เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้สภามหาวิทยาลัยมหิดล


          คณะกรรมการพัฒนานโยบายมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกรรมการย่อยของสภามหาวิทยาลัยมหิดล   ในการประชุมเมื่อวันที่ ๗ ม.ค. ๒๕๕๔ คุยกันเรื่องการพัฒนานโยบายของมหาวิมยาลัยมหิดล    เราคุยกันเรื่องบทบาทในการกำหนดนโยบาย ว่าควรเป็นของสภาหรือของฝ่ายบริหาร

 

          ซึ่งในหลักการทุกคนเห็นตรงกัน ว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของสภาฯ   แต่ในทางปฏิบัติมีความเห็นแตกต่างหลากหลาย   บางคนต้องการให้สภาฯ แยกออกจากฝ่ายบริหารอย่างเด็ดขาด   มีสำนักงานสภาฯ ที่เข้มแข็ง   ทำงานด้านข้อมูลเพื่อการกำหนดนโยบายแยกเด็ดขาดจากฝ่ายบริหาร   เพื่อไม่ให้ฝ่ายบริหารครอบงำสภาฯ

 
          ฝ่ายนี้ต้องการให้สภาฯ ทำงานแบบรุก   กำหนดนโยบายสำคัญๆ ให้ชัดเจน   ไม่ใช้รออนุมัติ (หรือไม่อนุมัติ) ตามข้อเสนอของฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นการทำงานของสภาฯ แบบตั้งรับ

 

          ผมให้ความเห็นต่อที่ประชุมว่า ความเห็นส่วนตัวของผมคือสภาฯ ต้องทำงานแบบรุก และกำหนดนโยบายใหญ่ๆ ที่มีความสำคัญต่ออนาคตของมหาวิทยาลัย   แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการแยกการทำงานของสภาฯ กับฝ่ายบริหารออกจากกันอย่างเด็ดขาด   และจริงๆ แล้วเรื่องที่เข้าสู่สภาฯ น่าจะมาจากฝ่ายบริหาร ร้อยละ ๙๐   ริเริ่มโดยกลไกของสภาฯ เพียงร้อยละ ๑๐ ก็เพียงพอเหมาะสมแล้ว

 

          โดยสภาฯ กับฝ่ายบริหารต้องคุยกันในเรื่องเชิงเป้าหมาย และยุทธศาสตร์ในการบรรลุเป้าหมายนั้น   มีความใกล้ชิด รับฟังซึ่งกันและกัน แม้จะมีความเห็นแตกต่างกันในบางเรื่อง

 

          อำนาจของสภามหาวิทยาลัยคืออำนาจชี้เป้า กำหนดเป้าหมาย แล้วหาอธิการบดีมาทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น  ถ้าอธิการบดีเปลี่ยนเป้าโดยไม่ขออนุญาตสภาฯ   สภาฯ ต้องปลดอธิการบดี   นี่คือหลักการ

 

          แต่ในความเป็นจริงของบริบทไทยในปัจจุบัน สภาฯ ไม่มีความสามารถกำหนดเป้าที่ชัดเจนได้   แต่อธิการบดีที่เก่งมีความสามารถนั้น และเสนอให้สภาฯ อนุมัติ เป็นสภาพแบบไทยๆ ที่ดำเนินการไปได้ราบรื่นพอสมควร

 

          แต่มหาวิทยาลัยที่ต้องการเป็นเลิศ ต้องเดินทางสู่สภาพที่ระบบกำกับดูแลเข้มแข็ง และระบบบริหารก็เข้มแข็ง   และทำงานร่วมมือประสานพลังกัน   แม้จะมี creative tension บ้าง ก็ถือเป็นของธรรมดา

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑ ก.พ. ๕๔

              
หมายเลขบันทึก: 426709เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2011 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท