อนันตริยกรรมของสื่อวิทยุโทรทัศน์


แนวคิดโทรทัศน์เสรีเกิดขึ้นในสมัยที่ประชาชนล้มหายตายจากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 เพราะเป็นช่วงรัฐบาลเผด็จการปิดกั้นข่าวสารทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ทุกช่องทุกสถานี รวมทั้งปิดกั้นข่าวสารในสื่อสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่ด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา กระแสที่เกิดขึ้นในสังคมช่วงนั้นให้กำเนิดแนวคิด “สื่อเสรี” ขึ้นมา
คนที่เข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ “กู้ชาติ” กับคุณสนธิ ลิ้มทองกุลเมื่อวันที่ 4 – 5 กุมภาพันธ์ 2549 เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้วได้คุยกับคนที่บ้านแทบไม่เชื่อว่าเหตุการณ์บ้านเมืองเหมือนจะซ้ำรอยเมื่อ 14 ปีก่อน
              
       
        โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยุและโทรทัศน์ในสังกัด อ.ส.ม.ท. และโทรทัศน์ไอทีวี !

       
        ใครที่ดูแต่โทรทัศน์ ฟังแต่วิทยุ และเป็นคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองมาอย่างใกล้ชิดนัก จะรู้สึกเหมือนเหตุการณ์ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าไม่เคยเกิดขึ้น หรือถึงเกิดก็เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่ไม่มีคุณค่าส่งผลสะเทือนต่อสังคมอะไรมากนัก
       
        เพราะข่าวส่วนใหญ่คือภารกิจของนายกรัฐมนตรีที่จังหวัดเชียงใหม่
       
        โชคดีที่หนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับเมื่อเช้าวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549 ให้ความสำคัญกับข่าวนี้อย่างตรงกับความเป็นจริง
       
        รวมทั้งหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่และยักษ์รองอย่างไทยรัฐและเดลินิวส์ !

       
        และโชคดีที่การชุมนุมจบลงอย่างสงบเรียบร้อย
       
        ไม่เช่นนั้น สื่อวิทยุโทรทัศน์ก็จะเป็นหนี้เลือดประชาชนที่บาดเจ็บล้มตายลงเหมือนเมื่อ 14 ปีก่อนอีกหน
       
        คงจะจำกันได้ว่าสังคมเริ่มถกประเด็นกรรมสิทธิ์ในสื่อวิทยุและโทรทัศน์กันในแทบจะทันทีหลังสิ้นเสียงปืนเมื่อ 14 ปีก่อน ก่อนจะพัฒนามาเป็นหลักการปฏิรูประบบสื่อมวลชนของรัฐในอีก 5 ปีต่อมา โดยก่อนหน้านั้น 3 ปีสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่เกิดขึ้น
       
        ไอทีวีไงล่ะ !
       
        ศักดิ์ศรีของนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ดูจะมีมากขึ้น
       
        แต่ก่อนนี้ นักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไม่มีสมาคมเป็นของตนเองเหมือนนักข่าวหนังสือพิมพ์
       
        สมาคมของนักข่าวหนังสือพิมพ์ไม่ยอมรับนักข่าววิทยุและโทรทัศน์เข้าเป็นสมาชิก เพราะการที่วิทยุและโทรทัศน์ในประเทศไทยเป็นของหน่วยราชการ นักข่าววิทยุและโทรทัศน์จึงมีสถานภาพเป็นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ซึ่งก็คือทำตามนโยบายของรัฐบาลในที่สุด ไม่ได้มีเสรีภาพเหมือนกับที่นักข่าวหนังสือพิมพ์เชื่อว่าพวกตนมีอยู่
       
       แต่แม้จะมีมาตรา 40 และโดยเฉพาะมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ตราออกมาช่วยลดความแปลกแยกของนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ออกไปแล้ว การเข้าเป็นสมาชิกสมาคมของผู้นักข่าวสื่อหนังสือพิมพ์ก็ยังมีอุปสรรคอยู่
       
       สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยถือกำเนิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้
       
       นักข่าววิทยุและโทรทัศน์เริ่มเชื่อว่าพวกตนมีเสรีเหมือนนักข่าวหนังสือพิมพ์แล้ว แม้ว่าจะเพิ่งเริ่มต้น แต่ก็เป็นก้าวย่างที่น่าภูมิใจ
       
        หลังเหตุการณ์ 4 – 5 กุมภาพันธ์ 2549 พวกเขาอาจจะต้องคิดใหม่ ?
       
        ทุกวันนี้ความคืบหน้าของมาตรา 40 ยังไปไม่ถึงไหน
       
       ในขณะที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวีที่เคยประกาศอย่างห้าวหาญว่าเป็นโทรทัศน์เสรี บัดนี้ก็อยู่ในเครือข่ายของนายกรัฐมนตรีผู้ขายชาติขายแผ่นดินไปเสียแล้ว
       
       ไม่ต้องพูดถึงอ.ส.ม.ท.ที่บัดนี้กลายสภาพเป็นบริษัทมหาชนที่ต้องแสวงผลกำไรสูงสุด และมีคนที่รัฐบาลเลือกเข้ามาบริหารสูงสุด
       
       ตลอดวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณเข้ามาบัญชาการการทำข่าวใน อ.ส.ม.ท. ด้วยตนเอง
       
       เป็นการบัญชาการการทำข่าวอย่างง่ายที่สุด
       
       คือห้ามทำข่าวมากเกินไป !

       
       และห้ามรายงานสดจากสถานที่ !!
       
       แม้รายการของสรยุทธ สุทัศนะจินดา และกนก รัตน์วงศ์สกุล จะรายงานข่าวการชุมนุมพอสมควร แต่ก็พูดออกตัวแล้วออกตัวอีกว่าเป็นกลาง เมื่อรายงานข่าวสนธิ ลิ้มทองกุลแล้วก็รายงานข่าวนายกรัฐมนตรีด้วย โดยให้ปริมาณให้เวลาเท่า ๆ กัน
       
       ดูเหมือนโอเคนะ
       
       แต่ที่จริงการให้เวลาเท่า ๆ กันเป็นเพียงภารกิจขั้นต่ำที่สุดในการทำหน้าที่สื่อมวลชน
       
        และเป็นภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายได้เปรียบในสังคม
       
        ไม่ว่าจะ “ปิดบัญชีทักษิณ” กันได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเมื่อไร และจะต้อง “เช็คบิล” ใครกันบ้าง
       
        แต่จะต้อง “เช็คบิล” ระบบสื่อโทรทัศน์วิทยุของรัฐกันเป็นอันดับแรก
       
        และอันดับแรกในอันดับแรก จะต้อง “เช็คบิล” คือนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ และไอทีวี !

       
       จริงอยู่ ภายใต้ระบบทุนนิยมเสรีคำว่า “สื่อเสรี” อาจเป็นเพียงมายาภาพ !
       
        จริงอยู่ สื่อในแต่ละประเทศเป็นภาพสะท้อนของระบบเศรษฐกิจและสังคมในประเทศนั้น ๆ ประเทศไทยเรามีรากฐานของการได้รับอิทธิพลจากระบบทุนนิยมอย่างหนักหนาสาหัสที่สุด วงการสื่อมวลชนในบ้านเราก็คือภาพสะท้อนของระบบทุนนิยมที่ชัดเจนที่สุด
       
       แต่เราจะต้องไม่ยอมจำนน
       
       ในประการแรก เราต้องเก็บรับบทเรียนจากเมื่อ 14 ปีก่อน
       
       แนวคิดโทรทัศน์เสรีเกิดขึ้นในสมัยที่ประชาชนล้มหายตายจากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 เพราะเป็นช่วงรัฐบาลเผด็จการปิดกั้นข่าวสารทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ทุกช่องทุกสถานี รวมทั้งปิดกั้นข่าวสารในสื่อสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่ด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา กระแสที่เกิดขึ้นในสังคมช่วงนั้นให้กำเนิดแนวคิด “สื่อเสรี” ขึ้นมา
       
       ผลึกความคิดของกระแสที่เกิดขึ้นมามองเมื่อเวลาผ่านเกือบไป 14 ปีแล้ว นับว่าผิดพลาดไป
       
       การจัดสรรคลื่นโทรทัศน์โดยมีการประมูลนั้นไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย เพราะเงื่อนไขในการประมูลกลับวัดกันที่ราคาว่าใครให้ผลประโยชน์ตอบแทนมากที่สุด ส่อให้เห็นความขัดแย้งของปรัชญาเต็มที่
       
       กระแสกำลังเรียกร้องสื่อที่ “เสรี” แต่กลับใช้ “ราคา” เป็นตัววัด !
       
       แทนที่จะพิจารณาคุณภาพของบุคลากร ปรัชญาและแนวคิด องค์ประกอบของผู้ร่วมเข้ามาประมูล
       
       ถ้าจะเสรีตั้งแต่ตรงนั้นจริง ๆ ก็น่าจะประกาศไปเลยว่าราคาค่าประมูลไม่ต้องเสียให้รัฐก็ได้ แต่รัฐขออย่างเดียว คือ ขอดูคุณภาพของผู้จัดทำ ขอดูหลักประกันในการบริหารที่สามารถจะสร้างสื่อที่ให้ความเป็นธรรมในสังคม รวมทั้งความสามารถที่จะยืนหยัดและชูธงโต้กระแสทุน
       
       ประเด็น “ชูธงโต้กระแสทุน” ถือว่าสำคัญมาก
       
       เพราะถ้าเพียงสื่อเป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐ แต่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของ “ทุน” แทนที่ – มันก็คือการหนีเสือแก่ ๆ เขี้ยวกร่อน ๆ มาหาจระเข้วัยฉกรรจ์ที่เต็มไปด้วยพละกำลัง !
       
        แต่ในวันนั้นข้อเสนอลักษณะนี้ถูกมองข้าม ทุกคนต้องมนต์มายาหลงกระแสและเข้าใจคำว่าสื่อเสรีพลาดเป้าไปมาก
       
       ก็เลยไม่เกิด “สื่อเสรี” แต่เกิด “สื่อทุน” ขึ้นมา !
       
       เมื่อ “ทุน” เข้าครอบครองอำนาจรัฐเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็เลยฉิบหายกันไปใหญ่
       
       เมื่อสื่อเริ่มมาจากทุน ทุนก็เป็นใหญ่ โทรทัศน์ช่องใหม่ขาดทุนต่อเนื่องจนเป็นเอ็นพีแอลของธนาคารเก่าแก่ที่ย่ำแย่ จึงไม่มีทางเลือกอะไรนอกจากจะต้องหาผู้ร่วมลงทุนใหม่เข้ามาใส่เงินใหม่เข้ามา
       
       ที่สุดก็ “เสร็จ” นายกรัฐมนตรีคนนี้อย่างที่รู้กัน
       
       เมื่อ “ปิดบัญชีทักษิณ” กันได้แล้วเราจึงไม่ควรเดินซ้ำรอยเดิม
       
       จะต้องเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดลงไปเลยว่าจะต้องให้เงินอุดหนุนสื่อโทรทัศน์วิทยุ 1 สื่อ โดยที่การให้เงินอุดหนุนและการบริหารสื่อนั้น ผู้บริหารต้องไม่ใช่เป็นผู้ที่รัฐบาลแต่งตั้ง แต่จะต้องมาจากคณะกรรมการที่ประกอบจากภาคประชาชนหลาย ๆ ภาค
       
       ไม่จำเป็นต้องขึ้นกับรัฐมนตรีท่านใด แต่เป็นองค์กรอิสระ
       
       เพื่อเป็นหลักประกันว่าถ้ารัฐบาลชุดไหนจากไปแล้วมีชุดใหม่เข้ามา สื่อก็ยังได้รับเงินอุดหนุนเช่นเดิม และยังคงเป็นอิสระในการทำงานสื่อ

       
       สื่อโทรทัศน์วิทยุไม่ควรเป็นธุรกิจเต็ม 100 ควรมีความหลากหลาย เป็นของชุมชน เป็นของท้องถิ่น
       
       เพราะเมื่อเป็นธุรกิจก็จะต้องคำนึงถึงทุน พอระดมทุนแล้วก็พูดกันอยู่อย่างเดียวเหมือนธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม เช่น ภาพยนต์ไทย ละคอนเวที ละคอนโทรทัศน์ เพลง และ ฯลฯ ที่ต้องคำนึงถึงผลกำไร ความคิดสร้างสรรค์ถูกทำลายลงไปมากต่อมากเพราะข้อจำกัดประการนี้ เพราะของดี ๆ กับของที่ทำเงินนั้นส่วนใหญ่ต่างกัน น้อยครั้งที่จะเหมือนกัน
       
        สื่อมวลชนจะเป็นอิสระได้อย่างไรในเมื่อรายได้ต้องมาจากการโฆษณาเป็นหลัก
       
        ไม่ว่าวิทยุ โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ เมื่อมองจากมุมนี้ – ล้วนไร้เสรี !
       
        สื่อเสรีที่พูด ๆ กันอาจจะเคยมี ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทไทย (ศนท.) ตัดสินใจทำหนังสือพิมพ์เอง ด้วยเงินสะสมของศนท.ที่มาจากการบริจาคของประชาชนเมื่อครั้งเหตุการณ์ 9 -16 ตุลาคม 2516 เพราะไม่ต้องการตกเป็นทาสการบิดเบือนข่าวสารจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมในขณะนั้น
       
       แม้จะมีเนื้อหาที่ดูก้าวร้าว รุนแรง แต่เมื่อเรามามองย้อนหลังแล้ว สาระในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นโดยหลักการแล้วเป็นจริง
       
        ปัญหาใหญ่ ๆ ของวงการสื่อมวลชนในลักษณะที่กล่าวมานี้ ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย หากเกิดขึ้นทั่วไป
       
       ขณะนี้มีอยู่ประมาณไม่เกิน 9 กลุ่มบริษัททั่วโลกที่มีอิทธิพลต่อโลก คุมสื่อทั้งหมดทั่วโลก
       
       ไม่เพียงแต่เท่านั้น – ยังกำหนด “ค่านิยมทางวัฒนธรรม” แก่คนทั้งโลกด้วย
       
       เป็นค่านิยมทางวัฒนธรรมที่โหมประโคมให้ “ลัทธิบริโภคนิยม” เกือบจะกลายเป็น “ศาสนา” ขึ้นมา
       
       เพื่ออะไรเล่า – ถ้าไม่ใช่เพื่อ “ขายสินค้า” เป็นหลัก

หมายเลขบันทึก: 43096เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2006 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เลิกดูไอทีวีไปนานแล้ว ตั้งแต่กลุ่มชินเทคโอเวอร์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท