บทความการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ


การจัดการความรู้ในสถานศึกษา

การจัดการความรู้ในสถานศึกษา

(School  Knowledge  Management)

ในสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้  (Knowledge-base Society and Economy)  ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์                  (Globalization)  มีผลกระทบถึงการจัดการศึกษาในระดับโรงเรียนที่ต้องตอบสนองผลิตผู้เรียนให้มีคุณภาพ  ได้มาตรฐานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว   และต่อเนื่องประกอบกับวัฒนธรรมของชาติไทยที่เป็นผู้มีความเป็นอยู่เรียบง่าย  เช่น  สังคมเกษตรกรรมมีความเอื้ออาทรสูง  มีน้ำใจโอบอ้อมอารี  โรงเรียนต้องอยู่ท่ามกลางภาวการณ์เปลี่ยนแปลงพร้อมกับเป็นความหวังของสังคม  ในการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นบรรพบุรุษถึงเยาวชนรุ่นต่อไป  ให้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้อย่างมีคุณภาพ  การศึกษาในปัจจุบันจะต้องปรับเปลี่ยนไปทิศทางใด  จึงได้มีการกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐในการวางแนวทางให้โรงเรียนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง  โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  พ.ศ.  2546   มาตรา  11    มีสาระสำคัญกำหนดให้  ส่วนราชการพัฒนาความรู้ในส่วนราชการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถสร้างวิสัยทัศน์และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกัน    ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการให้สอดคล้องกับการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ 

ในส่วนของสถานศึกษาบุคลากรทางการศึกษาไม่ว่าจะเป็นครู  ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนผู้บริหารการศึกษา จะต้องสนใจในด้านข้อมูลข่าวสาร  ซึ่งเป็นความรู้ที่มาจากแหล่งต่าง ๆ โดยที่ผู้ที่มีข้อมูลข่าวสารมากก็จะกลายเป็นผู้ที่มีความทันสมัย อยู่ในยุคของสังคมฐานความรู้ คือการใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ และปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ เพราะความรู้เกิดจากปัญญา  การค้นหา  ศึกษาค้นคว้า มีการวิเคราะห์วิจัย  เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่แท้จริง เชื่อถือได้  สามารถนำไปฏิบัติได้  บุคลากรทางการศึกษาจึงเป็นผู้มีความรู้ และรู้จักแสวงหาความรู้จนได้เป็นผู้ชำนาญการหรือเชี่ยวชาญ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรทางการศึกษาต้องมีความสามารถและทักษะในการจัดการความรู้

คำว่า “การจัดการความรู้ (Knowledge  Management)” เป็นกระบวนการของการสร้างคุณค่าจากทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ขององค์กร คือ ทุนทางปัญญา  รวมทั้งทุนมนุษย์ ทุนทางโครงสร้าง และทุนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล   

                      สรุปได้ว่า การจัดการความรู้ Knowledge Management (KM) หมายถึง การรวบรวมความรู้สู่การปฏิบัติ (Tacit Knowledge) ซึ่งเป็นความรู้ที่เกิดจาก การเรียนรู้ เจตคติในงาน ประสบการณ์การทำงาน และพฤติกรรมการทำงานของแต่ละบุคคล ซึ่งปฏิบัติงานเรื่องเดียวกันหรือคนละเรื่องแล้วประชุมหรือสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เมื่อรวบรวมแล้วก็มีการนำความรู้ที่ได้มาสังเคราะห์ วิเคราะห์ (Analysis) หรือจัดระบบใหม่ เพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ ยอมรับข้อดีและจุดที่เป็นปัญหาของกันและกัน มีการจัดเก็บข้อสรุปทั้งมวลอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่การยอมรับในกฎกติกาขององค์กรที่ทุกคนยอมรับ แล้วนำมาเผยแพร่ความรู้เพื่อให้เกิดการต่อยอดความรู้หรือสร้างประโยชน์จากความรู้และนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและองค์กร รวมทั้งเป็นแบบอย่างต่อหน่วยงานอื่น อันจะยังประโยชน์ใน วงวิชาการและงานการศึกษาต่อไป

สถานศึกษาเป็นหน่วยสำคัญที่สุดในการจัดการศึกษา  เนื่องจากโรงเรียนมีหน้าที่จัด การเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ โดยมีผู้บริหารโรงเรียนและครูเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนจะต่ำหรือสูงจึงขึ้นอยู่กับผู้บริหารและครูเป็นสำคัญ   โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้ของครูจะต้องอาศัยความรู้และกระบวนการที่เหมาะสมในการจัดการความรู้  ซึ่งจะต้องดำเนินงานร่วมกับนักเรียน ผู้บริหารโรงเรียน และชุมชน ทั้งในฐานะผู้ปฏิบัติ ผู้นำ ผู้ร่วมมือ

ดังนั้นการจัดการความรู้ส่งผลให้ ผลสัมฤทธิ์ของการทำงานจากการจัดความรู้จะทำให้เกิดผลสำเร็จของงานในระดับดีมาก ขึ้นไปถึงขั้นน่าภาคภูมิใจ หรือในระดับนวตกรรม   พนักงาน เกิดการพัฒนา การเรียนรู้ เกิดความมั่นใจตนเอง เกิดความเป็นชุมชนในหมู่ผู้ร่วมงานและกลายเป็นบุคคลเรียนรู้คือ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน   ความรู้ของบุคคล  และขององค์กรได้รับการยกระดับ มีการสั่งสมและจัดระบบให้ “พร้อมใช้”  และองค์กรหรือหน่วยงาน  มีสภาพเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

ที่มาhttp://images.penja.multiply.multiplycontent.com/attachment/

เรียบเรียงโดย นางเพชรฤทัย  อกนิษฐ์

 

 

หมายเลขบันทึก: 429257เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2011 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท