แล้วมันก็ผ่านไป ความกังวลใจ ก็สิ้นสุด


รอรับผลที่จะปรากฏ และใช้มันเป็นสื่อการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาสิ่งที่ทำ ทุกอย่างที่ปรากฏจึงมีคุณค่าเสมอ ไม่ว่าความสำเร็จ หรือ ล้มเหลว

     ผมย้ายตัวเอง Say Goodbye กับกทม.มาอยู่บ้านเกิดที่ไชยาได้กว่าครึ่งปีแล้ว ได้ศึกษาสังเกตสภาพทั่วไป วิถีชีวิตผู้คนที่เปลี่ยนไป และอีกหลายๆอย่างจากการเข้าร่วมกิจกรรม และพูดคุยกับญาติมิตรและลูกหลานที่นั่น เกิดความคิดมากมายที่อยากช่วยผลักดัน ส่งเสริมในส่วนต่างๆเท่าที่จะทำได้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิตวิญญาณของพี่น้องชาวตำบลโมถ่ายและละแวกใกล้เคียง โอกาสเปิดให้มากมายทั้งที่วัดสุทธาวาส อันมีพระครูเกษมธรรมรังษี (อดีตพี่หลวงดำของผม) เป็นเจ้าอาวาส โรงเรียนวัดสุทธาวาสที่ผมเคยเรียนมาตั้งแต่ป.1-4  อบต.อันมีหลาน สมหมาย  ทองมาก เป็นนายกฯ ศูนย์การเรียนรู้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ที่ก่อตัวเป็นรูปร่างขึ้นแล้วโดยการนำของหลานสุพรรณ ผอมคลี่ ตลอดจนสถานีวิทยุชุมชน FM. 99.75 Mhz. อันมี "น้องบ่าวดำ" คุณเจริญ ศรีสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าสถานี

 

    แต่จากความจริงที่ค้นพบ ทำให้ผมต้องเหยียบเบรกหลายๆครั้งที่จะทำอะไรลงไป เนื่องจากเล็งเห็นว่าหลายเรื่องน่าจะยัง "ไม่ถึงเวลาที่เหมะสม" ระบบความคิดของคนทำงานด้วยใจ ด้วยความเสียสละหลายคน ยังต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเข้าใจในเรื่องสำคัญๆ เช่น "การพัฒนา"  "เศรษฐกิจพอเพียง"  "คุณภาพชีวิต" "การพึ่งตนเอง"  "ความสุข" เป็นต้น ผมจึงฟันธงให้กับความคิด ความเชื่อของตนเองว่าสิ่งที่ผมควรทำในระยะนี้ก็คือ

 

  1. ใช้ความรู้-ประสบการณ์เชิงช่าง ช่วยจัดทำ  ซ่อม สร้าง ดัดแปลง วัสดุอุปกรณ์เพื่อการสื่อสารเพื่อเตรียมรองรับ การทำงานเรื่องการให้ความรู้ และการประชาสัมพันธ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง  ที่ช่วยทำให้แล้วได้แก่ ออกแบบ ติดตั้งระบบเสียงที่โรงเรียนวัดสุทธาวาส  ออกแบบ ติดตั้งระบบเสียงในอาคารเอนกประสงค์ของวัดสุทธาวาส ด้วยเงินบริจาคของญาติโยมร่วมกับผมและพี่ๆที่ช่วยกันเป็นเจ้าภาพหลัก 5000 บาท ส่วนที่อบต.และสถานีวิทยุ ก็ได้จัดทำสายนำสัญญาณเพื่อการถ่ายทอดเสียง ดัดแปลงเครื่อง Audio Mixer ให้เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น การปรับปรุงระบบเสียงในห้องประชุมอบต.(กำลังจะจัดทำ) .. ฯลฯ
  2. ช่วยเชื่อมโยง ประสานงาน รวมทั้ง "ทำเอง" ในบางเรื่อง เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ มุ่งสู่การสร้าง "สัมมาทิษฐิ" ให้กับผู้คนที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่โรงเรียน  วัด  ศูนย์การเรียนรู้ฯ  เวทีเสวนาที่อบต. และผ่านทางสถานีวิทยุชุมชน ทั้งนี้ จะทำไปเรื่อยๆตามกำลัง โดยไม่หวังเห้นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เพราะถ้ามี มันน่าจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่มั่นคง ยั่งยืน
  3. หาโอกาสและส่งเสริมให้ "ภูมิปัญญาท้องถิ่น" ที่มีอยู่มากมาย ได้มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ผ่านช่องทางในข้อ 1
  4. ฯลฯ

   วันก่อน (5 กพ.54) จากสี่โมงเย็นถึงราวหกโมงเย็นเป็นเวทีแรกที่ผมจัด ปกติผมมักไม่ตื่นเต้นอะไรกับการทำหน้าที่ดำเนินการในลักษณะนี้ และจะทำเองในหลายๆส่วนของงานมาโดยตลอด ประเภท "ไม้จิ้มฟัน ยันเรือรบ" อะไรทำนองนั้น  แต่สำหรับคราวนี้ ยอมรับว่าหนักใจกว่าทุกคราว เพราะผู้เข้าร่วมจะมีหลากหลายมาก มีพื้นฐานต่างกัน แถมตัววิทยากรก็เป็นคนจริงใจและออกจะ "แรง" บ่อยๆ ในการนำเสนอเรื่องราว ผมจึงเชื่อว่าคงเหนื่อยมากแน่ๆ ที่จะจูนให้คนฟัง และคนพูด ทำหน้าที่ของตนอย่างได้ผล และสะดวก ปลอดภัย .. แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หรือได้ผลมากน้อยเพียงใด ผมจะไม่ยอมโง่ ไปทุกข์กับมัน พิจารณาเจตนาที่เรามี ทำหน้าที่ไปอย่างถูกต้อง เหมาะสมให้มากที่สุด "อย่างเป็นธรรมชาติ" รอรับผลที่จะปรากฏ  และใช้มันเป็นสื่อการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาสิ่งที่ทำ  ทุกอย่างที่ปรากฏจึงมีคุณค่าเสมอ  ไม่ว่าความสำเร็จ หรือ ล้มเหลว

   และแล้วเหตุการณ์ก็ผ่านไปด้วยดี ทำให้ผมได้พบเพชรอีกหลายเม็ด ที่น่าจะมาช่วยกันจัดการกับหลายๆเรื่อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของพี่น้อง ลูกหลานชาวโมถ่ายและละแวกใกล้เคียง

หมายเลขบันทึก: 426842เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2011 05:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

☺ แวะมาอ่านและส่งกำลังใจให้ทำต่อไปอย่าท้อถอย

☺ รำลึกถึงเสมอนะ...คงได้พบเจอในเร็ว ๆ นี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท