกขยะ ก็ประสบความสำเร็จในการกำจัดขยะ และศูนย์ที่นี่ ปี ๆ มีคนเข้ามาดูงานเป็นหลายหมื่นคน เข้ามาฝึกเข้ามาอบรม และทางศูนย์ฯ เองก็ส่งคนออกไปอบรมคนข้างนอก จนกระทั่งเวลานี้ศูนย์ฯ ได้รับคำชมมาก

ในส่วนของพลังงานทดแทน ในหลวงก็ทรงเห็นความสำคัญมานานนับสิบปีแล้ว
จะ เห็นว่าตามศูนย์ศึกษาต่าง ๆ ตามโครงการพระราชดำรินั้น คุณจะเห็นกังหันลม คุณจะเห็นแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งใช้มาก่อนที่ประเทศไทยจะประสบปัญหาวิกฤตการณ์ด้านพลังงานมานานเป็นสิบ ปีแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจมากคือทรงมองปัญหาไว้ก่อนล่วงหน้าเสมอ ก่อนที่เราจะมาเดือดร้อนเรื่องดีเซลในวันนี้ หลายปีก่อนหน้านั้นรับสั่งให้ไปศึกษาว่าน้ำมันปาล์มมาทำไบโอดีเซลได้ไหม ก็มีการศึกษาร่วมกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นับสิบปีแล้ว จนกระทั่งเทคโนโลยีต่าง ๆ ออกมาเรียบร้อยหมด ที่สงขลาเขาผลิตปั๊มน้ำมันไบโอดีเซลแล้วด้วยซ้ำไป แต่เราก็ค้าขายอยู่ในวงจำกัด เพราะว่ามันเป็นโครงการทดลองทดสอบ วันหนึ่งก็ผลิตได้ไม่กี่ร้อยลิตร พอเกิดวิกฤตทางด้านน้ำมันดีเซลขึ้นมาก็ได้ดำเนินการอย่างมาก ในขณะนี้เราได้ขยายแปลงปลูกน้ำมันปาล์ม เอาพันธุ์ดีจากต่างประเทศมาปลูก แล้วก็ตั้งโรงงานไบโอดีเซลที่ชะอำเป็นการส่วนพระองค์




แต่โครงการเหล่านี้เป็นเพียงโครงการนำร่อง ไม่ได้คิดจะขยายเพิ่มเติมใช่ไหมครับ
อย่า ลืมว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ใช่องค์กร หน่วยงานราชการหรือองค์การค้าหรืออะไร ก็นำร่องไปแล้วอยากจะให้คนได้ทำตาม ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบอย่างระมัดระวัง อย่างเมล็ดปาล์มก็ไม่ใช่ว่าทุกแห่งจะปลูกได้ พื้นที่ต้องมีความชื้นพอสมควร ใกล้แหล่งน้ำหน่อย พันธุ์ก็ต้องเลือกพันธุ์ดี ๆ ไม่งั้นปลูกไป ๕ ปีไม่มีลูกออก ต้องระมัดระวังในเรื่องราวต่าง ๆ เรายินดีพร้อมจะให้คำแนะนำต่าง ๆ ก็จะเห็นได้ว่าทรงนำไปทุกเรื่องในขณะที่ผู้คนในประเทศยังไม่มองเห็นปัญหาเลย มองเห็นแล้ว ก็ทรงนำร่องไปก่อน

อย่างเรื่องหญ้าแฝก พระองค์ท่านทรงสังเกตจากอะไร ถึงทรงทราบได้ดีว่าหญ้าแฝกมีรากยาวมาก สามารถนำมาใช้ป้องกันการพังทลายของดินได้
จริงๆ เราก็รู้จักหญ้าแฝกมาตั้งแต่โบราณกาล เอาไว้ใช้มุงหลังคาเท่านั้น เราก็ดูแต่ใบเท่านั้น ไม่มีใครดูรากของมัน จนกระทั่งวันหนึ่งประมาณ ๑๐ กว่าปีแล้ว มีผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลกคนหนึ่งเอาหนังสือเล่มเล็ก ๆ มาทิ้งไว้บนโต๊ะผม เขียนว่าหญ้าแฝก แต่ผมไม่สนใจ ก็เลยทิ้งไว้บนโต๊ะ วันหนึ่งก็มานั่งดู ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยเรื่องต่าง ๆ ก็นำหนังสือเล่มนี้ทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าอยู่หัวขึ้นไป เวลาผ่านไป ๒-๓ เดือนกว่าจะรับสั่งขึ้นมา แสดงให้เห็นว่าแต่ละเรื่องนั้นทรงศึกษาจนกระทั่งทรงเกิดความมั่นใจขึ้นมา แล้วถึงรับสั่ง วันนั้นพระองค์ท่านเสด็จ ฯ แปรพระราชฐานวังไกลกังวล ได้รับสั่งว่าหญ้าแฝกนี่หญ้ามหัศจรรย์ ให้รีบไปดำเนินการเลย จากที่ไม่เป็นที่สนใจของคนในประเทศเลย พอทรงศึกษาเห็นประโยชน์แล้ว ก็ได้เริ่มมีการผลักดันให้มีการใช้ขยายผล เริ่มตั้งแต่วันนั้นมาก็มีการขยายผลจนกระทั่งรู้จักกันทั่วประเทศ ก็ทรงยึดหลักธรรมดาอีกแหละ หลักที่เคยใช้มาทั่วไป ยึดธรรมชาติเข้ามาแก้ไขธรรมชาติ เอาของที่มีอยู่แล้วมาแก้ไขปัญหาที่มนุษย์ไปสร้าง ดินพังทลายเพราะมนุษย์ตัดไม้ทำลายป่า พอฝนตกก็ชะหน้าดินลงมา พอเราจะแก้ปัญหาก็เอาเครื่องจักรไปทำขั้นบันได พลังงานก็ต้องใช้ เครื่องจักรเครื่องยนต์ก็ไปซื้อเขามาให้เปลืองเงินทำไม ก็ใช้ธรรมชาตินี่แหละ ปลูกหญ้าแฝกตามแนวลาดชัน พอหน้าดินมันถูกชะล้างมาก็กองอยู่ตามแนวหญ้าแฝก ทะลุแนวหนึ่งมาก็มากองแนวที่สอง ทะลุแนวสองก็มากองแนวที่สาม ไม่กี่ปีถัดมามันก็เป็นขั้นบันไดธรรมชาติเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ต้องลงทุนเลย ในการปลูกแฝกนั้น รากแฝกจะลงไปลึก พระองค์ท่านรับสั่งว่าเป็นกำแพงธรรมชาติที่มีชีวิต กันดินพังทลายได้ แล้วก็นำความชื้นลงไปในดินอีก ตอนหลังก็ได้มีการปลูกอย่างมากมาย ทำให้ดินมันซุยขึ้น ป้องกันดินพังทลายอย่างเห็นชัดเจน อนุรักษ์ความชุ่มชื้นในดิน และใบแฝกยังนำมาทำหัตถกรรมได้หลายอย่าง

แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มมาจากอะไร
เริ่ม มาจากปัญหาที่เราไปเจอนั่นแหละ โลกเวลานี้ก็บริโภคไปเสียจนกระทั่งเกินเหตุ แล้วก็เกิดวิกฤตซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าพูดไปแล้วมีตัวเลขน่ากลัวมาก คือว่าชาวโลกบริโภคทรัพยากรธรรมชาติไปในอัตรา ๓ ต่อ ๑ คือบริโภคไป ๓ ส่วน แต่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติชดเชยกลับมาได้เพียง ๑ ส่วน ถ้าเราบริโภคในอัตราความเร็วอย่างนี้ก็หมด น้ำมันก็เริ่มมีสงครามแย่งน้ำมันกันแล้วใช่ไหม อีกหน่อยก็มีสงครามแย่งน้ำ สงครามแย่งทรัพยากรกัน แล้วก็มันไม่เพียงพอกับประชากรที่เพิ่มขึ้น ๆ ในขณะนี้ ก็คูณไปสิ มากขึ้น ๆ เพราะฉะนั้นพอมันเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวก็มาดูประเทศไทยมันก็แบบเดียวกันอีก โลกาภิวัตน์ เราก็ตามโลก มุ่งหาความร่ำรวยมุ่งหาความเจริญเติบโต แล้วถ้าตัวเองไม่สร้างฐานรากทางเศรษฐกิจและสังคมเอาไว้อย่างมั่นคง พอเศรษฐกิจโตแล้วมันก็แตกเป็นฟองสบู่แบบที่เห็นกันมาหลายครั้งแล้ว โตแล้วก็แตก คือไม่ได้สร้างฐานราก ก็เลยพระราชทานแนวหลักมาว่า ให้ใช้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ชีวิตหลักเช่นทางสายกลาง โดยพระราชทานหลัก ๓ ประการมาให้ หลัก ๓ ประการนั่นก็คือว่า ทำอะไรต่าง ๆ นั้นใช้เหตุใช้ผลเป็นเครื่องนำทางได้ไหม อย่าเปลี่ยนตามกระแส คือตามกระแสโลกเราก็รู้อยู่แล้ว โลกทุกวันนี้มันนำไปสู่ความหายนะซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราก็ไม่ควรจะตาม เราควรจะมีแนวทางของเรา เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีเหตุมีผล อย่าไปตามกระแส อย่าไปทำอะไรให้มันล้นไปจนกระทั่งเกิดทุกข์ เพราะคำว่าแตกเนี่ย เศรษฐกิจแตกเพราะเราเป่าให้มันแตก มันต้องโตเสียก่อนแล้วมันถึงจะแตก ลูกโป่งมันต้องเป่าก่อนแล้วมันถึงจะแตก ฉันใดฉันนั้น ถ้าคิดมันก็เป็นสติเตือนใจ แต่เราไม่ชินกับการทำอะไรด้วยเหตุด้วยผล ประการที่ ๒ คำที่สอนก็คือ ทำอะไรพอประมาณได้ไหม คือต้องตรวจดูสภาพก่อนว่าสภาพตัวเราแข็งแรงแค่ไหนอย่างไร ศักยภาพของเราอยู่ตรงไหน เราแข็งจุดไหนบ้าง เราอ่อนจุดไหนบ้าง ตรวจสอบศักยภาพของเราเสียก่อน แล้วทำตามพอประมาณของเราในขณะนั้น ในระดับใดระดับหนึ่งที่มันเหมาะสมกับขนาดของเรา ผมมักจะชอบเปรียบเทียบกับมวย เราจะไปถึงแชมป์โลกได้ต้องบอกว่ารุ่นไหน ถ้ารุ่นเล็กนี่มาเลย อันนั้นคือความพอประมาณ ศักยภาพเต็มประมาณของเราอยู่ตรงนี้เราสู้ได้ แต่ถ้าชกรุ่นใหญ่ขึ้นไป เราไปไม่ไหว มันเกินจากเราแล้ว อันนี้คือความพอประมาณ ต้องตรวจสอบสภาพแวดล้อมของเรา มันควรจะเอาเรื่องอะไรมาเป็นที่ตั้งหรือเป็นฐาน แล้วประการที่ ๓ คือว่าจะทำอะไรก็ตามนั้นต้องมีภูมิคุ้มกัน คือทำอย่างไรให้นึกถึงวันพรุ่งนี้ว่าพรุ่งนี้มันไม่แน่ ต้องมีหลักประกันอยู่ตลอดเวลา ต้องมีเงินออมไว้หน่อยได้ไหม สำหรับระดับบุคคลเนี่ยพรุ่งนี้อาจจะไม่สบายก็ได้ เพราะฉะนั้นมีเท่าไหร่ใช้หมด เกิดเจ็บไข้ได้ป่วยจะทำอย่างไร อย่างเรื่องพลังงาน ดีเซลมันแพงขึ้น ๆ เราจะแสวงหาน้ำมันดีเซลจากพืชหรืออะไรต่ออะไรมาเป็นหลักประกันเรา เราจะได้ไม่ต้องพึ่งภายนอก ชีวิตเราไม่ต้องพึ่งขึ้นอยู่กับคนอื่นเขามากเกินไปจนกระทั่งมันขาดอิสรภาพไป อันนี้คือภูมิคุ้มกันที่เราต้องมีตลอดเวลา เพราะว่าอะไรกระทบมาเราจะได้ไม่เดือดร้อน อย่างน้อยเรามีเกราะกำบังของเราไว้ อันนั้นคือคำหลัก ๓ ประการ มีเหตุมีผล ต้องยึดความพอประมาณ รู้ศักยภาพของเรา และก็มีภูมิคุ้มกัน แต่ทรงเน้นว่าทั้งหลายทั้งปวงนี้ต้องตั้งอยู่บนฐานจริยธรรมคุณธรรม คือคนเราต้องมีคุณธรรมต้องมีจริยธรรม ถ้าปราศจากข้อนี้แล้วไม่มีประโยชน์ ร่ำรวยไปถ้าสังคมมันเต็มไปด้วยความทุจริต หรือไม่ซื่อตรง หรือคดโกงกัน หรือเอาเปรียบกัน เบียดเบียนกัน มันก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นสังคมทั้งสังคมจะต้องมีจริยธรรมคุณธรรม คือคนต้องดี แล้วเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ทรงวางไว้จะได้นำเราไปสู่ความร่ำรวยที่ ยั่งยืน ไม่ใช่จนลงหรือให้รัดเข็มขัด ตรงกันข้าม ให้ร่ำรวยแล้วยั่งยืน พระองค์ท่านตรัสว่า เราต้องสร้างรากหรือลงเสาเข็มให้แข็งแรงเสียก่อน แล้วค่อยสร้างบ้าน เพราะฉะนั้นพอบ้านเสร็จแล้วก็จะแข็งแรง ฉันใดฉันนั้น นี่คือเศรษฐกิจง่าย ๆ เศรษฐกิจพอเพียง แล้วบางคนบอกจะทำเมื่อไหร่ ทำวันนี้พรุ่งนี้ได้เลย ตัวเราเองมีงบเท่านี้ รายได้เท่านี้ ก็อยู่แค่นี้ ไม่ใช่รายได้เท่านี้แต่ไปซื้ออะไรที่มันแพงมาประดับบารมีตามกระแสสังคม ไม่ใช้เหตุใช้ผล มีเงินแค่ซื้อรถคันเล็ก ๆ แต่กลับไปผ่อนรถคันโต ก็แบกไม่ไหว อาหารการกินก็กินให้มันพอดี กินแพงเกินไป กินมากเกินไปมันก็จุก ไขมันก็เพิ่ม อยู่อย่างเรียบง่ายอยู่อย่างธรรมดาอยู่กับสติอย่างถาวร

แต่เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้หมายความว่าไม่รับความเจริญหรือเทคโนโลยีใช่ไหมครับ
เมกะ โปรเจ็กต์พระองค์ท่านก็ทรงทำ อย่างเช่นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ถ้าหากว่าจำเป็นต่อชีวิต จำเป็นต่อสภาพส่วนรวม ก็ทรงทำ ใช้เงิน ๒๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทในการก่อสร้างเขื่อนป่าสักฯ ทุกอย่างต้องทำด้วยเหตุด้วยผล ไม่ได้ทำเพราะฉันอยากรวย บางคนก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจอยากรวย แต่เสร็จแล้วก็กลายเป็นคนเคยรวย เพราะไม่มีฐานรองรับ ฉันใดฉันนั้น

"พระองค์ไม่ ทรงเคร่งเครียดเลย มีพระอารมณ์ขันอยู่ตลอดเวลา พระองค์ท่านเคยรับสั่งครั้งหนึ่งว่า ทำงานนี่ต้องร่าเริงรื่นเริงคึกคักครึกครื้นนะ ทำงานถึงมีประสิทธิภาพ คือใจต้องรักน่ะ พอเรารักอะไรเราก็สนุกสิ"
      ช่วยยกตัวอย่างกิจวัตรประจำวันของพระองค์ท่านที่เป็นแบบอย่างให้แก่พสกนิกรทั่วไป
การ ใช้ข้าวของของพระองค์นั้นต้องใช้อย่างเต็มประโยชน์ เต็มเปี่ยม เห็นหลอดยาสีพระทนต์ไหม ที่เขาเอามาแสดงให้ดู ทรงรีดจนเรียบหมดเลย เราเองรีดไม่เรียบ บางทีก็บีบไม่ไหว โยนทิ้ง พระองค์ทรงใช้ของอย่างคุ้มค่า ไม่สิ้นไม่เปลือง จะเสวยจะทรงทำอะไรทุกอย่างเรียบง่ายหมด คุณลองสังเกตดูพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ บางภาพถ่ายห่างกัน ๒๐ ปี แต่ฉลองพระองค์ก็ยังทรงใช้ฉลองพระองค์เดิม ไม่เปลี่ยนใหม่ นาน ๆ เปลี่ยนที ทรงใช้จนคุ้ม ดินสอทรงใช้ให้คุ้มที่สุด หรือฉลองพระบาทก็ไม่ค่อยได้ทรงเปลี่ยน ทรงใช้ทุกอย่างให้คุ้มค่า สิ้นเปลืองไม่ได้ สุรุ่ยสุร่ายไม่ได้ พอดีพองาม ครั้งหนึ่งรับสั่งให้สร้างวัดพระราม ๙ ทั้งวัด ตั้งแต่โบสถ์ วิหาร กุฏิ ภูมิทัศน์ทั้งหมด พวกเราก็กราบบังคมทูลเกี่ยวกับงบประมาณค่าก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นเงิน ๑๓๐ ล้านบาท ปรากฏว่าทรงตัดศูนย์ออก เหลือ ๑๓ ล้าน ทรงตัดฉับออกไปเลย แต่ก็สร้างได้สำเร็จ พระองค์ท่านทรงสร้างวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกให้เป็นวัดแนวพอเพียง เพื่อเป็นแบบอย่างในการก่อสร้างวัดที่มีขนาดเล็ก เน้นความประหยัด เรียบง่าย มีโบสถ์เล็ก ๆ กุฏิเล็ก ๆ ครบเครื่อง แล้วก็ยังทำหน้าที่ได้อยู่ตามเดิม เพราะโบสถ์บางแห่งพันล้านยังเอาไม่อยู่ เห็นไหม เหตุผลของพระองค์คือ ทำอะไรด้วยความพอประมาณและได้ประโยชน์ จะได้มีภูมิคุ้มกัน หากสร้างวัดใหญ่โตมโหฬาร พระกว่าจะกวาดได้ทั่ววัดนี่ก็แย่เลยนะ แต่พระองค์ท่านรับสั่งให้สร้างแบบกะทัดรัด ไม่ต้องใหญ่โต อยู่ตามกำลัง มีพระ ๑๐ องค์ ก็ต้องมีขนาดนี้แหละ ทำอะไรไม่เกินตัว

จากที่ได้ตามเสด็จฯ มาเป็นเวลาหลายสิบปี อยากให้เล่าความประทับใจในช่วงเวลานั้น
อย่าง ที่บอกตั้งแต่แรกว่าผมได้เข้ามาถวายงานตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ เป็นเลขาธิการของคณะกรรมการ กปร. คนแรก ก็มีโอกาสได้ปฏิบัติภารกิจในการตามเสด็จฯ เพื่อถวายงานต่าง ๆ ประการแรกที่สุดที่ประทับใจคือเมื่อได้ทรงทราบว่าทางรัฐบาลจัดผมเข้าไปถวาย งาน แต่พื้นภูมิหลังของผมไม่ได้จบการศึกษาเรื่องการเกษตรเลย จบด้านรัฐศาสตร์การทูต แต่พระองค์รับสั่งว่า ไม่เป็นไรหรอก จบอะไรก็เข้าใจได้ ก็ทรงเริ่มสอนงาน อันนี้ประทับใจจุดแรกเลยคือ พระองค์ท่านทรงเริ่มสอนเมื่อทรงทราบว่าไม่ได้สำเร็จการศึกษาด้านการเกษตรมา แล้วบทเรียนบทแรกถ้าใครถามว่าผมได้รับอะไรนั้นก็ตอบว่า ได้รับมา ๒ คำซึ่งเป็นบทเรียนที่เยี่ยมยอดที่สุดลึกซึ้งที่สุด ก็คือพระองค์ท่านรับสั่งว่า จะทำการใด ๆ ก็ตาม ให้ยึดหลักภูมิสังคมเป็นที่ตั้ง หมายความว่าต้องให้ความเคารพต่อภูมิประเทศในเบื้องต้น ลักษณะสภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา อันนี้ก็เห็นเป็นเรื่องจริง เพราะว่าเราอยู่ตรงไหนภูมิประเทศจะเปลี่ยนหมดเลย ถ้าเปรียบเทียบทั้ง ๔ ภาค เราก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง เราเจอภูเขาในภาคเหนือ เราเจอที่ราบสูงในภาคอีสาน เราเจอที่ราบในภาคกลาง เราเจอดินพรุในภาคใต้ อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นนี่เป็นเรื่องจริงมากว่า เราต้องให้ความเคารพภูมิประเทศก่อน ประการที่สองนั้
หมายเลขบันทึก: 43680เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2006 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 12:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท