เมื่อเยาวชนเห็นว่าตนไร้ค่า


ความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองของเด็กและเยาวชน จะเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตนเองให้เป็นคนดีและคนเก่งของสังคม

          ในวันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2554 ช่วงพักเที่ยงหลังจากที่ได้ร่วมฝึกซ้อมบัณฑิตคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2552-2553 และจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ในวันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2554 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผู้เขียนได้อ่านข่าวหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2554 มีข่าวการศึกษาอยู่ 3 ข่าวและทุกข่าวก็เป็นข่าวด้านลบที่อยากจะเขียนถึง ข่าวที่กระทบจิตใจมากที่สุดคือข่าวเกี่ยวกับวัยรุ่นอายุ 18 ปีที่จังหวัดร้อยเอ็ดฆ่าตัวตาย ก่อนที่จะเขียนบันทึกนี้ ได้ตรวจสอบเนื้อข่าวจากข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ (http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm? pagecontent&categoryID=419&contentID=131520) ซึ่งมีพาดหัวข่าวว่า "เด็กนักเรียนชาย ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจ.ร้อยเอ็ด หาที่เรียนต่อไม่ได้ เครียดจัดผูกคอลาโลก" และสาระสำคัญของข่าวมีว่า ในวันที่ 7  เมษายน 2554 ร้อยเวร สภ.เมืองร้อยเอ็ด รับแจ้งว่ามีเหตุคนผูกคอตายอยู่ภายในบ้าน ต.ในเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด จึงนำกำลังไปตรวจที่เกิดเหตุพร้อมด้วยแพทย์ และหน่วยกู้ภัย ที่เกิดเหตุเป็นบ้าน 2 ชั้นบริเวณห้องเก็บของชั้นล่างพบศพนายเอ (นามสมมุติ) อายุ 18 ปี เจ้าของบ้านใช้เชือกในลอนผูกคอตนเองติดกับลูกกรงเหล็กหน้าต่างเสียชีวิต ใกล้กันเจ้าหน้าที่พบกระดาษตกอยู่ 1 แผ่นพิมพ์ข้อความไว้ว่า “ตนเองเป็นคนที่ไม่มีอะไรให้ดีใจ เรียนก็ไม่ได้เรื่อง เรียนไม่จบ ไม่มีอะไรดี ไม่เอาไหน ไม่มีอะไรดีสักอย่าง เป็นขยะสังคม ไม่มีประโยชน์กับใคร อยู่ไปก็เท่านั้น” เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นข้อความของผู้ตายที่พิมพ์ไว้ จึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน สอบสวนทราบว่า ผู้ตายเป็นลูกชายเพียงคนเดียวของครูและ ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่ง เพิ่งจะเรียนจบชั้น ม.6 จากโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ร้อยเอ็ด และกำลังหาที่ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี จากหลักฐานในที่เกิดเหตุ คาดว่าการฆ่าตัวตายในครั้งนี้ผู้ตายอาจจะมีความกดดันเกี่ยวกับผลการเรียน ประกอบกับยังหาที่เรียนต่อไม่ได้จึงคิดหนัก ตัดสินใจผูกคอตัวเองประชดเพื่อหนีปัญหาดังกล่าว

          จากข่าวที่กล่าวมา ผู้เขียนรับรู้ได้ถึงความรู้สึกสูญเสียของคนในครอบครัวของวัยรุ่นผู้ตาย เพราะเคยมีประสบการณ์ในการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก โดยที่ยังไม่ถึงเวลาที่ทำใจให้ยอมรับได้มา 3 ครั้ง ในการเขียนบันทึกนี้ จะไม่สนใจติดตามสอบสาวว่า กรณี (Case) ที่เกิดขึ้นมีส่วนมาจากแรงกดดันในครอบครัวหรือไม่ เพราะไม่ใช่การศึกษารายกรณี (Case Study) แต่จะมุ่งไปที่การวิเคราะห์เป็นภาพรวมเกี่ยวกับ “ปัญหาการฆ่าตัวตายของวัยรุ่น” เพื่อหาแนวทางในการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ใช่ว่าจะกระทบเฉพาะครอบครัวและญาติของผู้ตายเท่านั้น แต่ยังกระทบสังคมโดยรวมอีกด้วย ประเด็นของการวิเคราะห์จะมุ่งเน้นไปที่การฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากสาเหตุ “การไม่เห็นคุณค่าในตนเอง” เพราะถ้าข้อความที่พิมพ์ไว้เป็นของผู้ตายจริง ก็น่าจะอนุมานได้ว่า ผู้ตายรู้สึกว่าตนเองเป็นคนไร้ค่า

            ใน "ลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ตามทฤษฎีของมาสโลว์ (Maslow’s Hierachy of Needs)" นั้น ความต้องการเห็นคุณค่าในตนเอง  (Esteem Needs) จัดเป็นความต้องการในขั้นที่ 4 จากทั้งหมด 8 ขั้น (Danny. 2011: Online) โดยขั้นที่ 1 เป็นความต้องการพื้นฐานทางกาย (Biological and Physiologicalcal Needs) ขั้นที่ 2 เป็นความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (Safety Needs) ขั้นที่ 3 เป็นความต้องการได้รับการยอมรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและต้องการความรัก (Belongingness and Love Needs) ขั้นที่ 5 เป็นความต้องการความรู้ ความเข้าใจหรือความต้องการด้านการรู้คิด (Cognitive Needs) ขั้นที่ 6 เป็นความต้องการด้านสุนทรีย์ (Aesthetic Needs) ขั้นที่ 7 เป็นความต้องการพัฒนาตนเองให้ถึงขีดสูงสุดของศักยภาพ (Self-actualisation Needs) และขั้นที่ 8 เป็นความต้องการที่จะช่วยให้คนอื่นได้พัฒนาตนไปจนถึงขีดสูงสุดของศักยภาพ (Transcendence)  ดังภาพข้างล่าง ความต้องการ ใน 4 ขั้นแรกหรือขั้นที่ 1-4 นั้น เป็นความต้องการที่จำเป็นเพื่อการดำรงชีวิต (Deficiency Needs) ซึ่งจะมีในทุกคน ส่วนความต้องการใน 4 ขั้นหลังหรือขั้นที่ 5-8 เป็นความต้องการเพื่อการเจริญงอกงาม (Growth Needs) ซึ่งจะมีอยู่เฉพาะในบางคนเท่านั้น อนึ่ง บุคคลจะต้องได้รับการตอบสนองความต้องการในขั้นต้นก่อน จึงจะมีความต้องการในขั้นต่อไป (วิไล แพงศรี. 2553: 31) ตัวอย่างเช่น เด็กและเยาวชนจะมีความต้องการด้านการรู้คิดหรือเรียกง่ายๆ ว่าอยากรู้อยากเรียนเรียน ก็ต่อเมื่อพวกเขาได้รับการตอบสนองความต้องการใน 4 ขั้นต้นมาก่อนแล้วเท่านั้น คือ ได้รับการตอบสนองความต้องการทางกาย ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย ความต้องการได้รับการยอมรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและความรัก และความต้องการเห็นคุณค่าในตนเอง  (ตำราและเอกสารวิชาการของไทยแทบทุกเล่มจะกล่าวถึงความต้องการของมาสโลว์เพียง 5 ขั้น เท่านั้น แต่นั่นเป็นแนวคิดที่มาสโลว์คิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนเสียชีวิตเขาได้ปรับเป็นความต้องการ 8 ขั้นดังที่ได้อธิบายไปแล้ว)

          สินีนาฏ สุทธจินดา (ม.ป.ป.: แผนการจัดการเรียนรู้) ได้กล่าวถึง ความหมายของการเห็นคุณค่าในตนเอง ลักษณะของผู้ที่เห็นคุณค่าในตนเองต่ำ และวิธีเสริมสร้างคุณค่าในตนเอง สรุปสาระสำคัญได้ว่า การเห็นคุณค่าในตนเอง หมายถึง ความรู้สึกที่บุคคลมีต่อตนเองในทางที่ดี    มีความเข้าใจและยอมรับตนเอง   เชื่อมั่นในตนเอง   รู้สึกว่าตนเองมีความหมายมีความสำคัญ มีความสามารถ     มีอำนาจในการควบคุมตนเอง ทำอะไรให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของตนเองได้ ทั้งยังเห็นว่าตนเองเป็นที่ยอมรับของผู้อื่นและสังคมด้วย ผู้ที่มีความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ จะเห็นว่าตนเป็นคนไร้ค่า ไร้ความสามารถ ไม่มีความสำคัญ ความคาดหวังความสำเร็จของชีวิตอยู่ในระดับต่ำ มักเป็นคนที่พยายามฆ่าตัวตาย เนื่องจากเห็นว่าตนเป็นคนไร้ค่ วิธีเสริมสร้างคุณค่าในตนเองทำได้หลายวิธี ได้แก่

           1) ค้นหาข้อดีของตนเองพร้อมทั้งมุ่งมั่นพัฒนาความดีนั้นให้คงอยู่และดียิ่งๆ ขึ้น

           2) เมื่อทำงานอะไรควรเน้นที่ความมุ่งหมายในการทำงานมากกว่าผลลัพธ์ของงาน

           3) จำไว้ว่าบางครั้งคนเราก็ทำผิดพลาดได้  ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นความล้มเหลวตลอดชีวิต  ให้เวลาและโอกาสตนเองในการเริ่มต้นใหม่ รวมทั้งสำรวจตนเองว่ามีอะไรบกพร่องแล้วพยายามหาทางปรับปรุงแก้ไข

           4) ตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับความเป็นจริง  เพราะการคาดหวังในตนเองสูงโดยเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี   แทนที่จะเปรียบเทียบกับผู้ที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน   อาจทำให้ความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองต่ำลง

           5) อย่าเอาความคิดเห็นของผู้อื่นที่เกี่ยวกับตัวเองมาเป็นเครื่องตัดสิน   เพราะการฟังผู้อื่นตลอดเวลาจะทำให้ขาดความเป็นตัวของตัวเอง  ควรรับฟังเพื่อเป็นข้อสังเกตตัวเองและดำเนินชีวิตไปสู่จุดหมาย

           6) กล้าลองในสิ่งใหม่ๆ  ถ้าประสบความสำเร็จก็จะรู้สึกภาคภูมิใจ  ถ้าล้มเหลวก็ถือว่าได้บทเรียน   ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจและนับถือตนเองได้

           7) จงใช้คำพูดดีๆ  กับตนเองทุกวัน   เช่น  ฉันเป็นคนมีความสามารถ   ฉันมีความรับผิดชอบ   ฉันเป็นคนมีระเบียบวินัย  เป็นต้น

          8) เมื่อคำพูดที่ไม่ดีเกิดขึ้นในสมองของเราต้องรีบขจัดคำพูดนั้นแล้วแทนที่ด้วยคำพูดดีๆ  เช่น  จากคำพูด “ฉันไม่มีความสามารถในเรื่องนี้เลย” ให้เปลี่ยนเป็น “ถ้าฝึกบ่อยๆ  ฉันจะต้องทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ” และจากคำพูด “ฉันต้องทำไม่ได้แน่นอน” ให้เปลี่ยนเป็น “ฉันจะต้องทำให้ได้”

          9) ให้เวลากับตนเองวันละ  10  นาที เพื่อทบทวนความคิด/การกระทำของตนเองในวันนั้นๆ ว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง    และจะหาวิธีปรับปรุงแก้ไขได้อย่างไร

           และ ศรีเรือน แก้วกังวาล (2553: 374-375) ได้กล่าวถึงปัญหาการฆ่าตัวตายของวัยรุ่น สรุปสาระสำคัญได้ว่า ผลการวิจัยชี้ว่า สาเหตุสำคัญของความเครียดในวัยรุ่นเกิดจากการแข่งขันด้านการเรียนและกิจกรรมนอกห้องเรียน (เช่น กีฬา ดนตรี) เด็กรู้สึกสับสนในความคาดหวังของเพื่อน ของโรงเรียน และของสังคม และ ความคาดหวังของพ่อแม่ในตัวเด็กที่ต้องการให้ประสบผลสำเร็จต่างๆ ถือเป็นตัวแปรสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพ่อแม่ที่ “ไม่สามารยอมรับความล้มเหลวของลูกวัยรุ่นได้” ก็จะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกกดดันอย่างรุนแรง

          ผู้เขียนเองเคยมีประสบการณ์ในสองช่วงเวลา (ในอดีตกาลนานมาแล้ว) ที่คนภายนอกมองว่ามีลูกที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนตามที่คาดหวัง จึงอยากจะ “Share” ประสบการณ์นั้น เผื่อจะเป็นประโยชน์กับพ่อแม่ที่ตกที่นั่งเดียวกันบ้าง กล่าวคือ ลูกสาวคนโตซึ่งเป็น 1 ในจำนวนนักเรียนเพียง 2 คนของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช (โรงเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ด้านการมีสถิตินักเรียนสอบเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาได้มากที่สุดของจังหวัดและอยู่ในระดับต้นๆ ของประเทศในทุกๆ ปี) ที่ได้รับสิทธิ์ในการสอบคัดเลือกในโครงการช้างเผือกอะไรสักอย่าง เพื่อเข้าเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (ผู้มีสิทธิ์ คือ ผู้ที่มีผลการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และภาษาอังกฤษ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 5 ภาคเรียน เฉลี่ย 3.50 ขึ้นไป) และเธอก็ได้ใช้สิทธิ์สมัครสอบซึ่งต้องเลือกสาขาไปเลย (รับสาขาละ 10 คนจากนักเรียนผู้มีสิทธิ์ทั้งประเทศ) โดยเธอได้เลือกสาขาวิศวกรรมโยธา สุดท้ายเธอก็สอบได้โดยในจำนวน 10 คนที่สอบได้ในสาขาวิศวกรรมโยธา มีเธอคนเดียวที่เป็นผู้หญิง ที่เหลือ 9 คนเป็นผู้ชาย แม่ถามว่า “ลูกจะเรียนวิศวะจริงๆหรือ” (เพราะเห็นเธอเขียนข้อความไว้ที่หัวเตียงว่า “อันดับ 1 แพทย์…อันดับ 2 แพทย์…อันดับ 3 แพทย์…อันดับ 4 แพทย์…สู้ๆๆ ” แต่แม่เปิดประตูเข้าไปดูทีไร ก็เห็นเธอนอนหลับอุตุทุกที จนแม่กระเซ้าว่าจะหลับสู้หรือยังไง เธอก็บอกว่า อ่านเข้าใจแล้ว นอนให้สมองมันจัดระบบข้อมูล ช่วงนั้นระบบ Entrance เลือกได้ 4 อันดับ) เธอก็บอกว่าจะเรียน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อไม่ให้รุ่นน้องเสียสิทธิ์ (ทางสถาบันเขามีเงื่อนไขว่า ถ้าปีใดนักเรียนที่สอบได้จากโรงเรียนใดสละสิทธิ์ทุกคน จะไม่ให้สิทธิ์นักเรียนโรงเรียนนั้นในปีต่อไป) และเรียนวิศวะก็จบเร็วดี บังเอิญว่าน้องชายของเธอที่เรียนม. 5 แล้วสอบเทียบม. 6 ก็สอบ Entrance ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ในสถาบันเดียวกันในปีเดียวกัน (ตอนแรกแม่บอกว่าอยากสอบก็ให้ไปสอบได้ แต่ให้สอบเพื่อหาประสบการณ์เฉยๆ สอบได้ก็ไม่ให้ไปเรียนเพราะความรู้ม.ปลายไม่แน่น และอายุยังน้อยเพราะเรียนเร็วไป 1 ปีเหมือนแม่) แต่เมื่อลูกทั้งสองจะไปเรียนในสถาบันเดียวกันในปีเดียวกัน แม่ก็เลยอนุญาต  ปีนั้นมีลูกอาจารย์ในสถาบันราชภัฏอุบลฯ สอบได้ที่เดียวกันอีก 3 ครอบครัว จึงรวมกันเหมารถตู้จากอุบลฯ ไปส่งลูกรายงานตัวเข้าเรียน โดยที่ในอีก 3 ครอบครัวนั้นมีทั้งพ่อและแม่ไปส่งลูก 1 คน แต่ครอบครัวของผู้เขียนมีเพียงแม่คนเดียวไปส่งลูก 2 คน (พ่อเสียชีวิตตอนลูกสาวอายุ 5 ปี ลูกชายอายุ 3 ปี 8 เดือน) แต่แล้วลูกสาวของผู้เขียนก็ขอลาออกหลังจากเรียนไปได้เพียง 3 เดือน โดยให้เหตุผลว่า “เรียนดูแล้วรู้สึกว่า...มันไม่ใช่ตัวเอง” แม่ก็บอกว่า En. ใหม่ต้องตัดสินใจให้ดี จะเรียนอะไรก็ต้องเรียนจนจบหลักสูตร แล้วเธอก็สอบ Entrance ใหม่เข้าเรียนได้ในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปีต่อไป

          ผลการเรียนในคณะแพทยศาสตร์ปี 1 ก็ดี ได้เกรดเฉลี่ยประมาณ 3.8 ปี 2 ปี 3 ก็ยังดี พอปี 4 เริ่มลดลง และในปี 5 ก็เริ่มคิดว่า “มันไม่ใช่ตัวเอง” (อีกแล้ว) จึงขอหยุดพักการเรียนไปนั่งวิปัสสนาตรวจสอบความคิดจิตใจตนเองที่วัด 1 อาทิตย์ แล้วก็กลับไปเรียนใหม่ เรียนไปได้อีกประมาณ 1 เดือนก็ยังเห็นว่า "มันไม่ใช่ตัวเอง" อยู่อีก สุดท้ายก็ขอลาออก ผู้เขียนยอมรับว่า ตอนนั้นโกรธมาก และต่อว่าลูกสาวว่า แม่ก็บอกแล้วไงว่าเรียนครั้งที่สองต้องเรียนให้จบ ที่เลือกเรียนแพทย์ก็เลือกเองแม่ไม่ได้บังคับ แล้วถ้าไม่ชอบเลือกเรียนทำไม เธอก็บอกว่า มันเป็นค่านิยมไม่ใช่หรือ อาจารย์บอกว่าคนที่เรียนเก่งต้องไปเรียนหมอ และตนเองก็คิดว่าชอบ แต่พอลงภาคปฏิบัติเข้าจริงๆ ก็คิดว่าตนเองไม่ชอบงานแบบนั้น ตอนนั้นผู้เขียนนึกย้อนไปถึงอดีตที่เต็มไปด้วยความยากลำบากของตนเอง ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกว่าจะได้เรียนในแต่ละระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเรียนปริญญาโททั้งที่ได้ทุนเรียนดี และหารายได้พิเศษโดยการสอนภาษาอังกฤษตามบ้าน กระนั้นก็ยังต้องยืมเงินธนาคารเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา แล้วก็ยังไม่มีเงินจ้างพิมพ์ปริญญานิพนธ์ (พ.ศ. 2519 ใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์ปริญญานิพนธ์)  ต้องไปเป็นอาจารย์อัตราจ้างอยู่ 1 ภาคเรียนเพื่อหารายได้ไปดำเนินการดังกล่าว ส่วนลูกไม่ต้องดิ้นรนอะไรเลย เรียนอย่างเดียวทำไมเธอทำไม่ได้ ไม่มีความอดทนเอาเสียเลย จึงต่อว่าลูกสาวไปหลายอย่างรวมทั้งตำหนิว่าเป็นคนที่เห็นแก่ตัว ไปเรียนกันที่ของนักเรียนคนอื่นๆ ที่เขาอยากเรียนจริง และทำไมไม่นึกถึงประเทศชาติ ที่รัฐต้องลงทุนสำหรับผลิตนักศึกษาแพทย์ไปเท่าไหร่ แล้วมาออกกลางคันทำให้ประเทศชาติสูญเปล่า แต่สุดท้ายผู้เขียนก็ต้องเดินทางไปติดต่อฝ่ายวิชาการตามนัด วันนั้นผู้เขียนได้พบกับผู้ปกครองอีก 2 คน ซึ่งเป็นพ่อ-แม่ของลูก 1 คนที่ต้องการเรียนในคณะแพทย์ฯ ต่อไป แต่มีปัญหาคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ ตรงกันข้ามกับลูกของผู้เขียนที่คะแนนถึงเกณฑ์แต่ไม่อยากเรียน สุดท้ายผู้เขียนก็ต้องลงลายมือชื่อยินยอมให้ลูกลาออก และหาทางลดความเครียดของตนโดยพยายามคิดอย่างมีเหตุผล เช่น คิดว่า เราเองก็ไม่ชอบใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาล จะเข้าโรงพยาบาลก็เฉพาะกรณีที่เลี่ยงไม่ได้ เช่น ไปคลอดลูก และไปเยี่ยมคนป่วย แล้วถ้าลูกเป็นหมอต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาลมันก็น่าเห็นใจ และคิดเชิงบวก (Positive Thinking) เช่น คิดว่าไม่เรียนต่อก็ดี เพราะชีวิตคนมีความสำคัญ ถ้าลูกไม่ชอบเป็นหมอแต่ต้องฝืนใจทำ เกิดไปทำให้คนไข้ตาย ก็จะยิ่งมีปัญหา เลยทำให้ความเครียดลดลงได้พอสมควร

         อย่างไรก็ตาม ลูกก็ไม่ได้ออกไปแบบมือเปล่า เพราะทางมหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้เธอได้รับปริญญาตรีในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้วยเธอเป็นคนรักสวยรักงาม อยากทำงานด้านความสวยความงาม จึงบอกว่าอยากเรียน “Spa” แต่พอถามว่า Spa คืออะไร เธอก็ตอบไม่ได้ แม่บอกให้สืบค้นข้อมูลทาง Internet แล้ว Save ข้อมูลไปให้แม่ดู เธอก็ชักช้าไม่ทันใจ แม่เลยต้องลงมือสืบค้นเอง จนสุดท้ายเธอก็ได้เรียนจนสำเร็จหลักสูตร “Spa And Beauty Therapy” ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติ ที่ "Chiva-Som International Academy" ที่เป็นเครือข่ายของสถาบันที่อังกฤษ พอเรียนสำเร็จทางสถาบันเห็นผลการเรียนดีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ และภาษาอังกฤษดี จะส่งไปทำงานที่อังกฤษโดยมีที่อยู่ให้ฟรี 3 เดือน แต่เธอกลับปฏิเสธบอกว่าไม่กล้าไป (อาจเป็นเพราะชีวิตของเธอสุขสบายเกินไป ไม่เคยต้องต่อสู้ดิ้นรนอะไร เลยไม่เป็นคนกล้าเสี่ยง [Risk Taker]) หลังจากนั้นเธอก็ออกไปทำงานด้านสปาและความงามอยู่ 2 ที่ แล้วก็บอกว่าไม่ชอบเป็นลูกจ้างใคร เลยเซ้งกิจการนวดแผนไทย เปิดกิจการใหม่เป็น “Salin Relax and Beauty” แถวเพชรบุรีตัดใหม่ กทม. (คำว่า "Salin" มาจากพยางศ์ท้ายของชื่อเธอ คือ เธอมีชื่อว่า "ปราณสลิล" ซึ่งเป็นชื่อที่เธอภูมิใจมาก เพราะเวลาเรียกชื่อเป็นครั้งแรก ครู-อาจารย์มักจะบอกว่า ชื่อแปลกไม่ซ้ำใครและชื่อเพราะสมตัว แล้วถามว่าใครเป็นคนตั้งให้ แปลว่าอะไร แม่ทำงานอะไร สอนภาษาไทยหรือ ซึ่งเธอก็ตอบไปตามลำดับคำถามว่า แม่ตั้งให้ เป็นชื่อที่แม่นำคำในพจนานุกรมมาสมาธกัน ไม่ได้เลือกจากตำราตั้งชื่อ จึงไม่ซ้ำใครและยังไม่มีใครซ้ำ  "ปราณ" แปลว่าชีวิต ลมหายใจ "สลิล" แแปลว่าน้ำ ปราณสลิลจึงแปลเอาความว่า น้ำหล่อเลี้ยงชีวิต คือ หนูมีความสำคัญสำหรับแม่ดุจเดียวกับน้ำที่หล่อเลี้ยงให้แม่มีชีวิตอยู่ได้ แม่สอนอยู่ที่วิทยาลัยครู [สถาบันราภัฎ, มหาวิทยาลัยราชภัฏ : แล้วแต่ชวงเวลาที่ถูกถาม] อุบลราชธานี ไม่ได้สอนภาษาไทยแต่สอนทางจิตวิทยาและการแนะแนว)

          ตอนแรกกิจการของเธอก็ทำท่าว่าจะไปได้ดี ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ แต่ตอนหลังมีปัญหาด้านการขาดพนักงาน เพราะพนักงานที่เป็นโสดพอเธอฝึกฝีมือให้จนทำงานเก่ง เป็นที่พอใจของลูกค้า ก็หนีไปทำงานในที่ที่มีชื่อเสียงและมีรายได้ดีกว่า (เช่น ที่เชียงใหม่และภูเก็ต) คนที่ยังอยู่ก็เลยมีแต่ผู้ใหญ่ที่มีครอบครัวแล้ว ซึ่งเธอก็ปกครองพวกเขาไม่ได้เพราะเขาเห็นว่าเธอเป็นเด็ก (ตอนนั้นเธออายุประมาณ 26 ปี) สุดท้ายก็ต้องเซ้งกิจการ แล้วออกไปทำงานที่คลินิกความงามด้านผิวหนังได้ระยะหนึ่ง ไม่พอใจระบบบริหาร เลยออกไปทำงานเป็นผู้จัดการคลินิกความงามและขอลงหุ้นด้วยนิดหน่อยร่วมกับน้องชายคนละครึ่ง คลินิกมีรายได้ดี แต่ตอนหลังได้งดสวัสดิการต่างๆ ที่เคยได้รับเหมือนจะบีบให้ออก เธอก็เลยออกตามความต้องการของเขา แล้วออกไปร่วมกับเพื่อนตั้งบริษัทที่ให้บริการด้าน Advertising, Organizing, and Modelling  ซึ่งก็มีปัญหาหลายอย่างและไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่เรียนมา ตอนนี้เธออยู่ในช่วงของการพิจารณาตัดสินใจว่า จะเรียนต่อปริญญาโทที่คณะการแพทย์แผนตะวันออก แขนงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งดีหรือไม่ (มหาวิทยาลัยของรัฐไม่มีหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการที่จะเรียนของเธอ) แม่เองก็ต้องข้อมูลเป็นรูปธรรม จึงได้เดินทางไปศึกษารายละเอียดทุกด้าน จากคณะในมหาวิทยาลัยที่เปิดรับ และไปดูสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยด้วย (ภาพที่เห็นภาพซ้ายคือภาพของเธอที่ถ่ายกับน้องชาย [ซึ่งเป็นสารถีขับรถบริการ] ใต้ "น้ำเต้าต้น" ที่ปลูกในบริเวณมหาวิทยาลัยที่ไปหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจเรียน ในวันที่ 30 มีนาคม 2554 ภาพขวาเป็นภาพที่เธอ [คนขวามือ] ถ่ายกับเพื่อน ขณะเตรียมอาหารถวายเพลพระที่วัดบวร ในวันที่ 31 มีนาคม 2554 เธอเป็นคนที่ชอบศึกษาธรรมมะและชอบปฏิบัติธรรมในวันที่ 1 เมษายน 2554 ได้ไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ แยกกันเดิน เธอได้หนังสือมา 7 เล่มบางเล่มแจกฟรี ทั้ง 7 เล่มเป็นหนังสือธรรมะ น้องชายซื้อหนังสือท่องเที่ยว แม่ซื้อหลากหลายทั้งวิชาการ การตัดต่อ VDO ไว้ใช้ผลิตสื่อ DVD และหนังสือเกี่ยวกับสมุนไพร [ซื้อให้ลูกสาว] ) 

   Large_ja-ay       

           จากที่กล่าวมา ผู้เขียนก็ไม่ทราบว่า ลูกสาวเป็นคนที่เห็นคุณค่าในตนเองหรือไม่ และที่เธอเป็นเช่นที่ได้เล่าไปแล้ว เกิดจากการเลี้ยงดูที่ผิดพลาดของผู้เขียนหรือไฉน (ผู้เขียนยอมรับว่ารักและเวทนาลูกทั้งสองมากเพราะพวกเขากำพร้าพ่อตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ก็ไม่ได้เลี้ยงดูแบบรักและตามใจ อีกทั้งยังฝึกให้ช่วยงานบ้านทุกอย่างมาตั้งแต่คนโตเรียนอยู่ ป. 3 และคนเล็กเรียนอยู่ ป. 2 โดยไม่มีพี่เลี้ยงหรือแม่บ้าน เพราะเคยมีและพบปัญหาว่าลูกสาวมีพฤติกรรมหลายอย่างที่เลียนแบบมาจากพี่เลี้ยง) ที่แน่ๆ เธอไม่เคยคิดฆ่าตัวตาย และผู้เขียนเองก็ไม่เคยคิดเช่นกัน ไม่ว่าจะพบกับปัญหาหนักๆ มากี่ครั้งก็ตาม ทั้งนี้เพราะผู้เขียนเป็นคนที่เห็นคุณค่าในตนเอง

           ท้ายนี้ ขอสรุปว่า การเสริมสร้างความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองให้กับเด็กและเยาวชนนั้น ใช่จะมีประโยชน์เฉพาะใช้เป็นวัคซีนป้องกันการคิดฆ่าตัวตายของเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังจะก่อให้เกิดแรงขับหรือพลังผลักดัน (Drive) ของเด็กและเยาวชนที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นคนดีและคนเก่งของสังคม ต่อไป

           จึงขอความกรุณาท่านที่เข้ามาอ่านบันทึก โปรดให้ข้อคิดหรือเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับ สาเหตุของความรู้สึกว่าตนเป็นคนไร้ค่าของเด็กและเยาวชน  ผลที่ตามมาของความรู้สึกดังกล่าว และการสร้างเสริมความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองให้กับเด็กและเยาวชน (อาจกล่าวถึงบทบาทของคนในครอบครัว สถานศึกษา องค์กรทางสังคม หรือสื่อมวลชน) แล้วผู้เขียนจะนำความคิดเห็นของทุกท่านไปประมวล สังเคราะห์ และเสนอแนวทางสำหรับผู้เกี่ยวข้องนำไปประยุกต์ใช้ ในการสร้างเสริมความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองให้กับเด็กและเยาวชนของเราต่อไป ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ไห้ความร่วมมือ 

                                                             แหล่งอ้างอิง 

            วิไล แพงศรี. (2553). คู่มือการเรียนรู้วิชา 9012102 พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน. 

                      อุบลราชธานี :  คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.

            ศรีเรือน แก้วกังวาน. (2553). จิตวิทยาพัฒนาการชีวิตทุกช่วงวัย: วัยรุ่น-วัยสูงอายุ. พิมพ์ครั้งที่ 9.

                      กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

            สินีนาฏ สุทธจินดา. (ม.ป.ป.). ความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง. แผนการสอน.

            Danny [pen name]. (2011). Maslow’s Hierachy of Needs. Retrieved  April 11, 2011 from

                      http://www.oknation.net/blog/maslow_love_andbelonging_needs/       

 

        

หมายเลขบันทึก: 434889เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2011 07:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สิ่งที่ทำลาย ความมั่้นใจและการนับถือตนเอง
ของผู้เรียนก็คือระบบการศึกษาแบบอุตสาหกรรม
ที่ให้ความสำคัญกับการผ่องถ่ายความรู้ในท่อ
โดยไม่เห็นหัวของมนุษย์แปดสิบเปอร์เซ็นต์
ทีล้มเหลวท้ันที เมื่อเดินสู่ระบบนี้

สังคมปฐมภูมิ และศีลธรรมต้องกลับมา

การศึกษาบ้านเราเป็นการศึกษาแบบคัดออก เลยน่าเสียใจ คนอยากเรียนแต่ไม่ได้เรียนครับ แม่ครู

  • สวัสดีค่ะ
  • พ่อแม่คนใกล้ชิดต้องใส่ใจในความรู้สึกของเด็ก
  • หาจุดเด่นของเขามาชื่นชม ฝึกการคิด และทำให้วิกฤตเป็นโอกาส
  • อย่าตอกย้ำจุดด้อย...อ่านแล้วทำให้นึกย้อนดูหลานๆค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

ขอขอบพระคุณ คุณ Santirat Hatyainai นักกิจกรรม อ.ขจิต ฝอยทอง อาจารย์มหาวิทยาลัย อ.บวร พิมพ์ภู ผู้อำนวยการโรงเรียน คุณลำดวน ไกรคุณาศัย (เรือนรื่น) ศึกษานิเทศก์ และคุณวัฒนา คุณประเสริฐ (ไม่ทราบสถานภาพ) ที่กรุณาให้กำลังใจและ/หรือให้ความเห็น แม้ว่าบันทึกจะยังไม่สมบูรณ์ กำลังใจและความเห็นของท่านมีคุณค่ามาก ซึ่งทุกความเห็นจะได้รับการนำไปประมวลเป็นข้อสรุปแนวทางในการเสริมสร้างความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองให้กับเด็กและเยาวชนของเราโดยฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยไม่ได้มุ่งประโยชน์เฉพาะด้านการป้องกันการฆ่าตัวตาย แต่รวมถึงการตอบสนองความต้องการจำเป็นเพื่อให้เด็กและเยาวชนของเรามีความต้องการเพื่อการเจริญงอกงาม อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป บันทึกนี้ยังรอความเห็นจากหลายๆ ท่าน หลายๆ ฝ่าย เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่มีความกว้างขวาง ครอบคลุม และลุ่มลึก ขอขอบพระคุณล่วงหน้าสำหรับความเห็นต่อๆ ไปค่ะ

ขอบคุณมากครับสำหรับความรู้มากมายที่ได้รับ คงต้องช่วยกันต่อไปเพื่อการศึกษาไทยให้มีคุณภาพเพื่อผู้เรียนอย่างแท้จริงครับ ในความคิดส่วนตัวผมคิดว่าการศึกษาทุกวันผู้เรียนยังไม่มุ่งความรู้อย่างแท้จริงนัก ส่วนมากเรียนเืพื่อสอบ สอบเสร็จก็ทิ้งหมด การสอนก็สอนเพื่อสอบเช่นกัน สอบเสร็จก็ให้เกรดจบไป การวัดประเมินผลคงต้องปรับเปลี่ยนกันต่อไป เพื่อให้เข้าถึงคุณภาพของบัณฑิตที่พึงประสงค์ครับ จะติดตามต่อไปครับ

ขอบคุณสำหรับ "Case " ได้รับความรู้มากมาย อย่างน้อยจะเป็นบุคคลหนึ่งที่จะพยายามส่งเสริมให้เยาวชนเกิดการเห็นคุณค่าของตนเองจะพยายามค่ะ

        ขอบคุณค่ะน้องประถม ที่กรุณาให้ความสนใจเข้ามาแลกเปลี่ยนกันอีกครั้ง ความเห็นของน้องเกี่ยวกับ "การเรียนการสอนที่มีเป้าหมายเพื่อสอบทั้งผู้สอนและผู้เรียน เมื่อสอบเสร็จผู้สอนส่งผลการเรียนและผู้เรียนรู้ผลการเรียนก็เป็นอันจบกัน" นั้น เป็นจุดอ่อนของการศึกษาไทยทุกระดับ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษา พี่เองได้เห็นสภาพการณ์ในลักษณะนี้มากว่า 30 ปี นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2520 ที่เริ่มรับราชการในสถาบันอุดมศึกษามาจนถึงปัจจุบัน ช่างป็นการเรียนการสอนที่เข้ากันไม่ได้เลยกับยุคสังคม-เศรษฐกิจ ฐานความรู้ (Knowledge-based Society and Economy)  แต่บันทึกเกี่ยวกับประเด็นทางการศึกษาและการเรียนการสอนในลักษณะนี้พี่จะบันทึกใน Blog "Learntoknow" ลองแวะเข้าไปอ่านดูนะคะเผื่อจะได้ให้ความเห็นที่มีคุณค่าอย่างที่พี่เคยได้รับจากน้องเช่นในบันทึกนี้ อ้อ! ตอนนี้พี่มีบันทึกที่ 2 ใน Blog "Pridetoknow" ที่ปรับจาก Blog "Plantoknow" เพื่อให้มีความหมายสอดคล้องกับแรงจูงใจในการเขียน Blog ไม่ทราบว่าแวะไปอ่านแล้วยังคะ บันทึกที่ 2 เป็นตอนที่แนะนำที่ตั้งฟาร์มเผื่อจะมีโอกาสไปเยี่ยม ถ้าไปในช่วงปลายเดือนมิถุนายน-ตุลาคม จะได้ชมสวนแก้วมังกรที่กำลังมีลูกสุกเต็มสวน และได้ลิ้มรสแก้วมังกรสีแดงที่ผู้บริโภคทุกคนติดใจนะคะ   

        และขอขอบคุณ น้อง (น่าจะเป็นลูกมากกว่า) กรรณิการ์ วิศิษฐ์โชติอังกูร จากเมืองที่เป็นความฝันของพี่ที่จะต้องไปเยี่ยมชมซึ่งจะต้องทำให้เป็นจริงขึ้นมาสักวันหนึ่ง ไปดูงานที่เมืองเหนือมา 4 ครั้ง ยังไม่มีโอกาสไปเยี่ยมเมืองภูมิลำเนาของน้องแม้แต่ครั้งเดียว คือ เมือง "หมอกสามฤดู กองมูเสียดฟ้า ป่าเขียวขจี ผู้คนดี ประเพณีงาม ลือนามถิ่นบัวตอง" บรรยากาศการทำงานที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบรรยากาศโดยรวมของมรภ.เทพสตรีเป็นยังไงบ้างคะ พี่เคยไปดูงานที่นี่ครั้งหนึ่งนานมาแล้วสมัยที่ยังทำงานอยู่ที่วิทยาลัยครูสุรินทร์ หนูคงเกิดแล้วนะคะในตอนนั้น พี่ดีใจมากที่บันทึกของพี่ทำให้น้องแสดงความตั้งใจที่จะพยายามส่งเสริมให้เยาวชนเห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จจะก่อให้เกิดอานิสงส์มากค่ะ เพราะจะเป็นพื้นฐานให้เยาวชนมีแรงจูงใจที่จะทำในสิ่งที่ดีๆ และมีคุณค่าทั้งต่อตนเอง ต่อคนอื่น และต่อสังคมโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏของเรา จำเป็นจะต้องได้รับการส่งเสริมการเห็นคุณค่าในตนเองมาก เพราะภาพพจน์จากมุมมองของสังคม มักจะมองว่านักศึกษาของเรามีความอ่อนด้อยทางวิชาการมากกว่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงมาก่อน ซึ่งพี่เองก็ได้พยายามกระตุ้นให้นักศึกษาทุกหมู่เรียนที่ได้สอน มีแรงจูงใจที่จะพัฒนาตนเองตามคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ เพื่อเปลี่ยนภาพพจน์ของบัณฑิตจากมรภ. ให้ดีขึ้น (พี่มีโอกาสสอนนักศึกษาชั้นปีที่ 1-2 จากทุกคณะ แทบทุกสาขาวิชา ใน 2 รายวิชา คือ วิชาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน และรายวิชาการพัฒนาทักษะการคิด) ถ้าน้องทำได้ผลเป็นยังไงเขียนไปเล่าให้ฟังบ้างนะคะ อ้อ! น้องสอนด้าน Food Science ใช่ไหมคะ พี่สนใจหาความรู้ในเรื่องนี้ ไม่ทราบน้องมีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องประเภทนี้หรือเปล่า ถ้ามีพี่จะติดตามอ่าน

ในยามสังคมเร่งรีบ แข่งขันสูง การให้กำลังใจเด็กๆ เป็นสิ่งสำคัญค่ะ อ่านแล้วได้ประโยชน์มากค่ะ

         ขอบคุณ คุณ "Noktalay" (คุณครูรุจิดา สุขใส จากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา หาดใหญ่ สงขลา) มากนะคะ ที่กรุณาเข้ามาอ่านบันทึกและให้ความเห็น ความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา  จะเกิดจากการรับรู้ว่า บุคคลแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณครู เห็นคุณค่าของพวกเขาแค่ไหน พี่เคยสนับสนุนให้พี่สาวคนโตทำการศึกษารายกรณี (Case Study) เด็กนักเรียนป.6 คนหนึ่ง ที่ทั้งครูและเพื่อนในโรงเรียนตีตรา (Label) ว่าเขาเป็นเด็กเกเรและไม่มีใครยอมรับ ยิ่งคนมองว่าเขาเป็นเด็กเกเร เขาก็ยิ่งทำตัวเกเร พี่ถามว่าเขามีข้อดีบ้างไหม ตอนแรกพี่สาวบอกไม่มี เรียนก็ไม่เก่ง แต่งตัวก็สกปรก ชอบรังแกเพื่อนเพราะตัวโตกว่า และ...อ้อ! มีเหมือนกันเวลาเรียนเกษตรเขาจะขุดดินเก่งกว่าเพื่อน และปีนต้นมะขามเก่ง พี่ก็บอกว่านั่นแหละ ต้องแสดงความชื่นชมเขาในชั่วโมงเกษตร วานเขาให้เก็บฝักมะขามให้ (คอยระวังปีนพลาดด้วย) และพูดกับเขาว่า ถ้าไม่มีเขาช่วย ครูก็จะไม่ได้กินมะขาม และให้เขาเป็นหัวหน้าห้องในภาคเรียนใหม่ ซึ่งได้ผลดีมาก เพราะตำแหน่งหัวหน้าห้อง ทำให้เขารู้สึกว่าครูและเพื่อนให้การยอมรับเขา เขาจึงทำตัวดีขึ้นตามความคาดหวังของครู แถมยังเป็นหัวหน้าที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่าคนก่อนเสียอีก       

  • สวัสดีค่ะ
  • มาอีกรอบ
  • ข้อความนี้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้คิดถึงเรื่อง ทักษะชีวิต ที่เราต้องฝึกวิธีคิด การปฏิบัติตัวให้เด็ก
  • และลำดวนได้นำมาเป็นประเด็นสำคัญในการพูดคุยกับคุณครูค่ะ
  • ขอบคุณที่ไปเติมเต็มบันทึกของลำดวนค่ะ

 

   ขอบคุณ ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ ค่ะ ที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท