เทริดโนรา-หน้าพราน


ในพิธีครอบเทริด หรือผูกผ้าใหญ่ หลังจากพิธีตัดจุกแล้ว หากผู้เข้าพิธียังไม่เคยตัดจุก จะต้องทำพิธีตัดจุกก่อน และต้องมีอายุครบ ๒๒ ปีเป็นโสด หากแต่งงานมาแล้วต้องทำใบหย่าร้างโดยสมมุติกับภรรยาเพื่อมิให้ “ปราชิก” ซึ่งผิดกฎสำหรับโนรา ในอดีตเมื่อครอบเทริดแล้วต้องไปรำ “สามวัดสามบ้าน” แล้วจึงมาเข้าพิธีอุปสมบทจึงจะถือว่าเป็นโนราโดยสมบูรณ์ แต่ในปัจจุบันสามารถอุปสมบทได้เลย

  

เทริดโนรา และ หน้าพราน

 

 

 

 

 

 เทริดโนรา - หน้าพราน เครื่องทรงของโนรา ศิลปการแสดงพื้นบ้านภาคใต้

       เทริด เป็นเครื่องประดับศีรษะของตัวนายโรง หรือโนราใหญ่ หรือตัวยืนเครื่อง (โบราณไม่นิยมให้นางรำใช้) ทำเป็นรูปมงกุฎอย่างเตี้ย มีกรอบหน้า มีด้ายมงคลประกอบ ในพิธีครอบเทริด หรือผูกผ้าใหญ่ หลังจากพิธีตัดจุกแล้ว หากผู้เข้าพิธียังไม่เคยตัดจุก จะต้องทำพิธีตัดจุกก่อน และต้องมีอายุครบ ๒๒ ปีเป็นโสด หากแต่งงานมาแล้วต้องทำใบหย่าร้างโดยสมมุติกับภรรยาเพื่อมิให้ “ปราชิก” ซึ่งผิดกฎสำหรับโนรา ในอดีตเมื่อครอบเทริดแล้วต้องไปรำ “สามวัดสามบ้าน” แล้วจึงมาเข้าพิธีอุปสมบทจึงจะถือว่าเป็นโนราโดยสมบูรณ์ แต่ในปัจจุบันสามารถอุปสมบทได้เลย

เทริดโนรา หมายถึงเครื่องสวมศีรษะลักษณะคล้ายชฎา แต่มีรูปทรงสั้นกว่า มีโครงสร้างทำด้วยโลหะหรือไม้ไผ่สาน ตกแต่งรายละเอียดด้วยการปั้นรักติดเป็นลวดลาย ลงรักปิดทอง ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีหรือวัสดุอื่นที่เหมาะสม เทริดที่ผ่านการทำพิธีบูชาครูโนรา

เทริดโนราที่มีลักษณะคล้ายชฎา

แล้ว ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในพิธีผูกผ้าใหญ่ หรือแต่งพอก หรือพิธีโนราโรงครู โดยจัดวางเทริดไว้บนปะรำพิธีด้านบนและหย่อนเทริดเพื่อครอบให้กับโนราที่ฝึกรำจนชำนาญแล้ว โดยมีครูโนราหรืออุปัชฌาย์ยืนคอยช่วยสวมเทริดให้ครอบศีรษะโนราใหม่ เทริดโนรา ต้องประณีต สวยงาม มีขนาด รูปทรง และสัดส่วนเป็นไปตามลักษณะที่ดีของเทริดโนรา มีองค์ประกอบครบถ้วนลวดลายต้องประณีต สวยงาม ถูกต้องตามแบบของเทริดโนราการประกอบและตกแต่งด้วยวัสดุอื่นต้องประณีต ติดแน่น คงทน บริเวณรอยต่อต้องเรียบร้อย ไม่มีรอยเปรอะเปื้อนของวัสดุที่ใช้ยึดติดชิ้นส่วน สีที่ทาต้องสม่ำเสมอ ติดแน่น คงทน ไม่หลุด หรือลอก

     การทำเทริดโนรา ของภูมิปัญญา หรือช่างทำเทริดโนรา จะทำด้วยไม้ทองหลางใบมน นำมาขุด แกะ เหลาด้วยมือ และกลึงในส่วนยอด      

ภูมิปัญญา หรือช่างพื้นบ้านในการทำเทริดโนรา

 ส่วนการทำหน้าพราน จะทำด้วยไม้รักน้ำ ไม้มะยม ไม้ขนุน ไม้มะพูด และไม้ยอ ตามคติความเชื่อของคนโบราณ ทำการแกะสลักด้วยมือทาสีสวยงามประกอบผมด้วยผ้าสักหลาด พร้อมลูกปัด ทำได้ประณีตสวยงาม ทั้งหน้าชาย (พราน) และหน้าหญิง (ทาสีหรืออีแตน)

     

ด้านในหน้าพรานที่ทำด้วยไม้ชนิดต่างๆตามคติความเชื่อ(ซ้าย) เช่นไม้ขนุน ไม้ยอ ไม้มะพูด หรือไม้รัก  หน้าพรานด้านนอก(ขวา)

  หน้าพราน เป็นหน้ากากสำหรับตัว "พราน" ซึ่งเป็นตัวตลก ใช้ไม้แกะเป็นรูปใบหน้า ไม่มีส่วนที่เป็นคาง ทำจมูกยื่นยาว ปลายจมูกงุ้มเล็กน้อย เจาะรูตรงส่วนที่เป็นตาดำ ให้ผู้สวมมองเห็นได้ถนัด ทาสีแดงทั้งหมด เว้นแต่ส่วนที่เป็นฟันทำด้วยโลหะสีขาว หรือทาสีขาว หรืออาจลี่ยมฟัน (มีเฉพาะฟันบน) ส่วนบนต่อจากหน้าผากใช้ขนเป็ด หรือห่านสีขาวติดทาบไว้ต่างผมหงอก

หน้าพราน มีความสำคัญและอำนาจในทางศักดิ์สิทธิ์ไม่น้อยไปกว่าเทริดของโนรา เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล เห็นได้จากในช่วงเข้าทรงตายาย มักเรียกลูกหลานให้เข้ามารำพรานเพื่อความโชคดี มีผู้สันนิษฐานว่า สาเหตุที่หน้าพรานมีความสำคัญเทียบเท่ากับเทริดของโนรา ก็เนื่องมาจากในอดีต "พราน" เป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อสังคมยุคเก็บของป่าล่าสัตว์ และก่อนที่ชาวบ้านจะรับวัฒนธรรมโนราเข้ามา ชาวบ้านเคยรำพรานในพิธีโรงครูอยู่แล้ว พรานจึงเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี และชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเทียบเท่าโนรา เห็นได้จากตำแหน่งของหน้าพราน หากยังไม่ได้นำมาสวม จะต้องวางบนพาไล ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับบูชาใกล้กับเทริดของโนราเท่านั้น

หน้าพรานแดง หรือหน้าพรานบุญที่นิยมใช้เล่นในการแสดงมโนรา และการแก้บนในการรำโนราลงครู

จากการบอกเล่าของ โนราลั่น เพชรสุข อายุ ๙๖ ปี โนราชาวทะเลน้อย อำเภอควนขนุน เล่าว่าพรานที่โนราและชาวบ้านทั้งหลายนับถือ มีทั้ง พรานเฒ่าหน้าทอง พรานบุญหน้าแดง พรานเทพ และพรานนวล  โดยเฉพาะ "พรานเฒ่าหน้าทอง" เป็นพรานที่โนราพัทลุง และชาวพัทลุง นับถือมาก เนื่องจากเป็นคนมีศีลมีสัตย์ บนบานรับ จึงติดทองที่หน้าพรานทุกครั้งที่บนรับจนเต็มหน้า ต่อมาจึงได้มีการทำ "หน้าพรานทอง" หรือ "พรานหน้าทอง" ไว้สำหรับตั้งหิ้งบูชา

พรานหน้าทอง

  ที่บ้านท่าช้าง หมู่ที่ ๕ ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โนราปรีชา เพชรสุก  ปัจจุบันอายุ ๖๖ ปี มีความรู้ความสามารถในการทำเทริดโนรา และหน้าพราน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาด้านศิลปการ เดิมจะทำหน้าพรานตามที่มีคนมาสั่งให้ทำสามารถทำเทริดได้เดือนละ ๓ เทริดราคาค่าทำเทริดละ ๔,๐๐๐ บาท แลหน้าพรานราคาในการสั่งทำหน้าละ ๑,๗๐๐ - ๒,๐๐๐ บาท

โนราปรีชา ช่างภูมิปัญญาในการทำเทริด - หน้าพราน คนหนึ่งของพัทลุง

 

 

หมายเลขบันทึก: 432616เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2011 19:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

(ไม้มะพูด)    สวัสดีครับครู  นานแล้วไม่ได้ยินชื่อไม้พูด 

นึกถึงส้มพูด นึกถึงปลาปัญญา  (ปลาปัญญา แกงกับส้มแหลงได้ ) ปลาหลาดแกงส้มพูด หรอยจ้าน แล้วต้นปาบ ก็ไม่เห็นนานแล้วครับครู

ขออนุญาตครู สื่อผ่าน คนโหนดด้วน ช่วยเขียนบันทึก ประธารกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ปากพะยูนจะแวะมาแลกเปลี่ยน สหกรณ์คืออาจารย์ทางบัญชีของกลุ่มเกษตรกร

ขอบคุณผู้เฒ่าเท่แหลงถึงต้นปาบ ไม้หายากบ้านเรา เหอว่าไม้พันธุ์พื้นบ้านหลายๆสิ่ง เช่น ต้นกะ เท่เขาเอาใบมาเผาเป็นถ่านแล้วทิ่มคลุกกับขุยเต่าร้างทำเป็นปุยเหล็กไฟตบ แล้วกะอีกหลายต้น เช่น ต้นเครียะ หรือต้นเถียะ ต้นกลิ้ง ส่วนต้นปาบหรือม่วงกะเทย หรือม่วงทำเหมีย ตอนนี้สงขลากำลังขยายพันธุ์ แต่ที่นครทำแล้ว พัทลุงกะยังมาก แต่วามีคนเอาหัวมันมาให้แล บอกว่าคนคอนเรียก ลูกหล่นทึ ตามคนตรัง แต่คนพัทลุงเรียก มันหล่น(แก่หล่นจากย่านที่ขึ้นพันต้นไม้เอง) หรือมันห่ม(ขย่ม)คนพัทลุงรู้จักดี

                            

                           มันหล่น หรือมันหม(ขย่ม)                                         ต้นกะ

  •     ของฝากผู้เฒ่าวอญ่า

สวัสดีครับครู  กินข้าวเที่ยงแล้ว หม้าย  มันหล่น ชอบชื่อ หลนทึมากกว่า ให้ความรู้สึกเห็นภาพ ต้นปาบ กำลังหามาปลูกที่บ้านสักต้น  แกงส้มปาบหรอยนิ

หวัดดีครับ..บัง..วันนี้ทีมงานโรง'ยาบาล ปากยูนนำชาวบ้านทั้งสาวทั้งแก่มาเข้าค่ายอบรมที่วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน พนางตุง เดินเงิ้งๆแลไม่เห็นบัง..ว่าอิเอาต้น..นางที่เพาะไว้ให้ไปทำพันธุสัก ๒ ต้น..ไม่โร้อิฝากกับใคร..แม่หม้าย..คนไหน..กะไม่โร้จัก..ไม่แน่ว่าแด็กของบัง..มามั่งหม้าย..ช่วยบอกให้เข้ามาเอาที..

สวัสดีค่ะครูฑูรย์

  • วันนี้มีเวลา แวะมาหาความรู้ เก็บเกี่ยวเรื่องราวบ้านบ้าน
  • ตอนนี้ครูอิงได้รับเกียรติให้เขียนบันทึกเรื่อง โนราเติม วิน วาด
  • จากทายาทของโนราเติมค่ะ
  • หากครูฑูรย์มีข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับโนราเติม  ขอความอนุเคราะห์โพสข้อความ
  • เล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ  ขอบพระคุณค่ะ
  • ขอย้อนไปอ่านบันทึกต่อไปก่อนนะคะ

เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมทำหน้าที่บรรณาธิการงานเขียนเรื่อง "ของดีที่เหลือไว้" เป็นเรื่องเล่า เรื่องราว ของบ้านเชิงแส ครั้งในอดีตที่พอสาวเรื่องราวได้ มีอยู่ตอนหนึ่งมีคนเล่าถึงการแข่งโนราที่วัดเชิงแสกลาง ระหว่าโนราเติมกับ โนราอะไรจำชื่อไม่ได้แล้ว เพียงแต่ว่าเป็นการท้าพนันเมียกัน ผลโนราเติมชนะ ผมสงสัยเลยเลียบเคียงถามผู้ที่อยู่ในวงการ..เขาก็บอกว่าเป็นเช่นนั้นจริง..เพื่อให้ชัดเจนเคยโทร.ถามน้องแต้ว..ๆบอกว่าไม่มีข้อมูลจริงๆในการเขียนประวัติคนใดคนหนึ่ง..ถ้ามีเกล็ด..ของครรลองชีวิต..ได้บันทึกไว้จะเป็นสีสันที่น่าสนใจ และน่าอ่านทีเดียว

ขอบคุณครับสำหรับความรู้ดีๆมีคุณค่า....ไม่ทราบว่ามโนราห์ปรีชามีเบอร์โทรรึเปล่าผมอยู่ไกลอยากจะสั่งหน้าพรานนะครับ

ขอบคุณ..คุณสิทธิบดีที่เข้าเยี่ยมชม และให้ความสนใจกับภูมิปัญญา "หน้าพราน" โนราปรีชา เพชรสุกบ้านท่าช้าง หมายเลขโทร.๐๘-๙๒๙๘-๐๔๒๑ มีทั้งหน้าพราน หน้าทาสี หน้าละ ๒,๐๐๐ บาท และเทริดโนรา อันนี้ผมไม่แน่ใจในสนนราคา..เดิมอยู่ที่เทริดละ ๔,๐๐๐ บาท ลองโทร.คุยประสานกันเองนะครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท