บทความการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ


โรงเรียนมาตรฐานสากล (World - Class Standard School)

บทความทางวิชาการ

โรงเรียนมาตรฐานสากล (World - Class Standard School) 

โรงเรียนมาตรฐานสากล (World - Class Standard School) คือโรงเรียนที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์) ที่ต้องการยกระดับโรงเรียนชั้นนำจำนวน 500 แห่งทั่วประเทศ ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ให้เป็นโรงเรียนดีมีมาตรฐานสากล ซึ่งนั่นเป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องตอบให้ได้ว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้โรงเรียนที่มีความพร้อมเหล่านั้นได้รับการพัฒนาและยกระดับสู่การเป็น "โรงเรียนมาตรฐานสากล"

          สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดย สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย จึงได้เร่งสนองนโยบายดังกล่าว โดยการศึกษา สังเคราะห์เอกสาร จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากโรงเรียนและประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนให้เป็นไปตามเป้าประสงค์

          จากการระดมสมองร่วมคิด ร่วมหารือ จึงสามารถวางแผนงานได้ว่า โรงเรียนมาตรฐานสากล จะต้องมีหลักสูตรเด่นที่เน้นมาตรฐาน ซึ่งหลักสูตรนั้นจะต้องประกอบด้วย 8 สาระการเรียนรู้ ผนวกกับความเป็นสากลที่ประกอบด้วย ทฤษฎีองค์ความรู้ ชักนำเด็กสู่การคิดโครงงาน และสามารถเสนอผลงานได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้น ต้องอยู่ภายใต้การบริหารที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ ที่มีองค์ประกอบสำคัญคือ มีผู้นำล้ำเลิศความคิดครอบคลุมภารกิจทุกด้าน ปัจจัยพื้นฐานครบถ้วน สามารถสร้างเครือข่ายร่วมพัฒนา

          ซึ่งหากผู้เรียนได้ผ่านเข้าสู่ระบบของโรงเรียนมาตรฐานสากลทั้ง 2 ประการแล้ว ผลที่ได้คือ ผู้เรียนจะมีศักยภาพเป็นพลโลก (World Citizen) ที่อยู่ภายใต้บริบท ยอดเยี่ยมวิชาการ สื่อสารอย่างน้อย 2 ภาษา ล้ำหน้าทางความคิดผลิตงานอย่างสร้างสรรค์ ไม่เพียงเท่านั้น การกล่อมเกลาผู้เรียนที่จะต้องมีศักยภาพเป็นพลโลกจะต้องพร้อมใจกันร่วมอนุรักษ์โลก เนื่องจากความเป็นสากลที่ถูกปลูกฝังอยู่ในหัวใจของผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ

          เมื่อวางแนวทางการดำเนินงานโรงเรียน ผนวกกับภาพความสำเร็จของผลผลิตซึ่งคือผู้เรียนที่มีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว จึงได้มีการวางเป้าหมายการพัฒนาและยกระดับโรงเรียนมาตรฐานสากลที่จะต้องพัฒนาโรงเรียนในปี 2553 ให้ได้ 200 แห่ง ปี 2554 จำนวน 200 แห่ง และปี 2555 จำนวน 100 แห่งเพื่อครบ 500 แห่งภายใน 3 ปี

          สิ่งที่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการใน 5 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตร ที่ในปีการศึกษา 2553 จะมีการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา จำนวน 500 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร English Program (EP), Mini English Program (MEP), International English Program (IEP) หรือ International Baccalaureate (IB) หลักสูตรความเป็นเลิศเฉพาะทาง อาทิ วิทย์-คณิต ภาษา อาชีพ ดนตรี กีฬา ฯลฯ ให้มีความเข้มข้นเทียบเคียงมาตรฐานสากล เรียกได้ว่า หากผู้เรียนมีความประสงค์จะศึกษาต่อในประเทศใด ก็สามารถเข้าศึกษาต่อได้ทันที

          การพัฒนาการสอนสาระการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์โดยใช้ภาษาอังกฤษ (สำหรับโรงเรียนไม่ใช้สูตร EP/IEP/MEP) จำนวน 325 แห่ง พัฒนาครูผู้สอน ทั้งในสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศที่ 2 (จีน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และอื่น ๆ) จาก 234 แห่ง รวม 1,200 คน และสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์เพื่อใช้ภาษาอังกฤษในการจัดการเรียนการสอน จำนวน 325 แห่ง รวม 4,125 คน พัฒนาผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 500 แห่ง และพัฒนาระบบการบริหารโรงเรียนทุกแห่ง เพื่อให้โรงเรียนทั้ง 500 แห่ง เป็นสถานศึกษาที่เป็นโรงเรียนมาตรฐานสากลอย่างเต็มระบบ

          นั่นคืออีกก้าวหนึ่งที่คนไทยจะได้เห็นภาพความสำเร็จของเยาวชนไทย ที่จะผ่านการเพาะบ่มจากโรงเรียนทางเลือกใหม่ "โรงเรียนมาตรฐานสากล" สถานศึกษาที่จะทำให้ผู้เรียนเป็นเยาวชนโลก ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีคุณภาพ และมีความสามารถก้าวไกลในระดับสากล

 

 ที่มาจาก  http://www.patwit.ac.th/new/?name=knowledge&file=readknowledge&id=7

เรียบเรียงโดย  นางเพชรฤทัย  อกนิษฐ์

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 429253เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2011 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท