แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

โยคะง่ายๆ ทุกที่ทุกเวลา by ครูเละ (๑/๒)



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ


โยคะง่ายๆ ทุกที่ทุกเวลา

ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์
คอลัมน์ "โยคะวิถี"
โยคะสารัตถะ ฉ. กรกฏาคม ๒๕๕๑

 

ราวปลายปีก่อน มิตรรุ่นน้องในแวดวงโยคะขอให้ผมช่วยเขียนถ้อยคำบางอย่างลงในหนังสือที่เธอเรียบเรียงขึ้น แต่ด้วยความที่ผมมัวแต่มะงุมมะงาหราอยู่กับกิจหลายอย่าง กว่าจะเขียนเสร็จก็ไม่ทันลงพิมพ์ในหนังสือของเธอแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้กลับไปรื้อดูเรื่องราวที่ตัวเองเขียนๆ ไว้ ทำให้ได้ย้อนกลับไปอ่านเรื่องนี้ เห็นว่ามีบางประเด็นที่อาจจะแลกเปลี่ยนกันในวงกว้างได้ เลยโทรไปขออนุญาตน้องว่า อยากจะขอเอามาลงในโยคะสารัตถะ เธอไม่ขัดข้องอะไร ผมจึงนำมาลงในโยคะวิถีฉบับนี้

(๑)

หลายเดือนก่อนหญิงสาวร่างเล็กทว่าภาระรับผิดชอบในชีวิตที่เธอต้องแบกรับกลับมากมายกว่าผมหลายเท่าในวัยที่อ่อนกว่าผมราวสิบปี เจ้าของงานเขียนซึ่งมีจำนวนหน้ากำลังกะทัดรัดเล่มนี้ หนีบต้นฉบับที่ยังอยู่ในรูปของงานพิมพ์บนกระดาษถ่ายเอกสารมาให้ผมอ่าน เพื่อขอความคิดเห็นและคำแนะนำจากผมในฐานะของมิตรรุ่นพี่ที่อยู่ในแวดวงโยคะมาก่อน ทั้งที่หากนับเนื่องจนถึงวันนี้ ถ้าบวกรวมจำนวนผู้เรียนที่เธอสอนการฝึกโยคะให้ในชั่วเวลาไม่ทันข้ามขวบปี เผลอๆ อาจจะมากกว่าจำนวนคนที่ผมเคยแลกเปลี่ยนเรื่องการฝึกอาสนะมาในช่วงเวลาเกือบสิบปีรวมกันด้วยซ้ำ

ย้อนหลังกลับไปก่อนหน้านั้นไม่นานนัก เธอเคยเล่าแกมปรึกษาเรื่องที่เธออยากจะเขียนหนังสือและทำวีซีดีการฝึกอาสนะเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะให้ผมฟังเป็นครั้งคราว ความตั้งใจจริงและความกระตือรือร้นที่อยากจะถ่ายทอดแลกเปลี่ยนการฝึกอาสนะออกไปยังคนหมู่มากฉายชัดออกมาในน้ำเสียงที่หนักแน่นกับแววตาที่สะท้อนบอกถึงความฝันที่เธอมุ่งมั่นจะถักสานให้เป็นจริง

แต่ด้วยความที่ผมฝึกอาสนะมาในแนวทางของสำนักที่เน้นย้ำว่าคนแต่ละคนมีความแตกต่างกันในมากแง่หลายมุม การฝึกอาสนะจึงควรถูกออกแบบให้เหมาะกับแต่ละคนที่แตกต่างกัน ทำให้ผมทักท้วงเธอไปว่าเราไม่มีทางรู้ว่าใครจะเป็นคนอ่านหนังสือเล่มนี้หรือดูวีซีดีแผ่นนี้แล้วฝึกตาม เพราะฉะนั้นน่าจะเป็นเรื่องยากมากในการเลือกท่าโยคะที่ใครๆ ก็สามารถฝึกได้ ไหนจะวิธีเคลื่อนไหวร่างกายไปสู่และดำรงอยู่ในท่วงท่าจนถึงถอยกลับออกมาอย่างเหมาะสมเพื่อให้ปลอดภัย และได้รับประโยชน์จากการฝึกมากที่สุด ไม่ต้องพูดถึงว่าท่าบางท่าอาจต้องถูกดัดแปลงให้สอดรับกับเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเฉพาะตัวของแต่ละคน

รายละเอียดที่มองจากมุมหนึ่งทั้งซับซ้อนและละเอียดอ่อนที่ว่ามานี้ ผมไม่คิดว่าเราจะสามารถร้อยเรียงออกมาเป็นประโยคให้คนอ่านเข้าใจแจ่มแจ้งได้ กระทั่งไม่สามารถบอกกล่าวหรือแสดงท่าทางผ่านเครื่องเล่นวีซีดีให้เห็นปรากฏบนจอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ได้ จากประสบการณ์ของตัวเองทั้งในฐานะที่ร่ำเรียนจากครูบาอาจารย์และในฐานะที่มีโอกาสแลกเปลี่ยนแนะนำการฝึกให้คนอื่นๆ แม้จะไม่มากคนนัก ทำให้ผมยังได้ข้อสรุปเพิ่มเติมด้วยว่าความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างคนต่อคนมีส่วนอย่างมากในการพัฒนาการฝึกให้ลึกซึ้งขึ้น

"ถ้าอย่างนั้นหนังสือหรือวีซีดีก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลยสิคะ?" เธอถามผมด้วยน้ำเสียงที่ฝ่อลงจนทำให้ผมรู้สึกตัวว่ากำลังจะไปบั่นทอนกำลังจิตกำลังใจและความฝันที่สุกสกาวของเธอ ผมจึงบอกเธอว่าก็คงไม่ถึงขนาดนั้น หนังสือน่าจะสามารถชี้แนวทาง ให้คำแนะนำและข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับคนอ่านหรือผู้ชมได้ พูดก็พูดเถอะครูโยคะของผมที่เคยเขียนไว้ในคำนำหนังสือที่ลูกศิษย์คนหนึ่งของท่านเรียบเรียงขึ้นเมื่อสิบกว่าปีก่อนว่า "หนังสือไม่อาจทำหน้าที่แทนครูได้" แต่ปัจจุบันครูเองก็มีงานเขียนออกมาหลายเล่มแล้วเหมือนกัน

ผมทิ้งท้ายกับเธอว่า ถ้าจะแนะนำการฝึกอาสนะจริงๆ คงต้องเลือกท่าที่น่าจะมีความเสี่ยงน้อยที่สุด

หลังจากนั้นไม่นานเธอก็นำต้นฉบับมาให้ผมอ่านเพื่อขอข้อคิดความเห็น โดยบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นกึ่งๆ คู่มือประกอบวีซีดีการฝึกอาสนะ ตอนที่เห็นชื่อหนังสือ "โยคะ ทุกที่ทุกเวลา" ในใจผมไม่มีปฏิกิริยาใดๆ เพียงแค่รับรู้ว่าเป็นชื่อของหนังสือเล่มนี้ แต่หลังจากที่พลิกดูเนื้อหาข้างในคร่าวๆ จนจบแล้วพบว่าเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องของการฝึกอาสนะ แม้จะพูดถึงโยคะในความหมายกว้างๆ อยู่บ้างในบทแรกก็ตาม ผมจึงบอกความเห็นของตัวเองตามประสาคนที่ค่อนข้างเคร่งครัดกับความหมายของโยคะซึ่งเป็นมากกว่าอาสนะว่า

"ถึงแม้อาสนะจะเป็นส่วนหนึ่งของโยคะ แต่อาสนะไม่ใช่ทั้งหมดของโยคะ ถ้าเป็นพี่ พี่คงใช้คำว่าอาสนะแทนโยคะ"

ที่กล่าวกับเธอเช่นนี้เพราะผมรู้สึกว่าทุกวันนี้ความหมายของโยคะถูกทำให้หดแคบลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสื่อโฆษณาที่ดูแล้วชวนให้รู้สึกว่าแค่ท่าๆ หนึ่งก็ถือว่าเป็นโยคะแล้ว

เธอแย้งผมว่าถ้าใช้ชื่อหนังสือว่า"อาสนะ ทุกที่ทุกเวลา" คิดว่าอาจจะสื่อกับคนทั่วไปได้ลำบาก คำว่าโยคะน่าจะแพร่หลายและเข้าใจง่ายกว่าอาสนะ ด้วยความเคารพในฐานะที่เธอเป็นเจ้าของงานเขียนที่กลั่นจากใจของเธอ บวกกับอาชีพดีเจที่ทำให้เธอสื่อสารกับโลกในขอบเขตที่กว้างกว่าผมมาก เธอน่าจะรับรู้และเข้าใจกระแสของสังคมจนรู้ว่าควรจะสื่อสารออกไปอย่างไรได้ดีกว่าผม หลังจากฟังมุมมองของเธอแล้ว ผมจึงไม่ติดใจในประเด็นของชื่อหนังสืออีก

กระทั่งเมื่อรับคำขอของเธอที่อยากให้ผมเขียนอะไรบางอย่างในหนังสือเล่มนี้ ผมจึงกลับมาใคร่ครวญความหมายของโยคะในมุมมองของตัวเองอีก โดยที่ก่อนหน้านี้ผมเคยให้คำจำกัดความของโยคะด้วยภาษาที่ตกผลึกจากประสบการณ์ของตัวเองว่า"โยคะคือความลงตัวของชีวิตในทุกมิติ"

หรือกล่าวอีกอย่างว่าโยคะคือความกลมกลืนกระทั่งหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวระหว่างตัวเรากับสิ่งที่เราสัมพันธ์ข้องเกี่ยวตรงหน้าในแต่ละห้วงขณะ

ตั้งแต่มิติที่กว้างที่สุดคือความสัมพันธ์ในทางที่เกื้อกูลกันและกันระหว่างตัวเราในฐานะปัจเจกกับธรรมชาติที่กว้างใหญ่ไพศาล หดแคบเข้ามาในมิติของสังคม ชุมชนและผู้คนรอบตัว กระทั่งความลงตัวกับตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการงานที่ทำ วิถีชีวิต ร่างกายจนถึงจิตใจที่อยู่ในสุด

หากความหมายของโยคะเป็นอย่างที่ว่า นั่นย่อมหมายถึงว่าถึงที่สุดแล้วโยคะไม่น่าจะถูกจำกัดอยู่เพียงการศึกษาตำรับตำราหรือคัมภีร์เกี่ยวกับสมาธิหรือจิตวิญญาณโดยเฉพาะถ้าเป็นการศึกษาชนิดที่อ่านแล้วผ่านเลย หรือถูกล้อมกรอบอยู่แค่การปุจฉาวิสัชนาว่าด้วยปรัชญาที่ลึกซึ้งสูงส่งเสมอไป โดยเฉพาะถ้าไปๆ มาๆ การปุจฉาวิสัชนานั้นกลับกลายเป็นการถกเถียงแบบเอาเป็นเอาตาย

ทว่าโยคะอาจเป็นอะไรง่ายๆ ที่เราสามารถตั้งใจให้เข้าถึงมันได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นการตื่นเช้าขึ้นมารับรู้โลกที่อยู่รอบตัวเราด้วยความกระปรี้กระเปร่าร่าเริง พร้อมกับความตระหนักรู้อย่างเจียมตนว่าเราเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่มีที่ทางและคุณค่าของเราเองบนโลกใบนี้

โยคะอาจหมายถึงการชำระล้างร่างกายโดยรู้สึกถึงสัมผัสของฝ่ามือที่ลูบไล้ปาดป้ายฟองสบู่ไปทั่วร่างในห้องน้ำเล็กๆ ภายในบ้านเพื่อความหมดจดของผิวหนัง หรือจดจ่อกับการพิมพ์งานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ตรงหน้า ไปจนถึงการมีความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งผู้คนและสรรพสิ่งรอบตัว หากจะเคียดขึ้งกันบ้างก็ไม่ปล่อยทิ้งไว้นานจนกลายเป็นความแค้นเคือง

โยคะอาจหมายถึงการยืนคอยรถเมล์หรือเข้าคิวซื้อตั๋วรถไฟฟ้าอย่างไม่รุ่มร้อนกระวนกระวาย หรือการให้ความสนใจกับครูและจดจ่อเพื่อซึมซับสาระที่ครูยืนอธิบายอยู่หน้าชั้นเรียน ไปจนถึงการนั่งสวดมนต์หน้าหิ้งพระหรือในห้องบูชา หรือฟังเทศน์ฟังสวดในศาสนาสถานตามจารีตที่เรานับถือ

คิดถึงรูปธรรมของโยคะในชีวิตประจำวันเหล่านี้แล้ว ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าบางทีนี่อาจเป็นเจตนาส่วนลึกหรืออาจเป็นจิตใต้สำนึกที่หญิงสาวร่างเล็กผู้เป็นเจ้าของงานเขียนเล่มเล็กๆ นี้อยากจะสื่อสารกับเราว่าเราสามารถเข้าถึงโยคะได้ในทุกที่และทุกเวลา 

 


    
มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขต บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์ 02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 428618เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2011 01:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท