การวิจัยแบบ PAR ที่มุ่งแก้ปัญหาและปฏิบัติการเชิงสังคมให้บรรลุจุดหมายดังที่พึงประสงค์ร่วมกัน พร้อมกับมุ่งให้เกิดระบบบริหารจัดการตนเองในชุมชนที่ดำเนินการวิจัยไปด้วยนั้น เป็นการวิจัยแบบ PAR เพื่อปฏิบัติการชุมชนและเคลื่อนไหวสังคมให้ขึ้นรูประบบและโครงสร้างจัดการตนเองผ่านกระบวนการเรียนรู้แก้ปัญหา ซึ่งในงานของนักวิชาการและนักวิจัยที่ให้ความสนใจการวิจัยแบบ PAR ก็จะเห็นว่ามีความจำเพาะอยู่ในตนเองในหลายมิติของการวิจัย จึงอาจจะพบว่ามีการจัดให้เป็นภาคขยายของการวิจัยแบบ PAR และเรียกให้สะท้อนลักษณะความจำเพาะที่เกิดขึ้น เช่น People Research, Social Research and Social Action, Participatory Community Action Research, Community-Organizing Through Participatory Action Research หรือการวิจัยแบบ CO-PAR เหล่านี้เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในการวิจัยแบบ PAR โดยทั่วไปนั้น ก็ครอบคลุมความต้องการดังที่กล่าวถึงได้ แต่อาจจะไม่ได้เน้นอย่างเจาะจงและดำเนินการให้เข้มข้นเท่ากับการวิจัยแบบ CO-PAR ซึ่งเป็นภาคขยายของการวิจัยแบบ PAR ดังที่กล่าวมา ทั้งนี้ ก็เนื่องจากการวิจัยแบบ PAR มุ่งเน้นไปยัง 'กระบวนการมีส่วนร่วม : Participation' ซึ่งเป็นการจัดการต่อสถานการณ์จำเพาะที่กำกับโดยการวิจัย เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ก็มุ่งเน้นให้ภูมิปัญญาปฏิบัติและศักยภาพทางด้านต่างๆที่เกิดขึ้นจากมิติ CER ของการวิจัยแบบ PAR ผสมผสานอยู่กับวิถีชีวิตของชุมชนและพลังของปัจเจก ตลอดจนกลุ่มคนกลุ่มต่างๆที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ได้เน้นให้ก่อเกิดระบบและโครงสร้างการจัดการชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน อีกทั้งแนวคิดในการออกแบบและจัด 'กระบวนการมีส่วนร่วม' นั้น ก็มีอยู่หลายแนวคิดตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป
ตัวอย่างการวิจัยแบบ PAR ที่แตกต่างจากการวิจัยแบบ PAR ทั่วไป เช่น การวิจัยของกลุ่มนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเคลื่อนไหวสังคมท้องถิ่นเมืองกาญจนบุรีให้เกิดวิสัยทัศน์ร่วมกันในการพัฒนาสู่อนาคตเมื่อต้นทศวรรษ ๒๕๕๐ ซึ่งก่อให้เกิดเครือข่ายกลุ่มต้นน้ำแคว ซึ่งเป็นแนวคิดในการเชื่อมโยงการทำงานส่วนรวมของจังหวัดกาญจนบุรีในอีกหลายด้านในเวลาต่อมานับ ๑๐ ปี
อีกตัวอย่าง ได้แก่ การวิจัยแบบ PAR ของสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดลกับศูนย์พัฒนาชีวิตของมูลนิธิในพระบรมราชินูปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อปี ๒๕๔๗-๒๕๕๐ ซึ่งดำเนินการวิจัยแบบ PAR เพื่อประเมินสภาวการณ์และทุนศักยภาพการจัดการด้านผู้สูงอายุในระดับชุมชนทั้งจังหวัดกาญจนบุรีพร้อมกับสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เครือข่ายผู้สูงอายุและกลุ่มผู้เกี่ยวข้องเกิดการจัดสรรตนเอง กระทั่งได้รูปแบบสมาคมของเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุระดับจังหวัดก่อตั้งในสำนักงานเก่าในอาณาบริเวณของสำนักงานจังหวัด เชื่อมโยงเครือข่ายการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของชมรมผู้สูงอายุจากชุมชนหลากหลายในทุกอำเภอของจังหวัด สอดคล้องกับความต้องการและทำงานจริงได้ดีกว่าใช้วิธีแต่งตั้งเป็นกรรมการโดยขาดกระบวนการเรียนรู้เพื่อจัดวางตนเองให้เหมาะสม เหล่านี้เป็นต้น
ตัวอย่างการวิจัยแบบ PAR ในลักษณะดังกล่าวนี้ งานเขียนในต่างประเทศบางส่วนจะจัดให้เป็นการวิจัยแบบ CO-PAR ซึ่งประเด็นความสนใจและการตั้งคำถามการวิจัยที่สะท้อนระบบวิธีคิดของการวิจัยในแนวบูรณาการหลายมิติที่ยืดหยุ่นออกไปให้สามารถตอบโจทย์ที่ต้องการจะมีรายละเอียดบางส่วนต่างไปจากการวิจัยแบบ PAR แบบทั่วไปมากพอสมควร จึงจะกล่าวถึงในรายละเอียดในโอกาสต่อไป
ในการวิจัยแบบ PAR ซึ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมและความเป็นองค์กร ตลอดจนเครือข่ายจัดการอย่างมีส่วนร่วมที่ขึ้นรูปการทำภารกิจร่วมกันให้บรรลุจุดหมานที่พึงประสงค์ร่วมกันไปตามสถานการณ์ของการวิจัยนั้น องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่จำเป็นต้องนำมาพิจารณาและถือเป็นกรอบปฏิบัติสำหรับประสานความร่วมมือและระดมพลังการมีส่วนร่วมให้สอดคล้องกับลักษณะของปัญหาและสามารถรองรับความสนใจ ตลอดจนความจำเป็นที่จะต้องได้เข้ามามีส่วนรวมในกระบวนการวิจัยก็คือ ลักษณะของวัตถุประสงค์ ความหลากหลายของกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง และปฏิสัมพันธ์กับความเชื่อมโยงกับสังคม ที่สำคัญคือ ความหลากหลายใน ๓ ระดับจากปัจเจกและความเป็นท้องถิ่นสู่ความเชื่อมโยงกับสังคมและบริบทความเป็นโลกาภิวัตน์ ดังภาพและรายละเอียดที่จะกล่าวถึงโดยสรุปต่อไป
กลุ่มการมีส่วนร่วมเชิงเดี่ยวและวัตถุประสงค์เดี่ยว : เป็นการดำเนินการวิจัยแบบ PAR กับลักษณะปัญหาที่มีความชัดเจนหรืออยู่ในหน่วยดำเนินการที่ไม่มีความซับซ้อน เช่น ในชมรมสร้างสุขภาพ ในองค์กรและบริษัทห้างร้าน ในโรงพยาบาล ในสถานศึกษา ในแผนงานและโครงการเดียวกันแต่มีกลุ่มทำด้วยกันหลายคน ซึ่งลักษณะของกลุ่มดำเนินการวิจัยอย่างนี้ จะมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสังคมสำหรับเป็นกรอบจัดการตนเองอยู่ในชุดเดียวกัน หากเป็นบริษัทและองค์กรธุรกิจก็มีเป้าหมายเพื่อมุ่งทำธุรกิจเดียวกัน มีวัตถุประสงค์เดียวกัน
กระบวนการวิจัยแบบ PAR ในหน่วยปฏิบัติการลักษณะนี้ก็จะมุ่งให้ระบบที่เป็นเอกภาพมีความเข้มแข็ง ก่อเกิดการมีส่วนร่วมที่เป็นปึกแผ่น สมานสามัคคี ทำให้ระบบการกระจายข่าวสารและภูมิปัญญาปฏิบัติต่างๆชุดเดียวกัน หมุนเวียนได้ทั่วถึงภายในระบบเดียวกันมากขึ้น แต่จะใช้วิธีคิดแบบนี้กับหน่วยการวิจัยแบบอื่นๆอย่างตายตัวไปไม่ได้
กลุ่มการมีส่วนร่วมสหสาขาและพหุวัตถุประสงค์ : เป็นการดำเนินการวิจัยแบบ PAR กับลักษณะปัญหาที่มีกลุ่มผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายในสิ่งที่เป็นจุดสนใจเดียวกัน ทว่า สิ่งที่เป็นจุดสนใจดังกล่าวเป็นปัจจัยพื้นฐานและทรัพยากรสำหรับการดำเนินชีวิตแก่ผู้คนหลายกลุ่มในท้องถิ่นหรือในกลุ่มจำเพาะอย่าง แต่กลุ่มที่แตกต่างหลากหลายสามารถมีแง่มุมการได้ประโยชน์และสิ่งจูงใจแตกต่างกันไป ทำให้มีจุดหมายจำเพาะที่แตกต่างหลากหลายบนสิ่งที่จะสามารถสร้างให้เกิดประโยชน์ร่วมกันได้ เช่น บนถนนเส้นเดียวกันและในชุมชนเดียวกันนั้น ย่อมมีความหมาย สิ่งจูงใจ และอรรถประโยชน์ที่จะได้รับสำหรับคนขับรถเก๋ง กลุ่มผู้ใช้จักรยาน คนเดินข้างถนน พ่อค้าแม้ค้าหาบเร่และแผงลอย ผู้โดยสารรถเมล์และขนส่งสาธารณะ อย่างแตกต่างกัน ความต้องการที่จะมีส่วนร่วมบนทรัพยากรสาธารณะและสิ่งเดียวกันจึงนำไปสู่ความต้องการคนละด้านและในแง่มุมเดียวกันก็อาจมีจุดยืนคนละด้านได้ กระบวนการเรียนรู้และวิธีสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อจัดท่าทีและร่วมปฏิบัติการต่อความเป็นส่วนรวมด้วยกันอย่างเหมาะสม ก็จะเป็นวิธีเคลื่อนไหวสังคมให้เผชิญกับสภาพปัญหาแบบย้อนแย้งกันเองซึ่งมีมากยิ่งๆขึ้นในลักษณะนี้ได้
หากเป็นองค์กรและกลุ่มทำธุรกิจ ก็เป็นกลุ่มที่มีผลิตภัณฑ์หรือจุดหมายจำเพาะอย่างของตนแตกต่างกัน แต่มุ่งทำมาค้าขายให้ได้ความสำเร็จไปด้วยกันบนท้องถิ่นเดียวกัน สถานศึกษากับโรงพยาบาลมุ่งทำงานกับกลุ่มเด็กและเยาวชนเหมือนกันแต่สถานศึกษาต้องการทำโครงการติดตามการเรียนรู้และการใช้เวลาว่างนอกห้องเรียน ในขณะที่โรงพยาบาลต้องการทำโครงการสุขศึกษาในโรงเรียนและชุมชนเพื่อเด็กและเยาวชนกลุ่มเดียวกัน เหล่านี้เป็นต้น
ลักษณะดังกล่าวนี้ หากดำเนินการวิจัยแบบ PAR เพื่อให้เครือข่ายความร่วมมือได้มีส่วนร่วมและปฏิบัติการร่วมกันเพื่อบรรลุจุดหมายทั้งวัตถุประสงค์จำเพาะของตนและทำให้ได้ผลดำเนินการที่ดีไปด้วยกันเพิ่มขึ้นอีกมิติหนึ่ง ก็นับว่าเป็นการดำเนินการวิจัยแบบ PAR ในกลุ่มการมีส่วนร่วมสหสาขาและพหุวัตถุประสงค์ แตกต่างจากกลุ่มการมีส่วนร่วมแบบเชิงเดี่ยว และหากมุ่งทำให้ง่ายโดยลดวัตถุประสงค์ ลดความซับซ้อน ก็จะเป็นการตั้งประเด็นวิจัยและคำถามการวิจัยผิดระดับของหน่วยปรากฏการณ์ดังที่กล่าวถึงในข้างต้นนั่นเอง ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยที่จะพบว่าความขัดแย้งและแปลกต่างกันทางความคิดของกลุ่มวิจัยแบบ PAR รวมทั้งกลุ่มระดมพลังปฏิบัติการทางสังคมกลุ่มต่างๆ จะเกิดปัญหาในลักษณะนี้แล้วหาข้อยุติไม่ได้ เพราะมุ่งจัดการปัญหาเดียวกันจากจุดยืนที่ต่างระดับและต่างบริบท พูดถึงสิ่งเดียวกันแต่มีความหมายและมุ่งสู่คุณค่าด้วยแง่มุมที่ต่างกัน ทำให้สิ่งเดียวกันมีพื้นฐานของความแตกต่างและอาจขัดแย้งกันอยู่โดยธรรมชาตินั่นเอง
การมีส่วนร่วมแบบพุหุภาคีและบูรณาการมิติสังคม : การวิจัยแบบ PAR ที่มีความเป็นบูรณาการอีกลักษณะหนึ่งก็คือ การระบุกลุ่มผู้เกี่ยวข้องและสร้างการมีส่วนร่วม ที่มุ่งครอบคลุมและบรรลุจุดหมายที่ต้องการได้ทั้งในกลุ่มการมีส่วนร่วมเชิงเดี่ยวและวัตถุประสงค์เดี่ยว กับกลุ่มการมีส่วนร่วมสหสาขาและพหุวัตถุประสงค์ แต่ประเด็นความสนใจดังกล่าวมีความเป็นส่วนรวมของสังคมอีกมิติหนึ่งเพิ่มขึ้นมาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มในระดับท้องถิ่นทุกกลุ่ม ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงกับระบบสังคมที่ใหญ่กว่าและเป็นความจำเป็นของส่วนรวมในทุกภาคส่วนอีกด้วย
ดังนั้น ในทุกประเด็นและในทุกกลุ่มการมีส่วนร่วมกลุ่มย่อยๆทั้งหลายที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสะท้อนประเด็นความเป็นส่วนรวมดังกล่าวเข้าไปบูรณาการกับจุดหมายดังที่พึงประสงค์จำเพาะอย่างของตนไปด้วย ทว่า จะบูรณาการอย่างไร บูรณาการระดับใดจึงจะมีความสมดุล และริเริ่มการวิจัยแบบ PAR เพื่อค้นพบประเด็นอย่างไร จึงจะสามารถยกระดับความต้องการร่วมกันของกลุ่มผู้มีส่วนร่วม ให้สามารถเชื่อมโยงกับเป้าหมายทางสังคมได้อย่างเหมาะสม เหล่านี้ ก็จะเป็นแง่มุมจำเพาะของการวิจัยแบบ PAR สำหรับเครือข่ายการมีส่วนร่วมในลักษณะนี้
การจำแนกและจัดหมวดหมู่ลักษณะของกลุ่มผู้มีส่วนร่วมและรายละเอียดที่จะต้องพัฒนาวิธีคิดและออกแบบกระบวนการปฏิบัติต่างๆ ให้เป็นระบบด้วยหลักเกณฑ์ในลักษณะดังกล่าวนี้อีกวิธีหนึ่ง นอกจากจะทำให้เราสามารถดำเนินการวิจัยแบบ PAR ได้อย่างสอดคล้องกับลักษณะปัญหาและลักษณะของกลุ่มเป้าหมายตามสภาพความเป็นจริงอันหลากหลายของสังคม ไม่ตั้งประเด็นการวิจัยและพัฒนาคำถามการวิจัยในมิติต่างๆ แบบเดียวกันในชุมชนการวิจัยที่ต่างบริบท ต่างระบบ และต่างความซับซ้อน ซึ่งจะเป็นการทำวิจัยแบบ PAR ที่ดำเนินการไปตามความถูกต้องระดับเทคนิคปฏิบัติ ทว่า ผิดขอบเขตและผิดระดับความซับซ้อนของหน่วยปรากฏการณ์ของการวิจัย
ความเข้าใจและปฏิบัติการวิจัยแบบ PAR ที่ดำเนินการอย่างพิถีพิถันในอีกมิติหนึ่งนี้ สามารถสร้างความเป็นบูรณาการและจัดการความหลากหลายของวัตถุประสงค์ ความต่างกลุ่มและต่างระดับ ได้อย่างเหมาะสม ก่อเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย มีเหตุผล และพอเพียงต่อเงื่อนไขหลายแบบของประเด็นปัญหาและชุมชนที่ดำเนินการวิจัย สอดคล้องกับสภาพการณ์และความเป็นจริงของสังคมได้มากยิ่งๆขึ้น ซึ่งทำให้การวิจัยแบบ PAR สามารถเป็นเครื่องมือ นวัตกรรมจัดการความรู้ และวิธีจัดการความขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์ที่มีความบูรณาการวิถีวิชาการกับปฏิบัติการเชิงสังคมได้อย่างพอดี นักวิจัยและผู้นำการเปลี่ยนแปลงของชุมชนต่างๆสามารถใช้หลักเกณฑ์นี้ไปริเริ่มการวิจัยแบบ PAR และใช้ทำงานเชิงสังคมกับกลุ่มการมีส่วนร่วมให้เหมาะสม ได้เป็นอย่างดีมากที่สุดวิธีหนึ่ง.
มาช่วยตรวจอักษร(ตัวเลข)ให้ ...พัฒนาสู่อนาคตเมื่อต้นทศวรรษ ๒๕๕๕๐ (อนาคตที่ยาวนานมากๆ)
ขอกราบขอบพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแลอย่างยิ่งครับ
ขอขอบพระคุณดอกไม้จากอาจารย์ ดร.จันทวรรณอย่างยิ่งครับ