ประวัติเมืองสงขลา (4) ถนนกลางเมือง


ปละท่า เป็นชื่อเก่าของอำเภอหนึ่งในเมืองสงขลา ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอจะทิ้งพระ และปัจจุบันคืออำเภอสทิงพระ แต่ถนนปละท่าเริ่มสร้างตั้งแต่เมื่อใดยังค้นเอกสารไม่พบ

เดี๋ยวนี้ป้ายชื่อถนนหนทางที่ติดตั้งไว้ตามหัวมุม สี่แยก และปากตรอกซอกซอยต่างๆ นั้น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเริ่มหันมาให้ความสำคัญและเอาใจใส่กันมากขึ้น สังเกตได้จากการนำเอาสัญลักษณ์หรือจุดเด่นของอำเภอ จังหวัดนั้นๆ มาประดับไว้ที่ป้ายด้วย

ป้ายจึงได้ทำหน้าที่เสริม บอกจุดเด่น เอกลักษณ์ของท้องถิ่น นอกเหนือจากหน้าที่หลักในการบอกชื่อถนน ช่วยให้คนต่างถิ่นหาจุดหมายปลายทางเจอได้ง่ายขึ้น

ถนนในเมืองสงขลา มีนางเงือกทองประดับไว้บนป้ายชื่อ คงด้วยเหตุผลเดียวกับถ้าไปเที่ยวเมืองกาญจน์ ก็จะได้เห็นป้ายชื่อถนนเป็นรูปปลายี่สกนั่นเอง

ที่ผ่านมาผมไม่ค่อยสนใจชื่อถนนในเขตเทศบาลนครสงขลามากเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะความเคยชินกับตำแหน่งของสถานที่สำคัญต่างๆ ว่าอยู่ตรงไหน มากกว่าจะจดจำว่าอยู่ที่ถนนอะไร เช่น ถ้าอยากจะไปขึ้นลิฟต์ ชมเจดีย์ ชมทิวทัศน์บนยอดเขาตังกวน ก็เรียกรถตุ๊กตุ๊กหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้ไปส่งยังจุดหมาย ไม่ต้องบอกว่าให้พาไปถนนสุขุม

จนวันหนึ่งเพื่อนที่เป็นคนเมืองกรุง อยากจะไปเที่ยวสงขลา และมีกำหนดการจะไปแวะเยี่ยมชมอาคารสถานีรถไฟสงขลาเก่าด้วย ถามผมว่าสถานีสงขลาอยู่ที่ไหน ดูในแผนที่ก็ไม่มี

ผมจึงเอาแผนที่ท่องเที่ยวมาเปิดดู ก็เริ่มเข้าใจเหตุผลที่ไม่ได้ระบุตำแหน่งที่ตั้งสถานีสงขลาไว้ เพราะเลิกเดินรถไฟไปแล้วกว่า 30 ปี คงเกรงว่าถ้าระบุไว้พร้อมเส้นทางรถไฟ คงจะทำให้คนต่างถิ่นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าใจผิด คิดว่ามาสงขลาทางรถไฟก็ได้ด้วย

คนสงขลาหรือคนขับรถตุ๊กตุ๊ก รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถสามล้อถีบคงบอกได้ว่า สถานีรถไฟสงขลาอยู่ใกล้กับโรงเรียนอนุบาลสงขลา แต่เพื่อนผมคนนี้ชอบเดินชมเมืองมากกว่าขึ้นรถ

ผมจึงเริ่มเห็นความสำคัญของชื่อถนนในเมืองสงขลา เมื่อค้นคว้าหาที่มาที่ไปของชื่อถนนสายต่างๆ แล้วก็อดทึ่งในภูมิปัญญาการตั้งชื่อถนนในเมืองสงขลาไม่ได้ ชื่อเหล่านี้มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจไม่น้อย

พอเปิดดูแผนที่แล้ว ผมก็บอกเพื่อนได้ว่าอาคารสถานีรถไฟสงขลา ซึ่งปัจจุบันกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2547 นั้น ตั้งอยู่ที่ถนนปละท่า แต่เข้าซอยข้างโรงเรียนอนุบาลสงขลา ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนรามวิถีได้สะดวก เพราะมองเห็นตัวสถานีจากด้านหลังได้เลย

คำว่าหน้าสถานีกับหลังสถานีนี่ก็ก่อให้เกิดความสับสนไม่น้อย ถามชาวบ้านหลายคนตอบไม่ตรงกัน ผมขอยึดหลักเกณฑ์ส่วนตัวว่า หน้าสถานีคือ ด้านที่มีรถไฟผ่าน มีรางรถไฟ เป็นที่ขึ้นลงรถไฟ ส่วนหลังสถานี คือด้านตรงข้าม มักจะเป็นแหล่งชุมชน ค้าขายหรือเป็นตลาด นึกถึงสถานีชุมทางหาดใหญ่จะเห็นภาพได้ชัดเจน

ย้อนกลับมาดูชื่อถนนปละท่ากับถนนรามวิถี น่าสนใจว่ามีที่มาอย่างไร ลองค้นคว้าดูก็พบว่าปละท่า เป็นชื่อเก่าของอำเภอหนึ่งในเมืองสงขลา ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอจะทิ้งพระ และปัจจุบันคืออำเภอสทิงพระ แต่ถนนปละท่าเริ่มสร้างตั้งแต่เมื่อใดยังค้นเอกสารไม่พบ

ส่วนถนนรามวิถี สร้างขึ้นเลียบแนวกำแพงเมืองสงขลาด้านตะวันออกที่ถูกรื้อทิ้งไป และขนานไปกับแนวทางรถไฟที่กำลังสร้างอยู่ในขณะนั้น โดยตั้งใจให้เสร็จเรียบร้อยทันการเปิดใช้ทางรถไฟสายสงขลา-พัทลุง ในปี พ.ศ.2456 และชื่อรามวิถีนั้น นัยว่าเพื่อรำลึกถึงรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งเสด็จเลียบมณฑลปักษ์ใต้ และเมืองสงขลาในปี พ.ศ. 2458 นั่นเอง

ถ้าไปยืนอยู่ที่ปลายถนนรามวิถี บรรจบกับถนนไทรบุรี แล้วมองตามแนวถนนไปทางทิศเหนือ จะเห็นเจดีย์เขาตังกวนพอดี

หมายเลขบันทึก: 428615เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2011 00:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตามมาให้ดอกไม้ ชอบจ้านนิ คนเล่าของเก่า  สงขลา มีอัตลักษณ์มาตั้งแต่โรณกาล

เขาบอกว่าพันนี้ "คนดีสุราษฎร์ นักปราชญ์เมืองคอน ขี้ยอนสงขลา ขี้ด่าเมืองตรัง ชั้งกั้ง

เมืองลุง ( คนแต่แรกเขาแหลงฮันไม่ฉานว่าเอง)เกิดตำนานตัวหลกหนังลุงก็ที่สงขลา ทั้งตานุ้ย ตาเท่งและบังหม้อ ก็ตัวแทนสงขลา

 

ขอบพระคุณครับสำหรับดอกไม้แทนกำลังใจ

ไซ้ (เหตุใด) คนสงขลาถึงถูกกล่าวหาว่าขี้ยอน (ชอบยุแหย่) นะครับ

ไซ้ (เหตุใด) คนสงขลาถึงถูกกล่าวหาว่าขี้ยอน (ชอบยุแหย่) นะครับ

ฮึม อ้ายนี้ก็รู้มาตามที่ค้นหาของเก่า เหมือนเขาบอกมาว่า คนเมืองลุงชังกั้ง หลายคนไม่ยอมรับ แต่ถ้าค้นประวัติพัทลุง "ไม่รบนาย ไม่หายจน" จะเข้าใจคนเมืองลุงสมัยหนึ่ง ว่าพันนั้นครับ

ขอบคุณมากครับ ได้เกร็ดความรู้ใหม่ ๆ เยอะเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท