วิจัยชั้นเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อม บทที่ 5


ทรัพยากร ,นิสิต ,วิจัย ,สิ่งแวดล้อม ,เรียนรู้

 

 

บทที่  5

 

สรุปผล  อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ

 

                การศึกษาวิจัยเรื่อง   การพัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม  สำหรับนิสิตชั้นปีที่  3 คณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย    วิทยาเขตเชียงใหม่   เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Research) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในพัฒนาพฤติกรรมจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม

          สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ  แนวทางการสอนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมจำนวน  4  แผน    แบบสังเกตพฤติกรรม    แบบบันทึกบทวิเคราะห์การเรียนรู้  และแบบวัดผลสัมฤทธิ์ก่อนและหลังเรียนใน  3  ด้านได้แก่  ความตระหนักต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อม       ระดับจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม    รวมทั้งพฤติกรรมการใช้และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม   

            กลุ่มประชากรในการศึกษาเป็นนิสิตสาขาวิชาเอกการสอนสังคมศึกษา  คณะครุศาสตร์ชั้นปีที่  3  ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาการศึกษากับสิ่งแวดล้อม  ในภาคเรียนที่  1  ปีการศึกษา  2547 จำนวน  16  รูป   ซึ่งผู้วิจัยเป็นผู้สอนประจำรายวิชาดังกล่าว  สำหรับระยะเวลาในการดำเนินการทดลองและเก็บรวบรวมข้อมูลใช้เวลา  18  คาบ  ประกอบด้วยการทดสอบก่อนและหลังเรียน  1 คาบ  การทดลองสอน  1 7 คาบ  ในส่วนของขั้นตอนการดำเนิน  เริ่มจากการเก็บรวบรวมข้อมูลขั้นแรกโดยการทดสอบก่อนเรียน ด้วยแบบทดสอบที่สร้างขึ้น  และทำการสอนตามแนวทางการสอนที่เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่สร้างขึ้น  ใช้เวลาในการสอน  17 คาบ คาบละ 50 นาที  ในระหว่างการเรียนการสอนผู้วิจัยได้สังเกตพฤติกรรมผู้เรียนและบันทึกแบบสังเกตพฤติกรรม   ภายหลังจากการสอนครบ   17 คาบ   ได้ดำเนินเก็บรวบรวมข้อมูลครั้งสุดท้ายด้วยการทดสอบหลังเรียน  เพื่อนำผลการทดสอบมาวิเคราะห์ข้อมูล

            ในการวิเคราะห์ข้อมูล  ผู้วิจัยได้นำคะแนนทดสอบก่อนและหลังเรียนของนิสิต มาวิเคราะห์ผลด้วยใช้สถิติพื้นฐานได้แก่  ค่าร้อยละ  ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน   จากนั้นจึงนำมาเปรียบเทียบผลการเรียนรู้  โดยใช้ค่า  T – test

 

 

สรุปผล

 

          ผลการศึกษาพบว่า  นิสิตมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  0.05  โดยมีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนทั้ง  3  ด้านคือ  

ด้านความตระหนักต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งพบว่า ภายหลังการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมนิสิตมีความตระหนักต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในระดับมากที่สุด โดยมีคะแนนเฉลี่ยที่ 4.93ซึ่งเป็นคะแนนเฉลี่ยที่สูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรม  อย่างมีระดับนัยสำคัญที่ระดับ  0.05

ด้านจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบว่า  ภายหลังการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมนิสิตมีการพัฒนาระดับขั้นของจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีระดับนัยสำคัญที่ระดับ  0.05 ทั้งนี้ นิสิตได้มีการพัฒนาระดับขั้นของจิตสำนึกสูงขึ้น  จากเดิมนิสิตส่วนใหญ่มีระดับขั้นจิตสำนักในระดับตอบสนอง   ต่อมาภายหลังการเรียนได้พัฒนาเป็นระดับขั้นการจัดระบบคุณค่าและการจัดระบบ 

ด้านพฤติกรรมการปฏิบัติ  ซึ่งพบว่า  ภายหลังการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมนิสิตมีลักษณะพฤติกรรมการใช้และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับมากที่สุด  โดยมีคะแนนเฉลี่ยที่  4.73  ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรม  อย่างมีระดับนัยสำคัญที่ระดับ  0.05

ผลการวิจัยดังกล่าวได้แสดงถึง  การพัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อมของนิสิต  กล่าวคือ  นิสิตมีการพัฒนาความตระหนัก  ระดับจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาพฤติกรรมการปฏิบัติต่อการใช้และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม   ซึ่งสามารถวัดประเมินได้จากแบบทดสอบที่สร้างขึ้น       

โดยนัยนี้จึงอาจสรุปได้ว่า  นิสิตได้เกิดการพัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม  หลังจากการเรียนรู้ด้วยแนวทางการสอนแบบมีส่วนร่วม  ซึ่งผลการวิจัยนี้เป็นไปตามสมมติฐานของการวิจัยที่ได้ตั้งไว้

นอกจากนี้  นิสิตยังมีความพึงใจต่อกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ในระดับมากที่สุด  โดยมีค่าเฉลี่ยที่  4.57

 

อภิปรายผล

 

                จากผลการวิจัยพบว่า       นิสิตมีคะนนค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ก่อนและหลังเรียน รวมทั้ง  3 ด้านคือ  คะแนนความตระหนักต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อม  คะแนนเฉลี่ยจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม  และ คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการปฏิบัติในการใช้และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 โดยมีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน    และนิสิตยังมีความรู้สึกพึงพอใจต่อกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในระดับที่มากที่สุด   ซึ่งผลการวิจัยดังกล่าว  เป็นไปตามสมมติฐานของการวิจัย  ดังนั้นจึงแสดงว่า    นิสิตที่ได้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมสามารถพัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม  โดยนัยนี้สามารถอาจกล่าวได้ว่า ผลจากการที่นิสิตได้ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะที่สอดคล้องกับความต้องการ  ใกล้เคียงกับความเป็นจริงในวิถีปฏิบัติ และสภาพการณ์ทางสังคม  ได้มีโอกาสสัมพันธ์  สัมผัสและฝึกปฏิบัติ  ทำให้เกิดการเรียนรู้    ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของสิ่งแวดล้อม  และสามารถปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม    ซึ่งข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ ที่ สุรางค์  โคว้ตระกูล (2541 . หน้า 185) ได้กล่าวว่า  การเรียนรู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านความรู้  ความเข้าใจ และความคิด  ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์  ความรู้สึก ทัศนคติและค่านิยม รวมทั้งทักษะความชำนาญ   ซึ่งการเรียนรู้ที่ดีควรเป็นการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของผู้เรียน  คำนึงถึงความพร้อมของผู้เรียน  และอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้  รวมทั้งการคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้เรียนเป็นสำคัญ  และผลการวิจัยนี้ยังสอดคล้องกับข้อเสนอเกี่ยวกับองค์ประกอบในการสร้างคุณธรรมจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อมในระบบการศึกษา ซึ่งวราพร  ศรีสุพรรณ (2536 .หน้า 74)ได้กล่าวว่าการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อมต้องพิจารณาองค์ประกอบใน  4  ด้านหลักคือ  1.เป้าหมายของการเรียนรู้  ซึ่งต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกอย่างเต็มเปี่ยมที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม   2 . การกำหนดเนื้อหาสาระในการเรียนรู้  ซึ่งต้องขยายความรู้ทางสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความเข้าใจธรรมชาติและขีดจำกัดของธรรมชาติ  ด้วยการขยายฐานประสบการณ์ทางสังคมเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน  3. กระบวนการเรียนรู้ต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเกิดการคิด เพื่อแสวงหาคุณค่าของชีวิต  ส่งเสริมวุฒิภาวะของตนเอง  เข้าใจสังคมและเพื่อนมนุษย์ และพัฒนาระบบคิดที่มีคุณธรรมในตนเอง  4. ผลที่เกิดขึ้นคือ คุณลักษณะของประชากรที่พึงประสงค์ ที่เข้าใจตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม   สามารถอยู่ร่วมได้อย่างเหมาะสม    

ในขณะเดียวกันจากลักษณะของกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สัมผัสบรรยากาศแห่งความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาอนุรักษ์ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมของผู้คนในชุมชน  การได้รับฟังคำบอกเล่าประสบการณ์ในการจัดการทรัพยากร  ได้จุดประกายและจิตสำนึกร่วมในการอนุรักษ์หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ  ด้วยความตระหนักถึงวัฎจักรความสัมพันธ์ในระบบนิเวศน์  ซึ่งกิจกรรมการเรียนรู้เช่นนี้ สอดคล้องกับแนวคิดในการปลูกฝังคุณธรรมด้วยการเรียนรู้ทางสังคม ที่  Bandura  ( 1977 อ้างในชัยพร  วิชชาวุธ และคณะ . 2544 , หน้า 131 – 134) กล่าวว่า  การเรียนรู้ของมนุษย์เกิดจากประสบการณ์ตรงของตนเอง และการสังเกตพฤติกรรมของผู้อื่น  รวมทั้งการเรียนรู้ จากการรับฟังการบอกเล่าของผู้อื่น  ดังนั้นวิธีการปลูกฝังจริยธรรมตามแนวการเรียนรู้ทางสังคมที่ได้ผล คือ  การจัดมวลประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ผู้เรียนได้สัมผัสเพื่อให้เกิดความเชื่อ  อันจะนำไปสู่การแสดงพฤติกรรม  รวมทั้งการจัดเงื่อนไขทางสังคมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้     และแนวคิดดังกล่าวนี้ยังสอดคล้องกับผลการวิจัยของ Flint (1991 อ้างใน  วารี  ชีวะเจริญ .2537)      ที่ได้ทำการศึกษาการสอนสิ่งแวดล้อมนอกห้องเรียน : ผลการเรียนรู้ทัศนคติของนักเรียนมัธยมปลาย โดยการนำนักเรียนออกศึกษาสิ่งแวดล้อมนอกห้องเรียนพร้อมทั้งศึกษาผลของความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม   และพบว่า หลังการเรียนการสอนนักเรียนมีทัศนคติต่อสิ่งแวดล้อมสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ   เช่นเดียวกับผลการวิจัยของ บรรชร  กล้าหาญและคณะ (2548) ที่ได้ทำการศึกษาเรื่องการจัดการกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างจิตสำนึกในเรื่องทรัพยากรน้ำให้แก่นักศึกษาอาชีวเกษตร ซึ่งพบว่า      กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมสามารถพัฒนาให้นักศึกษาเกิดจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้รูปแบบการเรียนรู้จะต้องประกอบด้วย  3 ลักษณะคือ การเรียนรู้แบบเป็นทางการ  การเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการและการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ซึ่งการเรียนรู้ทั้งสามลักษณะจะต้องสอดประสานระหว่างกันเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสภาพความเป็นจริงของสังคมวัฒนธรรม ในส่วนของวิธีการเรียนรู้ได้แก่ การสร้างกระบวนทัศน์แบบไทย ที่เน้นการเรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่น   การใช้มิติทางวัฒนธรรม ที่มุ่งให้เกิดความสนใจใคร่รู้ถึงวิถีชีวิต แบบแผนความคิด  ความเชื่อ และการปฏิบัติในท้องถิ่น  และการเรียนรู้แบบบูรณาการและซึมซับ ที่เน้นการมีส่วนร่วมสูงสุด การใช้เทคนิควิธีที่หลากหลายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์  และการใช้พลวัตรกลุ่ม

            ด้วยเหตุนี้ ผลจากการพัฒนาจริยธรรมด้านความตระหนักต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อม จึงพบว่า  หลังเรียนนิสิตมีการพัฒนาจริยธรรมด้านความตระหนักต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในระดับมากที่สุด  โดยมีคะแนนเฉลี่ยที่ 4.93   ซึ่งมีค่าสูงกว่าคะแนนก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ  0.05  ซึ่งที่เป็นเช่นนี้อาจสามารถอธิบายได้ว่า  เกิดจากการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่มีการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายในการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการคิด วิเคราะห์ เช่น  กิจกรรมการวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเทคนิค Fish  bone กิจกรรมการวิเคราะห์วงจรผลิตภัณฑ์ ด้วยเทคนิค  LCA หรือ กิจกรรมการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของระบบนิเวศน์ด้วยเทคนิค Matrix  ทั้งนี้กิจกรรมต่าง ๆดังกล่าวล้วนมุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างซึมซับ  และสามารถผสมผสานความเป็นเหตุผลร่วมกับความเป็นอิสระทางความคิด   และผลจากการฝึกซ้ำย้ำทวนในการคิดวิเคราะห์ จะก่อเกิดกระจ่างชัดในค่านิยมด้านสิ่งแวดล้อม  ซึ่งข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม  ที่ วราพร  ศรีสุพรรณ (2535 . หน้า 132)  ได้กล่าวว่า การสร้างจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมจะต้องสร้างทรรศนะใหม่ว่า  มนุษย์ทุกคนเป็นผู้ใช้ทรัพยากรร่วมกัน  เป็นผู้อยู่ร่วมแห่งกาลเวลาปัจจุบัน  ร่วมยุคสมัย และสืบสายสัมพันธ์แห่งอดีตและอนาคต  ซึ่งโดยนัยนี้การสร้างจิตสำนึก จึงประกอบด้วยการสร้างระบบคิดหรือค่านิยมที่จะสร้างความเป็นธรรมในจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านระบบคุณค่าทางสังคมและการดำรงชีวิต  และการพยายามสร้างการเรียนรู้ผ่านวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย  เพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจถึงความเป็นจริงของธรรมชาติ  เกิดการมองเห็นตนเองที่เป็นจริง  โดยการมองโลกและมนุษย์แบบเป็นองค์รวม ว่า  มนุษย์คือส่วนย่อยของโลก  และสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้อิงอาศัยกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งการเรียนรู้เช่นนี้จะทำให้เกิดสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม   อันจะทำให้สามารถกำหนดทิศทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและธรรมชาติในลักษณะที่มีคุณธรรม  ดังจะปรากฏจากค่านิยมในการดำรงชีวิตแบบเรียบง่ายและมีคุณธรรม   

ทั้งนี้วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ดังกล่าวยังสอดคล้องกับแนวคิดการปลูกฝังจริยธรรมด้วยการกระจ่างค่านิยม ที่  Rath , Harmin  and  Simon (1966  อ้างในชัยพร  วิชชาวุธ  และคณะ . 2544. หน้า 120 – 124)   ได้กล่าวว่า    การปลูกฝังจริยธรรมด้วยการกระจ่างค่านิยม  เน้นการให้ผู้เรียนได้ค้นพบตนเอง ว่า หลักการที่ตนเองประพฤติปฏิบัติเป็นเช่นไร  มีควรค่าแก่การปฏิบัติหรือไม่ โดยการเลือกกระทำอย่างเป็นอิสระจากทางเลือกหลาย ๆ ทาง ไม่มีการบังคับ  หากแต่จะส่งเสริมให้เกิดการพิจารณาผลของการกระทำ  ทำให้เกิดความยินดีภูมิใจในสิ่งที่ทำ และตัดสินใจกระทำซ้ำ    จนก่อเกิดเป็นค่านิยม     เช่นเดียวกับแนวคิดของวินัย วีระวัฒนานนท์

( 2530 . หน้า 154)  ซึ่งกล่าวถึง   การสอนเพื่อปลูกฝังค่านิยมเรื่องสิ่งแวดล้อมว่า การสอนสิ่งแวดล้อมที่ดีควรมีการฝึกหัดผู้เรียนในลักษณะต่าง ๆ เช่น การแสดงทัศนะต่อสิ่งแวดล้อม  การสร้างทางเลือกที่หลากหลายในการคิด   การวิเคราะห์หาเหตุผล  การแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา   การได้เลือกแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยอิสระ  การฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริงและ การฝึกกระทำซ้ำเพื่อเกิดการซึมซับเป็นนิสัย  ทั้งนี้กระบวนการเรียนการสอนเพื่อสร้างค่านิยม  เจตคติ และจริยธรรมนั้น  เสริมศรี   ไชยศร ( 2539 . หน้า 136 – 139) ได้กล่าวว่า  วิธีการสอนเจตคติ  หรือจริยธรรมที่ดี ผู้สอนต้องทำตนเป็นแบบอย่าง หรือการแสวงหาตนแบบพฤติกรรม  และมีการจัดการเรียนการสอนในหลากหลายรูปแบบ  เพื่อให้ผู้เรียนมีประสบการณ์หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่สิ่งที่ต้องการ     เน้นให้มีการฝึกปฏิบัติในลักษณะต่าง  ๆ ทั้งการฝึกการคิดอย่างมีเหตุผล  การทำงานเป็นกลุ่ม การวิเคราะห์หาทางเลือก  รวมทั้งการปรับพฤติกรรมเพื่อให้เกิดพฤติกรรมตามเป้าหมาย

            นอกจากนี้ผลจากการพัฒนาจริยธรรมด้านจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมพบว่า  หลังจากการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม  นิสิตมีการพัฒนาระดับขั้นของจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีระดับนัยสำคัญที่ระดับ  0.05 ทั้งนี้ นิสิตได้มีการพัฒนาระดับขั้นของจิตสำนึกสูงขึ้น  จากเดิมนิสิตส่วนใหญ่มีระดับขั้นจิตสำนักในระดับตอบสนอง   ต่อมาภายหลังการเรียนได้พัฒนาเป็นระดับขั้นการจัดระบบคุณค่าและการจัดระบบ    ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลเนื่องมาจากลักษณะการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ผ่านกลไกพลวัตรกลุ่มในลักษณะต่าง ๆ  เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล   ประสบการณ์ และทัศนคติระหว่างกัน เพื่อนำสู่การคิด  วิเคราะห์ การแสวงหาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาหรือการปฏิบัติที่เหมาะสม  และการสรุปสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน  อันจะนำสู่การสร้างและพัฒนาจริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งวิถีการเรียนรู้เช่นนี้สอดคล้องกับแนวคิดการปลูกฝังจริยธรรมด้วยเหตุผลที่  Kohlberg ( 1963  อ้างในดวงเดือน  พันธุนาวินและคณะ . 2536. หน้า 12 –15) ได้กล่าวว่า   การปลูกฝังจริยธรรมต้องประกอบด้วยการคิดไตร่ตรอง เพื่อพิจารณาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ  โดยอาศัยข้อมูล รวมทั้งประสบการณ์ทางสังคมที่ได้รับ  หรือการรับฟังจากบุคคลอื่น  ซึ่งบุคคลจะมีการสำรวจ และจัดระเบียบความคิดความเข้าใจ ด้วยการจำแนกประเด็นต่าง ๆ  ให้มีความชัดเจนและมีการบูรณาการเข้าด้วยกัน  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการคิดไตร่ตรอง จึงต้องใช้การอภิปรายแลกเปลี่ยนทัศนะ ในลักษณะเช่นนี้ การอภิปรายแลกเปลี่ยนทัศนะจึงเป็นหัวใจสำคัญของการปลูกฝังจริยธรรมด้วยเหตุผล     โดยนัยเช่นนี้แนวคิดของการปลูกฝังจริยธรรมด้วยการกระบวนการคิดวิเคราะห์ยังได้รับการสนับสนุนจากผลการวิจัยของ   วารี  ชีวะเจริญ (2537) ได้ศึกษาการพัฒนาจริยธรรมในวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษาโดยการสอนเน้นทักษะกระบวนการสำหรับนักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่  2  วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์  จังหวัดสุรินทร์  ซึ่งพบว่า  นักศึกษามีสัมฤทธิ์ผลทางการเรียน  มีทักษะการคิด  และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม  มีเจตคติ และมีคะแนนรวมหลังการเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01  จากผลของคะแนนวัดผลสัมฤทธิ์และคะแนนเจตคติที่สูงขึ้น  แสดงว่า  นักศึกษามีความรู้และเจตคติที่ดีขึ้น  ซึ่งแสดงถึงการพัฒนาความรับผิดชอบความรับผิดชอบของนักศึกษา  และจากการที่นักศึกษมีคะแนนทักษะการคิดและการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น  แสดงถึงการพัฒนาทักษะการคิดและการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม   จึงสรุปได้ว่า   แผนการสอนที่เน้นทักษะกระบวนการในการเรียนการสอนสามารถพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบ  มีทักษะการคิดและการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม   เช่นเดียวกับผลการวิจัยของ  ศิริพร   ชีพประกิต  (2533)   ซึ่งได้ทำการศึกษาเรื่อง           การพัฒนาค่านิยมด้านสิ่งแวดล้อมโดยใช้กระบวนการกระจ่างค่านิยม สำหรับนักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 2  วิทยาลัยอาชีวศึกษาจังหวัดภูเก็ต  โดยการสร้างชุดปฏิบัติการพัฒนาค่านิยมด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเพื่อเปรียบเทียบค่านิยมด้านสิ่งแวดล้อมของนักศึกษาก่อนและหลังการใช้ชุดปฏิบัติการ   รวมทั้งใช้แบบวัดค่านิยมด้านสิ่งแวดล้อม  6  ด้านคือ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การร่วมมือพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ขิงตนเองและสังคม  การยอมรับกลุ่มบุคคลและชาติพันธุ์หรือกลุ่มชนชั้นที่แตกต่างไปจากตนเอง  การมีเจตคติที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงก่อนและหลังการใช้ชุดฝึกปฏิบัติการ  ซึ่งผลการวิจัยพบว่า  หลังใช้ชุดปฏิบัติการโดยกระบวนการกระจ่างค่านิยม  นักศึกษามีค่านิยมด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง  6  ด้าน สูงกว่าก่อนใช้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 

อย่างไรก็ตาม  จากการที่ผู้เรียนทั้งหมดเป็นภิกษุในพุทธศาสนา    ซึ่งได้ผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยของสงฆ์ต่อสิ่งแวดล้อมในประเด็นต่าง ๆ    ดังนั้นในการออกแบบแนวทางการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่ผู้วิจัยใช้ในการวิจัยครั้งนี้  ส่วนหนึ่งจึงเป็นการนำเอาหลักธรรมในพุทธศาสนามาบูรณาการเพื่อการพัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกับการเรียนรู้หลักวิชาการทางด้านสังคมและวิทยาการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม  เช่น  กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ตามหลักกาลามาสูตร  , หลักปฏิจจาสมุปบาท  , การอภิปรายแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมปธาน 4  และหลักศีล 5  ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นสิ่งที่นิสิตได้รับการกล่อมเกลาในองค์กรสงฆ์  ดังนั้นเมื่อนำมาปรับบูรณาการดังกล่าว จึงทำให้ผู้เรียนสามารถแสดงการคิดวิเคราะห์ได้อย่างมีเหตุผล มีความเชื่อมโยงสภาพการณ์ทางสังคม และวิถีปฏิบัติได้อย่างสอดคล้อง   ทำให้เกิดการพัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม   โดยนัยนี้จึงสามารถอธิบายได้ตามแนวคิดของพระเทพเวที (ประยุทธ์  ปยุตโต . 2535 . หน้า 87 – 91 )  ซึ่งกล่าวว่า  สังคมไทยได้รับอิทธิทางความคิดและการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคำสอนของหลักธรรมทางพุทธศาสนา ซึ่งประกอบด้วย  การถือหลักธรรมชาติ  หลักความเป็นเหตุผลหรือปฏิจจาสมุปบาท และหลักกาลามสูตร  เช่นเดียวกับปริญญา  นุตาลัยและคณะ   (2535 . หน้า 303 – 304)   ซึ่งยังได้เสนอหลักธรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อมได้แก่  ปธาน 4   , ความไม่เบียดเบียน   , ศีล 5   , ความเมตตาและความสันโดษ   ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์จากผลการวิจัยของ Natadecha (1991 อ้างใน วารี  ชีวะเจริญ .2537)   ซึ่งได้ทำการศึกษาเรื่องธรรมชาติและวัฒนธรรมของคนไทยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนมากจากพฤติกรรมของสังคม (พุทธศาสนา) พบว่า  ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นผลเนื่องจากพฤติกรรมของบุคคลส่วนใหญ่ในสังคมที่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่สัมพันธ์กับวิถีการดำเนินชีวิตในสังคม  ดังนั้นจึงควรมีการนำเนื้อหาทางสังคมศาสตร์  โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรม  ความเป็นอยู่ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม  และมนุษย์ศาสตร์ในเรื่องปรัชญาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและจริยธรรม  มาจัดบูรณาการกับสิ่งแวดล้อมศึกษา  จะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้   เช่นเดียวกับผลการวิจัยของศิริวรรณ  โอสถานนท์ (2535) ที่ได้ทำการศึกษาเรื่อง พุทธศาสนากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อการนำหลักคำสอนของพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาประยุกต์แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารปฐมภูมิและทุติยภูมิจากพระไตรปิฎก ตำรา วิทยานิพนธ์และอื่น ๆ  ซึ่งพบว่า  สาเหตุของวิกฤตสิ่งแวดล้อมเกิดจากอุจเฉททิฏฐิหรือความเห็นผิด ได้แก่ทัศนะแบบวัตถุนิยม  ทุนนิยมและคตินิยมลดทอน   ดังนั้นแนวทางการแก้ไขคือ   การเปลี่ยนความเห็นที่ผิดให้เป็นความเห็นที่ถูกคือ สัมมาทิฏฐิ    ได้แก่  ทัศนะแบบธรรมชาตินิยมในพุทธศาสนา  โดยประยุกต์หลักอัคคัญญสูตร  สิงคลากสูตา และพระวินัย  ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงวิถีชาวพุทธว่า เป็นนักอนุรักษ์   ทั้งนี้ทั้งจากแนวคิดและผลการวิจัยต่าง ๆ พยายามชี้ให้เห็นว่า  การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องสร้างความคิดเจตคติที่ถูกต้อง  ด้วยการบูรณาการผสมผสานที่เหมาะสมของศาสตร์สาขาต่าง ๆ

           

ข้อเสนอแนะ

 

          ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ

          1. การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม  สามารถนำมาใช้ในการสอนเพื่อพัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อมได้   โดยผู้สอนควรต้องเน้นให้ผู้เรียนได้สะท้อนประสบการณ์ที่ได้รับรู้ หรือเคยปฏิบัติในวิถีชีวิต

กระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์อย่างเชื่อมโยง  สอดคล้องกับสถานการณ์ทางสังคม  เศรษฐกิจ  และวัฒนธรรม

            2.  การออกแบบแนวทางการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมควรเน้นการจัดกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมสูงสุด  ในการแสดงความคิด    การฝึกปฏิบัติ  และการนำเสนอผลการเรียนรู้     โดยในระหว่างการจัดกิจกรรมเรียนการสอน  ผู้สอนควรมีการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม  เกิดความคิดที่จะร่วมมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

  1. การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม  ควรใช้กับกลุ่มผู้เรียนที่

ไม่เกิน  30  คน  ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมสูงสุดในการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้โดยผู้สอนสามารถดูแลสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม

  1. ในการวิจัยครั้งนี้  ผู้วิจัยได้ดำเนินการทดลองในกลุ่มเดียวเนื่องจากข้อจำกัดด้าน

จำนวนผู้เรียน  จึงทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบผลการวิจัยได้    ดังนั้นหากมีการทดลองสอนสองกลุ่มคือ  กลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม  จะช่วยให้สามารถเปรียบเทียบพัฒนาการของผู้เรียนทั้งสองกลุ่มได้ว่า    กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมสามารถพัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งสิ่งแวดล้อมของผู้เรียนได้จริง หรือเกิดจากการที่ผู้เรียนสามารถพัฒนาจริยธรรมด้วยตนเอง

  1. การสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้สร้างแบบสังเกตพฤติกรรม  พร้อมทั้ง

ดำเนินการสังเกตด้วยตนเอง   ซึ่งสามารถทำได้อย่างทั่วถึงเนื่องจากจำนวนผู้เรียนมีเพียง  16 รูป ในลักษณะเช่นนี้   หากมีผู้เรียนจำนวนมาก การสังเกตพฤติกรรมด้วยผู้สอนเพียงคนเดียว  บางครั้งอาจจะไม่สามารถสังเกตพฤติกรรมที่เกิดได้อย่างทั่วถึง   

 

ข้อเสนอแนะเพื่อการศึกษาวิจัย

 

          1. ควรมีการศึกษาวิจัยการใช้วิธีสอนแบบอื่น ๆ เพื่อการพัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การสอนแบบกระจ่างค่านิยม  การเรียนรู้ทางสังคม   กระบวนการทักษะการคิด และการปรับพฤติกรรม

             

 

  

         

           

 

หมายเลขบันทึก: 435723เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2011 23:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 07:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท