ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ดร.ซาร่า: เธอผู้เป็นได้มากกว่าครูสอนภาษาอังกฤษ


     "ฉันเดินทางกลับถึงอ๊อกฟอร์ด (Oxford) เรียบร้อยแล้ว และขอขอบคุณสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่มหาจุฬาฯ ได้มอบให้แก่ฉัน อีกทั้งฝากความระลึกถึงลูกศิษย์ของฉันทุกคนด้วย" นี่เป็นเนื้อหาจากอีเมล์ที่ ดร.ซาร่า เอกดาวิค ได้ส่งกลับมาถึงผู้เขียนเมื่อสามวันที่แล้ว  หลังจากที่เธอเดินทางกลับถึงเมืองอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษโดยสวัสดิภาพด้วยสายการบินบริติช แอร์เวย์

     "ดร.ซาร่า" เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษในหลายสถาบันของเมืองอ๊อกฟอร์ด อีกทั้งเป็นสอนเกี่ยวกับวรรณกรรมภาษากรีกที่มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด (University of Oxford)  เธอเป็นครูสอนภาษาอังกฤษของผู้เขียน เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเดินทางไปเรียนภาษาอังกฤษ และดูงานด้านสถาบันภาษาเป็นระยะเวลา ๑ ปี ณ เมืองอ๊อกฟอร์ด ตามบัญชาของ ศ.ดร.พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาจุฬาฯ

     เธอเป็นอาจารย์สอนภาษาที่มากกว่าการเป็นอาจารย์สอนโดยทั่วไป  นักเรียนไทยจำนวนมากที่ไปเรียนหนังสือที่เมืองอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษจะรู้จักเธอเป็นอย่างดี เพราะเธอจะเข้าใจวัฒนธรรมไทย วิธีคิด วิธีการเรียนภาษาอังกฤษ รวมไปถึงจุดอ่อนด้านภาษาของเด็กไทยเป็นอย่างดี  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เธอได้ซึมซับรับเอาวัฒนธรรมไทยไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโดยมิรู้เนื้อรู้ตัว  ดังจะเห็นได้จากความเป็นคนโอบอ้อมอารี ใส่ใจต่อภาระหน้าที่่ของการเป็นครู  ดังนั้น ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส ล้วนประทับใจในครู "ซาร่า" อย่างอยากจะลืมเลือน

     ดร. ซาร่าเดินทางมาเมืองไทยเป็นครั้งที่ ๒ พร้อมด้วยสามีคือ "ปีเตอร์"  เพื่อเป็นอาจารย์พิเศษทำหน้าที่สอนภาษาอังกฤษให้แก่ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และบุคคลทั่วไปที่เป็นพระภิกษุ สามเณร แม่ชี และฆราวาสญาติโยมตามคำเชิญของผู้เขียน ด้วยหวังว่า ปรารถนาให้ทั้งสองท่านได้มาพักผ่อนในเมืองไทยประมาณ ๑ เดือน (Long Holiday)  แต่ในความเป็นจริง ทั้งคู่กลับมิได้พักผ่อนตามที่คาดการณ์เอาไว้ หากแต่ต้องทำหน้าที่ในการสอนภาษาอังกฤษประมาณเกือบ ๒๐ วัน ก่อนที่ทั้งคู่จะเดินทางไปพักผ่อนที่เชียงใหม่ประมาณ ๑ อาทิตย์ก่อนเดินทางกลับประเทศอังกฤษ

ภาษาอังกฤษสำหรับครูในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

     วันที่ ๑๑-๑๓  กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔  ปีเตอร์ได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้การพัฒนาและฝึกอบรมหลักสูตร “ภาษาอังกฤษสำหรับครูสอนภาษาอังกฤษ” (English for English Teachers)  แก่คณะครูสอนภาคอังกฤษในเขตโรงเรียนพื้นที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน  ๒๐ ท่าน จาก  ๖  โรงเรียน คือ โรงเรียนจิรศาสตร์วิทยา โรงเรียนวิเชียนกลิ่นสุคนธ์อุปถัมภ์  โรงเรียนวังน้อยพนมยงค์วิทยา โรงเรียนวัดกุฏีประสิทธิ์ โรงเรียนวัดลาดยาว และโรงเรียนมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย

     จะเห็นว่า แม้จะเป็นระยะ ๒๐ ชั่วโมงในแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างปีเตอร์กับครูในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่คณะครูจากโรงเรียนต่างๆ ล้วนได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายและทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง เื่นื่องจากปีเตอร์เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษมาเกือบ ๔๐ ปี และเขียนตำราเกี่ยวกับเรื่องนี้จำนวนมาก  ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า "ลูกศิษย์ของครูเหล่านี้ จะได้ัรับคุณประโยชน์ในลำดับต่อไป" เพื่อเมื่อคุณค่าได้รับประสบการณ์การสอนใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลในเชิงบวกต่อลูกศิษย์ต่อการพัฒนาภาษาอังกฤษเช่นเดียวกัน

ภาษาอังกฤษทั่วไปสำหรับพระภิกษุ สามเณร และเด็กนักเรียนประถมและมัธยม

     ในวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมานั้น สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ตระหนักรู้และเห็นความสำคัญในการพัฒนาอังกฤษตามนโยบายของมหาวิทยาลัย  จึงได้มอบทุนการศึกษาให้แก่พระภิกษุ สามเณร เจ้าหน้าที่ และนักเรียนชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษาในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำนวนทุนละ ๓,๐๐๐ บาท 

     จะเห็นว่า เมื่อปีเตอร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการสอนภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานได้เดินทางมาเป็นอาจารย์พิเศษ  จึงทำให้พระภิกษุ สามเณร เจ้าหน้าที่ และเด็กนักเรียนได้มีโอกาสในการศึกษา และเรียนรู้ประสบการณ์ในการพัฒนาทักษะด้านการใช้ภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษาโดยตรง

     วิธีการเรียนการสอนของ "ปีเตอร์" นั้นจะเน้นหนักไปที่ทักษะการฟัง และการพูดเป็นด้า้นหลัก  โดยเขาได้ให้เหตุผลว่า "เด็กไทยส่วนใหญ่ที่ตัวเองรู้จักนั้น เก่ง และแม่นยำในหลักไวยากรณ์ แต่ปัญหาที่พบคือ เด็กไทยขาดทักษะในการฟัง และการพูด ฉะนั้น เมื่อฟังไม่เข้าใจ จึงทำให้การโต้ตอบประสบปัญหาไปด้วย"

    ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้ปีเตอร์พยายามที่จะวางรากฐานในการฟังและการพูดแก่กลุ่มที่เรียนในหลักสูตรนี้  ถึงกระนั้น  การเรียนของกลุ่มนี้มีระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้นมาก เนื่องจากปัญหาของเวลา และงบประมาณที่ไม่สอดรับกัน  อย่างไรก็ดี  สิ่งที่ผู้เรียนกลุ่มนี้ได้รับมากที่สุดคือ "แรงบันดาลใจ" ในการที่เรียนรู้ และพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น  อันจะก่อให้เกิดผลในระยะยาวของการพัฒนาภาษาในโอกาสต่อไป

ภาษาอังกฤษเชิงวิชาการเพื่อพัฒนาคณาจารย์ มจร. และบุคคลทั่วไป

     ภาษาอังกฤษเชิงวิชาการมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษในการเขียนงานด้านวิชาการ  ซึ่งทักษะด้านนี้ มีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนางานดานวิชาการให้มีคุณภาพสูงขึ้น  ในประเด็นนี้ ถือได้เป็นนโยบายสำคัญของมหาวิทยาลัยที่มองว่า "การที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเป็นเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิชาการด้านพระพุทธศาสนาของโลกจำเป็นต้องพัฒนาด้านภาษาให้แก่ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตของมหาวิทยาลัย" ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนา "อาจารย์ต้นแบบ" เพื่อให้สามารถพัฒนาศักยภาพตนเองให้มีทักษะทั้ง ๓ ภาษา

     (๑) ภาษาไอที  จำเป็นต้องเน้นและเรียนรู้ เพราะโลกก้าวไปพุทโธโลยี ธรรโมโลยี และสังโฆโลยี ตามก้าวให้ทันต่อความเป็นไปของสิ่งต่างๆ เพื่อให้สองสิ่งเอื้อเฟื้อและเกื้อกูนต่อการเข้าถึงธรรม และนำธรรมเข้าสู่สังคม

     (๒) ภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้เพื่อเป็นเครื่องแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ในภูมิภาคต่างๆ และ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

     (๓) ภาษาวิชาการ  เน้นวิชาการให้เข็มแข็ง ทั้งในแง่ของการเรียน ศึกษาหาความรู้ อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนต่างๆ รวมถึง การเขียนตำราทางวิชาการ และเอกสารคำสอนต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการศึกษาและเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนทั่วโลก

     ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นต้องบูรณาการการเรียนรู้ทั้ง  ๓ ภาษาข้างต้น หากภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างๆ ไม่เข้มแข็งเพียงพอ จะ่ส่งผลต่อการพัฒนาภาษาวิชาการ และภาษาไอทีตามลำดับ เพราะภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ  อุดมไปด้วยองค์ความรู้ และขุมทรัพย์ทางปัญญาอย่างหลากหลายที่ซ่อนตัว หรือเผยตัวอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก ฉะนั้น ภาษาจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะไข 'ความลับของสรรพสิ่งในจักรวาล'  ให้เผยตัวออกมาเพื่อนำไปสร้าง และบูรณาการองค์ความรู้ใหม่ๆ ต่อการพัฒนามนุษยชาติและสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไป

ก้าวต่อไปของสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

     การที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิชาการด้านพระพุทธ ศาสนาในระดับนานาชาติตามนโยบายของมหาวิทยาลัย และการพัฒนาสถาบันภาษาให้เป็นแหล่งรองรับการจัดตั้งวิทยาลัยพระพุทธศาสนา นานาชาติตามนโยบายของ ศ.ดร.พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีนั้น  เครื่องมือสำคัญประการหนึ่งที่จะเข้าถึงเป้าหมายดังกล่าว คือ "ภาษา”  ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ แก่ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตของมหาวิทยาลัย ให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

     ด้วยเหตุนี้  ผู้เขียนในฐานะผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และผู้อำนวยการสถาบันภาษามหาจุฬา (LIMCU) พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสถาบันภาษามหาจุฬา  ได้เข้าเยี่ยมชมสถาบันภาษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (LITU) และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการสถาบันภาษาเพื่อให้ เป็นแหล่งสนับสนุนและส่งเสริมภาษาต่างประเทศของผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย และบุคคลทั่วไป

     ในการนี้ รศ. ดร.สุพงศ์ ตั้งเคียงศิริสิน  ผู้อำนวยการสถาบันภาษา  และ รศ. ศรีปทุม นุ่มอุรา  รองผู้อำนวยการสถาบันภาษาฝ่ายบริหาร ศูนย์รังสิต ได้ให้การต้อนรับ และได้นำเสนอภาพรวมด้านการบริหารและการจัดการสถาบันภาษาเพื่อรองรับการศึกษา ภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ตั้งแต่ระดับหลักสูตรปกาศนียบัตร หลักสูตรระดับปริญญาตรี และหลักสูตรระดับปริญญาโท

     การเข้าเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ สถาบันภาษามหาจุฬา มุ่งเน้นที่จะลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสองสถาบัน เพื่อนำหลักการและแนวทางการจัดสอบ และวัดผลด้วยข้อสอบ “TUGET” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นกรอบในการพัฒนา “MCUGET” เพื่อรองรับการวัดผลภาษาต่างประเทศแก่นิสิตต่างประเทศที่เข้าศึกษาระดับ ปริญญาตรี และปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยออกข้อบังคับว่าด้วย “การสอบภาษาต่างประเทศของนิสิตในระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาเอก” โดยนิสิตผู้ประสงค์จะจบการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี และเอกจะต้องสอบให้ผ่านการทดสอบภาษาต่างประเทศจึงจะมีสิทธิ์รับปริญญาตรี หรือจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยได้

หมายเลขบันทึก: 430278เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2011 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาชื่นชมครูอาจารย์ที่มีความผูกพันอันดีกับศิษย์ครับพระคุณเจ้า

อยากเข้าอบรมด้วยจังเลยครับ

  • นมัสการท่านรองฯ
  • ท่านอาจารย์ทั้งสองเป็นครูจริงๆด้วย
  • เสียดายไม่ได้เรียนรู้กับท่าน
  • มีอะไรที่พอจะให้ช่วยได้ในสถาบันภาษาบอกนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท