คำว่า "มหากาพย์"


"มหากาพย์" เป็นคำที่เราคุ้นเคยกันพอสมควร แต่อาจจะยังเข้าใจความหมายไม่ชัดเจนนัก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ไม่ได้ให้ความหมายไว้

พจนานุกรมฉบับ(สำนักพิมพ์)มติชน บอกว่า น. เรื่้องแสดงวีรกรรมของมหาวีรบุรุษ เช่น มหากาพย์รามายณะ; (ปาก) เรียกเหน็บแนมหนังสือที่แต่งยาวเกินขนาดว่า มหากาพย์. (อ. epic)

ปัจจุบันนี้ มักมีการใช้คำว่า มหากาพย์ ในทำนองว่า เรื่องยาว เหตุการณ์ที่ยืดยาว สลับซับซ้อน อย่างคดีความบางคดี มีคนเรียกว่ามหากาพย์ก็เคยเจอเหมือนกัน

คำว่า มหากาพย์ คงจะมีปรากฏมานานแล้ว และเข้าใจว่าคงจะใช้เพื่อแปลคำว่า epic ในภาษาอังกฤษนั่นเอง

 

epic หมายถึุงอะไร คงจะค้นหาได้ไม่ยาก แต่มหากาพย์เป็นมาอย่างไรนี่สิ งง กว่า

 

เข้าใจว่า มหากาพย์ มาจากศัพท์ มหากาวฺย ในภาษาสันสกฤต หมายถึง วรรณคดีประเภทหนึ่ง ที่แต่งดี งดงามด้วยรสทางวรรณคี และมีคุณสมบัติอื่นๆ 

คำว่า มหากาวฺย ย่อมมาจาก มหา+กาวฺย,  กาวฺย นั้น พูดง่ายๆ ก็คือ วรรณคดี หรือ ผลงานวรรณกรรมที่แต่งอย่างดี  (เป็นร้อยแก้วก็ได้ เป็นร้อยแก้วก็ได้ ปนกันก็ได้) มหากาวฺย ก็ต้องใหญ่กว่า กาวฺย นั่นเอง

 

พจนานุกรมภาษาสันสกฤต-อังกฤษ ของ มอเนียร์ วิลเลียมส์ บอกว่า มหากาวฺย คือ "a great or classical poem" และชี้ว่ามีเรื่องเด่นอยู่ 6 เรื่อง คือ รฆุวงศ์, กุมารสมภพ, เมฆทูต, ศิศุปาลวธะ, กิราตารชุนียะ, ไนษธจาริต, บ้างก็ว่า ภัฏฏิกาวยะ ด้วย.

 

6 เรื่องนี้ คงจะเป็นแบบที่โดดเด่น ไม่ใช่ว่าวรรณคดีสันสกฤตจะมีมหากาวฺย อยู่เพียง 6 เรื่องเท่านั้น ส่วนเรื่อง เมฆทูต ไม่น่าจะเป็นมหากาวฺย เพราะเรื่องสั้นๆ ใช้ฉันท์เพียงชนิดเดียว ไม่ได้พรรณนาถึงบุคคลสำคัญใดเลย (แต่แทรกเรื่องเทวดาไว้หลายองค์)

 

ศ.(พิเศษ) ดร.จำลอง สารพัดนึก ได้เล่าไว้ในหนังสือประวัติวรรณคดีสันสกฤตเอาไว้ กล่าวว่า ทัณฑิน (กวีภาษาสันสกฤตที่มีชื่อเสียง เมื่อคริสตศตวรรษ 6-7 ผู้แต่งคัมภีร์ว่าด้วยวรรณคดีสันสกฤต และแต่งวรรณคดีประเภทมหากาวฺย ด้วย) ได้บรรยายถึงลักษณะของมหากาวฺย ไว้ดังนี้

"ลักษณะของมหากาวฺย คือ เริ่มต้นด้วยบทสวดอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชี้แนะว่าเนื้อเรื่องต่อไปจะกล่าวถึงอะไร มีจุึดมุ่งหมายของชีวิต 4 ประการ (ปทารถ) คือ กาม อรรถ ธรรม และโมกษะ เนื้อเรื่องจะต้องนำมาจากนิทานหรือเรื่องเล่าสืบต่อมาแต่โบราณ ไม่ใช่เรื่องแต่งขึ้นเอง พระเอกของเรื่องจะต้องเป็นคนชั้นสูง และมีความเฉลียวฉลาด ต้องมีการพรรณนาถึงเมือง ทะเล ภูเขา ฤดูกาล พระจันทร์ และพระอาทิตย์ขึ้นและตก  พรรณนาการเล่นสนุกสนานในสวนหรือในน้ำ  พรรณนาการดื่ม การเลี้ยงฉลองเกี่ยวกับความรัก พรรณนาการแยกจากกัน การแต่งงาน และการให้กำเนิดบุตรชาย การประชุมสภา พรรณนาเกี่ยวกับราชทูต การศึกสงคราม พรรณนาการมีชัยชนะของพระเอกแม้ข้าศึกจะมีความเก่งกาจ เป็นเรื่องไม่สั้นเกินไป ประกอบไปด้วยรสทางวรรณคดี (sentiments) และภาวะ (emotions) ต่างๆ โดยสมบูรณ์ การสืบต่อเรื่องดี ฉันท์ที่ใช้จะต้องมีความงดงาม แต่ละสรรค(บท) ไม่ยาวเกินไป ตอนจบสรรคต้องเปลี่ยนฉันท์"

 

อาจารย์จำลองยังเล่าว่ามีมหากาวฺย อีกหลายเล่ม เช่น

พุทฺธจริต เป็นประวัติของพระพุทธเจ้า แต่งโดยกวีชื่อ อัศวโฆษ

เสาทรนนฺท ประวัติของพระนันทะ แต่งโดย อัศวโฆษ เช่นกัน

รฆุวงํศ ประวัติของบรรพบุรุษพระราม แต่งโดย กาลิทาส

กุมารสมฺภว ประวัติของพระกุมาร เทพเจ้าแห่งสงคราม แต่งโดย กาลิทาส

กิราตารฺชุนีย เ่ล่าเรื่องตอนหนึ่งจากมหาภารตะ แต่งโดย ภารวิ

ศิศุปาลวธ เ่ล่าเรื่องพระกฤษณะฆ่าพระเจ้าศิศุปาละ จากเนื้อเรื่องตอนหนึ่งในมหาภารตะ แต่งโดย มาฆะ

ฯลฯ

สำหรับรามายณะ และมหาภารตะนั้น แม้จะคุ้นเคยกันว่า มีคนเรียกเป็นมหากาพย์ แต่ตำราวรรณคดีสันสกฤตไม่นิยมจัดไว้ในหมวดมหากาวฺย เนื่องจากมีคุณลักษณะส่วนใหญ่ยังไม่ตรงกับมหากาวฺย แต่รามายณะและมหาภารตะนี้ฝรั่งเรียกว่า epic เราจึงเรียกว่า มหากาพย์

 

เขียนไปเขียนมาชักจะยาวเป็นมหากาพย์ เอาเป็นว่าสรุปสั้นๆ คำว่า มหากาพย์ คงจะมาจาก มหากาวฺย ในภาษาสันสกฤตแน่ๆ แต่ไม่ได้เอาความหมายมาด้วย ไพล่ไปเอาความหมายของ epic มาใส่ในคำว่า มหากาพย์ นั่นแน่ะ

ส่วนความหมายของมหากาวฺย นั้นไม่ค่อยจะมีใครเล่าไว้ ผมคัดเนื้อหาที่ศ.ดร.จำลองท่านได้เล่าไว้มาให้อ่านกัน ท่านที่สนใจสามารถค้นเพิ่มเติมด้วยคำว่า mahakavya (māhākāvya)

เหตุที่งงๆ ก็เพราะเรามักจะแปล(บัญญัติ)ศัพท์ภาษาอังกฤษด้วยศัพท์ภาษาสันสกฤต (แทนที่จะใช้คำไทย) ทำให้ทับซ้อนกับความหมายของคำสันสกฤตเดิม (ที่เราเอาคำมาใช้ด้วยความหมายใหม่)

โปรดดูเพิ่ม

*http://www.oknation.net/blog/ThaiTeacher/2009/12/19/entry-1

*จำลอง สารพัดนึก. ประวัติวรรณคดีสันสกฤต. ม.รามคำแหง, 2546.

หมายเลขบันทึก: 429644เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2011 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มหากาพย์จริง ๆ ด้วยค่ะ

การจะอธิบายหรือเล่าเรื่องยาว ๆ ที่คนส่วนใหญ่ (ไม่เกี่ยวกับคนที่มีความรู้และเข้าใจดีแล้วในเรื่องนั้น) ให้เข้าใจก็ยากนะคะ

ยังดีที่สรุปให้ด้วยว่า... "มหากาพย์ คงจะมาจาก มหากาวฺย ในภาษาสันสกฤตแน่ๆ แต่ไม่ได้เอาความหมายมาด้วย ไพล่ไปเอาความหมายของ epic มาใส่ในคำว่า มหากาพย์"

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณ Ico48 คนไม่มีราก

เขียนตั้งเยอะ แต่รู้เรื่องแค่บทสรุปเอง อิอิ

งั้นเอาใหม่นะครับ

 

1. "มหากาพย์" เป็นคำที่เราคุ้นเคย แต่อาจไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไรแน่

2. พจนานุกรมก็ไม่ค่อยอธิบาย แต่ฉบับมติชนบอกไว้ (ข้างบน)

3. คำว่า มหากาพย์ เป็นคำที่เราคิดขึ้น ใช้แทนคำว่า epic ในภาษาอังกฤษ

4. ศัพท์ว่า มหากาพย์ นี้ แผลงจาก มหากาวฺย ในภาษาสันสกฤต

5. มหากาวฺย เป็น วรรณคดีสันสกฤตประเภทหนึ่ง

6. ฝรั่งคนหนึ่งบอกว่า มหากาวฺย มีแม่แบบอยู่ 6 เรื่อง (ข้างบน)

7. กวีอินเดียคนหนึ่ง บอกลักษณะของมหากาพย์ไว้หลายอย่าง (ข้างบน)

8. ดร.จำลอง ยกตัวอย่างมหากาวฺย ให้เห็นว่ามีมากมาย (ข้างบน)

9. คนมักเรียกเรื่อง มหาภารตะ และรามายณะ ว่า มหากาพย์ ซึ่งตรงกับลักษณะ

ของ epic ในภาษาอังกฤษ แต่ไม่ตรงกับ มหากาวฺย ของอินเดีย

 

จบ. ;)

  • โอโหอาจารย์หมู ได้ข้อมูลเต็มเลย
  • เคยได้ยินแต่มหากาพย์ภารตะ

สวัสดีค่ะ

รออ่านสรุปนี้ตั้งนาน...ฮา ๆ

อย่างนี้เรียกว่าเริ่มต้นที่จุดจบ อ่านตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เรียนรู้เป็นข้อ ๆ ดีกว่ากันเยอะเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีอาจารย์ ธ.วัชชัย

  มีเพื่อนอินเดียที่ชอบคุยกันเรื่องศิลปวัฒนธรรม ชอบล้อว่าว่าเราขโมยของเขาทั้งโขนก็มาจากรามายณะ แล้วยังภาษาอีก เขาว่าอินเดียเป็นประเทศเดียวที่แผ่อิทธิพลวัฒนธรรมไปกว้างขวางโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่เรียกว่าสงครามเลย เราก็บอกเขาว่าใช้คำว่าขโมยน่าจะไม่ถูก มันเป็นวัฒนธรรมที่มาจากเบ้าเดียวกันตั้งแต่โบราณ เรารับมา เขาก็รับมา เมื่อผ่านกาลเวลาก็อิทธิพลโน่นนี่จนมามีเอกลักษณ์ของตัวเอง ไทยก็มีโขนแบบไทย อินโด มาเลย์ ก็มีรามายณะเป็นแบบของตัวเอง อินเดียก็มีแบบอินเดีย ก็พูดไปตามที่คิดได้ อาจารย์ว่าฟังดูข้างๆคูๆ หรือเปล่าคะ  

คิดๆดูแล้วก็คงจะเช่นเดียวกับที่มาของคำว่า มหากาพย์ ที่เราเอามาใช้ในความหมายแบบเราๆ จนติดหูติดสมองไปแล้ว เป็นของเราไปแล้วหนะค่ะ จำได้ว่าเลือนๆว่าอย่างคำว่า ทมิฬ ที่มีความหมายดั้งเดิมที่ดี แต่เราใช้ในความหมายไม่ดี เพราะในอดีตเราติดต่อค้าขายกับอีกฝ่ายตรงข้ามกับชาวทมิฬ จ๋าไปจำเรื่องนี้มาจากไหนไม่รู้ ถ้าผิดช่วยบอกด้วยนะคะ

จ๋า :)

สวัสดีครับ คุณ คนไม่มีราก

จะพยายามเขียนให้เข้าใจง่ายครับ ;)



สวัสดีครับ คุณจ๋า

เรื่องการถ่ายทอดความรู้ ความคิด ระหว่างชาติภาษามีเรื่อยมาแม้ในปัจจุบัน
เราได้รับวรรณคดีจากอินเดียมามาก แต่แทบจะไม่มีการแปลเลยในอดีต
(ยกเว้นวรรณคดีพุทธศาสนาบางเรื่อง โดยเฉพาะพระไตรปิฎก)
อย่างไรที่เราแปลมา เราก็บอกว่าของเขา ที่เราดัดแปลง ก็เป็นของเรา
รามายณะกับรามเกียรติ์นั้นต่างกันมาก ส่วนการแสดงโขนก็ดูเหมือนจะ
ไม่คล้ายกับการแสดงแบบไหนของอินเดีย

ถ้าไม่รับรู้วัฒนธรรมนอกบ้านแล้ว แต่ละชาติคงพัฒนาไปอย่างอื่นอาด
แม้อินเดียก็รับภาษาและเทคโนโลยีจากตะวันตกเยอะมาก
ลองไม่ใช้ภาษาอังกฤษ หรือตัวหนังสือฝรั่งดู อินเดียก็คงลำบาก ฯลฯ
ถ้าบอกแล้วเขาไม่เข้าใจ ก็อย่าไปเถียงให้เสียเวลาเลยครับ


ได้ยินมาบ้าง ว่า ทมิฬ แปลว่า หอม หวาน ทำนองนั้น

ส่วนเรื่องการติดต่อกับทมิฬนั้น แต่ไม่ค่อยมีหลักฐานชัดๆ ครับ
จารึกภาษาทมิฬในบ้านเราก็ดูเหมือนจะมีหลักเดียวเท่านั้นเอง
เข้าใจว่า คงจะผ่านตัวกลางอื่นอีกที มากกว่าติดต่อกับทมิฬโดยตรงครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ขจิต

ตอนนี้มีมหาภารตะวางขาย เล่มเบ้อเริ่ม สามสี่เล่มแน่ะครับ

ผมยังไม่ได้ไปหาซื้อเลย

มาเยี่ยมชมได้ความรู้เรื่องสันสกฤต ในคำว่า "มหากาพย์"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท