ไม่ต้องเถียง ไม่ต้องต่าง ก็สร้างคุณค่าได้


. . . มีอยู่บ่อยเหมือนกันที่ผู้ร่วมพูดคุยบางท่าน ตกอยู่ในอาการ “ทวนกระแส” อยู่ร่ำไป คำพูดที่ท่านใช้ มักเริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า . . “ผมขอมองต่างจากท่านนะ . . ผมไม่เห็นด้วยกับที่ท่านว่ามา . . ผมขอเถียงว่า . . บลา บลา บลา . . .”

            ยังมีบางท่านเข้าใจผิด คิดว่าถ้าจะสร้าง “คุณค่า” ให้กับการพูดคุยได้ จำเป็นจะต้องคิดหรือพูดให้ “แตกต่าง” อย่าไปคล้อยตามใคร ต้องหัด “มองต่าง” หัด “พูดขวาง” เข้าไว้ . . ซึ่งผมว่าไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นเสมอไปหรอกครับ . . .

            ในการประชุมหรือการพูดคุยหลายที่ มีอยู่บ่อยเหมือนกันที่ผู้ร่วมพูดคุยบางท่าน ตกอยู่ในอาการ “ทวนกระแส” อยู่ร่ำไป คำพูดที่ท่านใช้ มักเริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า . .  “ผมขอมองต่างจากท่านนะ . .  ผมไม่เห็นด้วยกับที่ท่านว่ามา . . ผมขอเถียงว่า . . บลา บลา บลา . . .” ซึ่งตอนที่ท่านพูดออกมานั้น ก็ดูมี “สีสันดี” เพราะบางทีการฟังอะไรที่คล้ายๆ กันหรือคล้อยตามกันมากจนเกินไป มันก็ทำให้จืดชืดไม่เร้าใจ แต่ครั้นเมื่อมีใครพูดโพล่งออกมาว่า “ผมไม่เห็นด้วย . . . ผมเองมองต่างไป” ก็ทำให้เป็นที่น่าสนใจขึ้นมาทันที

            แต่สิ่งที่ผมอยากสื่อในวันนี้ เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาจากการพูดคุยแบบ “สุนทรียสนทนา (Dialogue)” ที่สอนผมว่าถ้าอยากให้การพูดคุยนั้นสวยงามและออกมาจากใจ เราก็ควร “ก้าวข้าม” สภาวะของการ “เห็นด้วย” หรือ “เห็นต่าง” ไป เพราะเป้าหมายใหญ่ของเราอยู่ที่ว่า “เราเข้าใจกันและกันหรือไม่?” ประเด็นใหญ่ไม่ใช่เรื่องการ “เห็นด้วย” หรือ “เห็นต่าง” ด้วยเหตุนี้วง Dialogue ที่ดี จึงต้องมีการฟังที่ลุ่มลึก หรือที่เรียกว่า Deep Listening เป็นการพูดคุยที่อาศัยการฟังอย่างมีสติ ไม่ใช่การพูดคุยที่ใช้ความคิดมากมายแบบ Critical Thinking หลักการ Dialogue นั้นเป็นอะไรที่ตรงไปตรงมา คือให้ความสำคัญกับการฟัง แต่ถ้าอยากแสดงความคิดก็พูดออกมาได้ (อย่างมีสติ)โดยที่ไม่ต้องไปเที่ยว “ขีดเส้นใต้” ว่าความคิดของฉันนั้นเหมือนหรือต่างจากเธอตรงไหน?

            สิ่งที่อันตรายเวลาที่เราใช้คำพูดว่า “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” นั้น ประเด็นสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่า แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราเข้าใจนั้นมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะเราเองอาจจะ “ตีความ” ผิดไปจากเจตนาของผู้ที่สื่อสารมาก็ได้ บางทีสิ่งที่เราคิดอาจจะคล้ายกับเขาก็ได้ แต่เป็นเพราะเราเข้าใจผิดไป เราก็เลยนึกว่าเราคิดไม่เหมือนเขา ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เช่นนั้นเลย และนี่คือเหตุผลหลักที่ว่าทำไม Dialogue จึงให้ความสำคัญกับการฟังคนอื่นค่อนข้างมาก ทั้งนี้ก็เพื่อที่ว่าเราจะได้เข้าใจผู้ที่กำลังสื่อสารได้ลุ่มลึกยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เหมือนกับการพูดคุยทั่วไป ที่เรามักไม่ค่อยสนใจคนอื่นเท่าใด เพราะเรามัวแต่ไปสนใจความคิด (ที่แตกต่าง) หรือเรื่องที่เราต้องการจะเถียงมากกว่า

            สรุปว่าการพูดคุยแบบ Dialogue นั้น ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง “เห็นเหมือน” หรือ “เห็นต่าง” เท่าไหร่ Dialogue สนใจและให้คุณค่ากับการฟังเพื่อที่จะพยายามเข้าใจว่าคนอื่นนั้นคิดอะไรมากกว่าที่จะไปใส่ใจแต่เรื่องความคิดตัวเอง (Self-Centered) ถ้าคนในสังคมไทยใช้การพูดคุยแบบ Dialogue มากขึ้น เลิกเน้นเรื่องการ “เห็นเหมือน” หรือ “เห็นต่าง” สังคมเราก็คงจะไม่มีการแบ่งข้างแบ่งฝ่ายและสู้กันอย่าง “เอาเป็นเอาตาย” เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้หรอกครับ !!!

หมายเลขบันทึก: 436663เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2011 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

                                   

ไม่ต้องเถียง ไม่ต้องต่าง ก็สร้างคุณค่าได้ . . . แล้วสังคมไทยจะดีขึ้น . . .

ดังนั้น ในวง Dialogue การพยายามสรุปประเด็นจากผู้ที่พูดหรือถามย้ำในสิ่งที่ไม่เข้าใจจากการฟัง จึงจำเป็นกว่าการวิจารณ์หรือให้ความเห็นไม่ว่าจะเหมือนหรือต่าง ใช่หรือไม่ค่ะอาจารย์

อาจารย์จัน เขียนมาสั้นๆ แต่ "คม ชัด ลึก" และเป็นไปตามนั้นเลยครับ . .

ขอบคุณค่ะอาจารย์ จันเห็นความงามของบล็อกชัดเจนขึ้นค่ะ เพราะการอ่านจะมีเวลาคิดทบทวนค่ะ ช่วยให้เกิด deep listening ได้ดีค่ะ

จริงนะครับ . . การอ่าน และการเขียน (blog) ช่วย slow down และทำให้เรา "มีสติ" มากกว่า "การพูดออกมาและการฟัง" ซึ่งหลายครั้งผมก็ยัง "หลุด" อยู่ . . . และ "สวน" กลับไปเร็วซะด้วย . . .

"Dialogue สนใจและให้คุณค่ากับการฟังเพื่อที่จะพยายามเข้าใจว่าคนอื่นนั้นคิดอะไรมากกว่าที่จะไปใส่ใจแต่เรื่องความคิดตัวเอง (Self-Centered)"

ขอบคุณครับ อาจารย์ ประโยคนี้ทำให้ผมถึงบางอ้อ

ขอบคุณครับอาจารย์ เข้าใจอะไรหลายๆ อย่างมากขึ้นทีเดียว

dialogue ที่ผมพูดถึงในบันทึกนี้ ถ้ามีอะไรที่ "เหมือน" หรือ "ต่าง" ไปจากที่ท่านเคยเข้าใจมา ก็คงจะไม่ว่าอะไรผมนะครับ ขอเพียงแค่ท่าน "รับไว้" คือทำความเข้าใจในประเด็นที่ผมสื่อออกมา แค่นี้ผมว่าก็น่าจะเป็นการเพียงพอแล้วนะครับ . .

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท