ความในใจ...สมัคร สุนทรเวช


 

มุมดีดีที่กรมกู๊ด                                                                         โดย...ดร.จรูญ  ไชยศร

       ความในใจ...สมัคร สุนทรเวช

 ผมตั้งความหวังไว้ว่ากรมประชาสัมพันธ์จะคงอยู่คู่บ้านเมือง

                        ย้อนไปไกลโข เมื่อ 10 มีนาคม 2542 สิบกว่าปีที่แล้ว วันนั้น กรมประชาสัมพันธ์ได้เชิญนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ไปบรรยายในหัวข้อเรื่อง “บทบาทของกรมประชาสัมพันธ์ที่ท่านคาดหวัง” ผมอยู่ในทีมจัดบรรยายและได้ร่วมฟังการบรรยายด้วยความตื่นเต้น เพราะโอกาสที่ปรมาจารย์ทางการพูดระดับชาติ ให้เกียรติไปพูดเกี่ยวกับกรมประชาสัมพันธ์ ณ สถานที่ตั้งของกรมประชาสัมพันธ์นั้นมีไม่บ่อยนัก ผมได้บันทึกเทปและถอดคำบรรยายเก็บไว้ มาวันนี้ ได้มีโอกาสนำเอาบางช่วงบางตอนมานำเสนอ เพื่อจะได้แลเห็นภาพลักษณ์ของกรมประชาสัมพันธ์ผ่านมุมมองของบุคคลสำคัญอย่าง นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งต่อมาได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 25 ของประเทศไทย ก่อนที่ท่านจะถึงแก่อนิจกรรม

                        วันนั้น นายสมัคร สุนทรเวช เล่าให้ฟังว่า “ครอบครัวผมมีความโยงใยอยู่กับกรมประชาสัมพันธ์ ตอนอายุสามขวบ จำได้ว่ามีวิทยุวางอยู่ที่หัวนอนแล้ว ตอนนั้นมีอยู่สถานีเดียว คือวิทยุกรมโฆษณาการ ฟังข่าวและรายการโดยต่อเนื่อง ได้รู้จักคนวิทยุ ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่น ชลานุเคราะห์ ได้รู้จักดนตรีกรมโฆษณาการ ได้รู้จักเพลงปลุกใจของหลวงวิจิตรวาทการ”

                        นายสมัคร สุนทรเวช ขยายความเรื่องความโยงใยกับกรมประชาสัมพันธ์ ว่า “คุณพ่อผมเป็นข้าราชการชั้นจัตวา กองการกระจายเสียง กรมโฆษณาการ ทำงานอยู่นาน ก่อนจะย้ายไปกรมศิลปากรและกระทรวงพาณิชย์ ผมชอบฟังเพลง ใครขึ้นมาเป็นหัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ผมรู้จักหมด เมื่อวงดนตรีสุนทราภรณ์ ถอยออกไปแล้ว ก็ยังมีอีกวงหนึ่ง คือสุนทราภรณ์เป่าสังข์ มีศรีสุดาเป็นหัวโจก  ผมโยงใยความสัมพันธ์กับกรมประชาสัมพันธ์โดยมีดนตรีเป็นสื่อ”

 

                        นายสมัคร สุนทรเวช บอกว่าได้เฝ้าดูกรมประชาสัมพันธ์อยู่ห่างๆ “ได้แลเห็นข้อจำกัดของกรมประชาสัมพันธ์ ความจริงต้องประชาสัมพันธ์ให้กับรัฐ แต่เมื่อมีรัฐบาลมาดูแล กรมประชาสัมพันธ์ก็ต้องดูแลรัฐบาล จะไปด่า ไปแขวะรัฐบาลไม่ได้เด็ดขาด ต้องคอยดูทิศทางว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไร เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายก็เปลี่ยนไป ความเป็นกลางเกิดขึ้นไม่ได้ แต่มาภายหลังมีความกล้าหาญกันมากขึ้น ได้แลเห็นการถ่วงน้ำหนักการนำเสนอข่าว”

                        เมื่อการบรรยายมาเดินไปถึงจุดสำคัญและเข้าประเด็น นายสมัคร สุนทรเวช บอกความในใจว่า “ความคาดหวังของผมต่อกรมประชาสัมพันธ์ ผมหวังว่ากรมประชาสัมพันธ์จะเป็นเหมือน BBC ของประเทศอังกฤษ ไม่ใช่ความหวังที่สูงเกินไป BBC ช่วงเริ่มต้นก็เป็นวิทยุของรัฐบาลอังกฤษเหมือนกัน ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล แต่มีความเป็นเอกเทศในตัวเอง เป็นสถานีวิทยุหลักที่คนทั้งโลกฟัง ผมคิดว่าวันหนึ่งกรมประชาสัมพันธ์ต้องทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ ผมอยากให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นตัวของตัวเอง ใครเป็นรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ก็อยู่ได้ แต่ควรเขียนแนวนโยบายให้รัฐมนตรีพิจารณาว่าแนวทางในการพัฒนากรมประชาสัมพันธ์ควรเป็นอย่างไร หากรัฐมนตรีจะแก้ไขเพิ่มเติมประการใดก็ย่อมทำได้ ทำให้เห็นภาพว่า กรมมีส่วนในการคิดนโยบาย แต่ในความจริง กรมไม่ได้คิด รอรับคำสั่งและนโยบายจากรัฐบาลอย่างเดียว ผมไม่อยากให้มีบรรยากาศอย่างนั้นในวันข้างหน้า”

                        ในมุมของการให้บริการแก่หน่วยงานต่าง ๆ นายสมัคร สุนทรเวช เห็นว่า “ตอนนี้ทุกหน่วยงานมีประชาสัมพันธ์ของเขาเอง แต่เขาไม่มีสื่อวิทยุและโทรทัศน์เหมือนกรมประชาสัมพันธ์ การที่กรมประชาสัมพันธ์ให้บริการด้านสื่อ ก็สมควรแก่เหตุ รายการข่าวยามเช้าที่เดิมคุณปรีชา ทรัพย์โสภา เป็นผู้จัด เป็นรายการที่มีการเชื่อมโยงได้ดีที่สุด เช่นเดียวกับรายการหมุนตามวันที่ใช้ความพยายามกันอยู่ เป็นรายการแบบไม่เป็นทางการ สามารถสื่อความไปยังประชาชนได้ โดยมีประชาสัมพันธ์จังหวัดเป็นตัวเชื่อม”

                        ท้ายสุดของการบรรยาย นายสมัคร สุนทรเวช มีความหวังลึก ๆ ว่า “ผมตั้งความหวังไว้ว่า กรมประชาสัมพันธ์จะคงอยู่คู่บ้านเมือง แต่ไม่ควรเป็นเช่นทุกวันนี้ ควรเป็นหน่วยงานประชาสัมพันธ์ที่มีอิสระ ถ้าไม่ถึงขั้น BBC ก็คงต้องน้องๆ BBC นักการเมืองที่มาดูแลหน่วยงานนี้คงจะไม่ป่าเถื่อน ที่จะมาเหยียบย่ำทำลายสถาบันนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญสนับสนุนให้ทำงานเพื่อประชาชน ก็ขอให้เดินหน้าต่อไป”

                        นี่คือความในใจ  มุมมองที่ยังคงความทันสมัย ของนายสมัคร สุนทรเวช ที่ได้วางวิสัยทัศน์ไว้ให้กรมประชาสัมพันธ์ แม้ตัวท่านจะจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม

หมายเลขบันทึก: 425189เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2011 09:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้ว คิดว่าดีนะครับถ้า กรมประชาสัมพันธ์ ทำได้ เพราะช่วงหลัง ๆ มีการขายเวลาให้เอกชน สื่อของรัฐก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือ เพราะเราไปหวังรายได้มาเลี้ยงตัวเอง โดยเฉพาะงานประชาสัมพันธ์จังหวัด ก็ยังคงเกาะติดผวจ.อยู่เหมือนเดิม บางครั้งดูเป็นงานโปรโมทบุคคลมากกว่างานของรัฐ ถ้าปฏิรูปใหม่ได้น่าจะดีนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท