มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

คราวต่อไปจะเป็นใคร...


ในค่ายผู้ลี้ภัย คำถามแรกที่เรามักจะถามกับเพื่อนผู้ลี้ภัยที่เพิ่งรู้จักกันคือ “คุณเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ด้วยเหตุผลอะไร”

คราวต่อไปจะเป็นใคร...

 

 

 แอ้เกอะลื่อตอ

 

แอ้เกอะลื่อตอ

ในค่ายผู้ลี้ภัย คำถามแรกที่เรามักจะถามกับเพื่อนผู้ลี้ภัยที่เพิ่งรู้จักกันคือ “คุณเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ด้วยเหตุผลอะไร” ครั้งหนึ่งศาสนาจารย์ที่ผมเพิ่งรู้จักได้ถามคำถามนี้กับผมเช่นกัน

“ผมเคยเป็นทหาร” ผมตอบ

“ผมก็เคยอยากจะเป็นทหารเหมือนกัน” ศาสนาจารย์ผู้นั้นมองหน้าผมแล้วยิ้ม “แต่พอได้ยินเสียงปืนเมื่อไหร่ผมก็ตกใจกลัว ผมเลยตัดสินใจทำงานรับใช้พระเจ้า แต่ใครจะไปรู้ล่ะว่าพื้นที่ที่ผมต้องไปทำงานสอนศาสนาจะเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบ บางทีผมได้ยินเสียงปืนดังทั้งคืนจนนอนไม่หลับ” เล่าถึงตรงนี้รอยยิ้มของเขาก็หายไปจากใบหน้า

“หมู่บ้านนั้นเป็นเส้นทางเดินทัพของกองทัพพม่า ชาวบ้านที่นั่นจึงถูกเกณฑ์ไปเป็นลูกหาบแบกอาวุธกับเสบียงให้ทหารบ่อย ๆ  กองทัพพม่าชอบเข้ามาเกณฑ์ลูกหาบในวันอาทิตย์ เพราะเป็นวันที่ชาวบ้านหยุดงานในไร่ในสวนมานมัสการพระเจ้าที่โบสถ์ ถ้าคนไหนหลบหนีการเกณฑ์ลูกหาบ ทหารก็จะใช้วิธีจับลูกของพวกเขาไป แล้วให้พ่อแม่ไปไถ่คืนด้วยการเป็นลูกหาบ”

“เมื่อการสู้รบในพื้นที่รุนแรงขึ้น กองทัพพม่าก็ต้องการลูกหาบในการขนส่งอาวุธและเสบียงมากขึ้น พวกเขาเข้ามาในหมู่บ้านและประกาศว่าชาวบ้านผู้ชายทุกคนรวมถึงผม จะต้องผลัดเวรกันไปเป็นลูกหาบเดือนละละสี่ครั้ง ถ้าใครจะไม่ไปก็ต้องจ้างคนอื่นไปแทน แต่ถ้าใครหายไปโดยไม่มีตัวแทน ก็ต้องรับโทษถึงตาย การจ้างคนไปเป็นลูกหาบแทนนี่ตกสามแสนจั๊ต คนทำงานศาสนาอย่างผมจะเอาปัญญาที่ไหนไปหาเงินได้มากขนาดนั้น ถึงจะกลัวลูกกระสุนปืนแค่ไหน ทุกอาทิตย์ผมก็ต้องทำใจออกไปเป็นลูกหาบ”

“การเดินทางแต่ละครั้งจะมีลูกหาบอยู่ร้อยกว่าคน พวกเราถูกจัดเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกต้องเดินนำหน้าหน่วยทหารพม่า กลุ่มที่สองจะตามท้าย ที่ต้องมีลูกหาบนำหน้าเพราะว่าตลอดเส้นทางมีแต่กับระเบิดที่กองทัพฝ่ายต่อต้านวางเอาไว้ ลูกหาบที่เดินนำหน้าถึงถูกเรียกว่าเป็นโล่มนุษย์ที่จะทำหน้าที่ตายก่อนทหาร”

“ตอนที่ผมไปเข้าเวรเป็นลูกหาบครั้งที่สอง ผมต้องแบกข้าวสารกระสอบหนึ่ง ยังจำได้ว่าอากาศวันนั้นร้อนแคไหน แต่ใจผมร้อนยิ่งกว่า อยากจะเดินไปถึงที่หมายให้เร็วที่สุด เพราะเมื่ออยู่ในระหว่างการเดินทาง นั่นคือเรากำลังเสี่ยงต่อการเหยียบกับระเบิด ยิ่งเดินไกลขึ้น ยิ่งเหนื่อยขึ้น ผมก็หิวน้ำจนรู้สึกว่าคอแสบร้อนเหมือนมีน้ำเดือด ๆ ไหลผ่าน หัวของผมปวดแทบระเบิด แล้วอยู่ ๆ ก็มีเสียงระเบิดดังขึ้น ผมหมอบลงทันทีด้วยสัญชาติญาณ พอเสียงนั่นสงบผมถึงยกมือขึ้นลูบหน้าลูบตาเอาคราบเขม่าระเบิดออก มองไปข้างหน้า ปรากฏว่าขาของเพื่อนที่เดินนำหน้าผมหายไปข้างหนึ่ง มีแต่เลือด และเขาก็ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด”

“ผมลุกขึ้น ตั้งใจจะเข้าไปช่วยเพื่อน แต่ทหารที่เดินตามผมมาสั่งให้ผมแบกของขึ้นหลังแล้วรีบเดิน ผมต้องทิ้งเพื่อนที่เหยียบกับระเบิดไว้แล้วเดินต่อ พร้อมกับคำถามที่ว่า.. คราวต่อไปจะเป็นใครที่เหยียบกับระเบิดล่ะ”

“พอได้กลับบ้าน ผมเล่าเรื่องนี้ให้เมียกับลูกทั้ง 3 คนฟัง ถ้าครั้งหน้าคนที่เหยียบกับระเบิดเป็นผม ลูก ๆ จะเป็นยังไง ใครจะทำงานหาเงินให้พวกเขาเรียนหนังสือ พวกเราจึงตัดสินใจหนีมาประเทศไทย และเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยจนถึงทุกวันนี้”

 

ลูกหาบหลายคนไม่โชคดีเหมือนศาสนาจารย์คนนี้ ที่รอดตายจากการเหยียบกับระเบิด และหนีมายังเมืองไทยได้อย่างปลอดภัย เมื่อการสู้รบในพม่ายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ผู้คนมากมายจึงยังถูกเกณฑ์ไปเป็นลูกหาบ ที่ต้องเสี่ยงชีวิตกับกระสุนปืนและกับระเบิด พวกเขาคงเฝ้าถามตัวเองว่า คนที่เหยียบกับระเบิดคราวหน้าจะเป็นใคร

 

หมายเลขบันทึก: 428958เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2011 00:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท