English & Thinglish 3 : การเรียนคำศัพท์อังกฤษเป็นคำๆ


การเรียนคำศัพท์อังกฤษเป็นคำๆที่ไม่ประสบความสำเร็จเกิดจากจุดอ่อนสามด้าน

         การเรียนคำศัพท์อังกฤษเป็นคำๆ  ที่ไม่ประสบความสำเร็จ เกิดจากจุดอ่อนสามด้าน คือ  ๑) เสียงของทั้งสองภาษา  ๒) การไม่ใส่ใจกับสถานะของคำอังกฤษ  และ   ๓) การเรียงลำดับคำเมื่อนำมาผสมเป็นคำใหม่หรือวลี

         จุดอ่อนแรก เกิดจากธรรมชาติทางชีววิทยา ซึ่งทำให้เราออกเสียงหลายเสียงไม่ได้  ต้องฝึกอย่างจริงจังมากๆ จึงจะทำได้ดี หรือพอทำได้  ธรรมชาตินี้มีในทุกชาติพันธุ์ ไม่ควรถือเป็นปมด้อย  เสียงที่คนไทยเราไม่มีแต่แรก  ได้แก่ sh, z, th, v, r   กับเสียงท้ายคำจำพวก  -l, -ched, -shed, -s, -st, t, -ve, -f  ซึ่งทำให้เราออกเสียงได้ไม่ครบ ต้องฝึกต้องพยายามถึงจะทำได้ 

        คำอังกฤษและคำของชาวยุโรปชาติอื่นๆ ที่เราได้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ที่ถูกจับบวชเป็นเสียงไทยๆ ด้วยสาเหตุดังกล่าวข้างต้นนั้นมีมาก และบางคำต่างจากเดิมมากจนเราคิดว่าเป็นคำของไทยเรามาแต่เดิมก็มีไม่น้อย ดังจะยกตัวอย่างโดยวงเล็บคำฝรั่งให้ดูเทียบกันเป็นคู่ๆ ดังนี้

        ขนมปัง(pain)     กาละแม(caramel)     ฝรั่ง(France)      โปรตุเกส(Portuguese)   ธนาคารสยามกัมมาจล (Siam Commercial Bank)     ร้อยเอกหันแตร บารนี(Captain Henry Berney)     หมูสะเต๊ะ(steak)   แป๊บน้ำ(pipe)    รองเท้าคัตชู(casual shoes)    คัตซี(chassis)    โช้คอัพ(shock absorber)  เป็นต้น  คำไทยเหล่านี้ พอเอากลับไปใช้กับคนอังกฤษ ทำยังไงๆ เขาก็ฟังไม่รู้เรื่องแน่นอน

       คำที่ยกตัวอย่างข้างต้น ถ้าเป็นคำหลายพยางค์ เจ้าของภาษาจะออกเสียงโดยมีพยางค์ที่เน้นหนักที่สุดแห่งเดียว แต่คนไทยออกเสียงหนักเท่ากันหมด และใส่เสียงวรรณยุกต์กำกับไว้ตายตัวทุกพยางค์ เปลี่ยนไม่ได้ชั่วกาลนาน  ตัวอย่างชัดๆ ง่ายๆ ที่พบทั่วไป คือ EX  ที่อยู่หน้าคำต่างๆจะถูกคนไทยใส่เสียงวรรณยุกต์ตรีไว้ตลอด ถอดไม่ได้   exit, exam, exact, export(v.) ตามเสียงของคนไทยส่วนมากจึงไม่ตรงกับเจ้าของภาษาเลยสักคำ

      สรุปได้ว่า ต่อให้เขียนอย่างเดียวกันกับเขา  เสียงเราก็ยังไม่ตรงกับเขาอยู่ดี  เพราะเราไม่ยอมทิ้งวรรณยุกต์นี่เอง  และเรื่องวรรณยุกต์นี้  ฝรั่งเขาก็ไม่รับรู้เลย  ถ้าเราสอนเขาพูดว่า “ฉันชอบขี่ม้า”  เขาอาจพูดว่า “ฉันชอบขี้หมา” อย่างภาคภูมิใจก็ได้ว่าตัวเองพูดชัดแล้ว เพราะคำๆหนึ่งของเขาเปลี่ยนเสียงได้หลายเสียง    สำหรับเขา ขี่ กับ ขี้ คือคำเดียวความหมายเดียวที่ออกเสียงได้สองเสียง  และ ม้า กับ หมา ก็เช่นกัน  เพราะต่างฝ่ายต่างไม่รู้เรื่องของอีกฝ่าย เสียงจึงเป็นปัญหาอมตะปัญหาหนึ่ง

       จุดอ่อนที่สอง การไม่ใส่ใจกับสถานะของคำ นอกจากได้ยินเป็นปกติแล้ว ยังพบในการเขียนคำอังกฤษด้วยอักษรโรมัน อีกด้วย  ซึ่งปัญหาแรกคือมักเขียนเอกพจน์กับคำที่ควรเป็นพหูพจน์  เช่น ถึงเทศกาลรับปริญญาทีไร ป้ายแสดงความยินดี ที่เป็นภาษาอังกฤษนั้น  บางมหาวิทยาลัยในบางปีมีเขียนถูกเฉพาะของสาขาภาษาอังกฤษเท่านั้น คือ Congratulations   นอกนั้น ตกตัว s  กันหมด และนี่คือจุดอ่อนที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อวงดนตรีของกลุ่มนักร้องนักดนตรีที่ตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษ มักเป็นเอกพจน์ทั้งๆที่มีสมาชิกหลายคน  นอกจากนั้น พบในชื่อรายการทางโทรทัศน์บางรายการ เช่นรายการที่มีผู้หญิงดำเนินรายการสี่คน เขาใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Woman to Woman

       ปัญหาเรื่องสถานะของคำ บางทีส่งผลกลับไปถึงเรื่องเสียงด้วย   คำอังกฤษหลายคำเป็นได้ทั้งคำนามและกริยา      คำพวกนี้เขียนอย่างเดียวกัน แต่อ่านต่างกัน เช่น export  ข้างบนนี้  ถ้าเป็นคำนามเขาจะออกเสียงอีกอย่างหนึ่ง  import  ซึ่งเป็นคำคู่กันก็มีสองสถานะเช่นเดียวกันและอ่านต่างกัน  ตัวอย่างอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน นอกจากสองคำนี้ ได้แก่ rebel, record  เป็นต้น  คำเหล่านี้ คนไทยส่วนมากอ่านได้อย่างเดียวเท่านั้น  

       ช่วงที่ ททท. รณรงค์ชวนคนต่างประเทศมาเที่ยวโดยใช้คำ Unseen เป็นคำสำคัญคำหนึ่งด้วยนั้น  เคยได้ยินนักจัดรายการบางคนเอาไปใช้เป็นคำกริยาว่า “เดี๋ยวจะพาไป unseen แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่”  อันนี้แสดงชัดว่า ไม่รับรู้เรื่องสถานะของคำอังกฤษเลย เพราะเขาจะไม่รู้ด้วยว่า ต้นตอของ unseen  คือคำว่า see  คนที่เรียนภาษาอังกฤษจริงๆ จะรู้ว่า ทั้งสองคำนี้ อยู่ในตระกูลเดียวกัน หรือครอบครัวเดียวกัน  

       การเรียนคำศัพท์อังกฤษที่ถูกวิธี  คือเรียนแบบยกตระกูล  เหมือนกับการรู้จักใครสักคน ควรรู้จักทั้งครอบครัวนั่นเอง  ที่ต้องทำเช่นนี้  เพราะคำภาษาอังกฤษเกือบทั้งหมดไม่ได้มีคำเดียวโดดๆ แต่เปลี่ยนรูปแปลงร่างเล็กน้อยจะกลายเป็นคำในสถานะอื่นได้ทันที  เช่น nation (n.) ไม่ใช่คำที่ไม่มีญาติวงศ์พงศา คำที่มีความหมายอยู่ในเรื่องเดียวกัน มีอีกหลายคำที่สมควรเรียนไปพร้อมกับคำว่า  nation  ได้เลย ก็คือ  national (adj.),  nationalize (v.)  nationalism (n.)  nationality (n.) เป็นต้น  และต้องเรียนด้วยว่าแต่ละคำมีสถานะของตัวเองชัดเจน  จะเอามาใช้มั่วๆ อย่างที่  unseen  โดนใช้มาแล้วไม่ได้  เพราะถ้าใช้อย่างนั้น จะใช้ได้กับพวกเดียวกันเท่านั้น   โกอินเตอร์ จริงๆไปไม่รอด    

       จุดอ่อนที่สาม  เรื่องการเรียงลำดับคำตั้งแต่สองคำขึ้นไปเป็นคำใหม่หรือวลีใหม่นั้น มีปริมาณมาก  ตัวอย่างแรกมีให้เห็นได้ทุกวันตั้งแต่ประตูบ้านบานแรกของประเทศไทยเลย คือ  TAXI-METER  บนหลังคารถแท็กซี่ทุกคัน จนชาวต่างประเทศบางคนเข้าใจผิดว่านี่เขียนตามรัฐบัญญัติฉบับใดฉบับหนึ่งกระนั้นแหละ   ในสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นอีกที่หนึ่งที่เราจะพบตัวอย่างประเภทนี้ เช่น งานแสดงภาพจิตรกรรมของนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายเป็นรายบุคคลงานหนึ่งตั้งชื่อว่า Art Individual   การแสดงผลงานทางวิชาการดนตรีแห่งหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้มีชื่อว่า Music Academy  และศิษย์เก่ารายหนึ่งหลังจากคัดลอกโปรแกรมต่างๆ หลายโปรแกรมลงแผ่นซีดีให้ผมแล้ว เขาเขียนบนแผ่นว่า Program new  ฯลฯ

       วงดนตรีวงหนึ่งตั้งชื่อเป็นคำและอักษรฝรั่งว่า Boy Thai  ผมสันนิษฐานว่านี่คือคำแปลของคำว่า เด็กไทย  ถ้าใช่ตามนี้  ชื่อนี้ก็เรียงคำไม่ถูก เพราะที่ถูกต้องสลับคำ  หลังจากนั้นยังต้องถามต่อด้วยว่า วงนี้มีคนเดียวหรือหลายคน ถ้ามีหลายคนก็ต้องถามอีกว่า มีเด็กผู้ชายคนเดียวเท่านั้น นอกนั้นเป็นเพศอื่นใช่หรือไม่...ตามความเห็นของผม  ถ้าเขาคิดชื่อภาษาไทยไว้ก่อนว่าชื่อ เด็กไทย แล้วเขียนทับศัพท์เลยว่า Dek Thai  ก็คงจะไม่มีปัญหา   แต่ก็เอาเถอะ นี่ไม่ใช่อาชญากรรม นี่คือความแข็งแกร่งของวัฒนธรรมมุขปาฐะของคนไทยต่างหาก (ซึ่งคงทำให้อะไรไทยๆ น่าเอ็นดูในระดับโลกมากยิ่งขึ้นก็ได้)

      ทั้งหมดนี้ คือ เรื่องการเรียนภาษาอังกฤษเป็นคำๆ อย่างย่นย่อเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น  และแค่นี้ก็พอจะเห็นเค้าลางบ้างแล้วกระมังว่า ทำไมจึงมีภาษาชื่อ Thinglish อีกภาษาหนึ่งด้วย  

หมายเลขบันทึก: 431980เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2011 19:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะอาจารย์

มีเพื่อนฝรั่งที่พอรู้ภาษาไทยให้ความเห็นว่า ภาษาไทยทุกคำมีวรรณยุกต์กำกับ แต่เวลาคนไทยแสดงอารมณ์ด้วยคำพูด แต่ละคำก็เปลี่ยนโทนอยู่ดี เหมือนกับภาษาฝรั่งที่เล่นเสียงได้ตามแต่สถานการณ์ แล้วยังงี้ฝรั่งจะรู้ได้ไงว่าไทยพูดคำไหนอยู่ ก็อธิบายไปว่า มันก็เข้าใจไม่ผิดกันเพราะมี contexts ประกอบ เค้าก็รู้สึกว่ายังไม่สบใจเพราะมันดูไม่มีหลักการที่แน่นอน ต้องดูสถานการณ์เอาแล้วจะเข้าใจถูกทุกครั้งได้อย่างไร เลยบอกเขาว่าถ้าถึงขั้นพูดไทยได้ขนาดนั้นคงจะไม่งงกับเรื่องนี้แล้ว แต่สำหรับผู้เริ่มต้นเรียนก็ต้องจำเสียงที่ถูกต้องให้ได้ก่อน เป็นคำอธิบายที่ไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่คะ แต่ก็ทำได้เท่านั้น คงต้องติดตามข้อเขียนอาจารย์ต่อไป ตัวเองจะได้รู้เกี่ยวกับทั้งสองภาษาเพิ่มขึ้นด้่วย

บทความของอาจารย์มีประโยชน์มากค่ะ

จ๋า :)

IMHO, Thai is very much context-sensitive with omission but without declension (change to 'word' for 'context') eg. ไปไหนมา cf Where did you go before you came here? Thai is used without 'time-specifiers' (tense) eg. ไปล้าด cf. went to market (this morning), has/had gone to market (before coming here). In speaking Thai, words may be omitted altogether eg. ซื้อไร may be a question 'What do you want to buy?' or 'What did you buy?'. And Thai contxt is also very subtle eg. ซื้อไรมา (What have you bought?) and มาซื้อไร (what would like to buy?)

I would say that Thai is automatic (language) but English is very much manual -- for making 'meaning' in the clearest possible ways ;-)

ขอบคุณมากครับที่ร่วมแสดงความเห็น and thank you for examples and comments (possibly) from the South.   

You are right -- I'm in the South, but further south than you think ;-)

Perhaps, we should be clearer about words like:

pain : (paang) here is a French word for 'bread', not 'pain' (pe-en) in English;

Captain Henry Berney : ...

The point that Thais make up Thai words for foreign words is clear but more information is needed to learn where they come from. 

ขอบพระคุณมากค่ะครูที่เขียนเรื่องการเรียนคำศัพท์ เห็นด้วยว่าควรส่งเสริมการเรียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษคู่ไปกับบริบทภาษาอังกฤษด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท