I'M-ไวรัสตับอักเสบ บี #1


ไวรัสตับอักเสบบี pegasys interferon

ช่วง 2 - 3 ปี ที่ผ่านมาได้ยินข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคตับค่อนข้างถี่มาก โดยเฉพาะคน กศน. ทั้งที่รู้จักนับถือโดยส่วนตัว มีทั้งท่านที่สนิทสนม และไม่สนิทสนม น่าจะเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าน่ากลัวจริงๆ ย้อนไปประมาณปี 2530 ตอนที่ไปทำงานที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดร้อยเอ็ดได้มีโอกาสรู้จักนับถืออาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยดีมาก พูดง่ายๆ ก็ใจดีให้คำแนะนำน้องๆ ในการทำงาน คือ อาจารย์ประวัติ สุพร ตอนนั้นท่านเพิ่งจบปริญญาโท จากประสานมิตรใหม่ๆ ทราบข่าวว่าเสียชีวิตด้วยโรคตับ รู้สึกเสียใจ และเสียดาย ทราบว่าท่านป่วยมานานแล้ว แต่อาการไม่รุนแรง มักจะเห็นท่านพกขวดยาธาตุน้ำขาวเป็นประจำ ท่านบอกว่าท้องอืดบ่อย...สุดท้ายมาทราบว่าป่วยหนักก็สุดจะเยียวยาแล้ว หลังจากนั้นอีกหลายปีต่อมาหลังจากย้ายมาทำงานที่สระบุรี ก็ทราบว่าอาจารย์อีกท่านหนึ่งก็ป่วยด้วยโรคตับเหมือนกันท่านคือ อาจารย์บัญญัติ สืบชมภู โดยส่วนตัวแล้วค่อนข้างสนิทสนมกับอาจารย์บัญญัติ เพราะท่านเป็นหัวหน้าโดยตรง สั่งสอนทุกเรื่องยังจำคำสอนของท่านมาจนทุกวันนี้ ขอยกตัวอย่างสักเรื่อง 2 เรื่องที่ท่านสอนไว้ยังจำได้และปฏิบัติตัวจนทุกวันนี้

     เรื่องแรกสมัยนั้น กศน.ร้อยเอ็ดจะมีชื่อเสียงเรื่องการจัดงานประเพณีบุญแข่งเรือ งานกาชาดประจำปี ได้รับความไว้วางใจจากจังหวัดร้อยเอ็ดให้เป็นแม่งาน โดยเฉพาะเรื่องเครื่องเสียงประชาสัมพันธ์ อาจารย์บัญญัติเป็นบรมจารย์ด้านนี้เลย ด้วยลักษณะพื้นที่จัดงานเป็นสวนสาธารณะ มีบึงพลาญชัยเป็นสนามประลอง ดังนั้นจึงต้องติดตั้งลำโพงกันในน้ำเลย มีอยู่คืนหนึ่ง ประมาณ 3 ทุ่มกว่าแล้ว ด้วยยังอยู่ในช่วงตระเตรียมงาน ฝ่ายจัดงานกลุ่มอื่นๆกลับบ้านกันแล้ว เหลืออาจารย์บัญญัติกับผมยังดำพุดดำว่ายในบึงพลาญชัยอยู่เลย หนาวมาก (ช่วงปีใหม่อากาศที่ร้อยเอ็ดจะหนาวววว...มาก) แกพูดให้ฟังว่า เรื่องเงินทองเป็นเรื่องสำคัญเราจะยากดีมีจนอย่างไร ไม่สำคัญ ขอให้ซื่อสัตย์เรื่องเงิน กับเพื่อนร่วมงาน กับลูกน้อง อย่าไปโกงเขา ได้เบี้ยเลี้ยงเท่าไหร่ เหนื่อยด้วยกัน กินด้วยกัน ต้องแบ่งเท่าๆกัน และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ อาจารย์บัญญัติไม่ว่าจะได้เงินมาเท่าไหร่แกไม่เคยเอาเปรียบลูกน้องเลย แบ่งเท่ากันหมด และแกถือเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก แกสอนผมว่าความซื่อสัตย์คนสมัยนี้มันหายาก แต่รักษาเอาไว้ มันจะรักษาเราเอง...ผมยังจำคำพูด น้ำเสียงแกได้ จนทุกวันนี้เหมือนเพิ่งเกิดขึ้น

    เรื่องที่สองแกสอนว่าเราเป็นผู้ชายก็จริง แต่ผู้หญิงถ้าเราไม่คิดจะจริงจังกับเขาอย่าเห็นเป็นของเล่น ครั้งแรกมันยาก แต่ครั้งต่อไปถ้าเราถลำจะถอนตัวไม่ได้ ยิ่งมาอยู่ไกลบ้านอย่างนี้ ต้องรู้จักคิด จริงๆแล้วมีรายละเอียดแกสอนไว้หลายเรื่องที่ยังจำมาจนถึงทุกวันนี้

   ที่พูดถึงอาจารย์ทั้ง 2 ท่านนี้ ด้วยความอาลัยและยังระลึกถึง น่าเสียดายที่ท่านจากไปก่อนเวลาอันควรด้วยโรคตับ และอีกหลายท่านที่ไม่ได้กล่าวถึงรวมทั้งท่าน ผอ.ชาติชาตรี โยสีดา (ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการท่านเป็น อธิบดี กศน.) ก็เสียชีวิตด้วยโรคตับ รวมทั้งพี่เปี่ยม นิติกร ที่รู้จักมักคุ้นกันดี ก็ทราบว่าท่านเสียชีวิตด้วยโรคตับเช่นกัน

   วันหนึ่งอ่านไปเจอคำสัมภาษณ์ของ รศ. นพ. ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ ประธานสมาคมศึกษาโรคตับแห่งภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค (APASL), ประธานสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย, และผู้อำนวยการสถาบันโรคทางเดินอาหารและตับฯ กล่าวว่า “การติดเชื้อไวรัสโรคตับอักเสบบีชนิดเรื้อรัง ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหลายท่านไม่ได้รับการรักษา หรือเพิกเฉยต่อการรักษา ไม่ใส่ใจจนโรคเข้าระยะลุกลาม ตับถูกทำลายจนไม่สามารถรักษาให้หายได้ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ในประเทศไทย มีผู้ป่วยที่ทราบว่าตนเองติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและที่ได้รับการรักษาเพียงน้อยกว่า 30% ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยทั้งหมด ผู้ป่วยที่เหลือไม่ทราบแม้กระทั่งว่าตนเองติดเชื้อ”

     ปัจจุบันนี้ ประชากรโลกไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ในเอเชีย พบว่ามีผู้ป่วย 8-10% ติดเชื้อไวรัสนี้จากประชากรทั้งหมด จากจำนวนผู้ติดเชื้อชนิดเรื้อรังถึงประมาณ 5% หรือ 350 ล้านคน พบว่า 25-45% ของคนกลุ่มนี้เสียชีวิตด้วยอาการตับแข็งหรือมะเร็งตับซึ่งเป็นหนึ่งในมะเร็งที่คร่าชีวิตคนเอเชียไปมากที่สุด

    กระผมมีความปรารถนาที่จะถอดประสบการณ์การรักษาไวรัสตับอักเสบ บี ที่ตนเองกำลังประสบอยู่ และทำการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ผ่านทางตัวหนังสือในพื้นที่ของ go to know เผื่อว่าท่านใดที่ผ่านมาอ่านเจอ จะได้เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือคนที่ท่านรักได้มีโอกาสทำความเข้าใจ และบอกต่อ ข้อความที่จะร้อยเรียงนับแต่วันนี้ไป (ใช้เวลารักษาประมาณ 1 ปี) หากมีความผิดพลาดหรือขัดแย้งกับข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ต้องขอกราบขอโทษด้วยเนื่องจากไม่ได้ร่ำเรียนมาโดยตรง เป็นเพียงเล่าจากประสบการณ์และที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

หมายเลขบันทึก: 434200เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2011 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท