Standardization vs. Calibration vs. Test


“มาตรฐาน” มีหลายประเภทตามบริบทและความเป็นไปของสังคม

เพื่อให้เข้าใจง่ายเราดูคำว่า Standard (มาตรฐาน) ก่อน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายว่า คือ สิ่งที่ถือเป็นหลักสำหรับเทียบกำหนด 

“มาตรฐาน” มีหลายประเภทตามบริบทและความเป็นไปของสังคม (โลก) เช่น เดิมมี “มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม”  ต่อมาสังคมให้ความสำคัญกับการจัดการก็เกิด “มาตรฐานระบบการบริหารจัดการ” ที่เราคุ้นหูกันคือ ISO     ในประเทศไทย “มาตรฐานชุมชน” เกิดขึ้นตามโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์   ส่วนมาตรฐานที่ใช้เป็นเกณฑ์หรือหลักสำหรับการเปรียบเทียบเรียกว่า มาตรฐานอ้างอิง (Reference standard)

อาจแปล Standardization (การมาตรฐาน) ว่าคือการกำหนดหลักเกณฑ์และนำมาใช้ เพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพคงที่ หรือพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น (เมื่อดีขึ้นแล้วก็คงคุณภาพนั้นไว้ได้)  แปลง่ายๆ คือ ให้มีคุณภาพที่คงเส้นคงวานั่นเอง 

Calibration (การสอบเทียบ) คือ การตรวจสอบและปรับความถูกต้องของเครื่องมือวัด ตามหลักวิชาการโดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานอ้างอิง เพื่อสร้างหลักประกันว่า กระบวนการ/วิธีการใหม่นี้จะมีมาตรฐาน ซึ่งเมื่อผนวกกับคุณภาพตามมาตรฐานของ input อื่นๆ เช่น วัสดุ บุคลากรหรือแรงงาน ก็จะได้สินค้า/บริการ ที่มีคุณภาพมาตรฐาน  

Test (การทดสอบ) คือ การตรวจหาลักษณะเฉพาะ/สมรรถนะ/องค์ประกอบของวัสดุ/เครื่องมือ/ กระบวนการ/สินค้าบริการ/ปรากฏการณ์ ตามวิธีดำเนินการที่ระบุไว้โดยต้องทำตามหลักวิชาการและมีการบันทึกผลการทดสอบเป็นเอกสาร    

หากทดสอบเครื่องมือแล้วจบที่การรายงานผล ก็คือ Test นั่นเอง แต่สำหรับ Calibration จะเพิ่มการเปรียบเทียบผลการทดสอบที่ได้กับเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานอ้างอิงและมีการปรับให้มีความเที่ยง (validity) แม่นยำ (precision) เชื่อถือได้ (reliability) เท่ากับหรือใกล้เคียงมาตรฐานอ้างอิงในระดับที่ยอมรับได้ตามหลักวิชาการ    Test จึงเป็นขั้นตอนหนึ่งของ Calibration 

ตัวอย่างเช่น การ Calibrate การตรวจช่องปากเพื่อให้ผู้ตรวจสามารถตรวจได้มาตรฐานเดียวกัน นอกจากจะปรับที่ทักษะของผู้ตรวจแล้วยังต้องคำนึงถึงเครื่องมือและวิธีการด้วย หากมุ่งที่ความถูกต้องของผลการตรวจ นอกเหนือจากตัวผู้ตรวจแล้ว เครื่องมือและอุปกรณ์ก็มีบทบาทสำคัญด้วยเพื่อให้การมองเห็นและตรวจพบ (detect) ได้ใกล้เคียง Reference standard      

ที่ต้องทำความเข้าใจคือ Reference standard ไม่ได้ถูกกำหนดอย่างตายตัว  แต่ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของเรื่องนั้นๆ ว่าจะมีคุณภาพมาตรฐานอย่างไร เช่น ต้องการให้ครูตรวจฟันเด็กนักเรียนที่มีฟันแท้ผุเพื่อส่งต่อมาให้หมอฟันรักษา    มาตรฐานคือ ส่งแต่เด็กที่มีฟันแท้ผุมาหาหมอฟัน ไม่ใช่ฟันน้ำนมผุ หรือฟันแท้ดีๆ   ผู้เป็นมาตรฐานอ้างอิงให้ครูเปรียบเทียบอาจเป็นทันตาภิบาลหรือทันตแพทย์ก็ได้ แต่ให้มุ่งผลตรวจฟันแท้ผุได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องสนใจการตรวจเหงือกหรือฟันน้ำนม   และต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ อย่างที่ครูต้องใช้ในชีวิตจริง   ไม่ใช่ดำเนินการปรับมาตรฐานในคลินิกทันตกรรม แต่สถานที่ที่ครูต้องทำงานจริงคือในโรงเรียนซึ่งต่างจากคลินิกทันตกรรมทั้งตัวสถานที่และเครื่องมืออุปกรณ์

หมายเลขบันทึก: 428354เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2011 13:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท