ระเบียบหนังแสดงเจตนาระบุตัวผู้รับเงินสวัสดิการสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต


สส.02

ระเบียบมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้าง

พ.ศ. 2536

- - - - - - - - - -

โดยที่เห็นเป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยกองทุน สวัสดิการสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้าง พ.ศ. 2533 ให้เหมาะสมและสอคคล้องกับสภาวะการณ์ปัจจุบัน เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงและบรรเทาความเดือดร้อน ตลอดจนเป็นขวัญกำลังใจและสวัสดิการแก่ข้าราชการและลูกจ้างของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 (9) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2521 และโดยมติที่ประชุมของสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นครั้งที่ 4/2536 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2536

สภามหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้าง พ.ศ. 2536”

ข้อ 2 ให้ใช้ระเบียบนี้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ 3. ให้ยกเลิกระเบียบมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้าง พ.ศ. 2533

ข้อ 4. ในระเบียบนี้

มหาวิทยาลัย” หมายถึง มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“อธิการบดี” หมายถึง อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นคณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้าง “ข้าราชการ” หมายถึง ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยขอนแก่น“ลูกจ้าง” หมายถึง ลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวของมหาวิทยาลัยที่ได้รับเงินค่าจ้างจากงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินเดือนและค่าจ้างประจำ หรือหมวดค่าจ้างชั่วคราว หรือเงินงบประมาณเงินรายได้มหาวิทยาลัยหมวดเงินเดือนและค่าจ้าง ยกเว้นลูกจ้างชั่วคราวชาวต่างประเทศ“กองทุน” หมายถึง กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้าง

ข้อ 5. กองทุนนี้ได้มาจากเงินรายได้ของหน่วยงานต่าง ๆ โดยความเห็นชอบของที่ประชุม คณบดี จำนวนเริ่มแรกไม่น้อยกว่า 6,000,000 บาท (หกล้านบาทถ้วน) และอาจจัดสรรเงินรายได้ของหน่วยงานต่าง ๆ สมทบเข้าเป็นเงินกองทุนตามความจำเป็นและเหมาะสม

การเก็บรักษาเงินและการจ่ายเงินสวัสดิการสงเคราะห์ให้เป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2521 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยให้อธิการบดีหรือรองอธิการบดีที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้อนุมัติ

ข้อ 6. ให้ใช้ดอกผลหรือผลประโยชน์ที่ได้รับในแต่ละปีงบประมาณเงินรายได้จากกองทุนนี้ จ่ายเป็นเงินสวัสดิการสงเคราะห์ให้แก่ข้าราชการหรือลูกจ้างที่ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือถูกประทุษร้ายจนพิการถึงสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรหรือเสียชีวิต โดยเหตุที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการไม่ปฏิบัติตามพระราชกฤฎีกากำหนดท้องที่ที่ผู้ขับขี่และคนโดยสารรถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกที่จัดทำขึ้นเฉพาะ พ.ศ. 2535 หรือกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ หรือการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของตนเอง หรือเจตนากระทำอันตรายแก่ตนเองจนพิการหรือทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรหรือเสียชีวิต ดังนี้

6.1 เมื่อได้รับอันตรายหรือป่วยเจ็บหรือถูกประทุษร้ายจนพิการถึงสูญเสียอวัยวะ และทางราชการเห็นว่าไม่สามารถรับราชการต่อไปได้ โดยมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการสงเคราะห์เพียงกรณีเดียว ดังนี้

ตาบอด 2 ข้าง 50,000 บาท

สูญเสียแขนหรือมือ ขาหรือเท้า ทั้งสองข้าง 50,000 บาท

สูญเสีย แขนหรือมือ ขาหรือเท้า ตาบอด รวม 2 อย่าง 50,000 บาท

สูญเสียแขน มือ ขา เท้า หรือตาบอด อย่างเดียว 25,000 บาท

6.2 เมื่อได้รับอันตรายหรือป่วยเจ็บหรือถูกประทุษร้ายจนทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรหรือเสียชีวิต รายละ 50,000 บาท

และหากการทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรหรือเสียชีวิตเพราะการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจตามกฎหมาย ให้จ่ายเงินสวัสดิการสงเคราะห์เพิ่มอีกหนึ่งเท่า

ข้อ 7. การจ่ายเงินสวัสดิการสงเคราะห์ตามข้อ 6.2 กรณีที่เสียชีวิต หากข้าราชการหรือลูกจ้างนั้นมิได้แสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรต่อมหาวิทยาลัยไว้เป็นอย่างอื่น ให้จ่ายเงินสวัสดิการสงเคราะห์ให้แก่ทายาทและบุคคล ดังนี้

7.1 คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย 1 ส่วน

7.2 บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายคนละ 1 ส่วน

7.3 บิดาและหรือมารดา 1 ส่วน

และในกรณีที่ทางราชการมีความจำเป็นต้องเข้าจัดการศพข้าราชการหรือลูกจ้างผู้ตายเพราะไม่มีผู้ใดเข้าจัดการในเวลาอันสมควร ให้หักค่าใช้จ่ายจากเงินสวัสดิการสงเคราะห์ได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นและเหมาะสม แล้วมอบส่วนที่เหลือ (ถ้ามี) ให้ผู้มีสิทธิต่อไป

ข้อ 8. ผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามข้อ 7 จะเสียสิทธิในกรณีดังต่อไปนี้

8.1 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีเจตนากระทำหรือพยายามกระทำให้ข้าราชการหรือลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการสงเคราะห์ ตามข้อ 7 ถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

8.2 ผู้ที่รู้แล้วว่า ข้าราชการหรือลูกจ้างถูกฆ่าตายแต่มิได้นำความนั้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เว้นแต่จะมีเหตุอันสมควร ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการ

ข้อ 9. การยื่นคำขอรับเงินสวัสดิการสงเคราะห์ ให้ผู้มีสิทธิตามข้อ 6 หรือข้อ 7 คนใดคนหนึ่งยื่นคำร้องขอรับเงินตามแบบที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นกำหนดต่อมหาวิทยาลัยภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่ข้าราชการหรือลูกจ้างนั้นเสียชีวิตหรือวันที่ออกจากราชการเพราะเหตุพิการ หรือทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรแล้วแต่กรณี หากพ้นกำหนดนี้แล้วถือว่าสละสิทธิจะเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยจ่ายเงินสวัสดิการสงเคราะห์อีกไม่ได้

การยื่นขอรับเงินสวัสดิการสงเคราะห์ข้ามปีงบประมาณเงินรายได้ ให้นำเสนอคณะกรรมการพิจารณาเป็นกรณีไป

ข้อ 10. ในกรณีที่เงินกองทุนยังไม่เกิดดอกผลหรือดอกผลไม่พอจ่าย เงินสวัสดิการสงเคราะห์หรือดอกผลยังไม่ครบกำหนด ให้จ่ายเงินสวัสดิการสงเคราะห์ตามระเบียบนี้จากเงินทดรองจ่ายของมหาวิทยาลัยไปก่อน และนำดอกผลมาหักล้างเงินทดรองจ่ายในภายหลัง

ถ้าดอกผลหรือผลประโยชน์จากเงินกองทุนมีไม่พอจ่ายเป็นเงินสวัสดิการสงเคราะห์ในปีงบประมาณเงินรายได้ใด ให้จ่ายเงินสวัสดิการสงเคราะห์จากเงินกองทุนได้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งเท่าของดอกผลหรือผลประโยชน์ที่ได้รับในปีงบประมาณเงินรายได้นั้น และหากมีเงินไม่พอจ่ายให้เฉลี่ยจ่ายเงินสวัสดิการสงเคราะห์ตามส่วนตามความเห็นของคณะกรรมการ และให้ถือว่าการจ่ายเงินสวัสดิการสงเคราะห์ในปีงบประมาณเงินรายได้นั้นต้องระงับไป

หากมีดอกผลหรือผลประโยชน์เหลือจ่ายในปีงบประมาณเงินรายได้ใดให้สมทบเป็นเงินกองทุนต่อไป

ข้อ 11. ให้มหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งประกอบด้วย รองอธิการบดีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน ผู้อำนวยการกองคลัง ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่เป็นกรรมการ หัวหน้างานสวัสดิการ กองการเจ้าหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการ และบุคคลอื่นโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสวัสดิการมหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 11 คน เป็นกรรมการ

ข้อ 12. ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) ตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบ

(2) พิจารณาขออนุมัติยกเว้นและผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ

(3) เสนอแนะการแก้ไขปรับปรุงระเบียบ

(4) พิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม

(5) พิจารณากรณีที่ต้องจ่ายเงินสวัสดิการสงเคราะห์เพิ่มอีกหนึ่งเท่า กรณี การทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรหรือการเสียชีวิต เพราะการปฏิบัติหน้าที่ราชการ

(6) พิจารณากรณีที่ต้องเฉลี่ยจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการสงเคราะห์

(7) พิจารณากรณีที่ยื่นขอรับเงินสวัสดิการสงเคราะห์ข้ามปีงบประมาณเงินรายได้

(8) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

(9) หน้าที่อื่น ๆ ตามที่มหาวิทยาลัยมอบหมาย

การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการให้ถือเป็นที่สุด ผู้มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการสงเคราะห์จะอุทธรณ์มิได้ เมื่อได้วินิจฉัยไปเช่นใดแล้ว ให้นำเสนออธิการบดีเป็นผู้สั่งการ

ข้อ 13. ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจกำหนด

หลักเกณฑ์และวิธีปฏฺบัติซึ่งไม่ขัดแย้งกับระเบียบนี้

 

ประกาศ ณ วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2536

 

(ลงชื่อ) พล.ต.อ. เภา สารสิน

(เภา สารสิน)

นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ระเบียบมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้าง

(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537

- - - - - - - - - - - - - - - - - -

โดยที่เห็นเป็นการสมควรปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้าง พ.ศ. 2536 ให้เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการสงเคราะห์โดยทั่วกัน

ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 (9) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2521 และโดยมติที่ประชุมของสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งที่ 10/2537 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 สภามหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้าง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537”

ข้อ 2. ให้ใช้ระเบียบนี้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ 3. ให้ยกเลิกข้อความในข้อ 10 ของระเบียบมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้าง พ.ศ. 2536 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 10. ในกรณีที่เงินกองทุนยังไม่เกิดดอกผลหรือดอกผลไม่พอจ่ายเป็นเงินสวัสดิการสงเคราะห์หรือดอกผลยังไม่ครบกำหนด ให้มหาวิทยาลัยจ่ายเงินรายได้ทดรองจ่ายเป็นเงินสวัสดิการสงเคราะห์ตามระเบียบนี้ไปก่อนและนำดอกผลมาหักล้างเงินทดรองจ่ายในภายหลัง

ถ้าดอกผลหรือผลประโยชน์จากเงินกองทุนมีไม่พอจ่ายเป็นเงินสวัสดิการสงเคราะห์ในปีงบประมาณเงินรายได้ใด ให้จ่ายเงินสวัสดิการสงเคราะห์จากเงินกองทุนได้ไม่เกินหนึ่งเท่าของดอกผลหรือผลประโยชน์ที่ได้รับในปีงบประมาณเงินรายได้ นั้น และหากมีเงินไม่พอจ่ายอีกเท่าใด ให้มหาวิทยาลัยทดรองจ่ายเงินรายได้สมทบในส่วนที่ขาดนั้นไปก่อน และเมื่อกองทุนมีดอกผลหรือผลประโยชน์ให้นำมาหักล้างเงินทดรองจ่ายในภายหลัง

ดอกผลหรือผลประโยชน์ของเงินกองทุนที่เหลือจ่ายของปีงบประมาณเงินรายได้ใด ให้สมทบเข้าเป็นเงินกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ต่อไป”

ข้อ 4. ให้อธิการบดีรักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้

 

ประกาศ ณ วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2537

 

(ลงชื่อ) พล.ต.อ. เภา สารสิน

(เภา สารสิน)

นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

พระราชกฤษฎีกา

กำหนดท้องที่ที่ผู้ขับขี่และคนโดยสารรถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ

พ.ศ. 2535

- - - - - - - - - -

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2535

เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดท้องที่ที่ผู้ขับขี่และคนโดยสารรถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อป้องกันอันตรายในขณะขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดท้องที่ที่ผู้ขับขี่และคนโดยสารรถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ พ.ศ. 2535”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับในท้องที่และในวันต่อไปนี้

(1) ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เมื่อพ้นกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันประกาศในราชกานุเบกษาเป็นต้นไป

(2) ในเขตท้องที่จังหวัดขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พิษณุโลก ภูเก็ต สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี อุดรธานี และอุบลราชธานี เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

(3) ในเขตท้องที่จังหวัดอื่น เมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ท้องที่ที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามมาตรา 2 เป็นท้องที่ที่ผู้ขับขี่และคนโดยสารรถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อป้องกันอันตรายในขณะขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์

มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อานันท์ ปัณยารชัน

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้

ขับขี่รถจักรยานยนต์และคนโดยสารรถจักรยานยนต์สวมหมวกเพื่อป้องกันอันตรายในขณะขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์และเนื่องจากมาตรา 122 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติว่า มาตรการดังกล่าวจะใช้บังคับในท้องที่ใดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #นายมนูญ#สุดใด
หมายเลขบันทึก: 43116เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2006 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท