ประวัติเมืองสงขลา (5) ทะเลหาดใหญ่


การเดินทางมาเยือนที่นี่ ระหว่างทางผมได้เห็นดงตาล ได้เห็นควายฝูงใหญ่อยู่กลางทุ่ง ไม่น่าเชื่อว่านี่ก็หาดใหญ่

ทุกครั้งที่ผมนั่งรถไฟจากกรุงเทพ กลับบ้านที่สงขลา ก่อนขบวนรถไฟจะชะลอความเร็วเตรียมเข้าจอดเทียบชานชาลาสถานีชุมทางหาดใหญ่ จะผ่านสะพานโครงเหล็กโค้งขนาดใหญ่สีดำข้ามคลองอู่ตะเภา เป็นสัญญาณให้ตรวจสอบข้าวของ สัมภาระที่นำติดตัวมา นำลงให้ครบถ้วนที่สถานีข้างหน้า

คลองอู่ตะเภาเป็นสายน้ำธรรมชาติ ไหลมาจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ในเขตอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ผ่านชุมชนต่างๆ และผ่านตัวเมืองหาดใหญ่ทางด้านทิศตะวันตก ไปลงทะเลสาบสงขลา

นับเป็นลำคลองสายสำคัญของเมืองหาดใหญ่ ว่ากันว่าชื่อหาดใหญ่นี้ อาจมีที่มาจากหาดทรายขนาดใหญ่ริมคลองอู่ตะเภานี้ก็เป็นได้ แม้จะมีความเห็นอีกทางหนึ่งว่าน่าจะมาจากต้นมะหาดใหญ่ก็ตาม

จากสะพานรถไฟข้ามคลองอู่ตะเภาไปจนถึงปากคลองที่ริมทะเลสาบสงขลา คิดเป็นระยะทางราว 20 กิโลเมตร สายน้ำไหลผ่านพื้นที่ตำบลคลองอู่ตะเภา คลองแห บ้านหาร แม่ทอม คูเต่า และบางกล่ำ

ปี 2529 กระทรวงมหาดไทยเห็นว่า พื้นที่ของอำเภอหาดใหญ่มีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก ท้องที่บางตำบลข้างต้นอยู่ห่างไกลจากอำเภอ เจ้าหน้าที่ออกตรวจตรา ดูแลความทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง สภาพท้องที่โดยทั่วๆ ไปเชื่อว่าจะเจริญต่อไปในภายหน้า

จึงแยกตำบลบางกล่ำ ท่าช้าง แม่ทอม บ้านหาร 4 ตำบลของอำเภอหาดใหญ่ ออกไปตั้งเป็นกิ่งอำเภอบางกล่ำ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2529 และยกฐานะเป็นอำเภอบางกล่ำ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2538

คลองอู่ตะเภาก็ได้ทำหน้าที่เป็นพรมแดนธรรมชาติ กั้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอบางกล่ำทางทิศตะวันตก กับอำเภอหาดใหญ่ทางทิศตะวันออก

เหลือพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ที่ติดทะเลสาบสงขลาเพียง 2 ตำบล คือ ตำบลคูเต่ากับตำบลน้ำน้อย คิดเป็นระยะทางตามแนวชายฝั่งทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่ปากคลองอู่ตะเภาถึงปากคลองพะวงประมาณ 15 กิโลเมตร เลยจากปากคลองพะวงไปก็เป็นพื้นที่อำเภอเมืองสงขลา

พื้นที่ตำบลคูเต่าเป็นพื้นที่สีเขียว ชาวบ้านที่เป็นไทยพุทธประมาณร้อยละ 60 และไทยมุสลิมร้อยละ 40 ทำนา ทำสวน และทำประมงในทะเลสาบสงขลา

ชาวบ้านคูเต่าส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือน เติบโดเป็นชุมชนอยู่ริมคลองอู่ตะเภา นับว่าเป็นตำบลที่อยู่ใกล้หาดใหญ่เพียงไม่ถึง 20 กิโลเมตร แต่ก็เหมือนห่างไกล ไม่ค่อยมีคนต่างถิ่นเข้าไปเยือนมากนัก หลายคนไม่เคยรู้ด้วยซ้ำไปว่าหาดใหญ่ก็ติดทะเลสาบ

ความเปลี่ยนแปลงมาเยือนคูเต่า เมื่อสภาพแวดล้อมเริ่มเปลี่ยนแปลง พื้นที่สีเขียวริมทะเลสาบและลึกเข้ามา 4-5 กิโลเมตรถูกบุกเบิกกลายเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เลี้ยงปลาดุก ขณะที่การทำนาเริ่มไม่ได้ผลตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา

เมื่อถนนสายใหม่ คือถนนลพบุรีราเมศวร์ หรือทางหลวงหมายเลข 414 เชื่อมสงขลาที่บ้านน้ำกระจายกับหาดใหญ่ที่บ้านควนลัง สร้างเสร็จเปิดใช้งานเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน การเดินทางมาเยือนคูเต่าก็สะดวกสบายมากขึ้น

พื้นที่ตำบลคูเต่าส่วนที่ติดทะเลสาบสงขลา มีลักษณะภูมิประเทศเป็นแหลมยื่นออกไป ชื่อว่า แหลมโพธิ์ ฝั่งตะวันตกของแหลมเป็นที่ลุ่มอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าเลนน้ำกร่อย ขณะที่ฝั่งตะวันออกเป็นหาดทรายแคบๆ ซึ่งทางเทศบาลตำบลคูเต่าได้พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหาดแหลมโพธิ์ ทะเลหาดใหญ่ มีการปลูกขนำหรือศาลาเพื่อนั่งรับประทานอาหาร พักผ่อน ตกปลา ยื่นออกไปในทะเลสาบสงขลา มองเห็นเกาะยอและสะพานติณสูลานนท์อยู่ลิบๆ

การเดินทางมาเยือนที่นี่ ระหว่างทางผมได้เห็นดงตาล ได้เห็นควายฝูงใหญ่อยู่กลางทุ่ง ไม่น่าเชื่อว่านี่ก็หาดใหญ่

หมายเลขบันทึก: 428617เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2011 00:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เพลงร้องเรือของแหลมโพ เขาก็เก่ง อาหารก็หรอย เหอว่าเรานัดมาแหลงมากินกันที่แหลมโพสักมื้อ สาสา เนือยแล้วนิ (ฉานตามเตินมาเกือบทั่วสงขลแล้ว มาชวนเติ่นไปพัทลุง ไปแลเรื่อง ป่าไสในพัทลุง แล้ว เติมให้มั่ง จิเป็นพระคุณอย่ามากเหมือนน้ำท่วมหาดใหญ่แรกปีแล้ว)

พัทลุงเป็นจังหวัดที่ได้แต่นั่งรถไฟ รถทัวร์ผ่านครับ นับเป็นโอกาสดีที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และลงไปเดินดูจริง ๆ จัง ๆ เสียที

สมัยเด็ก ๆ พ่อเป็นตำรวจอยู่อำเภอกระแสสินธุ์ พาไปเล่นน้ำในทะเลสาบสงขลา มองไปเห็นภูเขาไกล ๆ พ่อบอกว่านั่นแหละพัทลุง สักวันหนึ่งจะไปยืนริมฝั่งพัทลุง มองย้อนกลับมากระแสสินธุ์บ้างนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท