อิ่มใจ: กราบพระธาตุริมโขง


จากใต้สู่ริมโขง

วันที่ ๒๔-๒๗ มีนาคมที่ผ่านมา ผมไปเป็นวิทยากรเรื่องการดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายร่วมกับหลวงพี่ไพศาล..พระไพศาล วิสาโล และพี่ฟ่ง..กานดาวศรี ตุลาธรรมกิจ ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งมี นพ. มนู ชัยวงศ์โรจน์ เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล และมีพี่บี..สิริกร ฤทธิธาดา เป็นผู้ประสานงาน

ปกติผมจะไม่ค่อยชอบเดินทางข้ามประเทศแบบนี้ แต่ด้วยความที่ไม่เคยไปจังหวัดนครพนมและไม่เคยสัมผัสแม่โขงแบบใกล้ๆมาก่อนในชีวิต แถมพี่บีแอบหยอดด้วยว่า จะได้มาไหว้พระธาตุ ผมก็เลยไม่คิดมาก ตอบตกลงอย่างว่าง่าย ไกลเป็นไกล ถึงจะต้องขึ้นเครื่องบินสองต่อและเป็นลำเล็กอีกต่างหาก

มีอุปสรรคในการเดินทางเรื่องหนึ่ง ตารางเวลาการอบรมที่นครพนมซ้อนกับการสอบสารนิพนธ์ของแพทย์ประจำบ้านรังสีรักษาที่กรุงเทพฯ ตอนแรกผมจึงคิดจะตามไปเฉพาะวันอบรมวันที่สองคือวันเสาร์ที่ ๒๖ แต่ไปๆมาๆ ด้วยความที่เที่ยวบินไปนครพนมมีเพียงวันละเที่ยว ผมเลยยกเลิกงานที่กรุงเทพฯ แล้วเดินทางไปนครพนมตั้งแต่วันแรก ซึ่งเป็นโอกาสให้ผมได้อยู่นครพนมนานขึ้น


พระธาตุในดวงใจ

พระธาตุที่ผมมีโอกาสเดินทางไปกราบครั้งนี้ คือ พระธาตุพนม ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ธาตุพนม ห่างจากสนามบินและตัวจังหวัดไปทางใต้ประมาณ​ ๕๐ กิโลเมตร พี่บีเอารถโรงพยาบาลมารับที่สนามบิน แล้วจัดการให้พี่ฟ่งกับผมได้ไปสักการะพระธาตุเป็นสิ่งแรกที่ทำเมื่อถึงอ.ธาตุพนม

ในบรรดาพระธาตุสำคัญๆในประเทศ พระธาตุพนมองค์นี้ เป็นพระธาตุที่ผมมีโอกาสมากราบน้อยที่สุด เพราะอยู่ไกล ส่วนพระธาตุสำคัญทางภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็น พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุดอยตุง พระธาตุหริภุญไชย พระธาตุช่อแฮ ซึ่งเหมือนจะไกลกว่า แต่ก็อยู่ในบริเวณแหล่งท่องเที่ยวซึ่งผมมีโอกาสได้ไปสักการะมาหมดแล้วกับครอบครัว

แต่พระธาตุพนมองค์นี้ กลับเป็นพระธาตุที่ผมรู้รายละเอียดประวัติความเป็นมามากที่สุด ตั้งแต่ยังเรียนชั้นประถม มากกว่าพระธาตุใกล้บ้านอย่างพระธาตุเมืองนครฯ พระธาตุไชยา เสียอีก ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น คงเป็นเพราะว่า พระธาตุพนมมีรูปทรงแปลกตา สัณฐานเป็นสี่เหลียมสูงสง่าและมีลวดลายประดับภายนอกงดงามแตกต่างจากพระธาตุอื่นๆที่ผมคุ้นเคย

และเหตุผลที่สำคัญมากที่ทำให้ผมสนใจพระธาตุองค์นี้เป็นพิเศษ เพราะในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ องค์พระธาตุได้ทลายลงมาเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ ผมยังจำได้ว่า แม้แต่งานลอยกระทงในโรงเรียนคริสต์อย่างอัสสัมชัญ ศรีราชา โรงเรียนเก่าผมที่ชลบุรี เรายังทำกระทงเป็นรูปพระธาตุพนมเลย และเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ผมถึงกับเข้าห้องสมุดไปค้นเรื่องพระธาตุองค์นี้มาอ่าน แล้วเมื่อยิ่งได้อ่าน ศิษย์สำนักต่วยตูนที่ชอบเรื่องเกร็ดประวัติศาสตร์สนุกตื่นเต้นอย่างผม ก็ยิ่งหลงใหล ยิ่งหาข้อมูลมาอ่านอย่างเมามัน หลายๆเรื่องยังคงอยู่ในความทรงจำของผมมาถึงทุกวันนี้

สิ่งหนึ่งที่เป็นคำถามค้างคาใจผมตั้งแต่ตอนนั้น คือ เมื่อพระธาตุพังทลายลงมาแล้ว พอบูรณะขึ้นมาใหม่ พระธาตุจะยังคงความศักดิ์สิทธิ์เหมือนเดิมหรือเปล่านะ ความคิดเด็กๆของผมตั้งคำถาม


บ่ายวันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มีนาคม ที่เราไปกราบพระธาตุกันนั้น ท้องฟ้าสดใสมาก ฟ้าเป็นฟ้า ไม่มีเมฆขาวปะปนเลย ดูได้จากรูปข้างบน

วันแรกนี้ เราใช้เวลาที่วัดไม่นานนัก เพียงแค่กราบพระธาตุกับพระประธานในหอพระแก้วเดิมแล้วก็เดินทางต่อไปโรงพยาบาล

วัฒนธรรม..ไปลา มาไหว้ เวลาไปไหนต้องไปไหว้พระในห้องพระ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านนั้นก่อนเป็นสิ่งแรก เป็นสิ่งที่ผมถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก การได้มากราบพระก่อนปฏิบัติงานครั้งนี้ ทำให้ผมมั่นอกมั่นใจในสิ่งที่จะทำต่อไปมาก และยังคิดอยู่ในใจว่า จะต้องหาเวลากลับมากราบพระธาตุอีกให้ได้


วันนี้มีเรื่องบังเอิญเรื่องแรกเกิดขึ้น ตอนที่ผมมาถึงอ.ธาตุพนม ริมฝั่งโขง เพื่อนชาวลาวของผมคนหนึ่งก็โทรศัพท์ถึงผม ทั้งๆที่เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมมานครพนม เขายังบอกด้วยว่า จากฝั่งโน่นบ้านเขา ยังมองเห็นยอดพระธาตุพนมเลย แต่ตอนนี้เขาอยู่กรุงเทพฯ

ครับ ยังมีเรื่องบังเอิญอีกหลายเรื่องในการเดินทางครั้งนี้ ติดตามต่อในบันทึกต่อไปนะครับ พร้อมกับ การค้นหาคำตอบสำหรับคำถาม ๓๖ ปีเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุพนม

หมายเลขบันทึก: 433786เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2011 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กราบนมัสการพระธาตุค่ะ  สาธุ  สาธุ  สาธุ

ดิฉันรู้สึกมีบุญที่ได้ติดตามบันทึกของคุณหมอ มากราบนมัสการพระธาตุ ด้วยค่ะ..

ขอบคุณค่ะ  คุณหมอ นาย เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี 

on time

  • ดีใจครับ ที่มีคนเห็นประโยชน์ของบันทึกนี้

ห่างหายไปหลายเพลา ตามอ.หมอชีพจรลงเท้า เก็บตกบันทึกท่องแดนอิสาน

ประทับใจเมืองเรณูนครเช่นกันค่ะ ยิ่งสะดุดตากับรูปทรงของพระธาตุพนม ทีดูมีส่วนโค้งไหว อรชร ลวดลายอ่อนช้อย แตกต่างจากที่เคยเห้นพระธาตุทางใต้ ปูเลยคิดไปตามประสา หากเปรียบพระธาตุนครศรีฯ เพศชาย แล้วพระธาตุพนมคงเพศหญิง ?

ภาพสดใส ฟ้าเป็นใจ แถมได้ความรู้รอบวัด ด้วยนะคะเนี่ย ขอบคุณค่ะ 

Ico48

  • ถ้าติดตามการบูรณะพระธาตุพนมในยุคต่างๆ ก็มีวิวัฒนาการตามรสนิยมของคนแต่ละยุคครับ
  • สมัยหนึ่ง เดาเอาเองนะครับ ชอบบูรณะเติมยอดแหลมปรี๊ดให้กับเจดีย์สำคัญๆจนผิดแบนผิดแผนไปเยอะเลย ทั้งพระธาตุพนมที่นี่ และพระบรมธาตุไชยา
  • เราเห็นตอนนี้อาจจะชิน แต่คนโบราณมาเห็นอาจจะ
  • ..งง ว่า มาทำอะไรพระธาตุของข้านี่
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท