การบูรณาการการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน


ครู งานวิจัย ชุธาตุ ชุมชน พระพุทธศาสนา พระมหาเทวีจิรประภา พัฒนา สตรี สิ่งแวดล้อม

การบูรณาการการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

 

ผู้วิจัย                       นางรุ่งทิพย์      กล้าหาญ

ปีที่ทำวิจัยเสร็จ                  พ.ศ.  2551

ประเด็นการวิจัย                 รูปแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับปัญหาวิกฤตสังคมไทย

ลักษณะงานวิจัย                  งานวิจัยหน่วยงาน

ประเภทการวิจัย                  การวิจัยในชั้นเรียน

ความเป็นมาของการทำวิจัย

ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ส่งผลกระทบต่อสภาพชีวิตและสังคมของคนไทย  ดังปรากฏการณ์โลกร้อน  การเสื่อมโทรมสูญหายของทรัพยากรธรรมชาติ  จนนำสู่ประเด็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมหรือการขัดแย้งทางสังคม   ซึ่งได้มีความพยายามแก้ไขในหลายลักษณะ  ที่สำคัญคือ การใช้กลไกทางการศึกษาเพื่อสร้างความตระหนักและจิตสำนึกต่อการป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มประชาชนทั่วไป และสร้างการเรียนรู้เพื่อนำสู่พฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเยาวชนในสถานศึกษา  หากแต่สภาพปัจจุบันการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมยังคงมีข้อจำกัด  ด้วยเน้นสาระทางวิชาการ   มีลักษณะแยกส่วน  ขาดการเชื่อมโยงบูรณาการ ไม่ตอบสนองความจริงทางสังคมวัฒนธรรมที่เกี่ยวพันต่อสิ่งแวดล้อม  จึงไม่สามารถสร้างพฤติกรรม  จิตสำนึกและลักษณะนิสัยการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง     

อนึ่ง พันธกิจของมหาวิทยาลัยนอกจากการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตบัณฑิต งานบริการวิชาการแก่ชุมชนถือเป็นพันธะสำคัญเช่นเดียวกัน  ดังนั้นเมื่อชุมชนกำลังประสบปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยจึงต้องช่วยชาติโดยการบูรณาการการเรียนรู้สู่ชุมชน  พร้อมกับมีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน

โดยนัยนี้ จึงก่อเกิดแนวคิดการบูรณาการการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อมุ่งหวังสร้างประสบการณ์การเรียนรู้และการปฏิบัติที่ต่อเนื่องในสถานการณ์จริง มีการเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจและตระหนักต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมชุมชน    เกิดความรู้สึกว่าต้องการเรียนรู้ เพื่อนำไปบูรณาการใช้ในการดำเนินชีวิต ด้วยการฝึกฝนเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้กับสภาพความเป็นจริง  ก่อเกิดมโนทัศน์และนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในสถานการณ์จริง อันเป็นการสร้างจิตสำนึกสาธารณะเพื่อชุมชน    

 

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษาวิธีการบูรณาการการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
  2. เพื่อศึกษาผลการบูรณาการการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

 

แนวคิดที่เกี่ยวข้อง

1.แนวคิดการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ

2.แนวคิดการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน(Community-based learning)

3.แนวคิดการเรียนการสอนตามสภาพจริง (Acthentic learning)

3.1.การเรียนรู้เชิงประสบการณ์

3.2. การเรียนรู้เชิงสถานการณ์

3.3. การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมแบบค้นหา

3.4. การเรียนรู้แบบโครงงาน

4.  งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

 

กรอบคิดในการวิจัย

                การเรียนการสอนแบบบูรณาการเป็นการนำความรู้จากเนื้อหาวิชามาผสมผสานเป็นเรื่องเดียวกัน  เพื่อให้เกิดการเรียนรู้แบบองค์รวม และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งเมื่อนำมาเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน  จึงเสมือนผสานพลังการเรียนรู้ ที่ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในชุมชน ทั้งการเรียนรู้จากชุมชนและสร้างให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ จัดเป็นการเรียนรู้ตามสภาพจริง  เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  สร้างการมีส่วนร่วมในการวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ตรงกับความสนใจของผู้เรียน   โดยผู้สอนมีบทบาทเป็นนักจัดการผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้  ผ่านเทคนิควิธีการสอนที่หลากหลายเช่น  การศึกษาด้วยตนเอง  การเรียนรู้เชิงประสบการณ์   การเรียนรู้เชิงสถานการณ์   การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมแบบค้นหา  การเรียนรู้แบบโครงงาน  และการเรียนรู้แบบกรณีศึกษา  โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง  ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้  ก่อเกิดการพัฒนาในหลายมิติทั้งความจำ เหตุผล  ความซาบซึ้งสุนทรียภาพ  การติดต่อสื่อสาร  การปรับตัวและจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม  ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน

  

ระเบียบวิธีวิจัย      ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ  โดยมีวิธีการดังนี้

                ก. การกำหนดขอบเขตการวิจัย

                ด้านประชากร  ได้แก่ นิสิตชั้นปีที่  3   จำนวน   17  รูป   สาขาวิชาเอกสังคมศึกษา  คณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตเชียงใหม่   ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาวิทยาการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชน   ภาคเรียนที่  2  ปีการศึกษา  2551

                ด้านเนื้อหา  ได้แก่  วิชาวิทยาการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชน   จำนวน  3 หน่วยกิต

               

ข. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่

1. แผนการเรียนรู้วิชาวิทยาการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชน  ซึ่งประกอบด้วยแผนย่อยจำนวน 11 แผน  สำหรับการเรียนรู้จำนวน   48  คาบ  ดังนี้

1) แผนการเรียนรู้ที่  1 สิ่งแวดล้อมชุมชน  จำนวน   6  คาบ

2) แผนการเรียนรู้ที่  2 เทคนิคการศึกษาชุมชน   จำนวน  3  คาบ

3) แผนการเรียนรู้ที่  3  การฝึกปฏิบัติงานศึกษาชุมชน  จำนวน   6 คาบ

4) แผนการเรียนรู้ที่  4  เทคนิคการเขียนโครงการพัฒนาชุมชน จำนวน  3 คาบ

5) แผนการเรียนรู้ที่  5  เรื่องเล่าจากชุมชน  จำนวน  3  คาบ

6) แผนการเรียนรู้ที่ 6  ข้อเสนอโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน  จำนวน  3  คาบ

7) แผนการเรียนรู้ที่  7  เทคนิคการวิเคราะห์และประเมินโครงการ  จำนวน  3  คาบ

8) แผนการเรียนรู้ที่ 8  การวิเคราะห์และพัฒนาข้อเสนอโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน  จำนวน  3  คาบ

9) แผนการเรียนรู้ที่  9 การปฏิบัติโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน  จำนวน  9 คาบ

10) แผนการเรียนรู้ที่  10  การรายงานโครงการ  จำนวน   3  คาบ

11) แผนการเรียนรู้ที่  11  การเติมเต็มและศึกษาดูงานกรณีศึกษา  จำนวน  3  คาบ

11) แผนการเรียนรู้ที่  11 การสรุปบทเรียน   จำนวน   3  คาบ

2. เอกสารคู่มือการปฏิบัติงานชุมชน

2.1.เทคนิคการปฏิบัติเพื่อการทำงานร่วมกับชุมชน

2.2. เทคนิคการศึกษาสิ่งแวดล้อมชุมชน

2.3. เทคนิคการเขียนโครงการ

2.4. แบบวิเคราะห์ข้อเสนอโครงการ

2.5. เทคนิคการเขียนรายงานโครงการ

3. เอกสารแบบบันทึกการเรียนรู้ภาคสนาม

4. แบบทดสอบวัดสัมฤทธิ์ผลการเรียนรายวิชาวิทยาการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชน

5. แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้

 

ค. ขั้นตอนการวิจัย

1.ขั้นตอนที่  1  วาดฝันเส้นทางการเรียนรู้   โดยผู้สอนออกแบบแผนการเรียนรู้จำนวน 11 แผน พร้อมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจลักษณะกระบวนการเรียนรู้ในรายวิชาแก่นิสิต  วิธีการวัดประเมินผล  มอบหมายงาน และเอกสารคู่มือการปฏิบัติงานชุมชน

 2.ขั้นตอนที่ 2  ปลูกปัญญาวิชาการ  โดยผู้สอนดำเนินการสอนเนื้อหาสถานการณ์สิ่งแวดล้อมชุมชน และแนวทางแก้ไข   รวมทั้งนำเสนอกรณีตัวอย่างชุมชนที่มีผลงานดีเด่นด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน  ตลอดจนการนำพาศึกษากรณีชุมชนตัวอย่าง  ขั้นตอนนี้ใช้เวลา  9 คาบ   

3.ขั้นตอนที่  3  แนะกลวิธีศึกษาชุมชนและการจัดทำโครงการ   โดยผู้สอนดำเนินการสอนเทคนิควิธีการศึกษาและวิเคราะห์ชุมชน  วิธีการเขียนข้อเสนอโครงการ  การวิเคราะห์โครงการ  การประเมินโครงการและการเขียนรายงานโครงการ 

4.ขั้นตอนที่ 4  ฝึกปฏิบัติศึกษาสิ่งแวดล้อมชุมชน  เป็นการมอบหมายให้ผู้เรียนศึกษาชุมชนเป็นระยะเวลา  6 คาบ  2 สัปดาห์และกำหนดให้นำเสนอผลการศึกษาชุมชนทุกสัปดาห์  

5.ขั้นตอนที่ 5  ยกร่างและพัฒนาโครงการ   เป็นการมอบหมายให้ผู้เรียนจัดทำข้อเสนอโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน  และวิเคราะห์โครงการเพื่อการพัฒนาร่วมกัน  จนนำสู่โครงการที่มีความเหมาะสมสามารถนำสู่การปฏิบัติจริง

6.ขั้นตอนที่  6  การขับเคลื่อนโครงการสู่ชุมชน  เป็นการมอบหมายให้ผู้เรียน จัดทำโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน เป็นระยะเวลา  9 คาบ 3  สัปดาห์   ทั้งนี้โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน

7.ขั้นตอนที่ 7 สรุปผลแบบมีส่วนร่วมและนำเสนอรายงานผลโครงการ   เป็นการมอบหมายให้ผู้เรียนสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ ต่อชุมชน และจัดทำเอกสารรายงานเพื่อนำเสนอต่อรายวิชา 

8.ขั้นตอนที่ 8  การสรุปบทเรียนและการทดสอบ  เป็นการสรุปผลการเรียนรู้ของผู้เรียนอันเกิดจากการกิจกรรมที่ปฏิบัติจริงในชุมชน รวมทั้งการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

 

ง. การเก็บรวบรวมข้อมูล 

  ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลหลายด้านได้แก่ การสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียน   เอกสารบันทึกการเรียนรู้ภาคสนาม การจัดเวทีการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน การนำเสนอรายงานการศึกษาสิ่งแวดล้อมชุมชน    การจัดทำข้อเสนอโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน   ผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน   การสรุปบทเรียน   และการทดสอบสัมฤทธิ์ผลทางการเรียน    จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ตามจุดประสงค์   สรุปข้อค้นพบรูปแบบ  วิธีการและผลการบูรณาการการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน  และนำเสนอแบบพรรณา

 

ผลการวิจัย

                ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  โดยดำเนินการวัดประเมินผลตามสภาพจริงที่มีการเก็บคะแนนระหว่างเรียน  70 คะแนนและปลายภาค  30 คะแนน   ประกอบด้วยคะแนนจากการศึกษาชุมชน  15 คะแนน  การจัดทำและพัฒนาข้อเสนอโครงการ  10  คะแนน   การปฏิบัติตามโครงการและสรุปรายงานผลโครงการ   25  คะแนน  เอกสารบันทึกการเรียนรู้ภาคสนาม  10 คะแนน    พฤติกรรมการเรียนรู้  5 คะแนน   การสรุปบทเรียนและนำเสนอรายงานผลโครงการ  5  คะแนน  การทดสอบภาคปลาย  30  คะแนน  พบว่า มีนิสิตมีระดับผลการเรียนในระดับที่ดีถึงดีมาก คือ   มีผลการเรียนระดับ  A  จำนวน  8  รูป   ระดับ  B + จำนวน  5  รูป และระดับ  B จำนวน  4 รูป    โดยทั้งหมดมีความรู้ ความเข้าใจสถานการณ์สิ่งแวดล้อมชุมชน และสามารถดำเนินกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน  ทั้งยังสามารถการมีส่วนร่วมจากชุมชนรวมทั้งภาคีภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  และเมื่อทำการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยข้อสอบแบบอัตนัยพบว่า  นิสิตทั้งหมดสามารถเขียนตอบได้อย่างดี  มีการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้ภาคสนามสู่ภาคทฤษฎี และสะท้อนเจตคติหวงใยต่อสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อม   

                ผลการบูรณาการการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน  ทำให้นิสิตเกิดความตื่นตัว  ตื่นรู้  ตระหนักและเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง   เนื่องจากการสะท้อนจนเกิดความเข้าใจชุมชนและปัญหาที่แท้จริง   มีทักษะการคิดและการสะท้อนคิดที่เป็นระบบ จนสามารถตั้งคำถามที่นำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้   การวางแผนโครงการ   การปฏิบัติโครงการ  การสรุปรายงานผล แก้ปัญหาที่เผชิญได้จริง   ทั้งยังเกิดการทำงานเป็นทีม   มีการสื่อสารที่ดีต่อกัน  และมีการปรับตัวที่เหมาะสม

ผลเชิงประจักษ์ของการบูรณาการการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน  ได้ก่อเกิดโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน  จำนวน  4  โครงการ ประกอบด้วย  โครงการขยะเงินผูกร้อยชุมชน   โครงการพัฒนากองทุนที่อยู่อาศัย   โครงการลดโลกร้อนด้วยพืชสมุนไพร  และโครงการสานสายใยพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน   ซึ่งแต่ละโครงการมีลักษณะและทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน  เป็นไปตามบริบทของชุมชนที่ศึกษา  และตอบสนองความต้องการของชุมชน  จึงทำให้ โครงการทั้งหมดได้รับการยอมรับจากชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง  ดังปรากฏจากจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ    การมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการดำเนินงาน   และการขยายผลโครงการ เช่น  การถูกนำบรรจุในแผนพัฒนาขององค์การบริหารส่วนตำบล  หรือ  พัฒนาเป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อนำเสนอต่อแหล่งทุนให้ชุมชนได้มีการสืบสานพัฒนาโครงการต่อไป

                การบูรณาการการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมโดยใช้ชุมชนเป็นฐานครั้งนี้  เป็นการบูรณาการในส่วนเนื้อหาและกิจกรรม   ซึ่งมี  4  ลักษณะคือ  ระหว่างความรู้และกระบวนการเรียนเรียนรู้    ระหว่างพัฒนาทางด้านความรู้และทางด้านจิตใจ    ระหว่างความรู้และการปฏิบัติ  และระหว่างสิ่งที่มีในห้องเรียนกับสิ่งที่เป็นอยู่ในชีวิตจริง

ขั้นตอนการบูรณาการการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ประกอบด้วย

ขั้นตอนที่  1   วาดฝันเส้นทางการเรียนรู้   ขั้นตอนที่ 2  ปลูกปัญญา  ขั้นตอนที่  3  แนะกลวิธีศึกษาชุมชนและการจัดทำโครงการ   ขั้นตอนที่ 4  ฝึกปฏิบัติศึกษาสิ่งแวดล้อมชุมชน   ขั้นตอนที่ 5  ยกร่างและพัฒนาโครงการ    ขั้นตอนที่  6  การขับเคลื่อนโครงการสู่ชุมชน   ขั้นตอนที่ 7 สรุปผลแบบมีส่วนร่วมและนำเสนอรายงานผลโครงการ ขั้นตอนที่ 8  การสรุปบทเรียนและทดสอบ 

วิธีการเรียนรู้  ประกอบด้วยภาควิชาการที่มีการเรียนรู้ศาสตร์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เทคนิคการศึกษาและทำงานร่วมกับชุมชน   การจัดทำโครงการและการประเมินสรุปรายงานผล  การศึกษาดูงานกรณีศึกษาชุมชนที่มีผลงานดีเด่นด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน  และการฝึกประสบการณ์ผ่านการปฏิบัติจริง   โดยแบ่งผู้เรียนให้ทำงานเป็นกลุ่ม   ฝึกปฏิบัติในการศึกษาชุมชน ด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ  การสัมภาษณ์  การสังเกต  การศึกษาเอกสารและการจัดทำเวทีเรียนรู้ร่วมกับชุมชน  .มีการจัดเวทีเรียนรู้ร่วมกันในชั้นเรียนเพื่อนำเสนอผลการศึกษาชุมชนเป็นระยะ  เพื่ออภิปรายร่วมกันจนกระทั่งเข้าใจภาพรวมของชุมชนได้ชัดเจน  จากนั้นจึงจัดทำและพัฒนาข้อเสนอโครงการที่สอดคล้องกับสภาพจริง    มีการนำโครงการสู่การปฏิบัติจริง  มีการติดตามประเมินผลและสรุปรายงานอย่างเป็นระบบ       

               

การอภิปรายผล

                ผลสมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตโดยการเรียนการสอนแบบบูรณาการที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน  สะท้อนถึงประสิทธิผลการเรียนการสอนตามสภาพจริง เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการวางแผนการจัดกิจกรรม เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีความหมายและตรงกับความสนใจของผู้เรียน    โดยผู้สอนมีบทบาทเป็นนักจัดการผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้  รับผิดชอบและวิเคราะห์วิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน  โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้  เกิดการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนในหลายมิติ ได้แก่  ความจำ  การใช้เหตุผล  ความซาบซึ้งในสุนทรียภาพ ทักษะการติดต่อสื่อสาร  การสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น  ความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม  การปรับบุคลิกภาพ  และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสังคมสิ่งแวดล้อม    

                ลักษณะการบูรณาการการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน  เป็นความพยายามบูรณาการในสาระวิชา  โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่หลายหลากได้แก่  

1.การเรียนรู้เชิงสถานการณ์ ที่เน้นให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์และลงมือปฏิบัติภายใต้วัฒนธรรมและบริบทที่เป็นจริงของสังคม  ที่ต้องอาศัยการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคล  และสภาพแวดล้อมในการสร้างความรู้ให้แก่ตนเอง

2.การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ ที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของชีวิต  ประสบการณ์การทำงานและประสบการณ์อื่น ๆ ที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งเมื่อผู้เรียนได้สะท้อนความคิดเกี่ยวกับประสบการณ์นั้น  จะทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ได้

3. การเรียนการสอนแบบโครงงาน  ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีประสบการณ์จริงในการปฏิบัติงานและแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ได้พิสูจน์สิ่งที่อยากรู้ด้วยตนเอง  เกิดทักษะการวางแผนการทำงาน  การวิเคราะห์และประเมินผลงานด้วยตนเอง

4. การเรียนการสอนโดยใช้กรณีศึกษา ที่เน้นให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าในสิ่งที่ตนเองสนใจจากสภาพที่เป็นจริง  ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาในชีวิตจริง  แล้วนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน  สามารถทำให้สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการเรียนของผู้เรียน  โดยผู้สอนตั้งคำถามหรือกระตุ้นให้ผู้เรียนร่วมคิดแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน

วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการสิ่งแวดล้อมโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน  มีลักษณะการเชื่อมโยงแบบเป็นองค์รวม   ไม่คิดแยกส่วน แบ่งก่อนทอนหลัง  แต่มุ่งให้เกิดการเรียนรู้ที่สมดุลและมีความสุข  ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองและทำงานเป็นทีม   โดยผู้สอนจัดกิจกรรมกระตุ้นการเรียนรู้ที่หลากหลาย  ผ่านการกำหนดเรื่องราวและสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงความสัมพันธ์และหลอมรวมจุดประสงค์ให้เป็นเรื่องราวที่สมบูรณ์  มีการจัดบรรยากาศในชั้นเรียนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนกล้าคิดกล้าทำ  เสริมสร้างมั่นใจ โดยส่งเสริมโอกาสแสดงออกทางความคิดและการกระทำต่อเพื่อนในชั้นเรียนและสาธารณชน

กลวิธีทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยการบูรณาการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมโดยใช้ชุมชนเป็นฐานคือ  การสร้างให้ผู้เรียนต้องเกิด  “ความรู้สึก” ว่าต้องการที่จะเรียนรู้ จากนั้นจึงปรับพฤติกรรมผ่านการดู   การใช้ความคิด และการกระทำ    ลักษณะเช่นนี้จัดเป็นกระบวนการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้  ด้วยกระบวนการทางปัญญาที่มีผู้สอนเป็นกัลยาณมิตร  โดยการจัดการเรียนรู้ให้ฝึกการสังเกต  การฟัง   การตั้งคำถาม  การบันทึก   การตั้งสมมติฐาน   การค้นหาคำตอบ   การนำเสนอต่อที่ประชุมกลุ่ม  การใช้กลไกการวิจัยเพื่อการเรียนรู้  การฝึกเขียนเรียบเรียงทางวิชาการ  และการนำเสนอต่อที่ประชุมกลุ่ม  ที่สำคัญยิ่งคือ การฝึกความสามารถในการเชื่อมโยงบูรณาการให้เห็นความเป็นทั้งหมดของสิ่งแวดล้อม  ความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งในสังคม   ซึ่งการเชื่อมโยงนี้ทำให้เกิดการตระหนักรู้ถึงบทบาทของตน  ซึ่งเป็นมิติทางจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม  

                  การนำเทคนิคการบูรณาการการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน  มาปรับใช้ในการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อม  มีความเหมาะสมกับธรรมชาติของวิชาที่เน้นบทปฏิบัติการภาคสนามต่อสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน  จึงมีข้อดีหลายประการ  เช่น    การถ่ายโยงการเรียนรู้  ทำให้ผู้เรียนมองภาพสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม  สามารถนำความรู้มาผสมผสานเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย    สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้  สามารถเผชิญสถานการณ์ใหม่ ๆ และแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ปลูกฝังจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม   และส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย      

                ข้อควรคำนึงการบูรณาการการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานคือ  การเข้าถึง  และการยอมรับจากชุมชน  ดังนั้นจึงต้องสร้างให้นักศึกษาเข้าใจบทบาทของตน  โลกทัศน์การมองชุมชนและเทคนิคการทำงานร่วมกับชุมชน  ซึ่งผู้สอนต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงติดตามความก้าวหน้าการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนอย่างสม่ำเสมอ   โดยการสรุปทบทวนร่วมกับนักศึกษาถึงสิ่งที่นักศึกษาได้เรียนรู้จากชุมชนและสิ่งที่ชุมชนได้เรียนรู้จากนักศึกษา ตลอดจนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น  ซึ่งวิธีการเช่นนี้จะทำให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และกระบวนการกลุ่ม   เช่นเดียวกับเครื่องมือและวิธีการวัดประเมินผล  ซึ่งควรมีลักษณะที่หลากหลาย  เพื่อสอดคล้องกับสภาพจริงและครอบคุลมจุประสงค์การเรียนรู้

               

ข้อเสนอแนะจากการวิจัย

  1. เนื่องจากการบูรณาการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน  เป็นวิธีการสร้างการเรียนรู้กันระหว่างนิสิตกับชุมชน ในการวิเคราะห์สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของชุมชน สร้างความตระหนักร่วมและดำเนินงานพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชนร่วมกัน ในสภาพเช่นนี้การเข้าถึงชุมชน ด้วยการสร้างความไว้ใจ และคำนึงถึงความคาดหวังของชุมชน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  ดังนั้นในสถานภาพที่ผู้เรียนเป็นพระภิกษุสงฆ์  และมีความคุ้นเคยกับชุมชน  อาจเป็นข้อได้เปรียบในการยอมรับและสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชนได้ง่าย ซึ่งอาจแตกต่างจากผู้เรียนทั่วไป  ดังนั้นในกรณีผู้เรียนทั่วไป ผู้สอนอาจต้องทำหน้าที่ประสานความเข้าใจกับชุมชนก่อนมอบหมายนักศึกษาทำกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชน

                2. หลักสำคัญของการบูรณาการการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานคือ  การให้ผู้เรียนได้สัมผัสสภาพจริงของชุมชน  การเชื่อมทฤษฎีกับปฏิบัติ   การเรียนรู้และการปฏิบัติที่ต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และเกิดจิตสาธารณะ  ในลักษณะเช่นนี้ผู้สอนต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการจัดการเรียนการสอน   พยายามเชื่อมโยงระหว่างวัตถุประสงค์การเรียนรู้   กิจกรรมการสอนและวิธีการวัดผลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 3.ข้อควรคำนึงในการนำเทคนิคการบูรณาการการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานมาปรับใช้ในการเรียนการสอน คือ   ลักษณะเฉพาะของธรรมชาติแต่ละวิชาซึ่งอาจจะไม่สามารถใช้ได้ทุกกรณี   หากไม่สอดคล้องกลมกลืนและขาดความเป็นเอกภาพของจุดประสงค์การเรียนรู้  อาจทำให้การจัดการเรียนการสอนสับสนและหลงทางได้ หรืออาจทำให้ผู้เรียนขาดความแม่นยำในเนื้อหาและหลักการ   ดังนั้นก่อนการบูรณาการควรตอบคำถามว่า  ทำไมต้องบูรณาการและแน่ใจเพียงใดว่า บูรณาการแล้วจะได้ผลดี

4. การจัดการเรียนการสอนในลักษณะเช่นนี้  อาจมีข้อจำกัดในการเชื่อมโยงทฤษฎีสู่การปฏิบัติบ้าง  แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้เรียนได้รับคือ  การคิดวิเคราะห์และการทำงานเป็นทีม  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชน   อาจจะทำเป็นโครงการต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาขยายผลไปเรื่อย ๆ  และควรจะมีการบูรณาการแบบสหวิทยาการ

 

เอกสารอ้างอิง / บรรณานุกรม

  1. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  . 2551 . การเสวนาวิชาการเรื่อง Community  basedLearning .  กรุงเทพ.

2.    มนัส   บุญประกอบ. 2541. การเรียนรู้เชิงประสบการณ์. สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

3. สุวิทย์   มูลคำและอรทัย   มูลคำ. 2543. การเรียนรู้แบบบูรณาการ .กรุงเทพ ฯ สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

4. สุมน    อมรวิวัฒน์ (ไพทูรย์   สินลารัตน์  บรรณาธิการ) . 2544 . ความรู้คู่คุณธรรม : รวมบทความเกี่ยวกับคุณธรรม  จริยธรรม  และการศึกษา . กรุงเทพฯ , สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

5. ทิศนา   แขมณี .2545. ศาสตร์การสอน: องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ . กรุงเทพ สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.         

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 435753เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2011 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท