รำลึกบ้านเหนือ..


ลูกคนกรุง กินยาก อยู่ยาก นี่คือภาระของคุณตาและคุณยาย

          ยังจำความเมื่อสมัยก่อนร่วมสามสิบปีได้ เมื่อคุณตาท่านยังอยู่..."เด็กกรุงเทพฯ" คำๆ นี้จะได้ยินบ่อยมากจากบรรดาญาติพี่น้องที่อยู่บ้านป่า  เวลาที่ไปเยี่ยมคุณตาคุณยายที่บ้านเหนือ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณแม่ ไม่บ่อยนักที่จะได้เดินทางกลับไปบ้านเหนือ จังหวัดลำปาง เพราะค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงมาก อีกทั้งพี่สาวและเรายังเด็กนัก คงเป็นภาระวุ่นวายจึงไม่ีค่อยได้เดินทางมาบ่อย  แต่ก็มีความรู้สึกดีและจำได้เสมอว่าบรรยากาศรอบบ้าน ที่บ้านเหนือเป็นอย่างไร

เรือนหลังใหญ่ มีห้องกั้นเป็นสัดส่วน 3 ห้อง ห้องครัวและชานระเบียงแบบเมืองเหนือ หน้ามุกของบ้านไว้รับแขก มีเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เรียบง่าย คุณตาเป็นคนทำเองกับมือ ซึ่งมีไม่กี่ตัว ในสมัยนี้เขาเอามาประยุกต์เข้าร่วมสมัย ซึ่งหาไม่ได้ง่ายๆ หน้าต่างประตูเป็นไม้ชิ้นเดียวที่สูงตระหง่าน มีเครื่องจักสานเล็กๆ ห้อยไว้บนหน้าวงกบประตู หม้อแอ่งเรียงรายบริเวณชั้นวางน้ำ กรวยกระโอไม้ทำจากกะลา มีด้ามเหลาอย่างงดงาม วางที่ซ้มด้านล่าง และหน้าบ้านสำหรับรอรับผู้มาเยือน เป็นเอกลักษณ์ของคนเมือง  เตาโล่ ที่ใช้ดังฟืนนึ่งข้าวในยามเช้า และตะเกียงน้ำมันก๊าดทำจากกระป๋องนม..

ลูกคนกรุง กินยาก อยู่ยาก นี่คือภาระของคุณตาและคุณยายที่ท่านต้องเลี้ยงดู เวลาที่พี่สาวในเครือญาติไปรับมาอยู่ด้วยเป็นระยะ  อาหารการกินก็ไม่เหมือนคนอื่น กินได้เพียงอาหารไข่ เจียวบ้าง ต้มบ้าง เพราะคนบ้านป่าก็ทำอาหารแบบเรียบง่าย ที่ไม่ค่อยพิถีพิถันอะไร เพราะเช้ามาก็เข้าไร่  ตอนบ่ายก็มาสานคา (หญ้าคา) ไว้ขาย... แลงมาก็แกะมะขาม หรือมัด(หัว) หอม มีงานทำสารพัดที่สับเปลี่ยนกันไปตามยุค

บรรดาญาติพี่น้องมักจะมากันมาต้อนรับเวลาแขกหรือคนแปลกหน้ามาถึงเรือน  ธรรมเนียมของบ้าน เวลาผู้มาเยี่ยม หรือมาขอพักเพื่อจะเดินทางต่อ ที่บ้านคุณตาและคุณยาย จะนำสะลี (ที่นอน) และผ้านวมมาต้อนรับอย่างดี  บรรดาลูกหลานที่ทำงานในเมืองกรุง หากกลับไปบ้านก็จะนอนเรียงรายกันเต็มห้องโถง จากเดิมที่เคยกว้างก็แคบไปถนัดใจ...

กาลเวลาพ้นผ่าน คุณตาและคุณยายท่านจากพวกเราไป ก็ไม่เคยลืมที่จะกลับไปเยี่ยมจิตวิญญาณของท่าน  บ้านหลังใหญ่ยังคงเดิม เพียงแต่ทรุดลงไปตามเวลาบ้าง  หลายคนบอกว่าหากบ้านร้างไม่มีคนอยู่ จะเก่าเร็ว  อันนี้เป็นเรื่องจริง.. บรรยากาศเก่าๆ ที่เคยคลุกคลีมาแต่เยาวัย ทำให้บรรดาน้องๆ และญาติพี่น้องที่เคยอยู่ร่วมกันในบ้าน  มานอนรวมกันเวลาพวกเรามาจากกรุงเทพฯ  ในแต่ละปีพวกเราจะมีกิจกรรมเดิมๆ ไม่เบื่อและไม่เคยเปลี่ยน.. ตีสี่เราจะขับรถไปตลาดที่อำเภอด้วยกัน ระยะทางร่วมสิบกิโลเมตร ไปเดินดูของกิน ของใช้ อาหารแปลกๆ ที่ไม่เคยเห็น บรรดาน้องๆ พี่ๆ ก็จะเดินเกาะกลุ่มกัน จับจ่าย ซื้อของเพื่อมาทำอาหารถวายเพล อุทิศให้ญาติพี่น้อง.. หัดพูดคำเมือง  ใส่ผ้าซิ่นพื้นเมืองที่เก็บไว้ จะแต่งตัวแบบบ้านๆ เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของบ้านเก่าแก่ของตระกูล..

ในปีหนึ่ง พวกเรามาบ้านเหนือและเลยไปเที่ยวบ้านญาติผู้ใหญ่ท่านอื่นอีกสองสามวัน ในช่วงปีใหม่เมือง ขาล่องเกิดพายุขึ้นระหว่างที่กลับ ..ฟ้าหลังฝน บรรยากาศครื้มหนาวเย็นแปลกๆ  รถติดยาวหลายกิโลเมตรก่อนจะถึงบ้าน  ลางสังหรณ์เกิดกับญาติผู้พี่ว่าเกิดอะไรขึ้นแน่ที่บ้านคุณตา...มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ คุณยายเล็ก(น้องสาวคนเล็กสุดของคุณยายแท้ๆ) ท่านเห็นรถคันหน้าลงมาเก็บลูกเห็บเม็ดน้อยๆ ที่ขาวโพลนทั่วท้องถนน เหมือนกับหิมะตกในเมืองไทย..เกิดอะไรขึ้น?

พายุฤดูร้อนพัดผ่านบ้านเหนือ หลายหลังคาเรือนได้รับความเสียหาย รวมถึงบ้านเหนือของคุณตาคุณยายด้วย ตัวบ้านที่เงียบเหงา อ้างว้าง ถูกทำร้ายด้วยภัยธรรมชาติ.. เสียงของลูกหลานร้องเรียกคุณตา คุณยาย กันระงม เป็นห่วงว่าท่านเป็นอย่างไรบ้าง? รอยแตกของหลังคากระเบื้องแทบทุกแผ่น บ้านเหนือบาดเจ็บหนัก จนไม่สามารถขึ้นไปพักได้...

บ้านพ่อน้าแม่น้าเครือญาติใกล้เคียงเสียหายไม่ต่างกัน แต่ละหลังก็ทำความสะอาดบ้านกันพัลวันจนลืมอาหารมื้อเย็นที่เป็นมื้อสุดท้ายก่อนจะล่องกอง..

น้าชายจะหาคำพูดเก่าๆ ภาษาพื้นเมืองโบราณมาสอนให้พวกเราพูด จนได้ล้อเลียนกันหลายครั้ง เพราะน้าหญิงจะชอบแกล้งล้อเลียนเวลาพูดผิดหรือ ปะแล๊ด..อืมม์ เมื่อทุกคนโตขึ้น  ความคาดหวังของคุณตาเคยพูดไว้อยากให้ลูก หลาน เหลน ช่วยกันสืบสานวัฒนธรรมบ่าเก่า (เก่าแก่) ของฅนเมืองเอาไว้..

ฮีตเก่าของกิ๋น..เรื่องกับข้าวคนเมือง บ้านเราเป็นร้านอาหารเมือง.. จึงไม่นิยมที่จะไปซื้อกับข้าวเมืองร้านอื่นมาทาน..เพราะกลัวผิดหวัง.. เทคนิคการทำอาหารเมืองร้านของที่บ้านจึงมีรสชาดอร่อยไม่เป็นรองใคร..

ยังมีความประทับใจอีกหลายอย่างที่เขียนได้ไม่หมด เอาไว้โอกาสต่อไปจะเล่าให้ฟังนะคุณไดอารี่  ขอพักผ่อนก่อนนะ พรุ่งนี้ต้องรับรถลงอุโมงค์แต่เช้า

3/01/2548  

19.22 น.

Train Operator BMCL

หมายเลขบันทึก: 425183เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2011 07:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท