ประวัติเมืองสงขลา (13) หอจดหมายเหตุ


ภาพถ่ายก็เป็นหลักฐานอย่างดี เก็บเรื่องราวต่างๆ ไว้ได้มากมาย โดยเฉพาะถ้าได้มีการเขียนบันทึกวันเดือนปี สถานที่ที่ถ่ายภาพเหล่านั้นไว้

นางเงือกที่แหลมสมิหลา สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยไหน ?

สถานีรถไฟสงขลา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อใด ?

สระบัว สถานที่จัดงานกาชาดประจำปีของจังหวัดสงขลา มีมานานแค่ไหนแล้ว ?

คำถามแบบนี้ หากจะหาคำตอบที่เชื่อถือได้จริงๆ คงต้องค้นคว้าหาเอกสารหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งบางครั้งไม่ง่ายอย่างที่คิด เอกสารฉบับแรกดั้งเดิมที่บันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้เรียกว่า เอกสารชั้นต้น

เอกสารชั้นต้นที่ว่านี้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเอกสารราชการเสมอไป สมุดบันทึกเก่าๆ เขียนด้วยลายมือก็อาจเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ในหลายสิบปีต่อมาก็ได้

ภาพถ่ายก็เป็นหลักฐานอย่างดี เก็บเรื่องราวต่างๆ ไว้ได้มากมาย โดยเฉพาะถ้าได้มีการเขียนบันทึกวันเดือนปี สถานที่ที่ถ่ายภาพเหล่านั้นไว้

เดี๋ยวนี้ ผมเห็นว่าหน่วยงานต่างๆ ของจังหวัดสงขลา เมืองสองทะเลแห่งนี้เริ่มเห็นความสำคัญของการบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ไว้ มีการจัดทำป้ายแสดงประวัติความเป็นมาของสถานที่ต่างๆ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญหลายๆ แห่ง ไว้ให้ประชาชนได้ศึกษา

ลองไปดูสะพานลอยคนข้ามที่ถนนรามวิถี หน้าโรงเรียนอนุบาลสงขลา เมื่อสร้างขึ้นใหม่ทดแทนของเดิมที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ก็มีแผ่นป้ายจารึกไว้ที่เสาสะพานลอยอย่างชัดเจน ว่าหน่วยงานใดบริจาคเงินค่าก่อสร้างและสร้างเมื่อใด

น่าเสียดายที่อาคารสถานีรถไฟสงขลา ซึ่งมีความเก่าแก่และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ.2547 กลับไม่ค่อยได้รับการดูแลเท่าที่ควร

ไม่มีป้ายใดๆ ไว้ให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้ศึกษาถึงอดีตอันรุ่งเรืองของทางรถไฟสายหาดใหญ่-สงขลา

ผมพยายามค้นหา รวบรวม ภาพถ่ายและเอกสารเก่าๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมืองสงขลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟสายสงขลาที่กลายเป็นอดีต แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก ชาวสงขลาเราสมัยก่อนนิยมถ่ายภาพคู่กับนางเงือก เกาะหนู เกาะแมว หาดสมิหลา หรือช้างไม้ดัดในสวนเสรี มากกว่าที่จะถ่ายภาพโดยมีสถานีรถไฟหรือขบวนรถไฟเป็นฉากหลัง

ภาพถ่ายและเอกสารเก่า บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองสงขลาเหล่านี้ แม้จะยังมีอยู่ไม่มาก และกระจัดกระจายอยู่ตามบ้านของชาวบ้านบ้าง หน่วยงานราชการ เอกชนบ้าง แต่ถ้าได้มีการรวบรวม ดูแล เก็บรักษาและอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ ก็จะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมคู่ท้องถิ่นเมืองสงขลา ไว้ให้ศึกษาค้นคว้า วิจัยและพัฒนาบ้านเมืองเราต่อไป

น่ายินดีที่ปัจจุบันมีหน่วยงานหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เหล่านี้โดยเฉพาะ คือ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา

สถานที่ตั้งหาไม่ยาก อยู่ภายในบริเวณสวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ ถนนกาญจนวนิช ตำบลคอหงส์ เข้าทางประตู 3 จะใกล้ที่สุด

แม้จะจัดตั้งมากว่าสิบปีแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากนัก ผมมีโอกาสได้ลองเข้าไปใช้บริการค้นหาภาพถ่ายสงขลาเก่าที่นี่ แม้ยังมีภาพถ่ายไม่มาก แต่เจ้าหน้าที่ทุกท่านก็ให้การต้อนรับและบริการด้วยไมตรี น่าประทับใจ

เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ในเวลาราชการ โทร. 074-212562

หมายเลขบันทึก: 429089เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2011 22:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท