เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔


๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

เรียน เพื่อนครู ผู้บริหารและผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๔  เพิ่งได้เข้านอนประมาณตี ๒ จึงตื่นสายไปหน่อยจากที่เคยตื่นตี ๕ กลายเป็น ๖ โมงครึ่ง  เป็นที่รับทราบกันว่า วันนี้วัยรุ่นทั้งหลายต่างยินดีปรีดากันทั่วโลก เพราะเป็นวันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรัก วัยอย่างเราก็พอจะมีเสียงจดหมายข่าววิ่งลงโทรศัพท์อยู่บ้างเหมือนกัน อวยพรให้มีความซู่ซ่าตามวัยอันสมควร  สาย ๆ ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนมาพบเพื่อขอให้ขยายชั้นเรียนในโรงเรียนที่ท่านเป็นประธานคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่อการช่วยให้รับเด็กเข้าเรียนเพิ่มจากขึ้นที่จับฉลากไปแล้ว พร้อมปรารภให้ฟังถึงปัญหาต่าง ๆ สรุปแล้วกฎเกณฑ์ว่าด้วยการรับนักเรียนปีนี้ ไม่สะดวกในการรับเด็กจากผู้มีอุปการะคุณและผู้ใหญ่ทั้งหลาย ทั้งที่จำเป็นต้องรับฝาก เพราะคนฝากเป็นถึงผู้ใหญ่สำคัญ ๆต้องทำงานเกื้อกูลกับโรงเรียนอยู่เสมอ เช่น นายตำรวจ นักการเมือง  นักปกครอง พ่อค้า คหบดี  อธิบายให้ฟังว่านโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ต้องการความเสมอภาค ความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการรับเด็กเข้าเรียน จึงให้รับพร้อมกันทั่วประเทศและเป็นคำสั่งเด็ดขาดที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ก่อนการรับสมัครต้องขออนุญาตความจุนักเรียนให้เรียบร้อย ที่สำคัญการรับอย่างมีเงื่อนไขต้องอธิบายให้สาธารณชนทราบทั้งเกณฑ์การรับและเหตุผลประกอบการรับนักเรียนเป็นรายคน ถามเขาว่าทำไม ผอ.รร.ไม่มาด้วย เขาบอกว่าไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมอาจจะปวดเศียรเวียนเกล้ากับคนที่มาหาเพื่อฝากเด็กเข้าเรียน แต่ตัวประธานเองรับภาระหนักทั้งที่งานส่วนตัวก็มาก โรงเรียนขอความร่วมมืออะไรก็ไม่เคยขัด มาเป็นประธานการรับนักเรียนตัวเองก็ฝากเด็กไม่ได้เพราะผิดระเบียบ ฟังแล้วก็ต้องขอบคุณในการเสียสละ เขาบอกว่ากลัวอยู่อย่างเดียว ถามว่ากลัวอะไร เขาบอกว่ากลัวติดคุกแทน  ได้แต่หัวเราะขึ้นพร้อมกัน   อธิบายไปมากก็คงยากในการทำความเข้าใจเพราะเรื่องมันยาว ที่เขามาวันนี้ก็ไม่ได้มาฟังคำอธิบาย เขาต้องการให้เพิ่มนักเรียนต่อห้อง ดีไม่ดีพาลขัดใจกันเปล่า ๆ เพราะเขาคิดว่า เขตคือคนที่จะดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างในเรื่องนี้ได้ หาก ผอ.เขต ยอม ทุกอย่างก็จบ อาจจะจริงปัญหาในโรงเรียนจบ เพราะย้ายมาเป็นปัญหาของเขต จึงชี้แจงไปว่าเรื่องกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา คงทราบผลในสัปดาห์นี้เขาก็ลากลับไป คิดอย่างเป็นกลางก็น่าเห็นใจโรงเรียนเพราะการที่อยู่ได้มาจนทุกวันนี้ก็ต้องพึ่งพาอาศัยจากหลายฝ่าย การรับนักเรียนก็เคยเอื้อเฟื้อกันมาตลอด พอมาหักดิบเอาคราวนี้จึงลำบากใจ ทางรัฐมนตรีว่าการฯท่านก็คงอยากให้ระบบการรับนักเรียนเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เราเป็นข้าราชการก็ต้องกระทำการให้ชอบด้วยกฎหมายและสมประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ของสาธารณชน ขอแฟ้มเกี่ยวกับการรับนักเรียนจากเจ้าหน้าที่มานั่งอ่านเพื่อหาทางแก้ปัญหาที่ลงตัว ประกอบกับมติคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาในเรื่องนี้เมื่อคราวที่แล้ว ก็พอยุติได้ว่า อำนาจการอนุญาตในเรื่องนี้เป็นของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาภายในกรอบที่คณะกรรมการเขตพื้นที่กำหนด แต่ก็ต้องขออนุญาตก่อนเปิดรับสมัคร กรณีนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จึงตัดสินใจตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งมีท่านรองฯและนักกฎหมายเป็นกรรมการ นัดประชุมพรุ่งนี้ พร้อมทั้งเชิญผู้บริหารของโรงเรียนและคณะมาชี้แจงประกอบการตัดสินใจ  เที่ยงทานสลัดผักเพราะอยากผอม บ่ายทำงานแฟ้มเอกสาร และประชุมคณะกรรมการตรวจคุณสมบัติผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งหรือเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น เพื่อตรวจสอบข้อกฎหมายและรายละเอียดของบุคคลให้แน่ใจว่ามีหรือไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว   เย็นเดินทางไปโรงเรียนสังข์อ่ำวิทยาของท่าน ผอ.นิธิศ รักษ์โพธิ์วงศ์ พร้อมด้วยท่านรองฯประพฤทธิ์  บุญอำไพ คุณมาลี  โภชนาทาน คุณวิภาวรรณ พึ่งโยธิน นายเต้ยเป็นสารถี โรงเรียนนี้อยู่ใกล้ตลาดไทย ที่สร้างโรงเรียนเดิมยกให้วัดพระธรรมกาย ที่ปัจจุบันวัดซื้อและสร้างให้  ทำเลดีนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วันนี้เป็นวันสถาปนาโรงเรียน ครบรอบปีที่เท่าไหร่เขาก็ไม่ได้เขียนไว้ มีงานเลี้ยงแบบโต๊ะจีน ๒๐๐ โต๊ะ เวทีการแสดงทำนั่งร้านค่อนข้างสูง มีครูมาร้องเพลงให้ฟังก่อนรายการ ได้เวลาเขาเชิญให้ไปกล่าวเปิดงาน และมอบเกียรติบัตรให้ผู้มีอุปการคุณ  ลงมาดูการแสดงของนักเรียน เขาให้ผู้ปกครองไปซื้อพวงมาลัยที่โรงเรียนขายมาคล้องผู้แสดง ความจริงก็ไม่ได้แสดงอะไร แต่งตัวขึ้นไปรอมาลัย  ใครได้ ๒๐ พวงขึ้นจะได้มาโชว์อีกรอบ การตัดสินเอาจำนวนมาลัยเป็นเกณฑ์  เรียกว่าชุดนี้ประสงค์ที่รายได้เข้าโรงเรียนเป็นสำคัญ   อยู่ร่วมจนทุ่มครึ่งเดินทางกลับมาแวะร้านอาหารบางบัว เพื่อร่วมงานวาเลนไทน์ของโรงเรียนขจรทรัพย์อำรุง ครูทั้งโรงเรียนแต่งแฟชั่นกันสุดเหวี่ยง ทุกคนมีหน้ากากสวมเพื่อปิดบังอะไรก็ไม่ทราบวัตถุประสงค์  กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นการร้องเพลงและเต้นเป็นหางเครื่อง มีการประกวดมอบถ้วยรางวัล เลยถามเย้าเล่นว่า เรื่องเล่นทำจริงเรื่องจริงทำเล่นหรือเปล่า เขาก็ว่าเวลาทำงานก็ทุ่มสุดชีวิตเหมือนกัน อยู่ร่วมงานประมาณสามทุ่มครึ่งก็เดินทางกลับ  

 

วันอังคารที่ ๑๕  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๔   เช้านัดประชุมคณะกรรมการพิจารณาเรื่องการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อพิจารณา คำขอขยายชั้นเรียนระดับอนุบาลศึกษาและระดับประถมศึกษาของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ได้ส่งเรื่องมาเขตเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔  ก่อนการรับนักเรียนตามปฏิทินซึ่งกำหนดวันที่ ๕-๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ พร้อมกันทั่วประเทศ เพียง ๑ วัน คณะกรรมการพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยละเอียดต่างก็หนักอกหนักใจอยู่มาก ได้สอบถามข้อมูลจากผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะซึ่งนัดมาประชุมในวันนี้ทุกแง่ทุกมุม เพื่อดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เหตุสุดวิสัย ประมาทเลินเล่อ หรือเจตนา เพราะเป็นที่ทราบกันทั่วว่าปีนี้ต้องโปร่งใส และเป็นธรรม คุยกันจนเที่ยงแบบทำ SWOT กันทีเดียว ข้อมูลพอเพียงที่จะแก้ปัญหาไปได้จึงให้กลับโรงเรียนไป ความจริงก็ต้องโทษเราเองอยู่ส่วนหนึ่งที่ย้ายท่านมารับบทหนักตกระกำลำบากกับเรื่องนี้และไม่มีเวลาไปหาไปอธิบายเพราะคิดเอาเองว่าระดับนี้ต้องทำได้ดีแน่นอน ลืมกฎการบริหารตามสถานการณ์ที่กล่าวว่า “ความสำเร็จแห่งหนึ่งไม่เป็นหลักประกันว่าจะไปทำสำเร็จอีกแห่งหนึ่ง” ผมเองก็เคยประสบกับตัวเอง กว่าจะเอาตัวรอดได้ก็แสนสาหัส หัวเราะมิได้ร้องไห้มิออก แต่ที่อยู่ได้เพราะมั่นใจในตัวเองว่าเราไม่ใช่รอยด่างของแผ่นดิน แต่ที่ทำไม่ได้เลยคือทำให้ทุกคนพอใจในทุกเรื่องทุกเวลา การถูกรักถูกชังจึงเป็นประดุจคลื่นในมหาสมุทร ที่แน่ใจคือไม่เคยชังใครเป็นการส่วนตัว ยังรอคอยความสำเร็จในอนาคตของผู้ผิดพลาดในวันนี้อย่างมีความหวัง  เที่ยงทานสุกี้น้ำในห้องสโมสร บ่ายประชุมคณะกรรมการต่อ อภิปรายกันทั้งข้อเท็จจริงข้อกฎหมายอย่างรอบคอบ ไม่อยากให้เกิดกรณีพากันผิดทั้งโรงเรียนทั้งเขต  ในที่สุดมีมติอนุญาตให้ไม่เกินจำนวนที่ขอ แต่มีเงื่อนไขว่า โรงเรียนต้องปฏิบัติตามประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ ที่ สพฐ.  คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษากำหนดโดยเคร่งครัด เป็นทางเลือกเดียวที่เกิดปัญหาน้อยที่สุด แม้จะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด นี่ถ้าเขตมัธยมไม่เกิดขึ้นสงสัยจะต้องเก็บกระเป๋าอำลาเป็นแม่นมั่นเพราะเขามีกติกาว่าหากมีปัญหาตั้งแต่ ๒ โรงเรียนขึ้นไปต้องย้าย ผอ.เขต  เลิกประชุมขึ้นไปทำงานแฟ้มเอกสารที่ห้อง หมู่นี้งานเข้ามาก มีจดหมายน้อยเข้ามาชุก กล่าวหาครูกล่าวหาผู้บริหารโรงเรียน ที่เป็นลายมือก็พอมี ส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์มา มีอยู่ฉบับหนึ่งกล่าวพาดพิงว่าผู้บริหารโรงเรียนเรียกเงินจากผู้จะบรรจุเป็นครูธุรการมาจ่ายให้คนในเขต ถ้าเป็นจริงก็ต้องบอกว่าไฉนพระเจ้าจึงกลั่นแกล้งให้คนโง่มาเจอคนเลวจึงได้เกิดเรื่องที่ไม่สมควร(จะเกิด)ขึ้น ทุกฉบับก็จะขู่ว่าหากไม่ดำเนินการจะแจ้งไปที่ส่วนกลาง ลงชื่อกำกับหัวจดหมายส่งต่อไปให้กลุ่มงานนิติการดำเนินการต่อไป สัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีคนแวะมาเล่าให้ฟังว่า มีเจ้าหน้าที่บนเขตคอยเป็นนายหน้าประสานกับข้าราชการบำนาญที่กู้เงิน ช.พ.ค. เพื่อหาคนค้ำประกันให้ และเรียกรับเงิน อ้างว่าต้องนำไปจ่ายให้ผู้เกี่ยวข้องอีก ๒ จุด ดูแววตาดูหน้าแต่ละคน ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ แต่ภาษิตเขาก็ว่าไว้ “รู้หน้าไม่รู้ใจ” ต้องลงหารายละเอียดเชิงลึกต่อไป 

 

วันพุธที่ ๑๖ กุมภาพันธ์   ๒๕๕๔   ภาคเช้ามีประชุมคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการคุรุสภาเขตพื้นที่การศึกษา ที่ห้องประชุมสโมสร เป็นองค์คณะใหม่ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบคณะกรรมการคุรุสภา ว่าด้วยคณะกรรมการคุรุสภาเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๓  ในภูมิภาคถือเอาเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเป็นเกณฑ์ มีกรรมการไม่เกิน ๑๓ คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง ผู้แทนคุรุสภาใน อ.ก.ค.ศ.เขต เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ที่เหลือเป็นผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในสังกัดต่าง ๆ ไม่เกิน ๑๑ คน  คณะกรรมการสรรหาก็เป็นตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ ตามจำนวนที่คุรุสภากำหนด ในที่สุดก็ได้คณะกรรมการคุรุสภาผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ในสังกัด สพฐ. ๖ คน คือ นายอธิคม  จิตรประเสริฐ ครูโรงเรียนสี่แยกบางเตย นายไชญาณ บุญยศ ครูโรงเรียนวัดหงส์ปทุมาวาส นายฉลอง  พันธ์เนตร ครูโรงเรียนสังฆรักษ์บำรุง นางสุรีพร  ชูติกุลัง  ผู้อำนวยการโรงเรียนปากคลองสอง นางสาววิไลวรรณ วรังครัศมี ผู้อำนวยการโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง  นายช่วง  ขำมาก ศึกษานิเทศก์ สพป.ปทุมธานี เขต ๑ กรรมการผู้แทน สช. นางนิภาพรรณ โรจนวิภาต รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านใหม่พัฒนา กรรมการผู้แทน สกอ. นายวิรัตน์ คันธารัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี  กรรมการผู้แทน กศน. นายสาโรจน์  ลิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดปทุมธานี กรรมการผู้แทน อปท. นายปริญญา คงแย้ม ผู้อำนวยการกองการศึกษา เทศบาลตำบลบางกะดี เที่ยงไปทานข้าวกับทีมป้าเจี๊ยบ คุณทิพวัล  เฟื่องรัตน์ ข้าราชการบำนาญ ที่ร้านอาหารหน้าโรงพยาบาลปทุมธานี ร้านอยู่ติดอู่ซ่อมรถ เป็นอาหารตามสั่ง บ่ายเดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัด เส้นทางปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว เพราะได้รับเลือกและแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการสรรหา กกต. จังหวัดชุดใหม่ แทนชุดเดิมที่หมดวาระไป  สำนักงาน กกต. จังหวัดปทุมธานี มาอาศัยอาคารของเทศบาลเมืองปทุมธานีเป็นที่ทำการชั่วคราว ต้องเลี้ยวซ้ายจากถนนใหญ่เข้ามาประมาณ ๘๐๐ เมตร กรรมการสรรหาประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่าย เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด อัยการจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด ตัวแทนสำนักงานศาลยุติธรรมจังหวัด สภาทนายความ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ ตัวแทนมูลนิธิวิทยาลัยการปกครอง และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่เลือกกันเองให้เหลือ ๑ คน ผอ.กกต.จังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ วันนี้เป็นเพียงการมากำหนดกรอบงานการรับสมัคร การกำหนดวิธีสรรหา ซึ่งจะให้ผู้สมัครมาแสดงวิสัยทัศน์ด้วย การรับสมัครจะดำเนินการระหว่างวันที่ ๒๕  กุมภาพันธ์ – ๖ มีนาคม ๒๕๕๔ ไม้เว้นวันหยุดราชการที่สำนักงาน กกต.จังหวัด เลิกประชุมกลับมาทำงานเอกสารจากแฟ้มงานจนเย็น ลงไปร้องเพลง “เขียนถึงคนบนฟ้า”ก่อนกลับบ้าน

 

วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๔  เช้าไปโรงเรียนวัดหงส์ปทุมาวาส เพื่อเป็นประธานเปิดงาน “สำนึกหงส์” หมายถึงคุณลักษณะ ๘ ประการที่ต้องการให้นักเรียนได้ปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขาให้นักเรียนนั่งในลานปูนหน้าอาคารเรียน มีเวทีหน้าเสาธงเป็นที่แสดงกิจกรรม ด้านหลังเป็นการจัดนิทรรศการ ผู้อำนวยการนิพนธ์  โพธิ์มั่น กล่าวรายงาน ผมกล่าวเปิด มานั่งฟังท่านนายก อบจ. นายชาญ  พวงเพ็ชร เล่าประวัติชีวิตให้เด็ก ๆ ฟัง เรียกว่าเป็นแรงจูงใจฝ่ายสัมฤทธิ์จากภายนอก  ชีวิตไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบ จากคนตัวดำ ทำนา สู่นายก อบจ. ช่วยให้นักเรียนมีกำลังใจ มองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ครูโรงเรียนนี้เขาเก่งในเรื่องแต่งเพลงและเจ้าบทเจ้ากลอน สามารถแต่งเพลงและแต่งกลอนยกย่องชมเชย นายกชาญ พวงเพ็ชร จนท่านต้องจ่ายเป็นรางวัลไปหลายพัน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียนนี้ไปได้รางวัลชนะเลิศการเล่านิทานในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ ๖๐ ระดับประเทศ วันนี้เธอมาแสดงโชว์อีกครั้ง ต้องยอมรับในความสามารถที่เกินวัย ชื่องานสำนึกหงส์เพราะชุมชนแห่งนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของคนไทยเชื้อสายมอญ  ลุงปรายชายชาวรามัญเคยเล่าให้ฟังที่สังขละบุรีว่าหงส์เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญกับชนชาติมอญอย่างมาก  มีตำนานที่เล่าถึงหงส์กับพระพุทธเจ้าบันทึกอยู่ในจารึกโบราณที่เมืองพะโคของพม่า  ตำนานเล่าว่า  ทะเลสาบแห่งหนึ่ง  มีหงส์ผู้เมียคู่หนึ่งมาเล่นน้ำ   เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จผ่าน  หงส์ตัวหนึ่งก็ขึ้นไปเหยียบหลังหงส์อีกตัวหนึ่งเพื่อถวายความเคารพ  โดยที่หงส์ตัวล่างเหยียบอยู่บนพื้นดินที่มีขนาดแค่หงส์ยืนได้ตัวเดียว  พระพุทธเจ้าจึงทรงพยากรณ์ว่า  ในภายหน้าบริเวณดังกล่าวจะกลายเป็นเมืองที่มีความรุ่งเรืองทั้งศาสตร์และศิลป์   ต่อมาจึงปรากฏกรุงหงสาวดีอันเป็นเมืองหลวงของชนชาติมอญเกิดขึ้น ณ บริเวณดังกล่าว  เมืองพะโคของพม่าก็คือหงสาวดีในอดีตนั่นเอง   หงส์คู่ถือเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นมอญ  ในงานศิลปะต่าง ๆ ก็จะมีหงส์แทรกอยู่    ลุงปรายเล่าว่า  พม่า (ซึ่งเป็นเป็นชนชาตินักรบ  ไร้วัฒนธรรม  และยังนุ่งใบไม้อยู่)  ได้มารุกรานมอญและยึดเอาศิลปะของมอญไป  โดยการลบหงส์ออกจากงานศิลปะและใส่นกยูงเข้าไปแทนที่  ถูกผิดอยู่ที่ลุงปรายก็แล้วกัน ไม่มีเวลาเดินชมนิทรรศการเพราะมีประชุมเครือขายส่งเสริมประสิทธิภาพ ที่ห้องประชุมสโมสรเขต ให้ท่านรองฯ วิรัช ฐิติรัตนมงคล และศึกษานิเทศก์ดำเนินการไปพลางก่อน   

มาถึงเหลือเรื่องที่จะคุยกันไม่มาก ฝากให้รีบส่งผลงานวิชาการที่สนับสนุนงบประมาณจาก อบจ. ปทุมธานี เพราะล่วงเลยมานานแล้ว เลิกประชุมมาดูการถ่ายทอดสดประชุมสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ กำลังตอบกระทู้สดเรื่องการรับนักเรียนปีนี้ ตอนหนึ่งท่านกล่าวความพอสรุปได้ว่า ผมขอความกรุณาเพื่อนสมาชิกทุกท่านปีนี้เรามาสร้างบรรทัดฐานที่ดี ด้วยการไม่ฝากเด็กเข้าเรียน และผมเชื่อว่า แม้ท่านจะไปฝาก ผู้อำนวยการโรงเรียนทุกแห่งก็ไม่กล้ารับฝากท่าน เพราะผมกำชับและเอาจริงแน่นอน  

เที่ยงทานข้าวที่ห้องสโมสร ด้วยเช้ามืดได้ลงมือแกงเหลืองฟักแม้วกับกุ้งมาหนึ่งหม้อ ให้หมูหุงข้าว ชวนคนโน้นคนนี้ช่วยกันกิน เขาก็บอกว่าอร่อยดี บ่ายเป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น สำหรับบุคลากรตามมาตรา ๓๘ ค.(๒) ระดับชำนาญการพิเศษ  ๒ ตำแหน่ง คือนักทรัพยากรบุคคล และนักประชาสัมพันธ์ นอกจากสัมภาษณ์แล้วให้ไปทำข้อสอบมาส่งคนละ ๑ ชิ้นงาน เพื่อดูทักษะพื้นฐานในงานที่เกี่ยวข้อง   กรรมการต้องประเมินชิ้นงานที่แต่ละคนส่งมาให้ กว่าจะแล้วเสร็จเกือบ ๑๗ นาฬิกา เจ้าหน้าที่เสนอแฟ้มการบริจาคเงินเข้ากองทุนครูของแผ่นดินมาให้ ยอดรวมเกือบ ๓ แสนบาท มีเพียง ๑๐ โรงเรียนที่ยังไม่ได้บริจาคเงินเข้ากองทุนนี้ ก็ไม่ว่ากันเพราะท่านรัฐมนตรีและท่านเลขาธิการย้ำว่า “ตามศรัทธา” เคยพูดทีเล่นทีจริงไว้ตอนขอรับบริจาคใหม่ ๆ ว่า ผู้บริหารท่านใดไม่บริจาคเข้ากองทุนนี้แม้แต่บาทเดียว จะทำโล่ให้สลักว่า “นายแน่มาก” เอาเข้าจริงคงไม่ทำแล้วถือเอาหลักการตามศรัทธาสบายใจกว่า  ผมร่วมบริจาคตามกำลัง ๓,๐๐๐  บาท ท่านรองฯสมมาตร ชิตญาติ ร่วมด้วยอีก ๑,๐๐๐ บาท ขอจากคนบนเขตอีกคนละเล็กละน้อยคาดว่าสัปดาห์หน้าคงส่งตัวเงินไปให้ สพฐ. ได้ไม่น้อยกว่า ๓ แสนบาท  เรื่องที่ดินสร้างสำนักงานเขตประถมศึกษา มีแนวโน้มที่ดีอาจจะได้พื้นที่ในตัวเมืองที่ไม่ไกลจากห้างโลตัสมากนัก รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ท่านพันธ์เทพ ศรีวนิชย์ กำลังตรวจสอบให้อยู่  หากได้พื้นที่แน่นอนก็ต้องของบประมาณมาสร้างซึ่งได้วางแนวดำเนินการไว้บ้างแล้ว เมื่อวางใจได้ว่าทุกคนในเขตมีที่อยู่อย่างมั่นคง ผมเองก็สบายใจเพราะได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับทีมงาน จากนั้นจะพเนจรไปอยู่ไหนก็พร้อม การอยู่น้อยอยู่นานไม่ใช่เรื่องสำคัญ ความสำคัญอยู่ที่ได้ทำอะไรให้เขาบ้างในตอนที่อยู่

 

วันศุกร์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔   วันนี้เป็นวันมาฆบูชา ถือเป็นวันพระใหญ่ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมๆ กันถึง ๔ ประการ อันได้แก่ (๑) วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์  (๒) มีพระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (๓) พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์  (๔) พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล ไปไหว้พระหลวงพ่อโตองค์ใหญ่ ที่วัดโบสถ์ อำเภอสามโคก เพื่อเป็นสิริมงคลของชีวิต

 

กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑

หมายเลขบันทึก: 426707เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2011 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ปัญหาเด็กฝากจะแก้ได้้จริงหรือจะรอดู

อิจฉาครู ร.ร.ขจรทรัพย์ฯ..จังเลยยยย ?

เกมส์ยิงบอล  คลายเครียดดีกว่าอยู่ไปวัน ๆ

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอบกระทู้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 ก.พ. เกี่ยวกับนโยบายห้ามฝากเด็กเข้าเรียนว่า กระบวนการการรับนักเรียนมีความสำคัญ ซึ่งในยุคนี้นอกจากเป็นยุคของการปฏิรูปการศึกษาแล้ว ยังเป็นการปฏิรูปประเทศไทยด้วยการสร้างความเป็นธรรม ความโปร่งใสจากการรับนักเรียนอีกด้วย จึงมีการตั้งศูนย์ประสานงานการรับนักเรียน มีการวางแผนการรับนักเรียน และชี้แจงให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการรับนักเรียนที่มี รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ เป็นประธานและมีบุคคลภายนอกเป็นกรรมการ และยังมีตัวแทนจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินร่วมในกระบวนการติดตามตรวจสอบด้วย
    
“ผมยืนยันว่า ศธ.มีแผนดำเนินงานที่ครอบคุลม โดยจะประกาศคะแนนสอบเข้าโรงเรียนเพื่อความโปร่งใส ซึ่งจะต้องส่งคะแนนรายงานมายังคณะกรรมการ อย่างไรก็ตามในวันที่  25-27 ก.พ. นี้ จะมีการจัดงานมหกรรมเรียนต่อ ม.1 และ ม.4 ที่เมืองทองธานี เพื่อให้ผู้ปกครองได้เห็นว่าโรงเรียนที่ดีเป็นอย่างไร ส่วนปัญหาการฝากเด็กผมเชื่อว่าผู้อำนวยการทุกโรงเรียนไม่มีใครกล้ารับฝากหรือกล้ารับใต้โต๊ะอย่างแน่นอน เพราะหากใครไม่ทำตามกฎเกณฑ์ของกระทรวงที่ตั้งไว้ ผมจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด” นายชินวรณ์ กล่าว.

วันศุกร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 9:02 น
www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm

 

อยากให้ท่านเขต อยู่ที่ปทุมธานีนานๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท