ขอโม๊ ! หน่อยน่า ... บนเวทีมหกรรมการจัดการความรู้ ราชการไทยสู่ LO ว่าด้วยเรื่อง ... (ตอน1) กรมอนามัย กับกระบวนการเรียนรู้ปี ‘48


... เรา "กรมอนามัย" เริ่มต้นไม่ต่างกับหลายๆ หน่วยงาน แต่เราอาจจะมีทีมงานที่ ... ดี ... เดือด ... คือ ไม่ค่อยรู้ ... แต่พอเห็นอะไรลางๆ บ้าง ... เราก็ลุย ... ค่ะ

 

ที่งานมหกรรมการจัดการความรู้ ราชการไทยสู่ LO เมื่อ 21 กค.49 ณ มิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ห้องแกรนด์ B สำนักงาน ก.พ.ร. สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม หรือ สคส. กรุณาให้เกียรติแก่กรมอนามัยอีกครั้ง

โดยเฉพาะทาง สคส. ซึ่งมีคุณอ้อ ... เป็นผู้ประสานงาน การเตรียมตัวขึ้นเวทีครั้งนี้ คุณอ้อให้ดิฉันขึ้นไปนำเสนอในสไตล์ "การเล่าเรื่อง" หรือตามเทคนิค / เครื่องมือ ที่ทาง สคส. เรียก คือ การใช้เครื่องมือ "Story Telling" ประเด็นของการเล่าเรื่อง คือ กรมอนามัยใช้กระบวนการเรียนรู้ (learning process) อย่างไร ในการพัฒนาคน พัฒนางานและพัฒนาองค์กร จึงสามารถขยายเครือข่ายจากการจัดการความรู้ได้จนถึง ณ ปัจจุบันนี้ และที่ตกลงเพิ่มเติมอีกอย่างคือ การเน้นหน่วยงาน KM ต้นแบบ ของกรมอนามัย

ศรีวิภา เลี้ยงพันธุ์สกุล

บนเวที เริ่มต้นดิฉันถูกคุณอ้อหันมาถามว่า ใครจะเป็นคนเริ่มต้นก่อนดีเอ่ย! ... ดิฉันจึงรีบบอกว่า ... ขอให้เป็นกระทรวงแรงงานก่อนแล้วกัน ... ดิฉันจึงได้รับการเชิญพูดเป็นคนที่ 2 เหตุผลเพราะ เวทีนี้ล้วนมีแต่ผู้อาวุโสมากกว่าดิฉันทั้งนั้น ทั้งกระทรวงแรงงาน กรมชลประทาน ตำแหน่งดูเหมือนทั้ง 2 ท่านจะอยู่ในระดับผู้อำนวยการ หรือหัวหน้าประมาณนี้นะคะ ผู้น้อยย่อมรู้ประมาณตน (ดิฉันคิด) เพราะหากไม่พูดอะไรแล้วไซร้ ... ปกติคุณอ้อเธอมักจะให้ดิฉันพูดคนแรกอยู่เรื่อย ... ดิฉันตัดสินใจเช่นนั้น เพราะตัวเองไม่มีโอกาสได้ไปประชุมเตรียมการกับทาง สคส. เพราะมัวแต่เตรียมงานตลาดนัดKM กรมอนามัย ซึ่งจัดวันที่ 18-20 ก.ค.49 ณ โรงแรมเฟลิกซ์ ริเวอร์แคว รีสอร์ท กาญจนบุรี ที่ผ่านมาซึ่งเราเป็นเจ้าภาพเอง การรับฟังหน่วยงานอื่นก่อน จะทำให้ดิฉันพอมีเวลาในการรับฟังเรื่องราวของคนอื่น (รู้เขา) ขณะเดียวกันดิฉันก็ใช้เวลาช่วงนั้นกำหนดประเด็น และลำดับสำคัญของเรื่องราวที่จะพูดได้ (รู้เรา) ดิฉันไม่ได้กินของร้อนนะ จริงๆ แล้วมีการเตรียมการบ้าง แต่ไม่ลงรายละเอียดมากนัก เพราะเหตุที่ดิฉันมีอาการป่วยบ้าง แบบไม่ได้บอกใคร ... ซดยาแก้ปวดกระเพาะไปเกือบครึ่งขวด และทานยาแก้ปวดศีรษะ หลังจากกลับเมืองกาญจนฯไป 2 ครั้ง 3 เม็ด แล้วรีบนอนพัก เพื่อให้ฟื้นก่อนขึ้นเวที เพื่อให้สุขภาพกายดี สุขภาพจิตและสุขภาพปัญญาก็จะดี ไม่เมา และสับสนมากนัก ... ด้วยเหตุเตรียมงาน KM กรมอนามัยอย่างหนัก
... ใครที่เคยจัดงาน ”ตลาดนัด” เช่นนี้จะทราบดีว่า มีรายละเอียดของการประสานงานอักโขเชียว ... เอาไว้พอมีเวลาดิฉันคงจะเขียนเล่าอีกครั้ง

แต่ตอนนี้ดิฉันมีงานหน้า ซึ่งเป็นการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ สรุปบทเรียน KM’49 และ แผน KM ’50 ของกรมอนามัย ในวันที่ 16-18 ส.ค.49 ณ อาราญาน่ารีสอร์ท (ภูพิมาน) จ.นครราชสีมา และเตรียมรับแขกดูงาน KM กรมอนามัย ในวันที่ 29 ส.ค.49 ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ กรมอนามัย ซึ่งคงเป็นอานิสงค์จากงานมหกรรม KM ที่มิราเคิล นี้กระมังค่ะ ดิฉันจึงมีโทรศัพท์เข้ามาทุกวันเลยค่ะ วันละหลายเพลา ... หลายหน่วยงาน ด้วยเหตุผล ... ขอมาดูงาน KM กรมอนามัย ใครติดต่อมาก่อนได้ก่อนค่ะ เพราะห้องประชุมใหญ่ เราจุคนได้เพียงประมาณ 95 ท่าน เสริมเก้าอี้แล้วสำหรับทีมงานผู้นำเสนอผลงาน KM กรมอนามัย ก็ได้อีกเบ็ดเสร็จสัก 120 คน ... ก็สุดแสนจะแน่นขนัดจริงจริ๊ง จึงต้องขออภัยกับหลายท่าน หลายๆ หน่วยงานมา ณ โอกาสนี้ด้วย ...

การออกแบบงานทั้ง 2 ที่กำลังใกล้วันจะถึง จึงต้องพิถีพิถันและคำนึงผลลัพธ์ที่ส่งมอบให้ลูกค้าเป็นสำคัญค่ะ คุณภาพมาก่อนปริมาณนะคะ เมื่อมาถึงบ้านเรา ... จึงอยากมอบสิ่งดีดีกับไปยังทุกท่าน ... แม้ว่ากรมอนามัยจะเพิ่งเริ่มต้นเดิน KM ไปย่างขวบปีที่ 2 ... การเดินทางนั้น ... เพียงย่างก้าวไม่ไกลนัก ... แต่ก็อยาก “เปิดฟ้าปันใจ ... เพื่อเพื่อนร่วมทาง KM ค่ะ”

กลับมาเรื่องนี้ ... ต่อนะคะ

และเมื่อดิฉันเริ่มเล่า ดิฉันพูดว่า ... ก่อนอื่นดิฉันขอขอบคุณ สคส. และหน่วยงานผู้จัดที่ให้เกียรติแก่กรมอนามัยในหลายๆ เวทีรวมถึงเวทีในวันนี้ด้วย ดิฉันพูดต่อว่า ... ขอให้ทุกท่านในห้องประชุมปิดตำรานะคะ รับฟังสิ่งที่ดิฉันเล่าอย่างติดตามหนัง หรือละครเรื่องหนึ่ง ดิฉันจะไม่บอกว่า กรมอนามัยดำเนินการสำเร็จเพราะปัจจัยอะไร แต่จะเล่าไปเรื่อยๆ และขอให้ทุกท่านสรุปเอง

กรมอนามัยเริ่มต้นการจัดการความรู้ เมื่อประมาณปี 2547 คงคล้ายๆ หลายหน่วยงานค่ะที่สับสน ซึ่งอาจารย์หมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานคณะกรรมการ KM กรมอนามัย  ท่านมักจะพูดเสมอว่า “กรมอนามัยเริ่มต้น KM จาก Learning by confusion “ ตอนนั้นดิฉันเป็นเพียงกรรมการ KM คนหนึ่ง ยังไม่ได้เป็นเลขาฯ KM Team ดูเหมือนจะมีการอบรม/ประชุม ให้ความรู้กันประมาณ 2 ครั้ง และเมื่อดิฉันได้รับมอบหมายให้เป็นเลขาฯ คณะกรรมการ KM กรมอนามัยเรามีการทบทวนกรรมการกันใหม่ ดิฉันเชิญคุณหมอนนทลี ท่านเป็นทันตแพทย์ค่ะ อยู่กองทันตสาธารณสุข นั่งอยู่ทางนี้นะคะ (ดิฉันผายมือชี้ชวนให้ทุกคนได้มองตาม) ซึ่งถือเป็นมือ webmaster คนเก่ง ที่มีความสามารถทางด้าน IT เป็นคนใจเย็นมาก เรารู้จักกันมานาน ตั้งแต่ลูกคนแรกของคุณหมอยังเล็ก ขณะนี้จบมหาวิทยาลัยไปแล้ว ทุกครั้งที่ดิฉันเหนื่อย คุณหมอจะให้กำลังใจเสมอ แต่คุณหมอเป็นคุณนุ่มนวล จนบางครั้งก็ขัดใจบ้าง เพราะอ้อมไปอ้อมมา ท่านที่สอง คือ พี่ติ๊ก สร้อยทอง จากกองแผนงาน ท่านคงอยู่ข้างนอก ที่บริเวณบู๊ธกรมอนามัย คงกำลังอธิบาย “แฟ้มภูมิปัญญา” ซึ่งเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งของการจัดการความรู้ ที่ทุกท่านสามารถแวะไปชื่มชม และขอคำแนะนำได้ที่บู๊ธข้างนอกนะคะ พี่ติ๊กจบอักษรศาสตร์ค่ะ ท่านจะเป็นคนตรง และตีแสกหน้าที่ดิฉันชื่นชอบมาก เพราะการทำงานใหญ่ในภาพกรมฯ ต้องมีใครสักคนที่ช่วยให้ดิฉันไม่หลงทาง ไม่ลืมตัว กรรมการอีกท่าน จากกองการเจ้าหน้าที่ (คุณจันทนา วรรณเพิ่มสุข) เพราะท่านเป็น HR ของกรมอนามัย งานพัฒนาบุคลากรต้องเข้าใจKM นะคะ  อีกท่านจาก กพร. กรมอนามัย (คุณลาวัณย์ ขำประเสริฐ) และจากกองคลัง พี่เล็ก (จารุพา เตชะสวัสดิ์ศิลป์) ซึ่งเป็นพี่ที่น่ารักมาก ...เฮ้วๆ ดี.ทำงานถึงไหนถึงกัน ... ช่วยดิฉันจัดการ สารพัดเรื่องของการเงิน และจิปาถะที่เกี่ยวกับระเบียบการเบิกจ่าย และการจัดประชุม รวมถึงท่านอื่นๆ ด้วยที่ไม่อาจกล่าวถึงได้หมด

มีอยู่วันหนึ่ง อาจารย์หมอนันทา อ่วมกุล ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักที่ปรึกษา ท่านเป็นผู้บังคับบัญชา ท่านเป็นครู และเป็นกัณยาณมิตรของดิฉัน ท่านจะให้โอกาสในการทำงานแก่ดิฉันเสมอ ท่านไม่เคยถาม หรือให้ดิฉันมานั่ง brief ว่า การเป็นวิทยากรในวันนี้ ดิฉันจะพูดอะไรบ้าง และในวันนี้ท่านก็มาด้วย แต่ดิฉันเชื่อว่า ท่านคงอยู่ในห้องอื่น เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมา ทุกครั้งที่ไปด้วยกันและมีการประชุม ท่านมักจะอยู่ห้องอื่นเสมอ เพื่อให้ดิฉันเป็นตัวของตัวเอง มีความมั่นใจและกล้าที่จะเติบโตอย่างมั่นคง แต่เป็นกำลังใจ ให้คำปรึกษา และคำแนะนำสม่ำเสมอ เมื่อดิฉันเริ่มเดินเซ ... ท่านส่งดิฉันไปโรงพยาบาลบ้านตาก จ.ตาก เพื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดตลาดนัดความรู้ ซึ่งตอนแรกก็จะให้ไปคนเดียวแต่ตอนหลังท่านถามว่า ดิฉันอยากได้ใครไปเป็นเพื่อนมั้ย ดิฉันก็เลยคิดถึงหน่วยงานย่อยของกรมฯคือศูนย์อนามัยที่ 1 เพราะดิฉันไปในนามส่วนกลาง แล้วดิฉันควรให้โอกาสเช่นนี้แก่ผู้แทนของหน่วยงานย่อยด้วย

เมื่อดิฉันเข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดการความรู้ ที่โรงพยาบาลบ้านตาก ดิฉันได้เห็นกระบวนการต่างๆ ทุกขั้นตอน อะไรคือ Tacit Knowledge (ความรู้ซ่อนเร้น) คุณอำนวย (ตามภาษาการจัดการความรู้หมายถึง Facilitator) ทำหน้าที่อย่างไร คุณกิจ (ผู้ปฏิบัติงาน) ที่จะเล่าเรื่องความสำเร็จจากการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี ควรมีคุณสมบัติอย่างไร และการเล่าเรื่องได้ดี ควรเล่าแบบไหน หลายๆ อย่างของการเรียนรู้ได้จากการสังเกตนะคะ ถือเป็นการเรียนรู้ที่เรียกว่า Learning by observational ซึ่งขอขอบคุณโรงพยาบาลบ้านตากอย่างยิ่ง ที่ให้ความกรุณาแก่ดิฉันเป็นอย่างดี

ระหว่างนั่งรถขากลับจากบ้านตากเพื่อไปขึ้นเครื่องที่จังหวัดพิษณูโลก ดิฉันจึงได้รีบใช้เวลาที่แสนจะมีค่านั้น ... เหมือนนกแก้วนกขุนทอง ... คุยกับอาจารย์ประพนธ์ ผาสุขยืด และอาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช ในรถตู้ไปเรื่อย ... เพื่อสอบทานกับสิ่งที่ดิฉันเห็นจากการเรียนรู้ครั้งนั้นว่า ที่ดิฉันคิด ... นั้นใช่หรือไม่ ... เช่น ดิฉันสังเกตเห็นคุณหมอ ที่โรงพยาบาลพิจิตร (ขออภัยที่จำชื่อท่านไม่ได้) เล่าเรื่องที่ฟังแล้วเป็นธรรมชาติ แต่มองเห็นความสำเร็จของผลงาน ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความเฉียบคม ที่ท่านมีส่วนร่วมสนับสนุนทีมงาน ซึ่งบางท่านก็เล่าเหมือนกัน แต่ยังไม่ปิ้งนัก ... ดิฉันจึงผุดคิดขึ้นว่า ... ถ้าจะดี ... เราผู้จัดจะต้องเฟ้นหาคน ประมาณคุณหมอมาเป็นผู้เล่าเรื่อง ... ใช่มั๊ยค่ะ ดิฉันเรียนถามอาจารย์ประพนธ์ และอาจารย์ท่านก็ตอบว่า ... ใช่ครับ ... (จำได้ว่า เมื่อครั้งกระนั้น อาจารย์ประพนธ์พูดน๊อย ... น้อย ... ดิฉันคงเหมือนคนแปลกหน้าประมาณนั้น หรือไงไม่ทราบ อาจารย์จะใช้วิธียิ้ม ยิ้ม พยักหน้าบ้างและตอบคำถามบ้าง) และดิฉันก็นึกขึ้นมา (ปิ๊งแว๊บ...แวบ) ได้ว่า วิธีที่เร็วที่สุดที่จะทำให้ทีมงานเข้าใจ KM ก็น่าจะเป็นวิธีประมาณนี้แหล่ะ คือ ชู๊ดคนอื่นไปร่วมสังเกตการณ์เช่นนี้ เพราะที่ผ่านมา KM Team ยังดูงงๆ กับการจัดการความรู้มาก และตอนนั้นดิฉันก็คิดต่อว่า ดิฉันทำงานใหญ่ เพื่อขับเคลื่อน KM ของกรมฯ คนเดียวไม่ได้หรอก (อันตัวเรา ก็เท่านี้) ... การทำงานต้องมีทีม และสิ่งสำคัญคือ ทีมงานต้องชัดเจนก่อน ... ก่อนที่จะไปให้คนอื่นทำ ... ดิฉันจึงรีบขอโอกาสจากอาจารย์ทั้งสองท่าน ให้ทีมงานกรมอนามัยได้ไปเข้าร่วมสังเกตการณ์แบบนี้ด้วย หากมีเวทีเช่นนี้ ... แต่ไกลๆ คงไม่ไหว เพราะติดขัดด้วยงบประมาณ จึงขออนุญาตหากมีเวทีอย่างนี้ แต่อยู่ในกรุงเทพ หรือที่ใกล้ๆ หน่อย ซึ่งอาจารย์ท่านก็ให้ความกรุณาเป็นอย่างยิ่ง

หลังจากกลับจากบ้านตาก ดิฉันก็เล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งหมดให้อาจารย์หมอนันทาทราบ และเมื่อคุณอ้อกรุณาติดต่อแจ้งให้ทราบว่า มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ในกรุงเทพฯ นี่เอง ดิฉันจึงเรียนอาจารย์หมอนันทา ซึ่งอาจารย์ก็ถามว่า ศรีวิภาคิดว่าน่าจะให้ใครไป ดิฉันจึงคิดว่า ผู้ที่เรียนรู้ได้เร็วและเก็บประเด็นได้รายละเอียดสุดๆ คืออาจารย์หมอนันทา และพี่สร้อยทอง (แถมมี power ด้วย) แล้วก็น่าจะให้เลขาฯ (คุณจุฑามาศ เกตุทัศ) และผู้ช่วย KM (คุณสุกัญญา อุชชิน) ไปด้วย ดิฉันก็เลยชู๊ด ... อาจารย์หมอนันทาและทีมงานไปเรียนรู้บ้างค่ะ หลังจากกลับมา แป๊ปเดียว ไม่ถึง 1 เดือนประมาณ 2-3 สัปดาห์ อาจารย์หมอนันทา ก็ชวนดิฉันลุยเลยค่ะ ... ทีมงานยังมีอีกหลายคน แต่ตอนนั้นดิฉันคิดว่า ... ไม่จำเป็นต้องรอให้ชัดทุกคนค่ะ น่าจะต้องะลงมือลุยเลย

แล้วดิฉันก็พูดต่อว่า ... หลายคนชอบพูดถึง เวลามีเรื่องอะไรที่เป็นความรู้หรือเทคนิคที่เข้ามาใหม่ๆ ในระบบราชการ มักจะคิดว่า เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ แต่ดิฉันคิดว่า ... KM … คงไม่ใช่เหล้าเก่าในขวดใหม่ละมั้ง มันต้องมีอะไรที่ต่างสิ ... หลักใหญ่ของ KM คือการพัฒนาคน พัฒนางาน เราจึงเริ่มจากการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม ... ไม่จัดอบรม หรือประชุมนะคะ แต่ส่งหนังสือ KM ซึ่งเป็นหนังสือของ สคส. ไปให้ทุกหน่วยงานของกรมอนามัยประมาณ 29 หน่วยงาน เพื่ออ่าน และเตรียมตัวก่อนมาเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ ทุกท่านที่จะมาเข้าร่วมประชุมต้องอ่านหนังสือ และเตรียมเรื่องเล่าความสำเร็จมาด้วย เพื่อเข้ากลุ่มและฝึกปฏิบัติเลย เราไม่มีการ Lecture ค่ะ ซึ่งอาจารย์หมอวิจารณ์และคุณอ้อ กรุณามาเป็นวิทยากรให้กับกรมอนามัย ประมาณ 2 วัน จากเวทีนั้น อาจารย์หมอสมศักดิ์ท่านก็ให้โอกาสกับหน่วยงานในการปรับแผน KM ให้ชัดเจนขึ้น เป็นการทำแผนKM ที่แต่ละหน่วยกำหนดขึ้นเอง ภายใต้บริบทของเขาเอง

และเมื่อ มิ.ย.48 ดิฉันได้รับเกียรติให้เป็นเลขาฯ คณะกรรมการKM กรมอนามัย การทำงานKM เราทำงานโดยยึด Concept ไม่ยึด Definition ... ตามหลักการที่อาจารย์หมอสมศักดิ์ ท่านบอกไว้ ดิฉันคิดเสมอว่า กรมอนามัยเปรียบเสมือน แม่ที่มีลูกหลายคน (มีหน่วยงานในสังกัด 29 หน่วย) ... เราต้องรักเขา ... อย่างที่เขาจะเป็น ... การทำงานKM จึงไม่ได้บังคับว่า หน่วยงานต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ ตามที่เรากำหนด เขาเท่านั้น ที่รู้จักตัวเขาดี รู้ว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร ภายใต้บริบทของเขาเอง เรามีหน้าที่ทำให้เขาชัดขึ้น และชัดขึ้น ส่งเสริม ให้กำลังใจ และชื่นชม กับสิ่งที่เขาทำ

หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน การทำงานก็ใช้หลัก “โยนลงน้ำ” เลยค่ะ เราจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้หน่วยงานมาเล่าเรื่องความสำเร็จจากการดำเนินงาน KM เป็นการกระตุ้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน KM อีกครั้ง และในปลายปีก็จัดตลาดนัดความรู้ และมีการสรุปบทเรียนปี 2548

KM ในปีเริ่มต้นก็เป็นประมาณนี้แหล่ะค่ะ ท่านผู้อ่านคงเห็นด้วยกับอาจารย์หมอสมศักดิ์ ใช่มั๊ยค่ะว่า การเริ่มต้นของเราเป็น Learning by Confusion จริงๆ

... เรา "กรมอนามัย" เริ่มต้นไม่ต่างกับหลายๆ หน่วยงาน แต่เราอาจจะมีทีมงานที่ ... ดี ... เดือด ... คือ ไม่ค่อยรู้ ... แต่พอเห็นอะไรลางๆ บ้าง ... เราก็ลุย ... ค่ะ 

 

หมายเลขบันทึก: 42841เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2006 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
             ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของกรมอนามัยด้วยครับ ขอบคุณพี่ศรีวิภาที่ได้กล่าวอ้างถึงโรงพยาบาลบ้านตาก และฝากความคิดถึงเพื่อน(ผบก.รุ่น18)คนเก่งคนนี้ด้วยครับ การจัดการความรู้ ไม่ทำไม่รู้จริงๆครับ ตอนนี้ผมก็กำลังเตรียมการจัดการความรู้สุ่Healthy Thailandของ สสจ.ตากอยู่ครับ จะจัดในเดือนกันยายนนี้ มีคำแนะนำส่งไปให้ด้วยนะครับ
เข้ามาปลื้มกับความสำเร็จของกรมอนามัย และเทคนิคการเล่าเรื่องที่ยอดเยี่ยมของคุณศรีวิภา ไม่ได้ฟังในห้องประชุม ก็เหมือนว่าได้ฟัง ยอดเยี่ยมมาก เล่าได้ยอดเยี่ยมจริงๆ จะติดตามต่อ
  • เป็นเรื่องเล่าที่ดีมากครับ  ตำแหน่งยอดคุณเล่า ผมยกให้พี่ศรีวิภาตั้งแต่ตอนเวทีคุณอำนวยที่บ้านผู้หว่านแล้ว
  • ยินดีกับการก้าวหน้าของKMในบริบทของกรมอนามัยครับ
  • เทคนิค...ชู้ด...ส่งต่อ และการ ..โยนลงน้ำ.. เป็นกลวิธีที่แยบยลมากครับ  โยนลงน้ำนี้เคยใช้บ่อยๆ ได้ผลดีจริงๆ ครับ ส่วนการชู้ดต่อ ใช้ไปบ้างแต่น้อยครับ จะขอนำไปพัฒนาต่อนะครับ
  • ใช่ครับทีมงานต้อง ดี...เดือด...ลุยเลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท