คิดเรื่องงาน (64) : ( แอบ) สังเกตการณ์ลูกทีมทำงาน


ในยามที่แม่ทัพไม่อยู่ หากนายทหารสามารถลุกขึ้นมาเคลื่อนทัพร่วมกันได้อย่างมีพลัง ผมว่านั่นแหละคือความหมายของการเป็น "ทีม"

       ว่าด้วยการทำงานนั้น  ลูกทีมจะรู้ดีว่าผมเป็นคนประเภท "จริงจัง" เอามากๆ 
       จริงจังจนดูเป็น "เครียดๆ"  
       แต่ในเบื้องลึกของน้ำใสใจจริงแล้ว  มันก็คือภาพลักษณ์ในแบบฉบับ "จริงจัง จริงใจ" นั่นแหละ
 



       เกือบสองปีให้หลังนี้  ผมเน้นย้ำเหลือเกินกับวาทกรรมว่า "สอนงานสร้างทีม"
       เพราะอยากให้วาทกรรมนี้ เป็นเสมือน "วัฒนธรรมขององค์กร
       วาทกรรมที่ว่านี้  เกิดจากการทบทวนรอยเท้าของการขับเคลื่อนตัวเองและองค์กรมาอย่างยาวนาน  จนที่สุดแล้วก็พบว่า การจะพัฒนาคนในองค์กรและยกระดับองค์กรนั้น หัวใจหลักมันหนีไม่พ้นการ "สอนงาน-สร้างทีม"

 

       ผมไม่ใช่คนที่หลากบุคลิกนัก ตีกลองร้องเพลงไม่เป็น  ถนัดกับการคิดและวางแผน หรืออยู่เบื้องหลังซะมากกว่า  ...
       ดีหน่อยที่ทุกวันนี้  มีทีมงานที่ "รู้ใจ" 
       ชนิดมองตารู้ใจ ..ไปไหนไปกัน  จนบางสายงานมองว่าพวกเราเป็น "ทีม" และดูเป็นกลุ่ม "มาเฟีย"  ไปแล้ว (ก็ว่าได้)

 

 

       ระยะหลังทีมงานได้รับการติดต่อไปจัดกระบวนการตามที่ต่างๆ บ่อยขึ้น  ผมให้พวกเขามีอิสระต่อการ "รับงาน"  เพราะเชื่อว่านั่นคือกระบวนการพัฒนาขีดความสามารถของพวกเขา  มันสอนความเป็นทีมไปในตัว  และที่สำคัญคือมันเป็นกระบวนการของการ "บำบัดเยียวยาและเติมพลังชีวิตให้ตัวเอง" ...
      ครับ, บางทีงานนอกก็ช่วยให้เรากลับมายังองค์กรอย่างมีพลัง  กลับมาพร้อมกับทัศนคติที่ดีในการที่จะบูรณะองค์กรไปพร้อมๆ กับการปกป้ององค์กร

 

 

       ล่าสุด  ผมไปร่วมงานในเวทีหนึ่งซึ่งมีหลายๆ มหาวิทยาลัยมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
       ผมถูกร้องขอให้ช่วยจับประเด็นการสะท้อน "บทเรียน" อันเกิดจากการ "ถอดความรู้"  ซึ่งผมก็อดที่จะบอกอย่างจริงใจไม่ได้ว่า นั่นคือ "AAR"   หาใช่ "บทเรียน" จากวิถีของการถอดความรู้  เพราะมันยังไม่ "ลึก" พอที่จะเป็น "บทเรียน" ได้
       และสิ่งที่ผมสะท้อนไปนั้น  ก็สอดรับกับผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านได้ฝากไว้ในเวทีก่อนๆ บ้างแล้ว  เพียงแต่ว่า "ทีมงาน"  ยังไม่มีการ "เปิดใจ" ปรับปรุงและปรับแต่งให้มีรูปลักษณ์อย่างที่ควรจะเป็นเท่านั้นเอง

  

       งานครั้งนี้  เมื่อลงจากเวทีแล้ว  ผมเฝ้ามองการทำงานของทีมงานตัวเองอย่างเงียบๆ...
       ผมไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในวิธีคิดอะไรมากนัก  ปล่อยให้เขาออกแบบกิจกรรมด้วยตัวของเขาเอง  เพียงแต่เปรยสั้นๆ ว่า "หากเรามีอำนาจพอ  เราน่าจะโละโต๊ะเก้าอี้ออกให้หมด"  (เพราะมันบีบรัดจินตนาการเหลือเกิน)

       และเมื่อกิจกรรมเริ่มเคลื่อนตัวไป  ผมก็ยังนั่งปักหลักเฝ้ามองแบบสุภาพ  ไม่ถือวิสาสะเข้าไปบริหารจัดการใดๆ ปล่อยให้ลูกทีมจัดกระทำกระบวนการด้วยตัวของเขาเอง...

       ทันทีที่กระบวนการเปิดตัวขึ้น  สองคนเด่นหราอยู่หน้าเวที  ทำหน้าที่เป็นผู้ผูกโยงเรื่องราวและขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน...
       อีกคนพยายามปักหลังอยู่หลังเวที คล้ายกับกำลังประเมินผลพฤติกรรม รวมถึงประเมินสถานการณ์ต่างๆ  โดยพยายามเคลื่อนตัวอย่างเงียบๆ ขณะที่อีกคนปักหลักอยู่ด้านข้างของเวที  ซึ่งคาดว่าคงทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ช่วยกัน... 

 

       จากภาพชีวิตที่เกิดขึ้นเช่นนั้น  ผมอดไม่ได้ที่จะสะกิดให้บุคลากรอีกท่านในสายงานอื่นที่นั่งข้างๆ ได้วิเคราะห์และเรียนรู้ร่วมกันว่า "นั่นคือกระบวนการของการเป็นทีมที่ควรเรียนรู้" ...

       ผมเล่าให้บุคลากรท่านนั้นฟังว่า  "ผมเคยสอนให้ทีมงานได้คิดร่วมและแบ่งเบาภาระกันและกัน  ใครเป็นพระเอก ก็ให้เล่นบทบาทนั้นเต็มที่ ใครเป็นพระรองก็สนับสนุนและเติมเต็มกระบวนการเหล่านั้นช่วยกัน"   พร้อมๆ กับชี้ไปยังจุดต่างๆ เพื่อให้เขาเห็นภาพของการการฝังตัวและเคลื่อนตัวของพระเอกและพระรอง ซึ่งกำลังทำงานอย่างมีชีวิตชีวา...


      ไม่เพียงเท่านั้น  ผมยังสะท้อนให้เขารับรู้อีกว่า  "โดยปกติ ในยามที่พวกผมทำกระบวนการนั้น  เมื่อมีคนบรรยายบนเวที ทีมของเรา จะมอบหมายให้แต่ละคนมานั่งบันทึกข้อมูล หรือจับประเด็นต่างๆ เพื่อสังเคราะห์และจัดกระทำเป็นข้อมูลแจกจ่ายให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้อ่านและต่อยอด"...  ซึ่งครั้งนี้  ผมไม่เห็นเจ้าของงานๆ นี้ให้ความสำคัญ เพื่อให้กระบวนการเช่นนี้เกิดขึ้นได้

 

 

     ครับ,นี่คือสิ่งเล็กๆ...ที่ผมเห็นการเติบโตของทีมงานตัวเอง...
     เป็นการเติบโตที่ผมไม่จำเป็นต้อง "บอก หรือกำกับบท หรือแม้แกระทั่งเขียนบทด้วยตนเอง"
     ผมดีใจ ชื่นใจ และอิ่มใจกับการเติบโตเล็กๆ ของพวกเขา
     หากเขาทั้งหลายเข้ามาอ่านบันทึกนี้  พวกเขาคงรู้กระมังว่า  ผมรักและเอ็นดูพวกเขาอย่าง "จริงจังและจริงใจ" แค่ไหน... โดยหากผมต้องวางมือตอนนี้  พวกเขาก็ "อยู่ (กัน) ได้" 
     อยู่กันได้ด้วยความเป็นทีม  ไม่ใช่อยู่ได้เพราะคนใดคนหนึ่ง...แต่ทุกคนก็สามารถสลับกันรับบทพระเอกและพระรองได้อย่าง "ลงตัว" 

     แน่นอนครับ  ในยามที่แม่ทัพไม่อยู่  หากนายทหารสามารถลุกขึ้นมาเคลื่อนทัพร่วมกันได้อย่างมีพลัง  ผมว่านั่นแหละคือความหมายของการเป็น "ทีม"  และนั่นแหละคือนิยามของคำว่า "องค์กร"  ซึ่งบางทีมันอาจจะหมายถึง "วัฒนธรรมขององค์กร" ด้วยเหมือนกัน



     แต่ที่แน่ๆ ประชุมวันนี้  ผมจะบอกกับพวกเขาว่า "ผมชื่นชมพวกเขายิ่งนัก  และ บัดนี้พวกเขาก็เติบโตและเปล่งประกายสมวัยของพวกเขาแล้วล่ะ"
    

...

     11  กุมภาพันธ์ 54
     เขื่อนอุบลรัตน์,ขอนแก่น

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #คิดเรื่องงาน
หมายเลขบันทึก: 425998เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2011 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

เป็นบทความที่มีพลังมากๆครับ..

ผมกับลูกศิษย์กำลังทำเรื่อง Self-managed team อยู่พอดี

เรื่องนี้สร้างพลังการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆครับ

การสอนงาน อิสระภาพ และการให้โอกาสครับ

  • ขอร่วมชื่นชมด้วยคนนะคะ...

 

 

 

สวัสดีครับ ดร.ภิญโญ

สอนงาน สร้างทีม...จริงๆ ก็มาจากบาดแผล หรือบทเรียนชีวิตของผมเอง  เพราะผมประสบมากับตัวเอง  เรียนรู้ด้วยตนเองมามากแบบไร้พี่เลี้ยง  พอมาบริหารงาน ก็ถูกระบบงานที่สูงขึ้นดึงเวลาออกไปจากการงานประจำ พลอยให้ไม่มีเวลาสอนงาน หรือร่วมเรียนรู้กับลูกทีม จนล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า...

เมื่อกลับมาอีกรอบ  บทเรียนเหล่านั้น ถูกหยิบมาเป็นโจทย์สร้างความท้าทายในเรื่องการขับเคลื่อน  ซึ่งถึงตรงนี้ ก็ถือว่า ได้เริ่มต้นและมาถูกทางแล้ว...

ได้คน...ได้งาน...เหมือนครอบครัวเล็กๆ ที่ซ้อนอยู่ในองค์กรนั้นๆ...

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ คุณ✿อุ้มบุญ✿

ไม่ว่าสถานะใดก็ตาม เราล้วนเป็นนิยามการเติมเต็งให้กันและกัน  เพราะนั่นคือความเป็นสังคม...และสัตว์สังคม (สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "คน")

ท่านแผ่นดิน

  ใช่เลยยค่ะบทบาทของผู้นำ  ค่อยๆห้เขาเรียนรู้ค่ะ

สุขสันต์วันวาเลนไทน์ค่ะ

Note-taker ที่จริงมีบทบาทสำคัญมาก เป็นพระรองหรือตัวประกอบที่ขาดไม่ได้ทีเดียว เป็นให้ดีก็ไม่ใช่ง่ายๆ ต้องมีสมาธิ และ honor สิ่งที่ได้ยิน เขียนบันทึกโดยไม่แต่งเติมแต้มตนลงไป ข้อสำคัญคือช่วยปลดภาระของคนเรียนให้มีสมาธิ "ฟัง" เต็มที่ โดยไม่ต้องพะวงกับการจดซึ่งจะทำให้เสียสมาธิได้ง่ายมาก

สวัสดีครับ คุณท้องฟ้า

สุขสันต์วันวาเลนไทน์ครับ..
และขอให้ทุกๆ วันมีความหมายเฉกเช่นวันนี้เสมอไป นะครับ

 

สวัสดีครับ อ.Phoenix

ขอบพระคุณที่แวะมาเติมเต็มบันทึกนะครับ..
ผมยังมองว่าที่สุดแล้ว "สุ จิ ปุ ลิ" นี่แหละคือมหัศจรรย์ของการเรียนรู้ หลักคิดนี้หัวใจแห่งการพัฒนาชีวิตและสังคมผ่านกระบวนการทางการศึกษาอย่างแท้จริง

แปลกตรงทุกวันนี้ วิชาเรียนในห้องเรียนที่ว่าด้วยการอ่านและย่อความต่างๆ นั้นดูจะลดน้อยถอยลง หรือมีความเข้มข้นน้อยลง  จนทำให้ผมรู้สึกว่านักเรียน-นักศึกษา จำนวนไม่น้อยประสบปัญหาเรื่องการจับใจความ สรุปใจความสำคัญมากโข  (รวมทั้งผมด้วย-ขอบพระคุณครับ)

   สวัสดี วันแห่งความรักค่ะ

                   ความรักทำให้เกิดสิ่งดีๆเสมอนะคะ

 

สวัสดีครับ..พี่กานดา น้ำมันมะพร้าว

เช่นกันนะครับ..ขอให้ดอกรักเบ่งบานในดวงใจ เสมอไป..
ขอให้ทุกๆ วันเป็นวันแห่งความรัก นะครับ

หัวใจการศึกษา... จริงเลยนะครับ

ตอนหลังๆผมพบว่า trick ในการจดฟังบรรยายนั้นต่างจากการอยู่ในวงสนทนา สมัยก่อนเราบรรยายเยอะ เกิดนักจด lecture มืออาชีพเยอะ ชนิดมือถอดเทปเดียวนี้อาจจะอายเลยทีเดียว ตอนหลังๆเรามี lecture น้อยลง ใช้ interactive session มากขึ้น เนื้อหาทฤษฎีน้อยลง มีเรื่องอารมณ์ความรู้สึกและอวจนภาษามากขึ้น ชีวิตไปด้วยกันกับการเรียนรู้ สาระไปด้วยกันกับพฤติกรรม ในแบบหลังนี่ ระหว่าง session เราอาจจะต้องใช้สมาธิและการรับรู้ของอวัยวะต่างๆมากขึ้น ไม่งั้นเราไม่เห็นสีหน้า ท่าทาง และสาระแห่งความเงียบ อันเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ข้างหน้าได้ แบบนี้จดทีหลัง (ดีที่สุดคือ ทันทีหลังเสร็จ session เหมือนวิธีทำวิจัยเชิงคุณภาพ พวก in-depth interview) จะได้อะไรเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่อาจจะมี note keywords เป็นคำๆไว้ และดีสุดคือ มี dedicated note-takers เป็นผู้ช่วยสอนอีกคนสองคน

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ผู้นำทีมคือบุคคลสำคัญในการแสดงบทบาทที่จะทำให้ "ทีมงาน"  จะสำเร็จหรือล้มเหลว 
  • ทีมงานของอาจารย์โชคดีที่มีผู้นำทีมในแบบฉบับของอาจารย์
  • และอาจารย์ก็โชคดีที่มีลูกทีมที่รู้ใจ
  • มีความสุขกับการทำงานในทุก ๆ วันและทุก ๆ งานนะคะ

Wallpaper : earth

สวัสดียามเช้านะคะอาจารย์มาเยี่ยมนานๆที ได้สาระมากๆที่จะนำไปพัฒนาในการสร้างทีมงาน และการทำงานในองค์กร ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณครูอรวรรณ

สุขสันต์วันความรัก (ย้อนหลัง) นะครับ ยังไงก็ขอให้ทุกๆ วันมีความหมายไม่ด้อยไปกว่าวันวาเลนไทน์แล้วกัน  ทั้งความรักในมิติของคนในครอบครัว และมิติของความเป็นสังคม

ขอบคุณครับ

รูปภาพ ดอกกุหลาบ รูปดอกกุหลาบ สื่อรักแทนใจ วันวาเลนไทน์Happy Valentine day na krab...ขอให้ทุกคนมีความสุข สมปรารถนาทุก ๆ เรื่องที่หวังนะครับ

สวัสดีครับ อ.Phoenix

ผมเองก็ค่อนข้างเห็นด้วยอย่างมากเลยครับกับกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งให้เห็น "ปฏิสัมพันธ์" ระหว่างคนมากขึ้น  และนั่นก็หมายถึงการเรียนการสอนที่ไม่เน้นการ "บรรยาย" อย่างมากมายก่ายกอง โดยกำหนดกติกาหลักให้ผู้เรียนได้ lecture อย่างไม่ลืมหูลืมตา  ถึงขั้นกลัวการจดบันทึกไม่ทัน ก็ใช้ระบบบันทึกเสียงควบคู่กันไป 

จริงๆ แล้ววิธีเช่นนี้ก็ถือว่าดียิ่งแล้วเหมือนกัน เพราะมันคือภาพสะท้อนของความสนใจ ตั้งใจ รับผิดชอบและเก็บเกี่ยวในทุกท่วงท่าของการสื่อสารจากวิถีของการ "เรียนเพื่อจะให้รู้" 

กรณีคล้ายกันนี้  ผมมักุดกับนิสิตเสมอในยามต้องลงพื้นที่ หรือออกไปเรียนรู้เรื่องราวชีวิตภายนอก  ผมไม่ปรารถนาให้พวกเขาทำตัวเป็น "นักจดบนทึก"  โดยมี "เครื่องมือ" หลากหน้าตา ทั้งเทปเสีย หรือแม้แต่แบบสอบถามเด่นหราอยู่ในมือ  จนขาดความเป็นกันองกับ"ผู้คนต้นเรื่อง" ที่นั่งอยู่ตรงหน้า  และผมก็เห็นว่านิสิตขาดทักษะในเรื่องพรรค์นี้มากไม่ใช่ย่อย จนได้เสนอต่อมหาวิทยาลัยว่า ควรมีวิชาที่ว่าด้วยการจัดกิจกรรมในพื้นที่ให้นิสิตได้เรียนรู้อย่างจริงๆ จังๆ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์

สำหรับผมแล้ว  ในยามลงชุชน หรือแมแม้แต่ในห้องประชุม  ผมมักให้คามสำคัญกับการสนทนา, ฟังอย่างตั้งใจ (ลึกซึ้ง) และเขียนเป็น "วาทกรรม" สั้นๆ มาจำกัดความหมายไว้ให้ได้มากที่สุด นั่นคือวิธี หรือกระบวนการฝึกจิต ฝึกสมาธิไปในตัว  โดยไม่พะวงกับการจดบันทึกจนแทบไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในวงเสวนา แต่ทันทีที่กระบวนการเหล่านั้นยุติลง  ผมจะไม่ละเลยที่จะสกัดเรื่องราวเป็นข้อมูล

จนลูกทีมหลายต่อหลายคนแซวตลอดว่า "กินอะไรมา ถึงได้มีความจำดีนัก" (โดยเจาะจำและจับผิด)

สวัสดีครับ อ.อิงจันทร์

ผมเองก็ชักสงสัยเหมือนกันว่าอยู่กันไปก็ยิ่งผูกพันมากขึ้นหรือเปล่า  มีหลายคนได้งานใหม่ ดูดีกว่าเดิม น่าจะก้าวหน้ากว่าเดิม  ทั้งการไปสอนหนังสือ  ทั้งการไปติดดาวเป็นนายร้อย (ซึ่งมีโอกาสค่อนข้างสูง) แต่ก็ไม่ยอมไปในเส้นทางสายนั้น  บางทีมันอาจหมายถึงความสุข ความผูกพันกับองค์กร และความผูกพันกับทีมด้วยก็เป็นได้

ทีมเราทำงานกันเข้มนะครับ  เข้มจนดูเป็นเครียดๆ...แต่เราก็ไม่เคยได้เปลี่ยนทีม ตรงกันข้ามกับสายงานอื่นๆ "มาแล้ว...ก็...ไป"

แน่นอนครับ  ทุกคนล้วนมีสิทธิ์เลือกในสิ่งที่ดีกว่า หรือเลือกความสุขที่สุขกว่าที่เป็นอยู่

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ Rinda

กว่าจะได้เป็นวาทกรรม "สอนงานสร้างทีม" ก็ลองผิดลองถูกกันมามาก ตอนนี้พยายามสกัดความรู้ออกมาเป็นสื่อสาธารณะในองค์กรให้ได้มากที่สุด เพื่อให้แต่ละคนสามารถนำไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว ทันทีและมีประสิทธิภาพ..

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ พี่เบดูอิน

เช่นกันครับ ขอให้มีพลังในการใช้ชีวิตและเรียนรู้ชีวิตสืบไป นะครับ

ที่จริงคนเราจำอะไรเป็นเรื่อง เป็นราว นั้นง่ายกว่าจำเป็น text อยู่แล้ว น่าสงสัยเหมือนกันว่าทำไมนักศึกษาจำนวนมาก (รวมทั้งนักศึกษาแพทย์ด้วย) จึงขาดทักษะ narrative ไปอย่างน่าฉงน

เวลาเราชมภาพยนต์ที่สนุกสักเรื่องหนึ่ง เวลาออกมา mouth กัน แทบจะจำได้ทุกบท ทุกบาท ทุกสีหน้าท่าทาง อุธัจรันทดระทมระทวย ได้หมดเลย หากเราจะใช้ทักษะเดียวกันในเรื่องการเรียนการรู้ ก็จะประสบความสำเร็จได้ใกล้เคียงกัน

สงสัยก่อนอื่นเราต้องให้ความหมายการเรียนว่ามันสนุก มันน่าสนใจ เหมือนกับการไปชมภาพยนต์ เรียนจบแล้วเอามา mouth กันแลกเปลี่ยนสะท้อนกันอย่างเมามันเหมือนไปดู concert กระมัง

สวัสดีค่ะ

เป็นบันทึกที่สร้างพลัง ให้แนวคิดได้ดีมากๆ

ทุกครั้งที่ลูกศิษย์นำเสนอผลงาน แสดงนิทรรศการต่างๆ ดิฉันก็แอบภูมิใจในความสามารถของเด็กๆ ที่กล้าแสดงออกและมีภาวะความเป็นผู้นำ...แต่ยังมีปัญหาเรื่องทีม  เมื่ออ่านหลายๆบันทึกคุณแผ่นดิน ได้แนวคิด และเข้าใจ"สอนงานสร้างทีม"

ขอบคุณมากๆค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท