วันนี้คุณเขียนอะไรบ้างหรือยัง ?


ผมให้ความสำคัญกับการเขียน และถือว่าการเขียนเป็นกระบวนการหนึ่งของการเล่าเรื่องในวิถีของการจัดการความรู้

ผมมีความเชื่อว่า “การจัดการความรู้”  คือกลไกอันสำคัญในการพัฒนาคน พัฒนางาน  พัฒนาองค์กร ไปกระทั่งพัฒนาสังคม

 

แต่ปมปัญหามันมีอยู่ว่า  คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกขยาดกับกระบวนการของการจัดการความรู้  เพราะเชื่อว่าการจัดการความรู้  เสมือนกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นภาพตัวเองว่า “มีความรู้” กี่มากน้อย !

 

และในอีกมุมก็คือไม่มั่นใจ / ไม่มีความเชื่อมั่นว่าตัวเองมี  “เครื่องมือ” อะไรจะนำมา “สกัดความรู้" ในตัวตนของตัวเอง !

 

สำหรับผมแล้ว  ผมเชื่อและเชื่อมั่นแรงกล้าว่าคนเราทุกคนมี “ความรู้” ในด้านการงานและการใช้ชีวิตด้วยกันทั้งนั้น  ถ้าไม่มีความรู้  จะอยู่รอดมาจนบัดนี้ได้ยังไง –

 

สำคัญอยู่ที่ว่า  แต่ละคนมีการจัดกระทำต่อความรู้เหล่านั้นอย่างเป็นระบบหรือไม่?
สามารถสะท้อนความรู้  หรือสื่อสารความรู้ออกมาสู่สาธารณะได้แค่ไหน?
และสิ่งที่สื่อสารออกมานั้น  นอกจากเกิดประโยชน์ต่อตัวเองแล้ว ยังเกิดประโยชน์ต่อผู้คนและสังคมอย่างไร ?


นั่นกระมัง คือสิ่งที่ต้องรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการความรู้

 

 

ในบรรดากระบวนการทั้งปวงนั้น  ผมตอบแบบสั้นๆ รวบรัดเลยว่า “สุ จิ ปุ ลิ” นี่แหละคือหัวใจหลักของการจัดการความรู้  เพียงแต่ต้องบริหารสิ่งเหล่านั้นอย่างเป็นศาสตร์และศิลป์

 

ในหลายๆ เวที  ผมพูดในแบบฉบับของผมเสมอว่า
 

       "... การพูด ซึ่งอาจจะหมายถึงการเล่าเรื่อง เป็นทักษะของการสื่อสารที่ดี และเป็นเครื่องมือของการจัดการความรู้ที่นิยมหยิบยกมาจัดกระบวนการในเวทีมากที่สุด  เพราะสิ่งนี้คือการสื่อสารที่ถือว่า “ใกล้ตัวมนุษย์” ที่สุด  และเป็นเครื่องมือที่ทุกคนหยิบมาใช้ได้อย่างไม่ยากเย็น  จนปรากฏซ้ำเป็นวาทกรรมในวิถีของการจัดการความรู้ เช่น  สุนทรียะของการสนทนา  เรื่องเล่าเร้าพลัง..."  เป็นต้น


แน่นอนครับ ในบางมุมมองก็ต้องยอมรับแหละว่า การพูดได้รับการยอมรับว่าเป็นกระบวนการสื่อสารที่ง่ายและสำคัญมากๆ - ขาดทักษะก็พัฒนาต่อยอดได้  ดังจะเห็นได้จากในบ้านเมืองเรามีโรงเรียนเปิดสอนการพูดมากมาย  สามารถพัฒนาทักษะการพูดให้กับผู้คนได้อย่างดีเยี่ยม เป็นการเติมเต็มพรสวรรค์ครบครันทั้งศาสตร์และศิลป์  กระทั่งเติบโตเป็นนักพูดร่ำรวยไปแล้วก็มีหลายราย

 

โดยส่วนตัวของผม  ผมไม่ปฏิเสธว่า "การพูด  คือกลไกหนึ่งในการจัดการความรู้"  เพราะปัจจุบันผมก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก  ถึงขั้นนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนในองค์กรผ่านวาทกรรมต่างๆ เช่น “จริงจัง จริงใจ, ปัญหาเก่าห้ามเกิด..ปัญหาใหม่ไม่ว่ากัน, สอนงาน สร้างทีม” 

 

ซึ่งทั้งปวงนั้น ก็ล้วนแล้วแต่ใช้ "การพูดและการเล่าเรื่อง" เป็นกลไกในการ “ขับเคลื่อน” ล้วนๆ

 

 

แต่ในระยะหลัง  ผมพยายามพุ่งประเด็นไปยัง “การเขียน” มากขึ้น 

ผมให้ความสำคัญกับการเขียน  และถือว่าการเขียนเป็นกระบวนการหนึ่งของการเล่าเรื่องในวิถีของการจัดการความรู้

 

ผมสะท้อนให้ทีมงานได้เห็นภาพในทำนองว่า  

         “...การเขียน  คือศาสตร์และศิลป์ชั้นสูงของการจัดการความรู้ด้วยเหมือนกัน  หากเขียนออกมาได้ บางทีไม่ก็จำเป็นต้องใช้เวลาในการพูด  หรือเล่าเรื่องอย่างมากมาย  เพราะ “งานเขียน” ของเราจะทำหน้าที่สะท้อนความรู้นั้นๆ แทนการเล่าด้วยวาจา   ทั้งในฐานะของการต่อยอดเรื่องเล่าจากปากคำ หรือแม้แต่กระตุ้นความสนใจ  เพื่อนำไปสู่การ “ฟังเรื่องราวผ่านการเล่าของผู้นำสาร...”

 

 

ครับ, ดูง่ายๆ  ตรงนี้ก็แล้วกัน  กรณี "ฟังไม่ทัน หรือฟังไม่รู้เรื่อง" ก็ยังสามารถตามมาอ่านเพิ่มเติมจาก "งานเขียน"  ของวิทยากร หรือผู้นำสารได้


เช่นเดียวกับวิทยากร หรือผู้นำสาร  ด้วยเงื่อนไขเวลาอันจำกัดบนเวที  หากไม่สามารถเล่าเรื่องราวได้ครบอย่างที่ตัวเองหรือแม้แต่ผู้ฟังต้องการ  ก็ใช้  “งานเขียน”  อีกนั่นแหละเป็นเครื่องมือในการต่อยอดทางความคิดให้ผู้ฟังได้ศึกษา ถอดความ ตีความ เพื่อนำไปสู่การ "ปฏิบัติ" หรือ "ต่อยอด" ภายใต้บริบทของตัวเขาเอง  โดยไม่จำเป็นต้องให้วิทยากร  หรือผู้นำสารหวนกลับมานั่งพูดคุยและบอกเล่าอยู่เรื่อยๆ...

 

ครับ, นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามสื่อสารอย่างจริงจังกับทีมงาน  กระตุ้นให้แต่ละคนเห็นความสำคัญของการจัดการความรู้ด้วยการ “พูดและการเขียน”  ยิ่งในการเขียนนั้น ผมย้ำให้ทุกคนมองเป็นความ “ท้าทาย”  ข้ามให้พ้นวังวนความเชื่อที่ว่า “เขียนไม่เป็น,เขียนไม่เก่ง”  หรือแม้แต่ “ขี้เกียจเขียน” เพราะไม่รู้จะ “เขียนอะไร”

 

ฉะนี้แล้ว, ผมจึงทำตัวเป็นแบบอย่างต่อทีมงาน
กล่าวคือ เลือก “เครื่องมือ” ที่ตนเองชอบ  (ารเขียน) มาเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งของการจัดการความรู้ในวิถีหรือสไตล์ของตัวเอง ผสมผสานไปกับการอ่าน, การคุย หรือการเล่าเรื่องในวงสนทนาของทีมงาน


และการเขียนในแต่ละครั้ง  ก็จะยึดหลักง่ายๆ เบื้องต้นว่า เขียนในลักษณะของการ "เล่าเรื่อง" เหมือนกับมีคนกำลังนั่งฟังและนั่งคุยกับเราอยู่ในแคร่ไม้ไผ่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง รวมถึงนึกอะไร  คิดอะไรก็เขียนแบบ "เปิดเปลือย" ออกไปให้ได้มากที่สุด  เพราะคิดมากละเอียดมาก ก็อาจถึงขั้นเกร็ง, เบื่อและเซ็งจนเขียนอะไรไม่ออก  (คิดอะไรก็เขียนไปก่อน)  ..หรือไม่ก็จัดรวมประเด็นไว้ล่วงหน้าสัก 2-3 ประเด็น เสร็จแล้วก็ลงมือเขียนขยายความประเด็นนั้นๆ

 

ก็ด้วยเหตุผลทำนองนี้แหละ  เรื่องเล่าของผมจึงดูยืดยาว วกไปวกมา  หรือไม่ก็เป็นประเภท "วิชาการสามบรรทัด"

 

ผมทำแบบนี้มาเรื่อยๆ
มีบางครั้งต่อเนื่องมีพลัง  บางครั้งก็เงียบหาย แต่สุดท้ายก็ยังต้องลงมือ “เขียน” อยู่วันยังค่ำ  แถมยังเอางานเขียนที่ว่านั้นออกมาเผยแพร่ในทั้งรูปแบบของถ่ายเอกสารแจก, เย็บเล่มเป็นเอกสารประกอบสัมมนา, แนะนำให้ผู้ฟังเข้าไปอ่านบล็อกที่ผมเขียน,  หรือแม้แต่การนำมาจัดทำเป็นเล่มหนังสือ

 

 

 

ถึงแม้ผมจะไม่พูดกับทีมงานอย่างชัดแจ้งว่า  ..
     การเขียนคือการบำบัดชีวิตและองค์กร,
     การเขียนคือการบันทึกเกร็ดความรู้ในแต่ละวัน,  
     การเขียนคือการทำพินัยกรรมความรู้สู่สาธารณะ  
     หรือแม้แต่การเขียนคือการสร้างจดหมายเหตุชีวิตและองค์กรของตัวเอง..ก็เถอะ  

     ผมก็ยังเชื่อว่าพวกเขาพอจะเข้าใจและเห็นความสำคัญของการเขียนเพื่อการจัดการความรู้อยู่บ้าง

 

สำหรับผมนั้น  การเขียนช่วยให้ผมได้ทบทวนตัวเอง, จัดระเบียบความคิด สื่อสารความคิด อารมณ์ความรู้สึก หรือแม้แต่ “ความรู้” (อันน้อยนิด)  ผ่านตัวหนังสือในแบบฉบับของตัวเอง 

 

ส่วนผลลัพธ์ในทางแนวคิดอันเป็นการจัดการความรู้ในงานเขียนของผมนั้น
จะมีมากหรือน้อย ?  
ใช่,หรือไม่ใช่
?   คงต้องให้ผู้อ่านได้ตัดสินกันเอง



วันนี้ ผมก็ยังเชื่อว่าการเขียน คือเครื่องมืออันสำคัญในการจัดการความรู้  ส่วนเขียนแล้วจะได้ความรู้หรือไม่ ก็สุดแท้แต่ผู้อ่านจะตัดสินหรือพิพากษา  ซึ่งผมเองก็เคยได้สะท้อนความคิดของตัวเองไว้ชัดเจนบ้างแล้วในบันทึก “อีกหนึ่งความสุขเล็กๆฯ”  ...ว่า

 

       “... การลงมือทำความฝันของตัวเอง ถือเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ของชีวิต ทำแล้วจะประสบความสำเร็จหรือไม่  มันเป็นอีกเรื่องที่ต้องถอดบทเรียนสอนตัวเอง และถึงจะไม่สำเร็จ  อย่างน้อยก็ดีกว่าการไม่ลงมือ...”

 

แปลกแต่ก็จริง บ่อยครั้งคำเพียงไม่กี่คำในหนังสือสักเล่มที่ผมอ่านเจอ กลับมีพลังสะกิดให้ผมเปลี่ยนวิธีคิดได้อย่างฉับพลัน ปรากฏการณ์เช่นนั้นตอกย้ำให้ผมเชื่อว่าหนังสือเล่มนั้นคือผลลัพธ์ของการจัดการความรู้ของนักเขียน

 

ก็ด้วยคิดเช่นนั้นแหละ  เมื่อรู้ว่าตัวเองอยากจะบริหารจัดการอะไรๆ กับสิ่งที่พานพบมาเพื่อให้รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ? เป็นความรู้หรือไม่?  

ทันทีนั้น ผมก็จะไม่ลังเลที่จะเริ่มต้นจากการ "คิดและคุยกับผู้คน"

สุดท้ายก็มาปิดเรื่องด้วยการ "เขียน” เสมอ

เป็นการเขียนเพื่อให้งานเขียนได้คุยกับผู้คนอีกรอบ- 

...

วันนี้ คุณเขียนอะไรบ้างแล้ว...

 

หมายเลขบันทึก: 431575เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2011 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีครับ...

การเขียนสำหรับผมมีประโยชน์มากครับ

เพราะผม 'ความจำสั้น ...แต่ความรักผมยาวนาน'

ขอบคุณที่ได้อ่านบันทึกที่ทำให้ผมเกิดอารมณ์...

อารมณ์อยากจะเขียนครับ

สวัสดีค่ะ

ใช่ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบค่ะ  และมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน "คำเพียงไม่กี่คำในหนังสือสักเล่มที่ผมอ่านเจอ กลับมีพลังสะกิดให้ผมเปลี่ยนวิธีคิดได้อย่างฉับพลัน ปรากฏการณ์เช่นนั้นตอกย้ำให้ผมเชื่อว่าหนังสือเล่มนั้นคือผลลัพธ์ของการจัดการความรู้"

ไม่มีใครอ่านเราก็เอาไว้อ่านเอง "อันนี้คิดเองค่ะ"

 

 

 "การเขียนคือการทำพินัยกรรมความรู้สู่สาธารณะ " 

ชอบความหมายนี้ค่ะ โดยเฉพาะการเขียนเผยแพร่ที่ไม่หวังผลประโยชน์อะไรตอบแทน  นอกจากการช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และอนาคตรุ่นต่อๆไป


ชอบขีดเขียนตั้งแต่เด็ก การเขียนทำให้เราอยู่กับตัวเองได้ดีมาก

ขณะเขียน เป็นการฝึกสมาธิและสติในตัวด้วยค่ะ เขียนมากขึ้นช่วยให้พูดน้อยลง คิดมากขึ้น ดีทั้งขึ้นทั้งล่องเลยค่ะ

กำลังเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเมืองลงใน g2k ของเรานี่แหละครับ

แสดงความผมทำถูกแล้วนะครับ อิอิ

ชอบเขียนเหมือนกันครับ

workshop ที่อัมพวา หัวข้อนี้ เป็นหัวข้อหนึ่งที่ผมจัดไว้ด้วยนะครับ ในรายละเอียดไปคุยกันที่หาดใหญ่ครับ

วันนี้เขียนหนึ่งเรื่อง เขียนบนรูป "อ่าน+ดู" แล้วจะได้เข้าใจมากขึ้น ครับ

วันนี้อาจจะยังไม่ดีเท่าไหร่ แต่จะพัฒนา การเขียน ให้ดีขึ้น ทุกๆวันครับ

เรื่องที่เขียนวันนี้ >>>

http://gotoknow.org/blog/supersup300/431612 

 

  • เป็นจริงมากๆเลยว่า
  • การเขียนเป็นกระบวนการจัดระบบความคิด
  • บางอย่างไม่ได้มีเวลาพูดก็ให้มาอ่านเอง
  • เรามีเวลาคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์เรื่องที่จะเขียนได้ละเอียดหรือเนียนกว่าการพูดสดๆครับ
  • ตามมาให้กำลังใจก่อนะครับ

สวัสดีเพื่อน

 

ดีใจที่ได้เจอนายนะ อ่านงานเขียนของเพื่อนแล้ว.. แอบปลื้มอยู่ลึกๆ ว่าเพื่อนฉันใช้ภาษาได้สวยและเก่งมากทีเดียว แม้จะออกแนววิชาการบ้างก็เถอะ แต่เพื่อนนัสก็ยังไม่ทิ้งลายเดิมอ่ะนะ เราเองพักหลังๆ ไม่ค่อยได้เขียน แต่ในใจก็ยังมีความคิดความฝันที่อยากจะมีงานเขียนดีๆ สักเรื่องปรากฏบนโลนใบนี้ แม้อาจจะไม่ได้รางวัลอะไร แต่อยากให้งานเขียนชิ้นนั้น.. เป็นอีกงานที่จรรโลงโลก จรรโลงใจ  และให้ประโยชน์กับผู้อ่านทุกคน อ่ะนะ (นั่นก็คืออีกหนึ่งความฝัน)

 

เข้าเรื่องนายบ้าง.. งานเขียนในความคิดของเรา ถือเป็นนวัตกรรมทางความคิดที่ผ่านกระบวนการการกลั่นกรองจนร้อยเรียงออกมาเป็นตัวหนังสือและเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะปรากฏบนโลกนี้ได้อย่างยาวนาน (หากไม่ถูกทำลายทิ้งไปเสียก่อน ไม่ว่าจะด้วยวิธีการก็ตาม) ดังนั้น การจัดการงานเขียนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ในทุกๆ ด้านแก่มวลมนุษยชาติ จึงนับเป็นสิ่งประเสริฐและจำเป็นต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอ.. เพื่อให้โลกใบนี้จักมีงานเขียนที่สำคัญๆ และก่อให้เกิดประโยชน์สืบไป

วันนี้.. เราขอแสดงความคิดเห็นเพียงเท่านี้ก่อน นายมีอะไรจะคุยกับเรานอกรอบ ก็เขียนส่งเข้าเมลเรามานะ ดีใจที่ได้เจอนายในนี้อ่ะ

คิดถึงนายเสมอนะเพื่อน

อ้อ

สวัสดีครับ...

บันทึกนี้ "โดน" อย่างแรงครับ
ผมคิดว่าสังคมไทยกำลังค่อย ๆ ก้าวจากวัฒนธรรมการพูด-ฟัง ไปสู่การอ่าน-เขียนมากขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ 

พี่พนัสค่ะ อาร์มเห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ การเขียนถือเป็นสิ่งสำคัญทีเดียวในการจัดการความรู้ เรื่องราวการเขียนของพี่ๆใน gotoknow นี้อาร์มจะเข้ามาอ่านเสมอๆค่ะ ได้ทิ้งรอยทักทายไว้เพื่อให้รู้ว่ามาอ่านแล้ว 

ณ เวลานี้ยังไม่ลงตัวเท่าที่ควร เพราะอยู่ในช่วงศึกษางานค่ะ มีเรื่องราวและบทเรียนที่ได้ศึกษามากมาย และเฝ้ามองปัจจัยความสำเร็จขององค์กร และแม้กระทั่งออกมายืนมองจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไข เพื่อให้องค์กรและบุคลากรพัฒนาต่อไปค่ะ

สวัสดีค่ะ ยินดีที่ทุกคนเห็นความสำคัญของการเขียนเพื่อสื่อให้เพื่อนๆเข้าใจ/รับรู้/แสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการบอกเล่า ยกตัวอย่างว่าตนเองได้จดบันทึกค่าใจ่ยประจำวันของตนเองมา 34 ปี สามารถควบคุมงบประมาณของตนเองและครอบครัวได้ตลอดจนเป็นแบบอย่างให้กับชุมชน/สังคมต่าง ๆได้เห็นถึงความเป็นจริงว่าใครๆก้ทำได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท