ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ธรรมเจดีย์: ขอฝากมรดกธรรมให้อยู่คู่โลกา


     ในขณะที่ “โลก” ในยุคปัจจุบันนี้  ซึ่งประกอบด้วย โลกในความหมายของผืนแผ่นดิน (โอกาสโลก)  โลกในความหมายของมนุษยชาติ (มนุษยโลก) และโลกในความหมายของปรุงแต่งจนนำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยก (สังขารโลก) กำลังประสบภาวะวิกฤติอย่างต่อเนื่องและหนักหน่วง

     ๑.โลกในความหมายของผืนแผ่นดิน

     โลกในความหมายนี้ กำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์ในหลายๆ มิติ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ  กล่าวคือ ทางบกในหลายพื้นที่เต็มไปด้วยความแห้งแล้งอันเนื่องจากฝนฟ้าตกไม่สอดรับกับฤดูกาล  สาเหตุประการหนึ่งเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าทำให้ขาดพื้นที่สีเขียวซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศวิทยา  ในขณะที่ทางน้ำนั้น โลกประสบกับอุทกภัยอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคต่างๆ  นอกจากนี้  ได้ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ด้านแหล่งน้ำที่สกปรกและเน่าเสีย  รวมไปถึงสภาวะน้ำทะเลหนุนและกัดเซาะพื้นที่ต่างๆ ของโลกเนื่องจากน้ำแข็งละลายจากภาวะโลกร้อน นอกจากนั้น สภาวะอากาศในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ของโลก มักจะเต็มไปด้วยมลภาวะที่เป็นพิษต่อร่างกาย อันเนื่องมาจากก๊าซพิษจากท่อไอเสีย และโรงงานต่างๆ ที่ปล่อยก๊าซพิษอันก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก

     ๒. โลกในความหมายของพลเมืองโลก

     ช่วงเปลี่ยนผ่านเกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยได้ก่อให้เกิดคำถามมากมายตามมาว่า “การเกิดขึ้นของระบบการเมืองการปกครองประการหนึ่งก็เพื่อแก้ไขความขัดแย้งเกี่ยวกับการของชนในชาติโดยเฉพาะการทำหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรของชนในชาติอย่างเท่าเทียม และเสมอภาคเพื่อให้พลเมืองในชาติเกิดความพึงพอใจจริงหรือ?”   การไม่รัฐ และพลเมืองในชาติในหลายๆ ประเทศไม่สามารถตอบปัญหาดังกล่าวได้อย่างแจ่ม  จึงทำให้ชัดร่องรอยของความขัดแย้งและแบ่งข้างจนนำไปสู่การแย่งชิงในลำดับต่อมา ซึ่งผลจากการแย่งชิงนั้น ได้นำมาสู่การ “นองเลือด” และฆ่าฟัน เบียดเบียนกลุ่มคนที่เห็นต่าง และเรียกหาอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

     ๓.  โลกในความหมายของการเกิดความรู้สึกแปลกแยก 

     “โลกที่เกิดจากการปรุงแต่งของจิต”  (สังขารโลก) ในสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดขึ้นจากการยึดมั่นถือมั่นในความเป็นชาติ  (ชาตินิยม) ที่เต็มไปด้วยความมืดบอด ทำให้ขาดการรู้เท่าทันในความเป็นชาติซึ่งก่อให้เกิดผลเสียตามมาในหลายมิติ  การรู้เท่าทันในความเป็นชาติคือรู้เท่าทันกิเลสที่เกิดขึ้น แต่เมื่อขาดการรู้เท่าทันในความเป็นชาติ ก็ทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายและเกลียดชังของพลเมืองในชาติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่พลเมืองในชาติยึดมั่น “โลกธรรม” หรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของภาวะความมีลาภ เสื่อมลาภ สุข ทุกข์ สรรเสริญ และนินทา จนนำไปสู่ยื้อแย่งแข่งขันมากกว่าการแบ่งปันอย่างเท่าเทียมและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

          จากปัญหาที่ว่าด้วย "ภาวะวิกฤติการณ์ของโลก" ในมิติต่างๆ นั้น  จึงทำให้ผู้เขียนในฐานะ "มนุษย์คนหนึ่งที่อาศัยโลกใบนี้" ได้ตั้งคำถามต่อตัวเองว่า "จะเป็นส่วนหนึ่ง หรือเสี้ยวหนึ่งในการนำเสนอ "ทางเลือกที่พึงประสงค์" แก่มนุษยชาติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้อย่างไร  เหตุผลดังกล่าว จึงนำไปสู่ความตั้งใจ มุ่งมั่นและตัดสินใจเขียนหนังสือขึ้นมา ๒ เล่ม คือ

     (๑) การบูรณาการพุทธปัญญาเพื่อพัฒนาชีวิตและสังคม

     หนังสือเล่มนี้ แบ่งออกเป็น ๓ ตอน คือ พุทธิปัญญาเพื่อพัฒนาชีวิต พุทธิปัญญาเพื่อพัฒนาสังคม และพุทธิปัญญาเพื่อพัฒนาโลก  ซึ่งแต่ละตอนพยายามที่นำเสนอประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต สังคม และโลก  สาระสำคัญคือ การมุ่งเน้นที่จะทำให้หนังสือเล่มนี้เป็น "ทางเลือก" หนึ่งในการร่วมตอบปัญหาว่า เราจะพัฒนาสังคมแ่ห่งการ "ยื้อแย่งแข่งขัน" ไปสู่ "การแบ่งปันอย่างเท่าเทียม" ได้อย่างไร  ซึ่งการตอบปัญหาเช่นนี้ ไม่ได้หมายถึงการอยู่รอดของมนุษย์บุคคลใดบุคคลหนึ่งในสังคมเท่านั้น หากแต่เป็นการอยู่รอดของมนุัษยชาติทั้งมวลที่อาศัยอยู่ในโลกนี้

     (๒) พุทธสันติวิธี: การบูรณาการหลักการและเครื่องมือจัดการความขัดแย้ง

     หนังสือเล่มนี้ แบ่งออกเป็น ๑๑ บท โดยพยายามที่จะนำเสนอให้เห็นถึงภาพรวมของแนวคิด และทฤษฏีความขัดแย้งในทุกๆ มิติที่มีอยู่ในโลกยุคปัจจุบันนี้ หลังจากนั้น ผู้เขียนได้เพียรพยายามที่แสวงหาหลักการ และเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธีว่า สันติวิธีการในรูปแบบต่างๆ ที่ปรากฎในโลกนี้ ประกอบไปด้วยจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร เครื่องมือแต่ละชุดนั้น ควรได้รับการเลือกสรรไปใช้ในสถานการณ์ใด ก่อนหรือหลังอย่างไร 

     เมื่อได้กรอบ และแนวทางเกี่ยวความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธีในรูปแบบต่างๆ แล้ว ผู้เขียนได้พยายามที่จะนำหลักการจัดการความขัดแย้งที่ปรากฎในพระไตรปิฏกที่พระพุทธเจ้า และเหล่าสาวกที่นำไปจัดการความขัดแย้ง  โดยผู้เขียนได้นำเอากรณีกรณีศึกษามาเทียบเคียง และอธิบายประกอบเพื่อให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

     ถึงกระนั้น ผู้เขียนได้ "บูรณาการ" หลักการและเครื่องมือทั้งทางตะวันตก และพระพุทธศาสนาเพื่อให้นักสันติวิธีสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งในบางสถานการณ์นั้นประกอบด้วยเงื่อนไข และตัวแปรของความขัดแย้งที่หลากหลาย จนทำให้การจัดการความขัดแย้งใช้ระยะเวลายาวนานมากขึ้น และนักสันติวิธีอาจจะไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะสามารถจัดการความขัดแย้งได้หรือไ่ม่

     "ธรรมเจดีย์" ที่ถือได้ว่าเป็น "มรดกธรรม" ทั้งสองเล่มนั้น ผู้เขียนได้เพียรพยายามที่ "สกัดจากประสบการณ์ในการทำงานด้านสันติภาพ" และ "การทำงานทางวิชาการด้านสันติศึกษา"  ทั้งในการสอนนิสิตระดับปริญญาเอกด้านสันติวิธี การทำวิทยานิพนธ์ระัดับปริญญาเอกด้านพุทธสันติวิธี การเข้าศึกษาหลักสูตรการจัดการความขัดแย้ง ณ สถาบันพระปกเกล้า และหลักสูตรต่างๆ จำนวนมาก

    ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า "หนังสือทั้งสองเล่มนี้" จะเป็นคู่มือ และบทเรียนเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของใครก็ตามที่ได้มีโอกาสได้อ่านหนังสือและนำบทเรียนเรียนดังกล่าวไปเป็นคู่มือ และแนวทางในการสอนเกี่ยวกับ "ความขัดแย้ง" "สันติวิธี" และ "สันติศึกษา" ในสถาบันการศึกษาต่างๆ  รวมไปถึงหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี

    ในโอกาสนี้ ผู้เขียนต้องขอกราบขอบพระคุณ ศ.ดร. พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระไพศาล วิสาโล นักสันติวิธี อนุโมทนาขอบคุณ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต  ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ที่ได้กรุณาเขียน "คำนิยม" เพื่อเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ "สันติศึกษา" อีกทั้งก่อให้เกิดแรงบันดาลใจแก่นักสันติวิธีที่สนใจงานด้านความขัดแย้งและัสันติภาพในโอกาสต่อไป

หมายเลขบันทึก: 429794เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2011 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ธัญกานต์ สันตะพันธ์

ประเทศไทยเราต้องการหลักธรรมเป็นอย่างมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท