ประวัติเมืองสงขลา (14) หัวเขาแดง


ปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคนั้นคือ เมื่อมีรถมาก อาจจะต้องรอขึ้นแพเป็นเวลานานๆ อาจต้องรอนานถึง 2-3 ชั่วโมงก็มี ชาวบ้านเรียกว่า ติดแพ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว

หัวเขาแดง เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกเขาเตี้ยๆ ที่อยู่ตรงปลายด้านใต้สุดของสันทรายคาบสมุทรสทิงพระ นั่นก็คือฝั่งเหนือของปากน้ำสงขลาซึ่งเป็นบริเวณที่ทะเลสาบสงขลาติดต่อกับทะเลอ่าวไทยพอดี อยู่ในตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

หากมาจากตัวเมืองสงขลา ต้องข้ามแพขนานยนต์ซึ่งปัจจุบันโอนย้ายจากกรมทางหลวงมาให้ อบจ.สงขลาดูแล ข้ามจากฝั่งตัวเมืองไปยังฝั่งหัวเขาแดงคิดเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร

ก่อนการเปิดใช้สะพานติณสูลานนท์ในปี พ.ศ.2529 การเดินทางด้วยรถยนต์จากฝั่งหาดใหญ่หรือสงขลาไปยังฝั่งอำเภอสทิงพระ ระโนดและต่อไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องใช้วิธีข้ามแพขนานยนต์ที่นี่เท่านั้น มิฉะนั้นคงต้องอ้อมไปทางจังหวัดพัทลุง ไกลมากและถนนหนทางยังไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคนั้นคือ เมื่อมีรถมาก อาจจะต้องรอขึ้นแพเป็นเวลานานๆ อาจต้องรอนานถึง 2-3 ชั่วโมงก็มี ชาวบ้านเรียกว่า ติดแพ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว

หัวเขาแดงนับได้ว่าเป็นภูเขาสองทะเล เพราะเป็นแหลมสั้นๆ ยื่นลงไปตรงรอยต่อระหว่างทะเลอ่าวไทยกับทะเลสาบ มองเห็นเป็นสีแดงแต่ไกล ผมเข้าใจว่าเป็นเพราะดินบริเวณนั้นไม่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมและมีสีแดงเหมือนดินลูกรัง

ด้านใต้ของหัวเขาแดงเลียบริมทะเลสาบสงขลา มีชาวบ้านตั้งบ้านเรือนกันอย่างหนาแน่น ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประกอบอาชีพประมง

เมื่อข้ามแพมาถึงฝั่งหัวเขาแดงแล้ว จะเห็นศาลเจ้าเชิงหัวเขาแดงที่เจ้าพระยาวิเชียรคิรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) เจ้าเมืองสงขลาที่ปกครองในช่วง พ.ศ. 2390-2408 สร้างไว้ ชาวประมงจะจุดประทัดเพื่อแสดงความเคารพ

เหนือศาลเจ้าขึ้นไปบนหัวเขาแดง เป็นที่ฝังศพสุลต่านสุไลมานซึ่งเป็นผู้สร้างเมืองสงขลาริมหัวเขาแดงในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านเรียกทวดหุมหรือมะระหุม มีศาลาคร่อมที่ฝังศพไว้ นอกจากนี้บนหัวเขาแดงยังมีซากป้อมและกำแพงเหลืออยู่ เมื่อเมืองสงขลาริมหัวเขาแดงถูกทำลายจึงย้ายไปยังบริเวณวัดสุวรรณคิรี ที่เรียกว่าแหลมสน

ถ้ามีโอกาสและแน่ใจว่ามีกำลังร่างกายเพียงพอ น่าขึ้นไปเที่ยวชมวิวบนยอดเขาแดงหรือเขาค่ายม่วง ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 175 เมตร บนยอดเขามีเจดีย์สององค์ คือ เจดีย์องค์ดำและเจดีย์องค์ขาว มองเห็นเด่นชัดจากแหลมสมิหลา

เจดีย์องค์ดำ เจ้าพระยาพระคลัง หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สร้างเป็นที่ระลึกในคราวยกกองทัพลงมาปราบกบฏเมืองไทรบุรี ราว พ.ศ. 2373-2375

ส่วนเจดีย์องค์ขาวนั้น เป็นของพระศรีพิพัฒน์ หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค น้องของท่านดิศ) สร้างเป็นที่ระลึกเมื่อลงมาปราบกบฏหัวเมืองมลายูเมื่อราว พ.ศ. 2381-2384

ชาวบ้านเรียกเจดีย์สององค์นี้ว่า เจดีย์สองพี่น้อง

การขึ้นไปชมเจดีย์ เมื่อเดินขึ้นจากแพมาแล้ว เลี้ยวขวามาไม่นาน จะพบป้ายและบันไดทางขึ้นซึ่งค่อนข้างสูงชัน ขึ้นไปสักระยะจะพบป้อมปากน้ำสงขลา จุดนี้จะทำให้มองเห็นฝั่งแหลมสนอ่อน และท่าเทียบเรือสงขลา อย่างชัดเจน

จากนั้นก็ต้องเดินป่าเข้าไป เป็นทางเล็กๆ ถึงยอดเขาแดง ต้นไม้ร่มครึ้มตลอดเส้นทาง แต่ถ้ากลัวขึ้นทางนี้ไม่ไหว ให้ไปขึ้นบันไดที่อยู่ถัดไปอีกก็ได้ สบายกว่า ขึ้นมาแล้วจะได้ชมทิวทัศน์เมืองสงขลาในมุมที่แปลกตาไปจากเขาตังกวน

บัตรโดยสารเรือข้ามท่า (ตั๋วแพ) สงขลา-เขาแดง เมื่อครั้งยังอยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง

หมายเลขบันทึก: 429091เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2011 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อมูลมีประโยชน์มากครับอาจารย์

ขออนุญาตนำข้อมูลไปบันทึกที่นี่นะครับ

http://www.gotoknow.org/posts/612004

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท