R2R กับ โยนิโสมนสิการ...


บ่อยครั้งที่มีคนมาถามครูบาอาจารย์ว่า ทำไมลูกศิษย์ถึงทำงานอันนั้นได้ อันนี้ได้ โดยที่เขาไม่มีพื้นฐานความรู้จากมหาวิทยาลัย ไม่มีปริญญาหรือแม้บางครั้งไม่มีแม้กระทั่งประสบการณ์ คำตอบที่ข้าพเจ้าได้ยินเสมอก็คือ ลูกศิษย์ของท่าน “นั่งสมาธิเอา...”

ข้าพเจ้าพยายามคิด ใคร่ครวญ พิจารณา คำว่า “นั่งสมาธิเอา” นั้นก็ได้คำตอบที่ลึกซึ้งเปรียบเสมือนหลักที่ตอกตรึงลงไปถึงแก่นของ “ไตรสิกขา...”

ไตรสิกขา อันเริ่มต้นจาก “ศีล” เป็นเบื้องต้นที่พวกเราพยายามสำรวม ระวัง รักษา รวมถึงการปฏิบัติตามข้อวัตร ข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ทำให้จิตใจไม่แส่ส่ายไปหาความสุขจากการดูหนัง ฟังเพลง พูดคุย แต่เรากลับพึงพอใจในการ “นั่งสมาธิ” บำเพ็ญเพียร “ภาวนา”

เมื่อมีโอกาสในการนั่งสมาธิมาก เดินจงกรมมาก ก็มีเวลาคิดใคร่ครวญมาก
การคิดแล้ว คิดอีก ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก วาดแผน วางผังต่าง ๆ ในหัวสมอง ณ ขณะจิตที่มีศีลเป็นพื้นฐานนั้น จึงเป็นนิยามที่ข้าพเจ้าเข้าใจในเบื้องต้นว่า สิ่งนี้คือ “โยนิโสมนสิการ”

การทำงานของข้าพเจ้าในแต่ละที่ แต่ละงาน เบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย จักต้องคิดแล้ว คิดอีก คิดวนไป เวียนมา

อาทิเช่นก่อนที่จะเดินทางมาประเทศลาวนี้ กลางคืนข้าพเจ้านอนไม่หลับ แม้เวลาจะผ่านไปห้าทุ่ม เที่ยงคืน ตีหนึ่ง ตีสอง นอนพลิกไป พลิกมา สามสี่ชั่วโมง หัวสมองก็ยังหมุนติ้วอยู่กับงาน
แต่ไม่ได้หมุนเพราะความเครียด เป็นความคิดที่ไร้ความกังวล แต่เป็นการหมุนวนความคิดในลักษณะที่เรียกว่า “จิตตื่น”
คิดสิ่งต่อไปต่อสิ่งนั้น เมื่อได้สิ่งนั้นก็เริ่มบรรจบกับงานต่อไป ยกเข้า ถอดออก คำนวณนั่น วาดผังนี่ ทำไปเรื่อยในขณะที่หัวอยู่บนหมอน ในขณะเวลาที่ควรจะหลับนอน จิตขณะนั้นมิได้หวังความสุขจากการพักผ่อน แต่เกิดความปิติใจจากกระบวนการคิดที่กำลังหมุนวนไป

สิ่งที่เกิดกับข้าพเจ้านั้น ถึงแม้จะยังไม่เฉียดเข้าใกล้กับธรรมะอันลึกซึ้งที่ชื่อว่า “โยนิโสมนสิการ” ของพระพุทธองค์ ข้าพเจ้าก็พอใจที่จะคิดหมุนวนเพื่อให้ประโยชน์กับ “ส่วนรวม”

หากการพิจารณาสิ่งใดโดยแยบคายนั้นเรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” สิ่งที่คนทำงานพิจารณางานของตัวเองอย่างถี่ถ้วน รอบคอบ คิดซ้ำแล้ว ซ้ำอีก คิดหมุนไป เวียนมา มีจิตใจที่ตั้งมั่นในการพิจารณางานของตนเอง สิ่งนี้คือ R2R (Research to Routine) นั่นเอง

แต่ R2R จะแตกต่างกับ “โยนิโสมนสิการ” ในส่วนพื้นฐานก็คือ “ศีล”

ศีล เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่มนุษย์ไม่คิดจะเบียดเบียนใคร คิดเพื่อให้ มิได้คิดเพื่อเอา
แต่การพิจารณาโดยแยบคายของ “คนหน้างาน” ที่ข้าพเจ้าเคยพบ (ซึ่งอาจจะผิด) เวลาเขาคิด มักจะมีส่วนประกอบของรายได้ ครอบครัว ลูก เมีย คนงาน กำไร ขาดทุน ทำไปแล้วคุ้มหรือ “ไม่คุ้ม”

โยนิโสมนสิการจึงเป็นการพิจารณาที่สะอาด คิดเพื่อวางแผนโดยปราศจากคำว่า “ผลประโยชน์ส่วนตัว”

ดังนั้นการทำงานของข้าพเจ้าเมื่อเกิดปัญหาใด ๆ ขึ้นมาจึงมัก “ยุติที่ธรรม”

บางครั้งการทำงานกับคนหลายคน มากคน มากความคิด คนโน้นก็เคยทำอย่างนั้น คนนั้นก็เคยทำอย่างนี้ คุยกันไป เถียงกันมา ไม่รู้จะฟังใครดี สุดท้ายแล้วก็ต้องจบลงที่ “ใครมีศีลมากกว่ากัน”

ข้าพเจ้าเชื่อมั่นในการพิจารณาแยบคายของคนมีศีล บุคคลที่ “ทุศีล” การพิจารณาที่แยบคายนั้นหาได้มีชื่อว่า “ปัญญา” ไม่

ปัญญาคือความรู้ที่สะอาด สะอาดเพราะปราศจาก “ความเห็นแก่ตัว”

ความเห็นแก่ตัวนี้เองเป็นอุปสรรคของ R2R ซึ่งยังไม่ต้องมองสูงไปถึงคำว่า “โยนิโสมนสิการ”

เพราะคนที่จะคิดทำอะไรให้งานตัวเองสักอย่าง หลายครั้งก็มักคิดว่า “ไม่คุ้มที่จะคิด”

คนหน้างาน ถ้าหากหมดเวลางาน แล้วจิตใจยังจดจ่อ วนเวียนอยู่กับงาน คน ๆ นั้นมีแววในการทำ R2R
และถ้าหากคนหน้างานผู้นั้นมีศีล มีธรรม รักษาศีลห้าอย่างบริสุทธิ์แล้ว ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เขาคิดออกว่านั้นเรียกว่า “ปัญญา”

การเก็บกวาดความเห็นแก่ตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลาภ ยศ สุข ทุกข์ สรรเสริญ หรือแม้กระทั่งนินทาออกไปได้ จิตใจเช่นนี้เองเป็นจิตใจที่พร้อมสำหรับคำว่า “โยนิโสมนสิการ”


 

คำสำคัญ (Tags): #r2r#โยนิโสมนสิการ
หมายเลขบันทึก: 436116เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2011 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท