บทความทางวิชาการ


หลักสูตร และ บริบทของโรงเรียน

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้กำหนดหลักการในการจัดการศึกษาว่า "การจัดการศึกษาต้องถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด" และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551  เอง มีหลักการที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาให้ถือว่า ผู้เรียนสำคัญที่สุด เช่นกัน

"ผู้เรียนสำคัญที่สุด" จึงเป็นกรอบในการกำหนดหลักสูตรสถานศึกษาตามบริบท และการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนที่ต้องคำนึงถึงตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึง การปฏิรูปการเรียนรู้ และการปฏิรูปหลักสูตรในโรงเรียนจะบรรลุผลได้  ต้องตระหนักว่า "ผู้เรียนสำคัญที่สุด" นั่นเอง

การจัดการศึกษาที่ "ผู้เรียนสำคัญที่สุด" คือ การกำหนดหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนตามบริบทของโรงเรียน  เน้นผู้เรียนแต่ละคนเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง เรียนรู้อย่างมีความสุข โดยผ่านกระบวนการตามธรรมชาติ  เต็มตามศักยภาพ                  และสนองความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน ตามแนวทางของสาระสำคัญที่กำหนดใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่นำสู่ การประกาศใช้ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งการนำหลักสูตรแกนกลางนี้ไปใช้  สถานศึกษาต้องจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาขึ้นเอง ตามบริบทของโรงเรียน โดยมีองค์ประกอบทั้งที่กำหนดจาก หลักสูตรแกนกลางข้างต้น และที่สถานศึกษาต้องกำหนดจากส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาความต้องการตามบริบทของโรงเรียน ของนักเรียน ของชุมชน และสังคมที่โรงเรียนตั้งอยู่ด้วย ความเป็นหลักสูตรสถานศึกษาจึงสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ และทั้งนี้ทั้งนั้น "ผู้เรียนสำคัญที่สุด" ยังคงเป็นบรรทัดฐานสำคัญที่สุด ที่หลักสูตรสถานศึกษาต้องคำนึงถึง              ภาพรายละเอียดของหลักสูตรสถานศึกษาที่จะแสดงให้เห็นถึงการยึดถือว่า " ผู้เรียนสำคัญที่สุด" หรือ "เพื่อผู้เรียนเป็นสำคัญ" นั้น จะดูได้จากองค์ประกอบแต่ละส่วนของหลักสูตรสถานศึกษานั้น ๆ ล้วนสะท้อนถึงการมีเป้าหมาย  มีกระบวนการ และความพยายามที่ชัดเจน  การพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง อาทิ                                                                                                                                                                          วิสัยทัศน์ ภารกิจและเป้าหมาย ของหลักสูตรสถานศึกษานั้น ๆ เป็นความพยายามที่จะพัฒนาผู้เรียนอย่างดีที่สุดเท่าที่โรงเรียนจะมีศักยภาพ ด้วยเจตนารมณ์ที่ชัดเจนบนบรรทัดฐานความเข้าใจผู้เรียน และชุมชนของโรงเรียน เป็นอย่างดี

                 คุณลักษณะอันพึงประสงค์  โรงเรียนกำหนดตามบรรทัดฐานของหลักสูตรแกนกลางและความเป็นไปได้ ของการพัฒนานักเรียนที่โรงเรียน มิใช่กำหนดอย่างเลื่อนลอยหรือไม่มี

            ฐานข้อมูล  โครงสร้าง  กรอบสาระการเรียนรู้ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ของหลักสูตรสถานศึกษา ก็กำหนดอย่างมีเหตุผลถึงความใส่ใจในการพัฒนาผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ มิใช่คำนึงถึงแต่ความสะดวกของครูหรือการบริหารของโรงเรียน

การกำหนดสาระการเรียนรู้ หน่วยการเรียนรู้และกิจกรรมการเรียนรู้ ของหลักสูตรสถานศึกษา ก็กำหนดโดยเข้าใจผู้เรียนแต่ละคน แต่ละกลุ่มเป็นฐาน ประกอบกับกำหนดอย่างพยายามให้ผู้เรียนแต่ละคนเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาได้อย่างแท้จริง ตามธรรมชาติ เช่น จัดบูรณาการและสนับสนุนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เต็มศักยภาพ กล่าวคือ กิจกรรมการเรียนรู้ และการจัดแหล่งเรียนรู้ย่อมหลากหลาย อีกทั้งการระดมทรัพยากรมุ่งสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลักและการกำหนดแนวการวัดประเมินผล ของหลักสูตรสถานศึกษานั้นก็จะเป็นไปอย่างรอบคอบ เน้นเพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่องมากกว่าแค่การตัดสินเลื่อนชั้น และเป็นไปตามหลักการประเมินตามสภาพจริง  เป็นต้น

การกำหนดองค์ประกอบต่างๆ ของหลักสูตรสถานศึกษาที่กำหนดจากข้อมูลบริบทของสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นด้านผู้เรียน  ชุมชน และสภาพเป็นจริงต่างๆ ของสถานศึกษา  อีกมุ่งประโยชน์ต่อผู้เรียนดังกล่าว  จุดสะท้อนสำคัญของความเป็นหลักสูตรสถานศึกษาที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งคือ  การกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและสาระการเรียนรู้ในหลักสูตรสถานศึกษา นอกจากการวิเคราะห์กำหนดจากมาตรฐานช่วงชั้นตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 แล้ว ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือ  สถานศึกษาอาจกำหนดเพิ่มเติมตามความต้องการจำเป็นเฉพาะของสถานศึกษาโดยวิเคราะห์ จากวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ที่กำหนด  ผนวกกับบริบทด้านต่าง ๆ ของสถานศึกษา  แล้วกำหนดสาระการเรียนรู้ตามมา ทั้งสาระการเรียนรู้แกนกลาง และสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น  หากมิได้กำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังเพิ่มเติมอะไรจากที่วิเคราะห์กำหนดจากมาตรฐานช่วงชั้น แต่เน้นกำหนดที่สาระการเรียนรู้รายปีให้เหมาะสมแทนก็น่าเป็นไปได้ ทั้งนี้สาระการเรียนรู้รายปีของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้    สาระการเรียนรู้หลักจะเป็นไปตามความสอดคล้องกับมาตรฐานช่วงชั้นและผลการเรียนรู้ที่คาดหวังที่กำหนด ตามหลักสูตรแกนกลาง และสาระการเรียนรู้ ที่กำหนดบนฐานข้อมูลของสภาพสถานศึกษาหรือชุมชน ท้องถิ่นรอบสถานศึกษา โดยสาระท้องถิ่นนี้ต่างก็กำหนดเพื่อบรรลุผลการเรียนรู้ที่คาดหวังข้างต้น และบรรลุมาตรฐานช่วงชั้นที่หลักสูตรแกนกลางกำหนดด้วย ซึ่งการกำหนดสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นลักษณะนี้จะเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กำหนดไว้ในมาตราที่ 27 วรรค 2 ชัดเจน    ส่วนในขั้นวิเคราะห์กำหนดสาระการเรียนรู้มีหลายโรงเรียนได้ใช้ตารางดังตัวอย่างต่อไปนี้ช่วยในการวิเคราะห์กำหนดสาระการเรียนรู้ของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้

ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง

สาระการเรียนรู้แกนกลาง

สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น

แหล่งเรียนรู้/ภูมิปัญญา ท้องถิ่น

 

 

 

 

 

        

       จากตัวอย่างตารางวิเคราะห์นี้  จะช่วยให้สถานศึกษากำหนดสาระการเรียนรู้ ทั้งสาระการเรียนรู้แกนกลางที่สถานศึกษาวิเคราะห์กำหนดเองจากหลักการ  ทฤษฎีกลางๆ ของแต่ละรายวิชาหรือวิเคราะห์กำหนดโดยดูเทียบจากตัวอย่างที่กระทรวงศึกษาธิการจัดทำเสนอเป็นตัวอย่างให้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้แกนกลางนี้แต่ละสถานศึกษาอาจกำหนดคล้ายกันได้ แต่สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น กับแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ละสถานศึกษาจะมีความแตกต่างกัน และจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะบ่งบอกความเป็นหลักสูตรสถานศึกษาที่แท้จริง  ที่มิใช่หลักสูตรแกนกลางเหมือนกันทั้งประเทศ  และมิใช่หลักสูตรกลุ่มโรงเรียนที่หลายโรงเรียนเหมือนๆ กันโดยมิได้คำนึงถึงว่าเหมาะกับบริบทของโรงเรียนที่ตั้งอยู่

          หลักสูตรสถานศึกษาที่สอดรับกับหลักสูตรแกนกลางและบริบทของโรงเรียนนี่เอง มีโอกาสเหมาะสมและเอื้อประโยชน์การเรียนรู้กับผู้เรียนและชุมชนได้มาก ทั้งหลักสูตรสถานศึกษาได้คำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญตลอดทุกองค์ประกอบดังกล่าว  เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ หรือ เจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษาไทย และหรือหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อผู้เรียนเป็นสำคัญตามบริบทของโรงเรียนนี้ จะเป็นแผนการจัดการศึกษาของโรงเรียนที่จะนำสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ได้อย่างชัดเจน บนพื้นฐานของความเหมาะสมกับผู้เรียน และชุมชนที่แท้จริง ซึ่งจะยังผลให้โรงเรียนจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข เรียนรู้ได้เหมาะสมกับศักยภาพและธรรมชาติของเขาเหล่านั้น อันจะส่งผลให้ผู้เรียนได้ประโยชน์ สูงสุด นี่แหละหลักสูตรสถานศึกษากับบริบทของโรงเรียน

หมายเลขบันทึก: 422795เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2011 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 16:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท