ตามล่าหา Tacit งานมหกรรมจัดการความรู้ การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง


กิจกรรมตามล่าหา Tacit ในงานมหกรรมจัดการความรู้เบาหวาน ความดันโลหิตสูงครั้งที่ 4 (KM DM-HT4) โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม ใช้กิจกรรม“ความรู้คู่บทเพลง เบาหวาน ความดัน”

          กิจกรรมตามล่าหา Tacit ในงานมหกรรมจัดการความรู้เบาหวาน ความดันโลหิตสูงครั้งที่ 4 (KM DM-HT4) โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม ใช้กิจกรรม“ความรู้คู่บทเพลง เบาหวาน ความดัน”  ซึ่งได้นำเสนอเมื่อครั้งเข้าร่วมกิจกรรมในงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่5 (NKM5) คลิกอ่าน  มาแล้ว  ซึ่งการนำมาใช้เป็นฐานเรียนรู้ในครั้งนี้จึงแทบจะไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเลย ทั้งรูปแบบกิจกรรมและอุปกรณ์ โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องเรียนรู้จากพวกเราให้ได้ว่ามีความรู้ประเภท Tacit อะไรบ้างในกิจกรรมของพวกเรา ดังนั้นความกดดันน่าจะไปอยู่ที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า  โดยทาง สคส. กำหนดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 100 คน ในห้อง Meeting room 1 ของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ในวันที่ 13 ธันวาคม 2553 เวลา 13.00 น.

 
   

             ผมกับทีม 3 คน คือน้องอ๊อฟ วัชชิระ หล้าคำแก้ว พยาบาลวิชาชีพPCU ธาตุพนม เจ้าของนวัตกรรม และพี่แขก วิเชียร ประภัสรางค์ จพง.สาธารณสุขชุมชน จากสถานีอนามัยตาลกุด  เข้ามาร่วมนำกิจกรรมในครั้งนี้ โดยมีการนัดแนะกันก่อนว่าต้องทำอะไรบ้างภายในเวลาครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ โดยจำลองกิจกรรมจริงของการให้ความรู้ผู้ป่วยก่อนพบแพทย์ ในคลินิกเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ของศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลธาตุพนม

 

            ก่อนเริ่มกิจกรรม ผม น้องอ๊อฟ พี่แขก  เข้าไปจัดเตรียมอุปกรณ์กันตอนเวลา 12.30น. ก่อนกิจกรรมประมาณครึ่งชั่วโมง  แต่ก็มีคนมารอเข้าห้องพอสมควรก่อนถึงเวลาจริง เราใช้ notebook เปิดคลิป และเนื้อเพลงให้เห็นระหว่างทำกิจกรรม ขึงป้ายไวนิลเนื้อเพลงด้านหน้าห้อง ตรวจสอบไมโครโฟนแบบมีขาตั้ง เพราะเรานอกจากจะต้องใช้ปากร้องเพลงแล้ว มือก็ต้องตีกลองไปพร้อมๆกันด้วยครับ

              กิจกรรมเริ่มที่เวลา 13.00 น. โดยให้ทุกคนเข้ามาในห้อง นั่งล้อมวงเป็นรูปตัวยูสองแถว หันหน้ามาด้านหน้าห้องเพื่อที่จะมีพื้นที่กิจกรรมมากขึ้น และไม่ดูเหมือนห้องฟังบรรยาย แต่พร้อมจะลุกนั่งร่วมกิจกรรมได้ตลอดเวลา  เมื่อทุกคนพร้อมก็เริ่มสันทนาการร่วมกันก่อน โดยใช้การปรบมือเป็นจังหวะตามที่บอก เป็นเกมส์นำสู่กิจกรรมต่างๆต่อไป ซึ่งนอกจากจะเป็นการหันเหความสนใจสู่กิจกรรมได้แล้ว ยังเป็นการฝึกสมาธิ และความจำไปในตัวได้ด้วยเช่นกัน

          เกมส์แรกให้ปรบมือตามจังหวะ หนึ่งครั้ง สองครั้ง และปรบมือห้าครั้ง พร้อมกับกับยักไหล่ห้าครั้ง และหัวเราะห้าครั้ง สลับหมุนเวียนกัน ซึ่งเราจะประโยชน์ในการทดสอบความพร้อมเพรียงและดึงความสนใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นระยะ

          เกมส์ที่สอง เราสอนให้รู้จักกับการปรบมือเพื่อชื่นชม 3 แบบ คือปรบมือแบบผู้ดี(ปรบเบาๆ มืออยู่ระดับสายตาและฉีกยิ้มนิดๆ)  ปรบมือแบบชาวบ้าน(ปรมมือดังๆตามสะดวก )  และปรบมือแบบหมอลำ(ปรบมือพร้อมโห่ เด้นนางเด้อ)  เพื่อนำไปใช้ในการปรบมือขอบคุณหรือให้กำลังใจ ระหว่างทกิจกรรม

           เกมส์สุดท้าย เป็นการเล่นเกมส์ “เสือ สิงห์ กระทิง แรด”   โดยเมื่อเราเอ่ยชื่อสัตว์ชนิดใด ทุกคนต้องทำท่าปรมมือให้ถูกต้องตามที่บอกอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกมส์นี้ใช้เพื่อเรียกความสนุกสนาน และจับผู้ทำผิดเป็นหลัก

   

           หลังจากที่สันทนาการจนทุกคนมีความพร้อม และมีความรู้สึกร่วมกันที่จะเรียนรู้มากขึ้น ผมก็เริ่มแนะนำกิจกรรมว่า วันนี้เรามาจำลองสถานการณ์ การทำงานที่โรงพยาบาล โดยให้ทุกคนลองร่วมสมมติว่าเป็นผู้ป่วยเบาหวานความดัน ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย และกำลังไปรับบริการที่โรงพยาบาล และคิดตามว่าน่าจะมีบรรยากาศอย่างไร (พร้อมๆกับดูสไลด์ บรรยากาศการมาโรงพยาบาลของผู้ป่วย)  สิ่งที่เห็นและเกิดขึ้นตลอดเวลาและเป็นเรื่องปกติของผู้ป่วย คือความเครียด ความกังวล  ส่วนบุคลกรผู้ให้บริการก็ดูวุ่นวาย  จริงจัง และดูเครียดพอๆกันกับผู้ป่วย ในบรรยากาศเดิมๆ ที่เป็นอยู่ แทบทุกวัน

   

          ทุกคนก็ได้ยืนขึ้น ร่วมบริหารร่างกายและกำหนดลมหายใจเข้าออกกับเพลง ดั่งดอกไม้บาน ไปพร้อมกันกับทีมวิทยากรและผู้ป่วยจริงจากคลิปวีดิโอ   ซึ่งเพลงนี้ทางเสถียรธรรมสถาน เผยแพร่ให้มาใช้ในการฝึกลมหายใจ อย่างแพร่หลายมาระยะหนึ่งเราจึงนำมาใช้ในการนำเข้าสู้การเรียนรู้ในคลินิกของโรงพยาบาลด้วย ซึ่งนอกจากจะได้สมาธิแล้ว เรายังเพิ่มเติมท่าให้มีการยืดเหยียดสลับกันไป เป็นการบริหารร่างกายไปด้วย 

          เมื่อเพลงดั่งดอกไม้บานจบทุกคนนั่งลงเพื่อให้ทุกคนร่วมร้องเพลงกับทีม โดยดูเนื้อเพลงจากป้ายหน้าเวที และคลิปคาราโอเกะของผู้ป่วยจริงที่ฉายขึ้นบนจอ  เราร้องเพลง 2 เพลง คือ เพลงเบาหวานเบาใจ  และ เพลงดันสูง ดลใจ  อย่างละ 2 รอบ   โดยที่เนื้อหาของเพลงจะบอกหลักในการปฏิบัติตัวในการดูแลตนเองไว้กันลืมและเตือนใจ เพื่อให้ผู้ป่วยร่วมตระหนักและจดจำได้ง่ายขึ้น

 
   

              ผมสรุปกิจกรรมที่นำมาใช้ว่า การให้ความรู้กับผู้ป่วยมีวิธีการที่หลากหลายมากมาย ที่แสดงให้ดูในวันนี้ก็เป็นแค่กิจกรรมหนึ่ง ที่ทีมเราใช้การสื่อสาร เพราะเรารู้ว่าข้อบกพร่องอย่างหนึ่งที่พวกเราบุคลากรทางการแพทย์มักทำกันคือ ถนัดสอนและสั่ง(สอนความรู้และสั่งการรักษา) ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว แต่ขาดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของผู้ป่วย เพราะท้ายที่สุดต่อให้ผู้ป่วยมีความรู้มากขนาดไหนแต่ถ้าไม่นำไปปฏิบัติ ก็ไม่มีประโยชน์อยู่ดี เพราะความรู้อีกอย่างที่สำคัญที่สุดตามกระบวนการ KM คือความรู้ที่นำประกอบกันทั้งจากหลักทฤษฎีและความรู้จากประสบการณ์ และความรู้ปฏิบัติของผู้ป่วยเอง มาประกอบใช้ร่วมกัน สำคัญที่สุดคือกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ทีมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนมนำมาใช้ร่วมกับผู้ป่วยทุกกิกรรม คือเราได้หลักของการจัดการความรู้คือ การจัดการความสัมพันธ์  เพราะเรารู้แล้วว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับผู้ป่วย ทำให้เกิดการเปิดใจเรียนรู้ไปด้วยกัน กล้าบอกเล่าในสิ่งทีทำโดยไม่ต้องกลัวถูกผิด สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกันตลอดเวลา

              ตอนสุดท้ายของกิจกรรมวันนี้ คุณอ้อม จาก สคส. ก็ได้เข้ามาสรุปให้ทุกคนตอบคำถามตามใบงานที่ให้ไว้ว่า  หลังจากร่วมกิกรรมตัวอย่างจากทีมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนมแล้ว ได้สังเกตเห็นอะไรบ้างที่เป็นความรู้ปฏิบัติ(Tacit Knowledge)  และส่งผลดีอย่างไรต่อกาดูแลผู้ป่วยเบาหวานความดันโลหิตสูง หลังจากให้ทุคนได้คิดและเขียนลงในกระดาษใบงานแล้ว  คุณอ้อมได้ให้แต่ละกลุ่ม(กลุ่มละ 10 คน ทีแบ่งไว้แล้วตั้งแต่ลงทะเบียนร่วมงาน) ได้นั่งล้อมวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้วยการสนทนาเล่าเรื่อง แบ่งปัน Tacit knowledge ในการดูแลผู้ป่วยของตนเอง โดยระบุเทคนิคหรือวิธีการที่ใช้แล้วได้ผลดีสั้นๆ หมุนเวียนกัน โดยใช้เวลารวมทั้งหมด 30 นาที และส่งตัวแทนมาเล่าให้ฟังจากทุกกลุ่มอย่างสนุกสนานต่อไป จนหมดเวลาทำกิจกรรมรมทั้งหมด 1 ชั่วโมงครึ่งพอดี   โดยส่วนใหญ่ของทุกกลุ่มได้เรียนรู้ว่า การปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้สุขศึกษาแบบไม่น่าเบื่อ มีความสนุกสนานทั้งบุคลากรเองและผู้ป่วย น่าจะส่งผลดีต่อการให้บริการผู้ป่วยมากขึ้นนอกจากนี้กิจกรรมวันนี้ยังสามารถนำไปปรับใช้กับบริการที่โรงพยาบาลของแต่ละคนได้เช่นกัน   

 ภก.เอนก  ทนงหาญ ผู้เล่าเรื่อง

หมายเลขบันทึก: 424792เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2011 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คุณเอนกเขียนบันทึกได้ละเอียด มองเห็นภาพกิจกรรมในวันนั้นทั้งหมด และสะท้อนวิธีคิดในการทำงานของตนเองและทีมได้ดีมาก

วัลลา

ขอบคุณครับ อ.วัลลา

แต่มีอย่าที่แก้ไม่หาย คือพิมพ์ผิดตลอดการบันทึกเลยครับ

อาภรณ์ วงศ์วิเชียร

สุดยอด..ขอชื่นชมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท