กลยุทธ์บริหารผู้นำ CEO


ทุกคนย่อมมีความฝัน และต้องพยายามทำฝันให้เป็นจริง

  วันนี้ดิฉันได้มีโอกาสพักผ่อนอยู่บ้านว่างเว้นจากการทำงานบ้าน(ทำหน้าที่แม่บ้านที่ดีภูมิใจก็วันนี้แหละ)ก็หยิบหนังสือพิมพ์มาอ่านจะได้มีความรู้บ้างไม่มากก็น้อย  และอยากแบ่งปันเรื่องราวดีๆ ให้ทุกท่านได้รู้บ้างเผื่อจะเป็นประโยชน์เป็นแรงจูงใจในการทำงานนะคะ

ทุกคนย่อมมีความฝัน  และต้องพยายามทำฝันให้เป็นจริง....  เช่นเดียวกับฝันของ  ดร.สุทธิพล  ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.)  ที่ฝันอยากให้องค์กรอันเป็นแหล่งปลูกฝังประชาธิปไตยแห่งนี้ได้รับความเชื่อมั่นและศรัทธาจากประชาชนให้มากที่สุด

หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต  (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย  ดร.สุทธิพล  ทวีชัยการ  ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ไปศึกษาต่อปริญญาโท  ทางนิติศาสตร์มหาบัณฑิต (LL.M.)  ใบแรกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และใบที่สอง ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย

ต่อมาได้รับปริญญาเอก  นิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (S.J.D.)  จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย

หลังจากจบการศึกษา  ดร.หนุ่ม  ยังได้ประสบการณ์การทำงานด้านกฎหมายหลายแห่งที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.  นครฟิลาเดลเฟีย  และนครซานฟรานซิสโกประเทศสหรัฐอเมริกา

แทนที่จะเลือกทำงานในต่างประเทศอย่างถาวร  ดร.สุทธิพล  ทวีชัยการ  ตัดสินใจเลือกที่จะกลับมาทดแทนแผ่นดินเกิดรับราชการเป็นผู้พิพากษา  และอาจารย์พิเศษสอนวิชากฎหมายหลายสถาบัน

ตลอดอายุราชการ 12 ปีที่อยู่ในรั่วศาลยุติธรรม  ดร.สุทธิพล  ทวีชัยการตั้งใจจะดำรงตำแหน่งตุลาการจนเกษียณอายุโดยไม่คิดลาออก  ตามรอยบิดา (นายเสงี่ยม  ทวีชัยการ)  อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา

แต่แล้วมีผู้ให้ความเคารพท่านหนึ่งชักชวนให้สมัครเป็น เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพราะอยากให้นักกฎหมายที่มีความสื่อสัตว์ สุจริต ทำให้ชีวิตพลิกผันสู่โลกใหม่ที่เต็มไปด้วยขวากหนาม

จากเลขานุการ ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา (ตำแหน่งในขณะนั้น) และโฆษกศาลยุติธรรม  ก้าวเข้าสู่การเป็น ซีอีโอในองค์กรอิสระในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการ กกต. ขณะที่อายุย่าง 46 ปีเท่านั้น

ทว่า......กว่าจะได้ตำแหน่งซีอีโอ กกต. และได้รับการยอมรับจากบุคลากรและสังคมภายนอก ดร.สุทธิพล ยอมรับว่า ฟันฝ่าอุปสรรคเยอะมาก การคัดสรร หัวหน้าสำนักงาน กกต. ต้องผ่านการแข่งกับผู้สมัครจำนวนมาก  จนเหลือ 6 คนสุดท้าย  ที่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ต่อหน้ากรรมการ กกต. และสื่อมวลชน  และได้รับเลือกด้วยคะแนนเอกฉันท์

หลังฝ่าด่านหินเข้ามาได้ต้องเผชิญกับวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่คุ้นเคย  ตลอดจนภาพลักษณ์ขององค์กร  ที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เป็นกลาง

แต่ ดร.สุทธิพล ก็ไม่ยอมท้อถอยและใช้ประสบการณ์จากการเป็นผู้พิพากษาสายบริหาร  เอาชนะขวากหนามได้ด้วยความร่วมมือของคนในองค์กรด้วยดี

แทบไม่น่าเชื่อว่าก่อนที่ ดร.สุทธิพล จะเข้ามาเป็นเลขาฯ องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่สะท้อนความเป็นกลางและความเป็นประชาธิปไตยแห่งนี้  ปัญหา “เด็กฝาก” กลายเป็นอุปสรรคของการบริหารองค์กรไม่น้อย

“สิ่งแรกที่เน้นคือ การวางรากฐานระบบการบริหารบุคคลให้เน้นเพราะทรัพยากรบุคคลสำคัญที่สุด” เลขาธิการ กกต. เล่าว่า  แต่ไหนแต่ไรมา  องค์กรแห่งนี้ไม่มีการพัฒนาบุคลากรที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน  พนักงานส่วนใหญ่  เข้ามาโดยระบบเส้นสาย บางคนมีฝีมือ บางคนไม่มีฝีมือ เข้ามาแล้วอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ พนักงาน กกต. ไม่ได้มีเฉพาะในส่วนกลาง แต่มี กกต. จังหวัดด้วยการบริหารงานจึงต้องใช้หลักบูรณาการและปรับทั้งหมดไปพร้อม ๆ กัน

“ช่วงแรก ๆ ของการปรับปรุงระบบบริหารใหม่ ผมถูกต่อต้านมาก จึงจำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเอง ซึ่งหลักการของผมคือ หยิบจุดแข็งของตัวเอง และจุดอ่อนขององค์กร มาพิสูจน์ให้คนในองค์กรยอมรับ ศรัทธา เชื่อมั่น ไม่เล่นพรรคเล่นพวก ให้โอกาสทุกคน ไม่ได้เข้ามาเพื่อสร้างฐานอำนาจ หรือกอบโกยผลประโยชน์ ถ้าเป็นที่ยอมรับแล้วทุกอย่างก็ราบรื่น”

เมื่อเป็นที่ยอมรับในองค์กรแล้ว  ภารกิจต่อไปคือการเร่งฟื้นฟูองค์กรด้วยการเรียกขวัญกำลังใจของพนักงานกลับคืนมา ด้วยการแต่งตั้งโยกย้ายอย่างเป็นระบบ  สร้างระบบการทำงานในรูปของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ เช่น  คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการแต่งตั้งโยกย้ายและเลื่อนเงินเดือน

โดยเน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานเพื่อช่วยกันคิดและพัฒนาองค์กรและลดการผูกขาดอำนาจของผู้บริหารสูงสุดขององค์กรคือ  เลขาฯ กกต.  ลงไปด้วยทำให้ทำงานยากขึ้น  จากที่เลขาฯ สั่งได้เลย  ต้องฟังคนอื่นพูด  ฟังความเห็นในที่ประชุม

“การแต่งตั้งโยกย้าย ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งผู้บริหารระดับกลาง หรือผู้บริหารระดับสูงเราทำระบบทุกระบบที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งการเคลื่อนแต่ละเรื่องเกิดปัญหาทั้งสิ้น เพราะไม่เคยทำพอผมมาทำ คนที่ผลักดันตรงนี้ ย่อมได้รับผลกระทบ ช่วงผมผลักดันอะไรต่าง ๆ ผมโดนทั้งหนังสือร้องเรียน  หนังสือสนเท่ห์อะไรต่าง ๆ แต่เดี๋ยวนี้พนักงานเริ่มรู้แล้ว

ผมดูว่าองค์กรของเราต้องเปลี่ยนแปลง  เป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางที่ดีขึ้น  เพื่อให้องค์กรมีมาตรฐานมากขึ้น  แล้วเราอย่าไปมองว่า กกต.  เป็นองค์กรอิสระที่สามารถออกกติกา  จริงอยู่ที่เราสามารถออกกติกาได้  แต่ว่าเราต้องมีมาตรฐานซึ่งคนที่วัดคือ  สังคม เราไม่สามารถวัดตัวเราได้

เดืมทีเดียวสังคมอาจจะมองว่า  เลขาฯ  กกต. ก็คงเหมือนๆ กัน  เลขาฯ  คนนี้ ก็คงเหมือนคนอื่น ๆ แต่ต้องยอมรับว่า  ผมไม่เหมือนคนอื่น ๆ  เพราะกระตือรือร้นในการทำงาน  และไม่ได้เข้ามาเพื่อกอบโกย  แต่ต้องการพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้น  ผมจะไม่ทำงานโดยใช้พระเดช  แต่จะทำงานโดยใช้พระคุณ  เช่นตรงนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์  ทำนะ  โดยที่เราไม่ต้องบังคับว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้”

นอกเหนือจากการปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคลให้เข้าที่เข้าทางแล้ว  การปฏิรูปองค์กร  เป็นเรื่องสำคัญที่  ดร.สุทธิพล  ให้ความสนใจและใส่ใจกับสวัสดิการของบุคลากร  มีการตรวจสุขภาพประจำปีให้กับทุกคน  เกษียณอายุก่อนกำหนด  การจัดทุนการศึกษาต่อต่างประเทศ  และขอรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์  ตลอดจนการปรับปรุงระเบียบการจัดการเลือกตั้ง  และการสืบสวนสอบสวน  เป็นต้น

ดร.สุทธิพล  เหลือเวลาที่จะปฏิบัติภารกิจในฐานะ  ซีอีโอ  กกต.  อีกปีเศษก็จะหมดวาระ (วันที่  15  พฤศจิกายน  2554)  แต่ยังมีพันธกิจที่ต้องเดินหน้าอีกมาก  อาทิ  การปรับปรุงระบบการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง  ซึ่งเป็นการปฏิรูปกระบวนการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งอย่างสิ้นเชิงขยายผลทดลองการใช้เครื่องใช้ลงคะแนนได้  และผลักดันกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นให้สอดคล้องกับกฎหมายเลือกตั้งระดับชาติ (ส.ส และ ส.ว.)

“ผมว่าตอนนี้  กกต.  เดินหน้าไปในทิศทางที่ควรจะเป็น  แต่ถามว่าสมบูรณ์ 100 % หรือไม่  ยังไม่สมบูรณ์  แต่เป็นไปขณะนี้จัดว่าดีมากแล้ว”  ดร.สุทธิพล  กล่าวด้วยรอยยิ้ม

“ปีกว่า ที่เหลืออยู่  ผมตั้งใจจะให้เป็นระยะเวลาที่มีคุณค่ามากที่สุด”

เป็นคำมั่นจาก  ดร.สุทธิพล  ทวีชัยการ  ทัพหน้า กกต. องค์กรอิสระที่คนในสังคมคาดหวังในกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศไทย

ภายใต้สโลแกน  “กกต.ยุคใหม่  สุจริต  โปร่งใส  และเที่ยงธรรม”

  • การปรับระบบบริหาร  ต้อพิสูจน์ตัวเองให้คนในองค์กรยอมรับก่อน  ทุกอย่างจะราบรื่น
  • ยกจุดแข็งของตัวเอง  และจุดอ่อนขององค์กร  มาพิสูจน์ให้คนในองค์กรยอมรับ  ศรัทธา  เชื่อมั่น  ไม่เล่นพรรคเล่นพวก  ให้โอกาสทุกคน  ไม่ได้เข้ามาเพื่อสร้างฐานอำนาจ  หรือกอบโกยผลประโยชน์
  • ทำงานในรูปของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ  เน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานเพื่อช่วยกันคิดและพัฒนาองค์กร  และลดการผูกขาดอำนาจของผู้บริหารสูงสุดขององค์กร
  • ทำให้ความสนใจและเดินหน้าเรื่องสวัสดิการของบุคลากร  อาทิ

-การปรับปรุงระบบการแต่งตั้งโยกย้าย พัฒนาบุคลากร

-การจัดทุนการศึกษาต่อต่างประเทศให้กับพนักงาน

-การขอรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์

-ประสานงานกับกรมบัญชีกลาง และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้พนักงาน กกค.

-สามารถเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล กับโรงพยาบาลของรัฐได้            

  • ปรับปรุงระเบียบ  กกต.  ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลให้ทันสมัย  และมีมาตรฐาน
  • สนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกสมาคมคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งภูมิภาคเอเชีย (AAER)
  • การกระจายอำนาจในการบริหารงานจัดการไปให้ส่วนภูมิภาคเพื่อให้งานเป็นไปด้วยความคล่องตัว
  • ริเริ่มโครงการประกวด  สำนักงาน  กกต.จังหวัดดีเด่น  และพนักงานดีเด่น  เพื่อจูงใจให้บุคลากรในองค์กรเกิดความกระตือรือร้น  ในการปฏิบัติงาน  และปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน
คำสำคัญ (Tags): #ชัยภูมิ8
หมายเลขบันทึก: 429636เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2011 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • การปรับระบบบริหาร  ต้อพิสูจน์ตัวเองให้คนในองค์กรยอมรับก่อน  ทุกอย่างจะราบรื่น
  • ยกจุดแข็งของตัวเอง  และจุดอ่อนขององค์กร  มาพิสูจน์ให้คนในองค์กรยอมรับ  ศรัทธา  เชื่อมั่น  ไม่เล่นพรรคเล่นพวก  ให้โอกาสทุกคน  ไม่ได้เข้ามาเพื่อสร้างฐานอำนาจ  หรือกอบโกยผลประโยชน์
  • ทำงานในรูปของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ  เน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานเพื่อช่วยกันคิดและพัฒนาองค์กร  และลดการผูกขาดอำนาจของผู้บริหารสูงสุดขององค์กร
  • ทำให้ความสนใจและเดินหน้าเรื่องสวัสดิการของบุคลากร  อาทิ
  • ไม่ว่าองค์กรไหนถ้าทำได้อย่างนี้คงพัฒนาอย่างแน่นอนครับ

    เอ้า เข้ามาช่วยย้ำในสฐานะคนที่คุ้นเคยรู้จักกัน เลขาธิการคนนี้ เข้าข่ายบุคคลที่ดีเยี่ยมคนหนึ่งในบ้านเมืองไทย

    ถ้าข้าราชการไทย คนไทยทุกคนไม่ว่าจะทำงานอะไร สายงานไหน ทำงานอย่างมุ่งมั่น ซื่อสัตย์สุจริต  คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ประเทศไทยคงก้าวหน้ามากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่สับสน วุ่นวายอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

    อ่านกี่ครั้งก็ไม่เบื่อเลยครับ...


     

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท