ขรก.เกษียณร้อง "อภิสิทธิ์" สั่งคลังทบทวนประกาศคุมยา


สมาคมข้าราชการ ร้อง "อภิสิทธิ์" ทบทวน คลังออกประกาศคุมยา ชี้รัฐลิดรอนสิทธิ์เบิกยา พ.ร.ก.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล แนะคุมค่าบริการทางการแพทย์ เหตุราคาพุ่งสูงเช่นกัน ผู้ป่วย ขรก.เกษียณอายุรับ โอดแบกรับค่ายาเพิ่ม หลังยกเลิกจ่ายยาข้อเข่าเสื่อม "กมธ.สธ.วุฒิสภา" ฟันธงไม่กล้าประกาศ 8 กลุ่มยาเพิ่ม ชี้ต้นเหตุปัญหาระบบสวัสดิการข้าราชการพุ่ง เหตุ รพ.ต้องไซฟ่อนเงินอุดระบบสุขภาพอื่น

สมาคมข้าราชการ ร้อง "อภิสิทธิ์" ทบทวน คลังออกประกาศคุมยา ชี้รัฐลิดรอนสิทธิ์เบิกยา พ.ร.ก.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล แนะคุมค่าบริการทางการแพทย์ เหตุราคาพุ่งสูงเช่นกัน ผู้ป่วย ขรก.เกษียณอายุรับ โอดแบกรับค่ายาเพิ่ม หลังยกเลิกจ่ายยาข้อเข่าเสื่อม "กมธ.สธ.วุฒิสภา" ฟันธงไม่กล้าประกาศ 8 กลุ่มยาเพิ่ม ชี้ต้นเหตุปัญหาระบบสวัสดิการข้าราชการพุ่ง เหตุ รพ.ต้องไซฟ่อนเงินอุดระบบสุขภาพอื่น หลังจากกรมบัญชีกลางประกาศห้ามข้าราชการเบิกยาข้อเข่าเสื่อม 4 รายการ และเตรียมออกมาตรการคุมยาอีก 8 กลุ่มนั้น ส่งผลให้กลุ่มข้าราชเกษียณและผู้ป่วยที่ได้รับกระทบรวมตัวกัน เพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีทบทวน

       วานนี้ (16 ก.พ.) นางพูลศรี เปาวรัตน์ กรรมการบริหารสมาคมข้าราชการอาวุโสแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มข้าราชการที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศห้ามเบิกจ่ายยาโรคข้อ 4 รายการ ของกรมบัญชีกลาง ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนประกาศดังกล่าวแล้ว เพราะต่างเห็นตรงกันว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ์การรักษาพยาบาลของข้าราชการ ซึ่งมาตรการที่ออกมานี้เราเห็นว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะยาเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องได้รับ และควรปล่อยให้เป็นการวินิจฉัยของแพทย์ นอกจากนี้ หากรัฐบาลควบคุมค่าใช้จ่ายในระบบรักษาพยาบาล จะคุมเฉพาะราคายาไม่ได้ แต่ควรควบคุมราคาค่าบริการทางการแพทย์ทั้งหมดด้วย เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันราคาบริการทางการแพทย์ขยับขึ้นสูงอย่างมาก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายพุ่งขึ้น อย่างค่าล้างแผลที่แต่เดิมในโรงพยาบาลรัฐไม่เคยเก็บ แต่ขณะนี้ต้องจ่ายถึง 300 บาท ค่าเอกซเรย์จากเดิม 800 บาท ขยับเป็น 1,500 บาท เป็นต้น ซึ่งแต่ละแห่งคิดราคาแตกต่างกัน

       นางพูลศรี กล่าวว่า การออกประกาศของกรมบัญชีกลางเป็นการลิดรอนสิทธิ์ข้าราชการ ทั้งยังขัดกับ พ.ร.ก.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2523 ที่เป็นกฎหมายหลัก ซึ่งหากรัฐบาลไม่อยากแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ จะต้องออกกฎหมายฉบับใหม่ โดยเริ่มต้นกับข้าราชที่จะบรรจุใหม่ เพื่อให้เขามีสิทธิตัดสินใจเลือกว่าจะเข้าทำงานในระบบราชการหรือไม่ เนื่องจากข้าราชการที่ทำงานอยู่เดิมนั้น ที่เลือกเข้าระบบข้าราชการเงินเดือนน้อย ก็เพราะหวังระบบสวัสดิการนี้ จึงมาลิดรอนสิทธิ์เราไม่ได้ "ระบบข้าราชการที่ผ่านมา เหมือนพญาเลี้ยงซึ่งการรักษาพยาบาลถือเป็นสวัสดิการอันดับหนึ่ง ที่ทุกคนในระบบได้ใช้ โดยเฉพาะในช่วงวัยชราที่ต้องเจ็บป่วย ซึ่งสิทธิตรงนี้เหมือนเป็นการซื้อประกันสุขภาพ ประกันชีวิต กับภาครัฐที่แลกมากด้วยการทำงานเงินน้อย ดังนั้น จึงไม่อยากให้รัฐตัดสิทธินี้ไป  ส่วนสวัสดิการอื่น ๆ นั้นอย่างค่าเช่าบ้าน เงินทุนสนับสนุนลูก การศึกษา เป็นสวัสดิการที่ไม่ได้ใช้กันทุกคนส่วนที่มีการเตรียมประกาศเพิ่มยาอีก 8 กลุ่มนั้น คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยทางสมาคมจะมีการหารือ เพื่อทำหนังสือยื่นต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป" นางพูลศรีกล่าว

       ต่อข้อซักถามว่า หากมีการควบคุมให้ระบบสวัสดิการข้าราชการใช้ยาสามัญเช่นเดียวกับระบบประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น นางพูลศรี กล่าวว่า การสั่งจ่ายยาต้องขึ้นอยู่กับแพทย์เป็นผู้วินิจฉัย ไม่ใช่ว่าเป็นข้าราชการจะต้องได้ยาที่ดี ในทางกลับกัน หากเป็นผู้ป่วยระบบอื่นที่ต้องได้รับยานอกที่จะเป็นก็ควรได้รับเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องดูแลตรงนี้

       นายจารึก อะยะวงศ์ อายุ 74 ปี อดีต ผอ.โรงเรียนวัดธาตุทอง กทม. กล่าวว่า ป่วยด้วยโรคข้อเข่าเสื่อมมา 2 ปีแล้ว และได้รับจ่ายยา กลูโคซามีน เพื่อลดอาการปวดข้อเข่ามาตลอด ทำให้อาการปวดลดลง แต่หลังจากที่มาหาหมอครั้งหลังสุดเมื่อเดือนที่ผ่านมา หมอบอกว่าไม่สามารถจ่ายยานี้ให้ได้แล้ว เพราะกรมบัญชีกลางไม่อนุมัติให้เบิกจ่าย ทำให้ทุกวันนี้ ไม่มียากินเพื่อจะบรรเทาอาการปวดลงได้  ทั้งนี้ หมอแนะนำให้ซื้อกินเอง แม้ว่าจะอยู่ที่ราคากล่องละ 1,000 บาทต่อเดือน แต่ก็ยังแพงไปสำหรับข้าราชการเกษียณ เนื่องจากข้าราชการเกษียณได้รับเงินเดือนเฉลี่ย 20,000 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่ก็ถูกใช้ไปกับการรักษาพยาบาล คนคิดว่ามาตรการดังกล่าวกระทบต่อคุณภาพชีวิตของข้าราชการเกษียณอย่างมาก

       ด้านนางทองใบ บุญภมอญ อายุ 70 ปี  รับสิทธิรักษาจากลูกชายซึ่งเป็นข้าราชการ กล่าวว่า ป่วยด้วยโรคข้อเข่า 2 ปี รับยากลูโคซามีนจากสิทธิข้าราชการของลูกชายมาตลอด แต่มาครั้งหลังนี้หมอไม่ได้จ่ายนี้ให้ เพราะว่าเบิกไม่ได้ จึงไม่มียากินต่อเนื่อง สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นการทำที่ลิดรอนสิทธิ์ข้าราชการอย่างมาก นอกจากนี้ ตนเองยังป่วยด้วยโรคความดันและเบาหวานที่ต้องกินยาเช่นกัน หากมีการคุมเบิกจ่ายยาอีก 2 กลุ่มนี้ คงมีภาระค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่เราต้องแบกรับกันเองมากขึ้น

       นพ. เจตน์ ศิรธรานนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า ปัญหารักษาพยาบาลพุ่งในระบบสวัสดิการข้าราชการนั้น หากมองปัญหาภาพรวมทั้ง 3 กองทุน จะมีปัญหาทับซ้อนกันระหว่างกองทุนอยู่ เนื่องจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองได้รับงบประมาณในการรักษาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้โรงพยาบาลต้องไซฟ่อนเงินจากระบบข้าราชการเพื่อทดแทน ซึ่งเมื่อดูตัวเลขงบประมาณระบบสวัสดิการข้าราชการในปี 2553 อยู่ที่ 62,195 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.45% จากปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 61,300 ล้านบาท ในจำนวนที่เพิ่มนั้นพบกว่า 75% เป็นการเบิกจ่ายในระบบผู้ป่วยนอก อย่างไรก็ตาม รัฐต้องเข้าใจว่า การที่ข้าราชการยอมรับเงินเดือนน้อยเพราะต้องการสวัสดิการที่ดีเพื่อความมั่นคงในชีวิต แต่ ณ วันนี้สวัสดิการที่เคยได้มากกว่าประชาชนไม่มีแล้ว ทั้งเรียนฟรี รักษาฟรี แต่เงินเดือนข้าราชการก็ยังน้อยเหมือนเดิม แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่มาก เพราะฐานจำนวนข้าราชการมีมาก อีกทั้งข้าราชการที่อายุมากก็ไม่รู้จะออกไปทำงานที่ไหน เรียกว่าไม่มีที่ไป ดังนั้น หากถูกจำกัดสิทธิรักษาพยาบาลลงอีก ก็น่าเป็นห่วง 

       "รัฐบาลควรที่จะแก้ไขให้ตรงจุด ต้องดูว่าสาเหตุที่ค่ายาพุ่งเพราะอะไร มีการทุจริตเวียนเทียนยาหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ก็ควรที่จะลงไปจัดการปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ เงินที่ลงไปในกองทุนรักษาพยาบาล ไม่ว่ากองทุนใดต้องพอสำหรับกองทุนนั้น ไม่ใช่ปล่อยให้มาดึงเงินจากกองทุนอื่นไป แล้วแก้ไขปัญหาด้วยการลดสิทธิที่เขาควรได้" รองประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าว

       นพ.เจตน์ กล่าวว่า สำหรับการกำหนดรายการยาห้ามเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการข้าราชการนั้น เห็นว่าการวินิจฉัยรักษาของแพทย์เป็นศิลปะ ไม่มีสูตรตายตัว ซึ่งยากลูโคซามีนเป็นการลิดรอนสิทธิ์หรือไม่ พูดยาก แต่เห็นว่าการสั่งห้ามเบิกจ่ายทันที เป็นวิธีการไม่ถูกต้อง เพราะต้องให้เวลา  ทั้งนี้ เชื่อว่าในยาอีก 8 กลุ่มนั้น เชื่อว่าขณะนี้ ทางกรมบัญชีกลางคงยังไม่กล้าออกมาตรการเพิ่มเติมออกมา

กรุงเทพธุรกิจ (คอลัมน์เจาะปมระบบสุขภาพ +4)

ประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554

หมายเลขบันทึก: 426701เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2011 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แล้วอย่างนี้ยาข้อเสื่อมจะได้รับพิจารณาให้กลับมาเบิกได้เหมือนเดิมไหม?

ค่ะ

รอข่าวอยู่เช่นกันค่ะ ว่ายาข้อเสื่อมจะได้รับพิจารณาหรือเปล่า

อยากให้มีการนำยาตัวนี้กลับมาเข้าไว้ในบัญชีเหมือนเดิมนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท